การพัฒนาทักษะกระบวนการคิดและการเรียนเรียนรู้ด้วยเทคนิคเชิงมโนทัศน์


งานวิจัยในชั้นเรียนเชิงคุณภาพ

กรณีศึกษา  :  การพัฒนาทักษะกระบวนการคิดและการเรียนเรียนรู้ด้วยเทคนิคเชิงมโนทัศน์

 

 

             ครูวิลาพร    อารักษ์    ได้รับมอบหมายให้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  ในรายวิชา   วิทยาศาสตร์  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  และรายวิชา  เคมี   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  มานานหลายปีแล้วได้ค้นพบว่า  สื่อการเรียนรู้ที่เป็นประสบการณ์จริงของนักเรียนมีความสำคัญต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนเอง   และปัญหาของการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนก็คือการลืมเนื้อหาและการไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้ความคิดของนักเรียนเพื่อนำไปสู่ความรู้ที่ยั่งยืนได้  ขณะทำการสอนนักเรียนมีความสามารถในการโต้ตอบดีเมื่อเสร็จสิ้นการเรียนการสอนนักเรียนลืม   ครูจึงปรับกลยุทธ์ใหม่  โดยใช้สื่อการเรียนรู้ที่เป็นของจริง  ใช้กระบานกลุ่มเข้าช่วยนักเรียนอ่อน   มีการประเมินผลงานตามสภาพจริง  มีการให้กำลังใจและช่วยเหลือขณะเรียน  ให้นักเรียนบันทึกประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้เทคนิคเชิงมโนทัศน์ และให้นักเรียนเล่าเรื่องจากภาพความรู้เชิงมโนทัศน์ที่นักเรียนสร้างขึ้น   ครูจึงพบว่า นักเรียนทำได้  ขอเพียงแต่ครูให้โอกาส

                ข้าพเจ้า  นางวิลาพร   อารักษ์  โรงเรียนคลองลานวิทยา   สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำแพงเพชร  เขต  2   มีประสบการณ์การทำงานที่โรงเรียนนี้เข้าปีที่ 4  และปัจจุบันได้รับมอบหมายให้สอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5 ในรายวิชาเคมี   

                    โรงเรียนคลองลานวิทยาเป็นโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนนำร่องหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้น  พ.ศ.  2551  และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปีการศึกษา 2551 โดยเริ่มจากการประชุมผู้บริหารและครูของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในเขตพื้นที่หลายครั้งเพื่อรับนโยบาย  สร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา  พ.ศ. 2551  ที่เราเรียกกันว่า  หลักสูตรใหม่  และเมื่อเดือนมีนาคม  พ.ศ. 2552  ที่ผ่านมา  ครูจาก  4  โรงเรียน ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนนำร่องหลักสูตรได้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรใหม่  ณ  สำนักงานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร  สาขาคลองขลุง  หลังจากนั้นข้าพเจ้าและเพื่อนครูได้กลับมาที่โรงเรียนและได้เริ่มต้นการเขียนหลักสูตรใหม่กันอย่างจริงจัง  จนกระทั่งสิ้นเดือน เมษายน  โรงเรียนคลองลานวิทยาจึงได้หลักสูตรฉบับแรกและได้ส่งให้กับเขตพื้นที่เพื่อตรวจสอบ  และโรงเรียนได้รับหลักสูตรคืนมาเพื่อแก้ไขและได้ส่งไปให้เขตพื้นที่ตรวจสอบครั้งที่สอง  ได้รับหลักสูตรกลับคืนอีกครั้งพร้อมข้อเสนอแนะให้มีการปรับแก้ไขใหม่  และครั้งนี้เองที่ข้าพเจ้า และเพื่อนครูที่รับผิดชอบเป็นหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ ทีมวิจัยหลักสูตร และทีมผู้ใช้หลักสูตรใหม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาตามโครงการขับเคลื่อนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 ระหว่างวันที่  10 – 12  เดือนกรกฎาคม  พ.ศ. 2552   ณ  อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช  จังหวัดตาก  ซึ่งจัดกลุ่มนิเทศติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำแพงเพชร  เขต 2    จากการสัมมนาครั้งนี้เอง  ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จักการวิจัยเชิงคุณภาพหรือวิจัยเชิงปฏิบัติการ  จากการศึกษาเรื่อง : ป่าชายเลนสู่การพัฒนาศิลปะและภาษา โดยอาจารย์อำพร  ไหวพริบ  โรงเรียนบ้านคลองประสงค์  จังหวัดกระบี่  ซึ่งกรณีศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของกิจรรมที่วิทยากรกำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการวิจัยและการเขียนรายงานวิจัยในรูปแบบนี้  และข้าพเจ้าเลือกกรณีศึกษานี้เพื่อวิเคราะห์และถอดรหัสกรณีศึกษา

                 จากกิจกรรมนี้ทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้เกี่ยวกับการเขียนรายงานวิจัยเชิงคุณภาพ  โดยส่วนใหญ่ข้าพเจ้าเชื่อว่าครูทุกคนคุ้นเคย และได้ผ่านการแก้ปัญหาการเรียนการสอนมาแล้วทุกคน  แต่ยังไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจนในการเขียนรายงานวิจัยเชิงคุณภาพ  จึงมีครูน้อยคนนักที่มีประสบการณ์ในการเขียนรายงานรูปแบบนี้  และความใหม่ของรายงานรูปแบบนี้เองข้าพเจ้าคิดว่าตนเองน่าจะทำได้

                 หลังจากกลับมาที่โรงเรียน ข้าพเจ้าได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามปกติและข้าพเจ้าเริ่มทบทวนปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนและปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของข้าพเจ้า  พบว่าหลังจากจบกิจกรรมการเรียนรู้แล้วทำการทดสอบความรู้ของนักเรียนในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้  ปัญหาที่พบซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยที่ข้าพเจ้าพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่ให้เกิดปัญหานี้ก็คือ การพยายามที่จะทำให้คะแนนการทดสอบของนักเรียนผ่านเกณฑ์  ก็คือผลการทำการทดสอบหลังแผนการเรียนรู้ของนักเรียนมีคะแนนต่ำ  ซึ่งข้าพเจ้าได้สังเกตหลายครั้งจากการสอนที่ผ่านมา  เมื่อสอบถามนักเรียนแล้วพบว่า  นักเรียนจำเนื้อหาไม่ได้  ไม่เข้าใจเนื้อหา  หรือจำได้แล้วลืม  ไม่สามารถเชื่อมโยงเนื้อหาได้  และเมื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนมีเวลาอ่านหนังสืออีกครั้งผลการทดสอบก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร  เพราะนักเรียนก็ยังมีปัญหาเดิม  คือจำไม่ได้  นำความรู้มาประยุกต์ใช้ไม่เป็น  นึกภาพความสัมพันธ์ของเนื้อหาไม่ได้

                จากปัญหาที่พบนี้ทำให้ข้าพเจ้าทราบว่าความรู้ที่นักเรียนได้รับจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของข้าพเจ้ายังเป็นความรู้ที่ไม่คงทน  เพราะมันเกิดจากความจำระยะสั้น  ไม่ใช่ความเข้าใจที่ถาวร  เพราะขณะทำกิจกรรมการเรียนรู้นักเรียนจะตอบคำถามได้  โต้ตอบกับครูได้  ทำใบกิจกรรมได้  แต่เมื่อทดสอบพบว่านักเรียนมีผลคะแนนต่ำ

                ข้าพเจ้าจึงคิดหาวิธีการที่จะทำอย่างไร  ให้นักเรียนมีความรู้ที่คงทนและเป็นความรู้ที่เกิดจากการสร้างองค์ความรู้ของนักเรียนเอง  และจากการที่ข้าพเจ้าเคยได้รับการอบรมเกี่ยวกับการสอนให้นักเรียนมี  ทักษะกระบวนการคิด  ทำให้ข้าพเจ้าทราบว่าความรู้ที่คงทนจะต้องมาจากตัวนักเรียนเป็นคนสร้างองค์ความรู้เอง  ซึ่งการสร้างองค์ความรู้ได้นั้นนักเรียนต้องมีกระบวนการคิด  และกระบวนการคิดมีทั้งหมด 12  กระบวนการคิด (ดร.สุวิทย์   มูลคำ,2549)  ได้แก่

  1. การคิดวิเคราะห์
  2. การคิดเปรียบเทียบ
  3. การคิดวิพากย์
  4. การคิดอย่างมีวิจารณญาณ
  5. การคิดแก้ปัญหา
  6. การคิดสังเคราะห์
  7. การคิดประยุกต์
  8. การคิดสร้างสรรค์
  9. การคิดเชิงมโนทัศน์
  10. การคิดบูรณาการ
  11. การคิดอนาคต
  12. การคิดเชิงกลยุทธ์

หนึ่งในกระบวนการคิดนั้นก็คือการคิดเชิงมโนทัศน์  ซึ่งหมายถึงความสามารถทางสมองในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลทั้งหมดที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างชัดเจนโดยมีการจัดระบบ  จัดลำดับความสำคัญของข้อมูล  เพื่อสร้างความคิดรวบยอดของสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้น  และรูปแบบของกรอบการคิดเชิงมโนทัศน์  มีหลายรูป เช่น

-          Concept  Map

-          Mind   Map

-          Web  Diagram

-          Tree  Structure

-          Venn  Diagram

-          Descending  Ladder

-          Cycle   Graph

-          Flowechart  Diagram

-          Matrix  Diagram

-          Fishbone  Map

-          Interval  Graph

-          Order  Graph

-          Classification   Map

จากรูปแบบกรอบมโนทัศน์นี้  ข้าพเจ้าได้นำเสนอกับนักเรียนและให้นักเรียนเลือกนำมาใช้เพื่อสร้างองค์ความรู้ของตนเอง หลักจากที่เสร็จสิ้นกิจกรรมการเรียนการสอน  ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาในรูปแบบของใครคนใดคนหนึ่ง  จะเป็นความรู้ที่เกิดจากการเข้าใจ  ไม่ใช่ความจำและทำให้ความรู้นั้นอยู่คงทน  ในมโนภาพของนักเรียนตลอดไป  ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตามนักเรียนจะไม่ลืม

ข้าพเจ้าจึงเริ่มวางแผนวิธีการที่จะทำให้นักเรียนพัฒนาทักษะกระบวนการคิดและการเรียนรู้ด้วยเทคนิคการคิดเชิงมโนทัศน์   ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ  จอห์น  ดิวอี้  (John  Dewey)ที่ว่า  “โรงเรียนเสมือนห้องทดลองที่จะต้องช่วยเสริมสร้างการคิดให้แก่ผู้เรียน” และแนวความคิดของเพียร์เจ(Piaget) ที่ว่า “การคิดเกิดขึ้นเมื่อบุคคลเผชิญกับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหา  ความขัดแย้งหรือคำถามเกิดสภาวะความไม่สมดุลขึ้น  จะเป็นความไม่สบายกายไม่สบายใจ  ซึ่งเป็นสิ่งเร้า  กระตุ้นให้บุคคลคิดเพื่อแก้ปัญหาหรือหาคำตอบเพื่อสามารถแก้ปัญหาได้หรือตอบคำถามนั้น ๆ ได้  บุคคลจะกลับข้าสู่สภาวะสมดุล  หมดจากภาวะความเครียด  เข้าสู่สภาวะปกติ”

ครูให้ความรู้

นักเรียนจำ

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ

เนื้อหามาก

ภาระงานมาก

นักเรียนเบื่อหน่าย

ครูพบปัญหาที่ต้องแก้ไข

เพื่อความก้าวหน้าของตนเอง

วางแผน

คิดหาทาง

ดำเนินการแก้ไข

ทดลองแก้ปัญหา

วิเคราะห์ผล

นำผลมาปรับปรุง/พัฒนาปรับปรุงแน

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น

ข้าพเจ้าได้นำความรู้และประมวลความคิดเพื่อทบทวนย้อนกลับและตั้งคำถามกลับตนเองว่า  การที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำเป็นเพราะสาเหตุดังนี้  การดำเนินการของข้าพเจ้าจะยึดผู้เรียนเป็นสำคัญโดยให้นักเรียนแบ่งกลุ่มศึกษาจากเอกสารใบความรู้และตำราเรียนพร้อมกับครูให้คำเสนอแนะในระหว่างเรียนจากนั้นให้นักเรียนสรุปความรู้ลงในสมุดและให้นักเรียนเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังเมื่อจบเนื้อหา  และทำการทดสอบหลังเรียน

ข้าพเจ้าได้ทบทวนวิธีการที่ใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แล้วพบว่าการเรียนรู้จากตำราด้วยตัวของนักเรียนและฟังการบรรยายเพิ่มเติมจากครูบ้างนั้น มีผลต่อการพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียนได้เหมือนกันแต่ต้องใช้เวลานานเพราะกว่าที่นักเรียนที่มีความแตกต่างกันทุกคนจะศึกษาเอกสารจนหมด  และทำความเข้าใจในเนื้อหาได้นั้นต้องใช้เวลานาน และมีข้อจำกัดอีกว่านักเรียนมีความสามารถในการอ่านและตีความได้ต่างกัน  จึงเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ใหม่

วิธีการต่อมาข้าพเจ้าได้ให้นักเรียนได้ศึกษาจากเอกสาร  ใบความรู้  และฟังการบรรยายประกอบภาพสไลด์บนโปรแกรม Power  point  และให้นักเรียนได้สัมผัสกับสิ่งสื่อที่เป็นของจริงได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมการทดลอง  เช่น  จากการเรียนเรื่องเซลล์และโครงสร้างของเซลล์  ก็ให้นักเรียนได้นำพืชและสัตว์ในท้องถิ่นมาศึกษา  ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้มีทักษะการใช้กล้องจุลทรรศน์  ได้มองเห็นส่วนประกอบของเซลล์พืชและเซลล์สัตว์จริงแล้วนำภาพที่วาดได้จากของจริงมาเปรียบเทียบกับภาพที่ได้จากการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต   หรือการเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับการลำเลียงในพืชก็ให้นักเรียนได้นำต้นไม้จริงมาศึกษาดูระบบลำเลียงโดยการนำต้นผักกระสังหรือพืชที่มีลำต้นใสมาแช่ในน้ำผสมสีแดงเพื่อให้มองเห็นท่อลำเลียงน้ำชัดเจน  หรือการเรียนเรื่องการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชก็ให้นักเรียนปลูกต้นไม้เพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้  ให้นักเรียนทำการทดสอบแป้งที่พืชสร้างขึ้นโดยการศึกษาจากใบชบาด่าง  นักเรียนจึงสามารถเปรียบเทียบและรู้ได้ว่าส่วนของพืชที่สามารถสร้างอาหารได้คือส่วนของพืชที่มีสีเขียวซึ่งแสดงว่าในเซลล์ของพืชนั้นต้องมีคลอโรฟิลด์นั่นเอง   หรือการเรียนเรื่องการสืบพันธุ์ของพืช  ก็ให้นักเรียนนำดอกไม้ที่มีอยู่ท้องถิ่นมาคนละ 1  ดอก  โดยสมาชิกในแต่ละกลุ่มจะมีดอกไม้ไม่ซ้ำกัน  ให้นักเรียนได้ศึกษาส่วนประกอบของดอกไม้  นักเรียนได้ทราบว่าดอกไม้สามารถแบ่งออกเป็นประเภทตามเกณฑ์เช่น  ถ้าใช้ส่วนประกอบของดอกเป็นเกณฑ์จะแบ่งดอกไม้ออกเป็น   2  ประเภทคือ  ดอกครบส่วนและดอกไม่ครบส่วน  แต่ใช้เกสรตัวผู้เกสรตัวเมียเป็นเกณฑ์จะสามารถแบ่งดอกไม้เป็น  2  ประเภทคือ  ดอกสมบูรณ์เพศและดอกไม่สมบูรณ์เพศอย่างนี้เป็นต้น  ทำให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม  ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งการและกันซึ่งข้าพเจ้าถือว่าเป็นการปูพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตยไปในอนาคต  โดยข้าพเจ้าทำหน้าที่จัดหาแหล่งการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในขณะที่นักเรียนกำลังทำกิจกรรมการเรียนรู้คอยเสริมให้กำลังใจและช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ  ทำให้นักเรียนมีจินตนาการมากขึ้น  นักเรียนเกิดมโนทัศน์ในใจและมีความภาคภูมิใจในความรู้ของตนเอง  ซึ่งความรู้ที่ได้รับนี้ถือเป็นความรู้ที่เป็นองค์ความรู้ของนักเรียนเอง

เมื่อนักเรียนเรียนจบแต่ละเรื่องแล้วครูให้นักเรียนเขียนสรุปความรู้ที่ได้รับโดยเขียนสรุปเชิงมโนทัศน์จะเป็นรูปแบบใดก็ได้ที่นักเรียนถนัด พบว่ารูปแบบที่นักเรียนเข้าใจได้แก่  Concept  Map ,Mind   Map,Web  Diagram,Venn  Diagram,,Flowechart  Diagram  และอนุญาตให้นักเรียนนำกลับไปทำที่บ้านได้  จากกิจกรรมเหล่านี้ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นการขยายเวลาให้กับนักเรียนจะได้ลดภาวะความเครียดให้กับนักเรียนและจะได้ไม่มีการจำกัดในเรื่องเวลามาปิดกั้นความคิดและจินตนาการของนักเรียน

เกณฑ์การประเมินผังมโนทัศน์

ประเด็นการประเมิน

ระดับคุณภาพ

น้ำหนักคะแนน

4

3

2

1

1.  รูปแบบ

1)  รูปแบบแปลกใหม่น่าสนใจ

2)  มีขนาดเหมาะสม

3)  รูปภาพมีสีสันสวยงาม

4)  รูปภาพสัมพันธ์กับเนื้อหา

1)  มีขนาดเหมาะสม

2)   รูปภาพมีสีสันสวยงาม

3)  รูปภาพสัมพันธ์กับเนื้อหา

1)   มีขนาดเหมาะสม

2) รูปภาพมีสีสันสวยงาม

มีขนาดเหมาะสม

3

2.  เนื้อหา

1)  เนื้อหาตรงกับข้อเท็จจริง

2)  เนื้อหาเป็นไปตามลำดับขั้นตอน

3)  รายละเอียดครอบคลุม

4)    เนื้อหาสอดคล้องกับงาน

1)   เนื้อหาตรงกับข้อเท็จจริง

2)  เนื้อหาเป็นไปตามลำดับขั้นตอน

3)  รายละเอียดครอบคลุม

1)   เนื้อหาตรงกับข้อเท็จจริง

2)   เนื้อหาเป็นตามลำดับขั้นตอน

เนื้อหาตรงกับข้อเท็จจริง

3

 

เมื่อนักเรียนนำผลงานมาส่ง  ข้าพเจ้าจะให้นักเรียนเล่าสรุปเนื้อหาจากผลงานเชิงมโนทัศน์ที่นักเรียนสร้างขึ้นพบว่านักเรียนแต่ละคนสามารถทำได้ดี เนื้อหาที่ปรากฏในผังเชิงมโนทัศน์มีความครอบคลุมเนื้อหาเป็นอย่างดี  มีรายละเอียดครบถ้วน  ครูชมเชยและประเมินผลตามสภาพจริงโดยให้นักเรียนประเมินตนเอง  เพื่อนประเมินและครูประเมิน  นักเรียนมีความภาคภูมิใจกับผลงานของตนเอง  เมื่อทำการทดสอบหลังเรียนก็พบว่านักเรียนมีคะแนนผ่านเกณฑ์การประเมินและมีคะแนนที่สูงขึ้นแสดงว่านักเรียนมีความรู้ที่คงทน  ที่ไม่ใช้เพียงความจำระยะสั้น ๆ

ตารางบันทึกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 

คะแนนเฉลี่ย

หน่วยการเรียนรู้เรื่อง

เซลล์และโครงสร้างของเซลล์

การสร้างอาหารของพืช

การลำเลียงในพืช

ก่อนเรียน

1.05

3.50

4.52

หลังเรียน

3.74

7.05

13.70

 

จากการปฏิบัติการในครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้เปลี่ยนแปลงตนเองเกี่ยวกับวิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายขึ้น  ใช้สื่อการเรียนรู้ที่เป็นของจริงผสมผสานกับสื่อที่มองเห็นภาพจาการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต  นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีความคิดจิเป็นของตนเอง   รวมทั้งให้การเสริมแรงในทางบวก  สร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่เป็นกันเองทำให้ครูและนักเรียนมีความใกล้ชิดกัน  พยายามเน้นกระบวนการคิดให้มากที่สุด   และคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลให้มาก ๆ โดยการให้นักเรียนในแต่ละกลุ่มมีทั้งคนที่เรียนเก่ง  เรียนปานกลางและเรียนอ่อนอยู่ด้วยกันเพื่อจะได้ช่วยเหลือกัน  ไม่มีกลุ่มใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

ผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนคือนักเรียนสามารถที่จะสร้างองค์ความรู้ของตนเองได้และสามารถที่จะเล่าถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจผ่านผังมโนทัศน์ของตนเองได้เป็นอย่างดี  และในผลงานของนักเรียนแสดงออกถึงการมีความคิดสร้างสรรค์ได้อีกทางหนึ่ง  ทำให้นักเรียนมีความมั่นใจในตนเอง  มีความสามารถในการตัดสินใจ  มีความภาคภูมิใจในผลงานของตนเองและมีความรัก  หวงแหนธรรมชาติและทรัพยากรในท้องถิ่นเพราะนักเรียนตระหนักถึงคุณค่า และประโยชน์ของสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว

การปรับเปลี่ยนวิธีการสอนในครั้งนี้ส่งผลในทางบวกต่อครูและนักเรียนอย่างมากและที่สำคัญทำให้ข้าพเจ้าทราบว่าการเขียนรายงานการวิจัยเชิงคุณภาพหรือการวิจัยเชิงปฏิบัตินี้ไม่ยากอย่างที่คิดไว้   ถึงแม้ว่าการเขียนรายงานฉบับนี้อาจจะมีความบกพร่องอยู่มาก เพราะรายงานฉบับนี้ถือเป็นรายงานฉบับแรกในชีวิตที่เขียนขึ้นในรูปแบบนี้   ถึงอย่างไรก็ตามการการวิจัยจะสำเร็จลงได้ข้าพเจ้าคิดว่าครูต้องย้อนถามตนเองว่าปัญหาในห้องเรียนคืออะไร เกิดจากสาเหตุใด  และจะมีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร  เพื่อให้เรามองเห็นแนวทางในการพัฒนาซึ่งเป็นไปตามหลักอริยสัจ 4 (ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค)  ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่าเมื่อเราเห็นเหตุแห่งปัญหาเราก็จะหาทางแก้ปัญหาได้นั่นเอง

การพัฒนาทักษะกระบวนการคิดและการเรียนรู้ด้วยเทคนิคเชิงมโนทัศน์นั้นเป็นแนวทางหนึ่งที่ใช้ในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนได้  แต่สำหรับนักเรียนบางคนแนวทางนี้อาจไม่ได้ผล  เพราะมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น  นักเรียนขาดความรับผิดชอบ  ครอบครัวมีปัญหานักเรียนอยู่กับญาติ  นักเรียนมีภาระงานมากและไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองเท่าที่ควร  เพราะฉะนั้นแนวทางการแก้ปัญหาแต่ละวิธีการจะใช้ในการพัฒนากระบวนการคิดและการเรียนรู้ของนักเรียนได้แตกต่างกัน  ขึ้นอยู่กับศักยภาพ และความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียนนั้นเอง

 

*****************************************************************

ตัวอย่างผลงานนักเรียน

 

  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 319768เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2009 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

  • เป็นแนวการดำนินการไปสู่งานวิจัยเชิงคุณภาพที่ดีค่ะ
  • เป็นกำลังใจให้นะคะ  แล้วจะมาติดตามอ่านต่อไปค่ะ
  • ดีมากครับ
  • สวัสดีปีใหม่น้องเมย์และครอบครัว ขอให้มีความสุขสมหวังตลอดไปนะจ๊ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท