แลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนการทำงานเครือข่ายลด ละ เลิกเหล้า จ.ชุมพร


คำถามคือ ถ้าท่านผู้ใหญ่...ผู้โต ในหน่วยงานเหล่านั้นทำหน้าที่เป็นแกนนำสนับสนุนให้คนดื่มเหล้าเสียเอง ผลลัพธ์สุดท้ายสังคมชุมพรจะเหลืออะไร ?

ในฐานะที่ปรึกษาของศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี โรงพยาบาลชุมพรฯ หรือ OSCC ผมได้รับโจทย์ให้วิพากษ์และเสนอแนะการทำงานของเครือข่ายลด ละ เลิกเหล้า ซึ่งมาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนการทำงานของทั้ง 6 เครือข่าย คือ ชุมชนท่ายาง ปะทิว เกาะแก้ว ท่าแซะ พะโต๊ะ-1 และพะโต๊ะ-2 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2552 ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลชุมพรฯ ผมเขียนบทความนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอในที่ประชุม และเชื่อว่าจะได้รับฟังสาระใหม่ ๆ เพิ่มเติมมานำเสนอในฉบับต่อไป

ถึงตรงนี้กล่าวได้ว่าเครือข่ายลด ละ เลิกเหล้า ทั้ง 6 เครือข่ายของ จ.ชุมพร โดยการสนับสนุนของโรงพยาบาลชุมพรฯ และมูลนิธิเพื่อนหญิง เป็นเครือข่ายที่สร้างงานสร้างกิจกรรมในชุมชนของตนได้อย่างเข้มแข็ง สามารถต่อยอดความสำเร็จให้เห็นเป็นรูปธรรมในระดับจังหวัดผ่านการรณรงค์ในโอกาสต่าง ๆ อาทิ งานชมรมคนบวชใจ ลดเหล้าเข้าพรรษา เมื่อวันอาสาฬหบูชาที่ 7 กรกฎาคม 2552 งานตลาดนัดความรู้ จ.ชุมพร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2552 และล่าสุด งานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งในงานหลังสุด บทความจากคอลัมน์นี้ที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หลักเมืองฉบับเดือนสิงหาคม 2552 ได้รับการขยายให้มีขนาดใหญ่นำเสนออยู่ที่ซุ้มของเครือข่ายชุมชน อ.ปะทิว โดยคุณลุงบุญมี แซวรัมย์

จากการพูดคุยใกล้ชิดกับแกนนำของแต่ละเครือข่าย ผมพบว่าภารกิจในการช่วยเหลือครอบครัวที่ผู้นำติดเหล้าเป็นเหตุให้มีการใช้ความรุนแรงกับลูกเมีย เป็นเรื่องหลักที่เครือข่ายต้องช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาและถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงในระดับที่เป็นคดีความเข้ามาด้วยแล้ว การประสานงานของเครือข่ายก็จะยิ่งซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้นเป็นเท่าตัว กลุ่มผู้ดื่มเหล้าแล้วสร้างปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกวันโดยเฉพาะกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่-วัยรุ่น ซึ่งพฤติกรรมรุนแรงที่แสดงออกหลังจากดื่มเหล้าไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในครอบครัวของตนเอง แต่ยังระบาดออกไปสู่ชุมชน ท้องถนน ในรูปแบบของแก็งค์ปาหิน

คุณสมบัติที่สำคัญของสมาชิกในครือข่าย จึงเป็นการรู้จักรับฟังและเรียนรู้ความคิด ความรู้สึกของผู้อื่น เพราะจะต้องทำงานในฐานะผู้ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตแก่เด็กและสตรีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ซึ่งต้องใช้ความเมตตา-กรุณาเป็นอย่างมาก งานจึงจะสำเร็จลุล่วงนำไปสู่ทางออกที่ดี

การขยายงานไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ เพื่อชักชวนให้ลด ละ เลิกเหล้า จึงเป็นภารกิจสำคัญ กล่าวได้ว่าทุกเครือข่ายต่างก็คิดค้นเทคนิควิธีการ งานสร้างสรรค์นำมาใช้กับชุมชนของตนได้เป็นอย่างดี กิจกรรม สภาข้าวต้มโจ๊ก งดเหล้าหยอดกระปุก สภากาแฟผู้ชายเลิกเหล้า ตรวจสุขภาพผู้หญิง งานเลี้ยงประเพณี-ไม่มีเหล้า งดเหล้าดื่มน้ำสมุนไพร กฐินปลอดเหล้า งดเหล้าเข้าพรรษา วัดไม่ใช่บาร์ – ศาลาไม่มีเหล้า ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ บริการให้คำปรึกษาช่วยเหลือ ฯลฯ ในกลุ่มคนทำงานลด ละ เลิกเหล้า ทั้งในระดับจังหวัดและระดับชาติรู้กันเป็นอย่างดีว่า กิจกรรมอะไรเป็นงานสร้างสรรค์ของเครือข่ายกลุ่มไหนเพราะมี ลายเซ็นต์ ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเครือข่ายแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การสร้างความยั่งยืน มั่นคง และสมดุล ให้กับการทำงานรณรงค์เพื่อสังคมในพื้นที่ของแต่ละเครือข่ายคงจะเป็นไปได้ยาก ถ้าผู้มีศักยภาพตัวจริงในพื้นที่ไม่เห็นความสำคัญ ไม่สนับสนุนการทำงานของเครือข่าย และไม่ลงมาเล่นเอง เพราะโครงสร้างการบริหารของประเทศไทยกำหนดบทบาทหน้าที่และจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานในการดูแลท้องถิ่น คือ เทศบาล และ อบต. เป็นหน่วยงานหลัก โดยมีหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่ ได้แก่ โรงเรียน สถานีอนามัย ฯลฯ เป็นหน่วยสนับสนุน

คำถามคือ ถ้าท่านผู้ใหญ่...ผู้โต ในหน่วยงานเหล่านั้นทำหน้าที่เป็นแกนนำสนับสนุนให้คนดื่มเหล้าเสียเอง ผลลัพธ์สุดท้ายสังคมชุมพรจะเหลืออะไร ?

พบเห็นเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรง แจ้งศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ โทร. 081-7371675, 077-505940

หมายเลขบันทึก: 320610เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2009 07:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท