ทำไมต้องป้องกันอันตรายจากรังสี


มาตรฐานด้านความปลอดภัยทางรังสี

รังสีนอกจากจะมีประโยชน์มากมาย สามารถใช้งานได้หลากหลาย ทั้งด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม และอื่น ๆ รังสียังสามารถก่อให้เกิดผลเสียต่อเซลล์ของสิ่งที่มีชีวิตได้ด้วย กล่าวคือทำให้ดีเอ็นเอซึ่งเป็นสารพันธุกรรมเกิดการแตกตัว และอาจนำไปสู่การซ่อมแซมไม่สมบูรณ์ หรือทำให้เซลล์ตาย ดังนั้นการนำเอารังสีมาใช้ จึงต้องมีการป้องกันอันตราย หรือมีศาสตร์เกี่ยวกับความปลอดภัยทางรังสีขึ้น เพื่อดูแลการใช้รังสี ให้เกิดประโยชน์โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายจนยอมรับไม่ได้

 

ประเทศไทยมีการตราพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยได้แสดงเหตุผลไว้ท้ายพระราชบัญญัติว่า

โดยที่การใช้พลังงานปรมาณูเพื่อประโยชน์ในทางสันติเป็นความจำเป็นและสมควรส่งเสริมเพื่อการพัฒนาประเทศ และโดยที่การใช้พลังงานปรมาณูเพื่อประโยชน์ในทางสันติจำเป็นต้องมีการควบคุมให้การใช้เป็นไปตามหลักวิชาและปลอดภัย จึงต้องมีกฎหมายว่าด้วยการนี้

 

กลไกในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสีในกฎหมายนั้น คือการกำหนดให้ผู้ที่ต้องการใช้รังสี หรือพลังงานปรมาณู ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ  หลักการนี้เป็นหลักการสากล ดังจะเห็นได้จากการที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้มีการแนะนำไว้ในเอกสารมาตรฐาน International Basic Safety Standards for Protection against Ionizing Radiation and for the Safety of Radiation Sources (BSS 115)

 

นอกจากนี้ การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับผลของรังสีต่อสิ่งที่มีชีวิต ในช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มมีการนำพลังงานปรมาณูมาใช้ประโยชน์เมื่อกว่า ๑๐๐ ปี*มาแล้ว จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีการกำหนดมาตรฐานใหม่ ๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยทางรังสีขึ้น มาตรฐานเหล่านั้น เป็นสิ่งที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้นำมาประยุกต์ใช้ในการออกกฎกระทรวงฯ ระเบียบฯ และมาตรฐานฯ เพื่อกำกับให้การใช้รังสี มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น

 

โดยหลักการแล้วผู้ที่จะนำรังสีหรือพลังงานปรมาณูมาใช้ประโยชน์ ต้องยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พร้อมทั้งประเมินความปลอดภัยจากการใช้รังสีหรือพลังงานปรมาณูดังกล่าว รวมทั้งแสดงวิธีการ ขั้นตอนในการป้องกันอันตรายจากรังสีต่อผู้ปฏิบัติงานและประชาชนทั่วไปด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผู้ขออนุญาตสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้มีการออกกฎ ระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การอนุญาตมีความโปร่งใส และให้มีความเข้มงวดพอเหมาะพอสมกับปริมาณ และความเป็นอันตรายของรังสี หรือพลังงานปรมาณูที่ต้องการใช้นั่นเอง การออกกฎ ระเบียบต่าง ๆ นั้นมีรากฐานมาจากหลักการตามมาตรฐานสากลที่ระบุใน BSS 115

 

มาตรฐานสำคัญที่เป็นการพลิกโฉมหน้าของศาสตร์เกี่ยวกับความปลอดภัยทางรังสี ซึ่งกำหนดไว้ใน BSS 115 คือการใช้ปรัชญา ALARA: การให้ได้รับรังสีน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หรือการไม่ไห้ได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น (แม้ว่าการได้รับรังสีในปริมาณน้อย ๆ ยังไม่ได้รับการยืนยันในผลของรังสี ชนิด stochastic ก็ตาม) เพื่อให้เป็นไปตามปรัชญานี้ จำเป็นต้องอาศัยหลักการต่าง ๆ เข้ามาช่วย เช่น เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมความปลอดภัย เกี่ยวกับระบบประกันคุณภาพ เกี่ยวกับการออกแบบระบบความปลอดภัย และการอบรมบุคลากร เป็นต้น

 

* วิลเฮล์ม คอนราด เรินท์เกนท์ ค้นพบว่าหลอดคาโทดสามารถผลิตรังสีเอกซ์ขึ้น และรังสีดังกล่าวมีอำนาจทะลุทะลวงผ่านร่างกายได้ ทำให้ถ่ายภาพกระดูกคนเราได้ นอกจากนี้ อองรี เบคเคอเรลได้ค้นพบหินแร่ที่แผ่รังสีผ่านกระดาษที่ห่อฟิลม์ไว้ ไปทำให้เกิดภาพบนฟิลม์ได้ ซึ่งเป็นการค้นพบกัมมันตภาพรังสีจากแร่ธรรมชาติ

 

หมายเลขบันทึก: 320943เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2009 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียน ท่านอาจารย์วราภรณ์

  • เดี๋ยวนี้ หลายหน่อยงาน ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญ กับการป้องกัน โดยเฉพาะ Film Badge ไม่ค่อยได้ดูกัน
  • แต่ สนใจ "ค่าเสี่ยงภัย ว่าจะได้เท่าใดครับ"

เรื่องค่าเสี่ยงภัยนั้นเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันมาก เพราะการได้รับอนุญาตให้ใช้รังสีหมายความว่าต้องปฎิบัติป้องกันอันตรายจากรังสีตามมาตรฐาน ดังนั้นถือว่าไม่มีความเสี่ยงค่ะ

เรียนท่านอาจารย์วราภรณ์ ขอบพระคุณครับ

  • คงต้องอ่านหนังสือเล่มนี้กระมังครับ

การชดเชยพิเศษ

๑.๑๕ สัญญาการจ้างต้องไม่ผูกพันกับการมีอยู่ หรือโอกาสที่จะมีการได้รับรังสีจากการปฏิบัติงาน การจัดให้มีการชดเชยไม่ว่าจะอยู่ในรูปของค่าจ้างพิเศษ การประกันภัย การลดเวลางาน หรือการให้วันลาพักผ่อนเป็นพิเศษ ไม่อาจนำมาใช้เป็นการทดแทนมาตรการป้องกันอันตรายจากรังสี และมาตรการความปลอดภัยทางรังสี ตามข้อกำหนดของมาตรฐานนี้ (BSS115 para 1.15 page 35)

ขอโทษค่ะ ไม่เข้าใจความหมายที่ให้อ่านหนังสือเล่มนี้ แต่ก็น่าจะเป็นหนังสือดี อย่างไรก็ตามที่คุณบอกว่าหลายหน่วยงานไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยทางรังสี จึงเป็นที่มาของการสร้างบล็อกนี้ เพราะหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเตือนให้ผู้ปฎิบัติงานทุกคนมีความตระหนัก และสนใจในการป้องกันอันตรายจากรังสี โดยเฉพาะเมื่อผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ให้ตามกฎหมายแล้ว ผู้ปฏิบัติงานเองก็ต้องใส่ใจดูแลตนเองด้วยค่ะ แต่อย่างที่บอกว่าไม่ให้ใช้ค่าเสี่ยงภัย มาเป็นการทดแทน หากผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือจะได้รับเงินเดือนสูงก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพียงแต่ไม่ให้ใช้เงินมาเป็นการทดแทนมาตรการความปลอดภัยที่ต้องจัดหาให้เท่านั้น

ถ้าสถานปฏิบัติการฯไม่ดำเนินการตามคำแนะนำด้านความปลอดภัยทางรังสีของเจ้าหน้าที่ฯ เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการกับสถานปฏิบัติการฯดังกล่าวได้มากน้อยแค่ไหนคะ

ก็ต้องขึ้นกับความร้ายแรงของการฝ่าฝืน ขั้นต้นก็ตักเตือน ให้แก้ไข ถ้าร้ายแรงมากก็มีการพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต ตามลำดับค่ะ

วราภรณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท