Watson's caring


ทฤษฎีการดูแลมนุษย์

วิชาแนวคิดและทฤษฎีการพยาบาล   รหัสวิชา 503  102

หน่วยที่ 3  แนวคิด กรอบแนวคิด และทฤษฎีการพยาบาล

  • ทฤษฎีการดูแลมนุษย์ของวัทสัน  (Watson’s Human Caring Theory)

          ทฤษฎีการดูแลมนุษย์ (Human Caring Theory)  สร้างโดย ดร.จีน วัทสัน (Jean Watson) วัทสันเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1940 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญาตรีทางการพยาบาล และปริญญาโททางการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช และปริญญาเอกทางจิตวิทยาทางการศึกษา จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด (Colorado) วัทสันมีประสบการณ์ในวิชาชีพอย่างกว้างขวางทั้งในการปฏิบัติการพยาบาล เป็นอาจารย์พยาบาล นักวิจัย และเป็นผู้บริหารของคณะพยาบาลศาสตร์ ตลอดจนเป็นผู้ตั้งศูนย์การดูแลทางด้านการพยาบาล (Human  Science Caring center)  ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด งานเขียนของวัทสันได้รับการพิมพ์ครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1979 ในเรื่อง “ ปรัชญาและศาสตร์ของการดูแล ” (Philosopy and Science of Caring) และในปี ค.ศ. 1988 ทฤษฎีของวัทสันชื่อ  “ ศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์และการดูแล ” (Human  Science and Human Caring)  ได้รับการตีพิมพ์เป็นตำราและใช้กันอย่างกว้าง จากประสบการณ์ทั้งการทำงานและงานเขียน มีอิทธิพลต่อการพัฒนาทฤษฎีการดูแลระหว่างบุคคล

มโนทัศน์หลัก 4 ประการในทฤษฎีการดูแลมนุษย์ของวัทสัน

มโนทัศน์หลักทั้ง 4 ในทฤษฎีการดูแลมนุษย์ของวัทสัน คือ บุคลล (วัทสันเรียกว่ามนุษย์)  สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการพยาบาล ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดดังต่อไปนี้

มนุษย์ (Human Being) เป็นองค์รวม ประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ จิตวิญญาณเป็นแก่นตัวตน (Self)  ของบุคคล เป็นแหล่งที่เกิดความตะหนักในตนเอง ความรู้สึกสำนึกขั้นสูง และเป็นพลังภายใน ซึ่งมนุษย์มีการเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มนุษย์เป็นผู้มีคุณค่าในตนเองและสมควรได้รับการดูแล ได้รับการนับถือ ได้รับความเข้าใจและช่วยเหลือ

สุขภาพ  (Health)  เป็นภาวะที่มีดุลภาพและมีความกลมกลืนระหว่างร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณหรือมีความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างตัวตนตามที่รับรู้ และตัวตนตามที่ประสบจริง นอจากนั้นสุขภาพยังเป็นภาวะที่สุขทั้งร่างกาย จิต และสังคม สามารถทำหน้าที่ได้สูงสุดสามารถปรับตัวในการทำกิจวัตรประจำวันและดำเนินชีวิตได้ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ

สิ่งแวดล้อม/สังคม (Environment/Society) เป็นสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพ สังคม วัฒนธรรม และจิตวิญญาณ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงย่างต่อเนื่อง สิ่งแวดล้อมเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการรับรู้และพัฒนาการของบุคคลที่อยู่ในการดูแลซึ่งกันและกันระหว่างบุคคล ค่านิยมของสังคมเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมให้การดูแลเกิดขึ้น      

การพยาบาล (Nursing)  เป็นกระบวนการดูแลที่เข้าถึงจิตใจและความรู้สึกของบุคคล (Transpersonal Caring) ในการส่งเสริสุขภาพ การป้อกันโรค การเยียวยาการเจ็บป่วย และการฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้บุคคลเพิ่มดุลยภาพในตนเอง เกิดความรู้จักตนเอง เคารพนับถือตนเอง ดูแลเยียวยาตนเอง เกิดความประจักษ์รู้ในความหมายของสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต

สาระของทฤษฎีการดูแลมนุษย์ อธิบายถึงการเชื่อมโยงของมนุษย์กับมนุษย์ที่แต่ละฝายต่างสัมผัสถึงจิตใจของกันและกัน ซึ่งวัทสัน ได้กล่าวถึงข้อตกลงเบื้องตนที่สัมพันธ์กับคุณค่าการดูแลมนุษย์ในการพยาบาลไว้  11 ประการ

  1. การดูแลและความรักเป็นพลังสากล
  2. มนุษย์ต้องการความรักและการดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต
  3. การพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ให้การดูแลก่อนให้การดูแลผู้อื่น พยาบาลต้องดูแลตนเองด้วยความสุภาพอ่อนโยน
  4. รักศักดิ์ศรีของตนเอง พยาบาลจึงจะสามารถเคารพและให้การดูแลผู้อื่นด้วยความสุภาพอ่อนโยน  และเคารพในศักดิ์ศรีของผู้อื่น
  5. การพยาบาลต้องยึดถือการดูแลความเป็นมนุษย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพดีและการเจ็บป่วย
  6. การดูแลเป็นแกนกลางของการพยาบาล และเป็นจุดเน้นในการปฏิบัติการพยาบาล
  7. กรดูแลเชิงมนุษย์นิยมไม่ว่ารายบุคคลหรือกลุ่ม ได้รับความสนใจจากระบบบริการสุขภาพน้อยลง
  8. ค่านิยมเกี่ยวกับการดูแลของพยาบาลถูกบดบังไว้จากการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นค่านิยม/อุดมคติที่เน้นความเป็นมนุษย์จึงอยู่ในภาวะวิกฤติ
  9. การอนุรักษ์และการศึกษาเรื่องการดูแลมนุษย์เป็นประเด็นสำคัญของวิชาชีพการพยาบาลทั้งในปัจจุบันและอนาคต
  10. การดูแลมนุษย์ทำได้โดยการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเท่านั้น
  11. ประโยชน์ของวิชาชีพการพยาบาลต่อสังคมโดยรวมอยู่ที่การยึดมั่นในการดูแลเชิงมนุษย์นิยมทั้งด้านทฤษฎี การปฏิบัติ และการวิจัย

กรอบมโนทัศน์ของการดูแลมนุษย์ของวัทสัน

-  การดูแลเป็นอุดมคติเชิงคุณธรรมที่ยึดมั่นในพยาบาล

-  การปฏิบัติการดูแลเป็นแกนกลางของพยาบาล

- เป้าหมายของการพยาบาลเป็นการช่วยเหลือให้มนุษย์เพิ่มระดับดุลยภาพ และความกลมกลืนระหว่างกาย-จิต-จิตวิญญาณ ในการก่อให้เกิดความรู้ในตนเอง การยกย่องนับถือตนเอง และกระบวนการเยียวยาตนเอง

กระบวนการดูแลมนุษย์ เป็นกระบวนการที่พยาบาลและผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการมีปฏิสัมพันธ์กัน มีการช่วยเหลือกันในสถานการณ์เฉพาะในเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งพยาบาลและผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการต่างรับรู้ตรงกันถึงการให้และการได้รับการดูแล กระบวนการดูแลมีลักษณะเป็นพลวัตร ประกอบด้วย

  1. บุคคล (Person)  หมายถึงพยาบาลและผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการที่เป็นองค์รวมของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยแต่ละบุคคลต่างมีภูมิหลังหรือประสบการณ์ชีวิตที่เป็นลักษณะเฉพาะของตน ที่เรียกว่า สนามปรากฎการณ์ของชีวิต บุคคลมีตัวตนทั้งในลักษณะที่เป็นอยู่จริง (Self as it is) ตัวตนในอุดมคติ (Ideal self) และตัวตนสูงสุดคือ จิตวิญญาณ (Spiritual self)  ซึ่งเป็นแหล่งที่เกิดความตระหนัก ความรู้สำนึกขั้นสูงเป็นพลังภายในที่จะทำให้บุคคลอยู่เหนือตัวตนปกติได้
  2. สนามปรากฏการณ์ (Phenomenal filed) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในขณะที่มีการดูแลในช่วงเวลาหนึ่ง/สถานที่หนึ่ง เป็นกรอบอ้างอิงของแต่ละบุคคลที่เกิดจากการที่บุคคลให้ความหมายต่อสรรพสิ่งต่างๆ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ตามการรับรู้และประสบการณ์
  3. ขณะการดูแลที่เกิดขึ้นจริง (Actual Caring Occasion) เป็นขณะที่เวลาพยาบาลและผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการรับรู้ตรงกันหรือเข้าใจถึงความรู้สึกซึ่งกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต มีโอกาสตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีที่ดีหรือเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ ที่จะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ถือว่าเป็นการทำงานร่วมกันอย่างเสมอภาค ระหว่างพยาบาลและผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการ เป็นผลให้บุคคลดูแลตนเอง และเรียนรู้ความหมายของสภาวะที่เกิดขึ้นในชีวิต
  4. การดูแลที่เข้าถึงจิตใจของบุคคล (Transpersonal Caring) เป็นการดูแลที่เข้าถึงความรู้สึกของบุคคล มิได้เป็นเพียงการพบกันในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นประสบการณ์หรือเหตุการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับอดีต ปัจจุบันและอนาคต การดูแลที่เข้าถึงความรู้สึกจึงมีความหมายมากกว่าการพบกันในช่วงเวลา พยาบาลและผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงความรู้สึกและสัมผัสจิตใจซึ่งกันและกัน

การดูแลที่เข้าถึงชีวิตจิตใจของบุคคลนั้น จะต้องใช้ปัจจัยการดูแล 10 ประการ คือ

1. สร้างระบบค่านิยมที่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น และมีเมตตาต่อเพื่อมนุษย์

2. สร้างความศรัทธาและความหวัง

3. สร้างความไวต่อความรู้สึกของตนเอง และบุคคลอื่น

4. สร้างสัมพันธภาพการช่วยเหลือไว้วางใจ

5. การส่งเสริมและการยอมรับการแสดงออกของความรู้สึกทั้งทางบวกและทางลบ

6. การใช้กระบวนการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ในกระบวนการดูแล

7. การส่งเสริมการเรียนการสอนที่เข้าถึงจิตใจของบุคคล

8. การประคับประคอง สนับสนุน และแก้ไขสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ จิตสังคม และจิตวิญญาณ

9. การช่วยเหลือเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคล

10.  การเสริมสร้างพลังจิตวิญญาณในการมีชีวิตอยู่

แนวทางการสร้างเสริมศักยภาพและคุณลักษณะของพยาบาล  คือ

1. ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมและการตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น

2. ความรู้เกี่ยวกับความต้องการของบุคคล

3. ความรู้เกี่ยวกับการตอบสนองต่อความต้องการของบุคคล

4. ความรู้เกี่ยวกับการมีศักยภาพและความสามารถ รวมทั้งข้อจำกัดของตัวพยาบาล

5. ความรู้เกี่ยวกับความหมายที่บุคคลมีต่อสถานการณ์ชีวิต สุขภาพและการเจ็บป่วย

6. ความรู้ที่จะให้ความเห็นอกเห็นใจ ความเมตตาและความสุขสบายแก่บุคคล

แนวทางในการพัฒนาตนเองของพยาบาล  มีดังนี้

1. ฝึกความตะหนักรู้ (Awareness) และการมีสติ

2. ฝึกสร้างความเมตตาให้เกิดขึ้นในใจ

3. ฝึกพิจารณาการกระทำ ความรู้สึก ความคิด และการพูดของตนเองในแต่ละวัน พยายามปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

4. เรียนรู้หลักคำสอนทางศาสนา สัจธรรมของชีวิต นำมาปฏิบัติ เป็นต้น

ทฤษฎีการดูแลระหว่างบุคคลนี้พยาบาลจะต้องเข้าถึงประสบการณ์ของบุคคลอื่น และบุคคลอื่นต้องเข้าถึงประสบการณ์ของพยาบาล แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การมีเวลาทีพอเพียงและความเต็มใจของผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการด้วย*

 

คำถามท้ายบทเรียน

-    มโนทัศน์หลัก 4 ประการในทฤษฎีการดูแลมนุษย์ของวัทสัน ที่ประกอบด้วยมนุษย์,สุขภาพ,สิ่งแวดล้อม/สังคม,    การพยาบาล เป็นอย่างไร

-   กระบวนการดูแลมนุษย์องค์ประกอบใดบ้าง

-   แนวทางการสร้างเสริมศักยภาพและคุณลักษณะของพยาบาลมีอะไรบ้าง

เอกสารอ้างอิง

จันทร์เพ็ญ สันตวาจา, อภิญญา เพียรพิจารณ์, & รัตนาภรณ์ ศิริวัฒน์ชัยพร. (2551). แนวคิดพื้นฐานทฤษฎีและกระบวนการพยาบาล. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: บริษัท ธนาเพส จำกัด.

หมายเลขบันทึก: 320415เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2009 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาอ่านความรู้ค่ะ สงสัยว่าร้านวัตสัน นำชื่อมาจากเจ้าของทฤษฏีการดูแลมนุษย์ แน่แล้วกระมัง ...  ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณคะ ขอเอาไปทำรายงานหน่อยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท