ข้อคิดดี ๆ จากนักเรียนโรงเรียนนักจัดการความรู้ จ.ชุมพร


ฉบับนี้ขอเริ่มด้วยบทความของพี่โอภาส โชติช่วง จากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง ต.ทุ่งคาวัด อ.ละแม ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เขียนเรื่อง ฟื้นน้ำ-ฟื้นดิน ดับบ้าน-ดับถิ่น คืนกลับชุมชน

ช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสช่วยสำนักงานจังหวัดชุมพรดำเนินงานโครงการจัดการความรู้ หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในวงการราชการว่า KM  : Knowledge Management เราตั้งชื่อขบวนการนี้ว่า “โรงเรียนนักจัดการความรู้ จ.ชุมพร” เพราะมีแนวความคิดที่นำเอารูปแบบการจัดการศึกษา (Education) มาประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อให้เกิดการแพร่ขยาย  (Massification) ไปอย่างรวดเร็วในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ได้นำเอาเรื่องดี ๆ ที่ตัวเองมีอยู่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และมีกระบวนการสังเคราะห์ให้เกิดเป็นความรู้ใหม่ เป็นปัญญารวมหมู่ (Collective Wisdom)  จากผู้เข้าร่วมปฏิบัติการทุกคน

ในช่วงท้าย ๆ ก่อนปิดโครงการด้วยการจัดตลาดนัดความรู้ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม  2552 ผมได้ขอให้นักเรียนทุกคนสะท้อนมุมมองจากใจ เขียนออกมาเป็นบทความเพื่อใช้ทบทวนแนวทางที่จะเดินต่อไปในอนาคต มีข้อเขียนดี ๆ หลากหลายมุมมองที่ผมเห็นว่า เป็นประโยชน์กับสังคมชุมพร ผมจะหาทางนำมาเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้ได้เรียนรู้ร่วมกันในวงกว้าง

ฉบับนี้ขอเริ่มด้วยบทความของพี่โอภาส โชติช่วง จากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง ต.ทุ่งคาวัด อ.ละแม ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เขียนเรื่อง ฟื้นน้ำ-ฟื้นดิน ดับบ้าน-ดับถิ่น คืนกลับชุมชน

…ใจมันตื่น สมองยังเลื่อนไหล แต่มือมันสับสน เลยหยุดเงียบหายไปหลายวัน แต่ตากับใจก็ยังเปิดดูอยู่เรื่อย ๆ มากบ้างน้อยบ้าง ตามเวลาของคนที่ไม่ค่อยได้เปิดจอเครื่องคอม

อ่านเรื่อง KM ตอนแรกก็ไม่ค่อยเข้าใจ คงมีแต่ความสนใจ ซึ่งตัวเองก็ไม่ได้สังกัดองค์กรใด เมื่อมองว่าการจัดการความรู้ เป็นการจัดการเพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลกับองค์กร ด้วยการนำเอาชีวิต จิตวิญญาณของคนที่กระทำกิจกรรมในการดำรงชีพ ด้วยความจริงใจมีหัวใจที่จะทำในสิ่งที่ตนทำหน้าที่อยู่ให้ดีที่สุด อย่างมีความสุข และมีความหวัง โดยผลสำเร็จขององค์กรเป็นสิ่งที่ปรารถนา

เหมือนกับมีบุญหนุนนำ เมื่อเดือนที่แล้วได้เข้าร่วมกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ของจังหวัดชุมพร ซึ่งมีอาจารย์ไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์ เป็นวิทยากรหลัก ตอนแรก ๆ ที่นั่งฟังการบรรยาย รู้สึกว่ามอง KM เป็นภาพกว้าง แต่เมื่อมานั่งย้อนความหลังที่ประทับใจ รู้สึกว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมากมายที่เรารู้สึกประทับใจ ยิ่งพอมีเวลาได้อ่านข้อแนะนำจากอาจารย์วิจารณ์ พานิช ความเข้าใจก็เพิ่มเติมขึ้นมาอีกมาก หลายเรื่องที่ตัวเองเข้าไปสัมผัสล้วนมีความประทับใจทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเกิดกลุ่มกล้วยหอมทองที่ละแมกับสหกรณ์ผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น ที่เขียนนำเสนอไว้ใน Blog ก่อนหน้านี้ การได้สัมผัสกับครูอุดมการณ์ด้านการศึกษาทางเลือกที่ อ.ละแม การร่วมงานกับทีมงานประชาสังคมชุมพร อะไรก็แล้วแต่การรำลึกภาพชีวิตของเราย้อนหลังอย่างตั้งใจ ทำให้เราเกิดความเข้าใจต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแต่ละช่วง แต่ละตอนเป็นอย่างดียิ่ง

โดยเฉพาะถ้าเรานั่งเงียบ ๆ ตั้งสติให้ดีแล้ว จะมีภาพความงดงามแห่งอดีต ล่องลอยวนเวียนล้อมรอบจิตใจเรามากมายเหลือเกิน

เมื่อคิดว่า ณ วันนี้เราไม่มีองค์กรที่สังกัด แต่เรามีชีวิตที่จะต้องตื่น-ยืน-เดิน-นั่ง ทำอะไรก็ได้ สุดท้ายพักผ่อน และนอนหลับ และก็ตื่น วนเวียนอยู่อย่างนี้ ทุกวี่ทุกวัน จนกว่าจะมีอะไรก็ไม่รู้ ทำให้เราหยุดหายใจ และหยุดการใช้ชีวิตชั่วนิรันดร์

เลยนั่งเรียบเรียงตัวเองว่า เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ในสวนของเราก็ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ  เหมือนกับสวนของเพื่อนบ้านทั่วไป คือ ไถพรวน ฉีดยา กำจัดวัชพืช แต่แล้วเมื่อจู่ ๆ เราหยุดการใช้สารเคมีในสวนของเราโดยสิ้นเชิง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะอะไร เราเกิดความรู้สึกอยากรักษาต้นไม้ที่มันงอกเงยขึ้นมาบนดิน และต้นไม้ต้นนั้น เราไม่เคยเห็นมาก่อน  กอไผ่ริมหนองน้ำ เราปล่อยให้เจริญเติบโตโดยไม่ทำลาย เราเริ่มเลี้ยงผึ้งโพรงด้วยความรู้สึกผูกพัน เราเริ่มฝึกทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ทุกสิ่งที่เราทำ เราจำภาพที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติให้เราเห็นตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเผาถ่าน การนำถ่านไม้มาใช้ในครัวเรือน การนำสมุนไพรมาปลูก และทดลองใช้ทดลองกิน ไม่ว่าจะเป็นรางจืดเถา ย่านาง ฟ้าทะลายโจร KM ต้องรวบรวมมาจากวิธีปฏิบัติ ดังนั้น ทุกอย่างที่ปฏิบัติจึงถูกนำมาเรียบเรียงไว้ในระบบความคิด

เมื่อสามวันที่ผ่านมาขี่รถเครื่องไปเยี่ยมญาติในหมู่บ้านใกล้กัน พบว่าพวกเขากำลังมีสีหน้าเป็นทุกข์ สาเหตุเพราะหลานชายวัยรุ่นไม่กลับบ้าน จากการรับฟังในเวทีเสวนากลุ่มเครือญาติสรุปได้ว่า หลานชายวัยรุ่นคงจะหนีไปเที่ยวชนิดไม่สนใจว่าใครจะเป็นห่วงอย่างไร ถัดมาอีกวันไปซื้อของในตลาดได้ยินคนขับรถที่ทำหน้าที่ขับรถรับส่งนักเรียนจากหมู่บ้านต่าง ๆ ไปส่งโรงเรียนในเมืองคุยกันว่า เด็กนักเรียนที่นั่งบนรถเมื่อมาถึงกลางทาง จะมีอยู่กลุ่มหนึ่งลงจากรถโดยไปไม่ถึงโรงเรียน แต่ตอนเย็นเมื่อรถมารับกลับบ้านเด็กเหล่านั้นก็จะขึ้นรถกลับบ้านตามปกติ

รับฟังตามประสาคน KM คือ ชอบฟัง แต่ฟังแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมในวันนี้ เพราะข่าวคราวที่ออกมานำเสนอทั้งทางทีวี ทางวิทยุ มันเป็นพฤติกรรมสังคมที่เกือบเป็นปกติของรายงานข่าวในยุคปัจจุบัน

ตอนเย็นก่อนที่จะคันมือคันไม้กลับมาบันทึกฉบับนี้ ได้ไปเจอหนุ่มคนหนึ่งเป็นคนที่รู้จักสนิทสนมกัน กำลังนั่งขะมักเขม้นเขียนคำตอบลงในสมุด เข้าไปนั่งคุยใกล้ ๆ อยู่พักหนึ่ง แกก็ยังคร่ำเคร่งเขียนบันทึกลงในสมุด อดใจไม่ได้เลยถามว่าทำอะไรอยู่ แกบอกว่ากำลังทำงาน และบอกต่อไปว่าทำการบ้านให้เด็ก ก็ไม่ได้สนใจอีกนั่นแหละ แต่แกพูดขึ้นเองว่า แย่นะสมัยนี้เด็กมันก้าวหน้าถึงกับจ้างทำการบ้านกันแล้ว ผมสะดุ้งในใจ นึกย้อนกลับไปเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ที่เคยมีเพื่อนเปิดบริการรับจ้างทำ (ว) และผมช่วยพิมพ์ ช่วยเย็บรูปเล่ม ทำมาหากินกันด้วยความสนุกสนาน ตามแต่ใครจะจ้าง แต่แล้ว ณ วันนี้ สิ่งเหล่านั้นมันจะลงสู่สายเลือดอย่างล้ำลึกขนาดนี้เชียวหรือ

กลับมาบ้าน ยืนดูต้นเงาะที่ผลแดงเรื่อห้อยอยู่เต็มต้น คิดว่าจะเก็บไปขายก็เสียเวลา เพราะพวกพ่อค้าข้างถนนยืนโบกมือรับซื้อ กิโลกรัมละ 3 บาท ผมปลูกเงาะไว้เพียง 6 - 7 ต้น ไม่มากมาย แต่เมื่อมันเป็นลูกก็กินไม่หมด เมื่อไม่ได้ขายก็ไม่เป็นไร เพราะมันไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย

  • หัวปลาของ KM เกิดขึ้นจากความรำลึกย้อนหลัง ทำให้มองภาพความต้องการของตัวเองได้ชัดเจน และเขียนขึ้นมา
  • ฟื้นน้ำ เราพยายามทำอย่างดีที่สุดตามกำลังทรัพย์ของตัวเอง
  • ฟื้นดิน เรางดการใช้เคมีทุกชนิด 10 กว่าปีมาแล้ว และ ณ วันนี้เราพบไส้เดือนดินที่มีความสมบูรณ์ และรู้สึกว่ามันมีความสุขที่จะเป็นรถไถให้กับเราตลอดกาล
  • ดับบ้าน ลูกหลานต้องเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบตัว อย่างเข้าใจ เรียนรู้หน้าที่ในการเกิดมาเป็นคน
  • ดับถิ่น เราต้องอนุรักษ์ให้ได้พืชประจำถิ่น สัตว์ที่เคยมีอยู่ นก ตะกวด ไก่ป่า กุ้ง หอย ปู ปลาในหนอง เราจะไม่ปล่อยให้ใครแอบเข้ามาทำลายเหมือนที่ผ่านมา
  • คืนกลับชุมชน อย่างน้อยก็มีอะไรให้ลูกหลานได้รับรู้และเข้าใจว่า ชุมชนที่เราอยู่นี้ความจริงคืออะไร

เรื่องการจัดการความรู้ ทำให้เราเกิดระบบคิดได้ดีจริง ๆ ขอบคุณ อ.ไอศูรย์ที่ให้ความกระจ่างครับ...

หมายเลขบันทึก: 320614เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2009 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท