บทความที่ได้จากการสังเคราะห์วรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง (สัญชาติสาลี : วิถีการกิน “ข้าว” วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อใด)


บทความที่ได้จากการสังเคราะห์วรรณคดี ,เรื่องไตรภูมิพระร่วง, สัญชาติสาลี : วิถีการกิน “ข้าว” วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อใด

สัญชาติสาลี  :  วิถีการกิน “ข้าว” วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อใด 

 

    แม้คนไทยกินข้าว  เป็นอาหารหลักมาช้านาน  แต่เชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยมีความรู้เกี่ยวกับข้าวน้อยมาก  ไม่รู้ว่าข้าวเป็นพืชชนิดใด  มีกำเนิดและวิวัฒนาการมาอย่างไร  คนไทยปลูกข้าวกันเมื่อไร  ปลูกอย่างไร  มีกระบวนการขั้นตอนการผลิต  และเครื่องมือเครื่องใช้อะไรบ้าง  จึงได้ข้าวมากินกันเช่นทุกวันนี้

    ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย  และของชนชาวเอเชียอีกหลายชาติ  ข้าวมีหลายชนิดสำหรับคนไทย คำว่า ข้าว หมายถึงอาหารหลัก  ซึ่งรวมทุกสิ่งที่รับประทานในแต่ละมื้อด้วย  เมื่อพูดถึงข้าวในภาษาไทย จึงมักจะนึกถึง  ข้าวเจ้าก่อน  และเมื่อคนไทยพบกันก็ทักทายกันว่า “กินข้าวหรือยัง”  

    กาญจนา นาคสกุล (2524) ได้ให้ความหมายของคำว่าข้าวไว้ว่า  ข้าว เป็นคำไทยแท้  โบราณออกเสียงว่า เข้า เป็นคำเดียวกับคำว่า เข้า ซึ่งแปลว่า ปี เพราะเดิมเราปลูกข้าวเพียงปีละครั้งในหน้าฝน

    สุกัญญา สุจฉายา (2545,หน้า 5) กล่าวว่า ข้าว เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวในตระกูลหญ้า  ประกอบด้วยราก  ลำต้น  ใบ  รากเป็นรากฝอยกระจายอยู่ใต้ดินตื้นๆ  และที่ข้อปล้องเหนือดิน  ลำต้นกลวง  มีข้อปล้อง  เมื่องอกจากเมล็ดมีลำต้นเดี่ยวแล้วแตกกอเป็นหลายต้น  ข้อปล้องแตกเป็นต้นใหม่ได้  ใบข้าวระยะแรกเป็นกาบห่อต้นก่อนที่จะแผ่ออกเป็นใบยาวมีเมล็ดบนช่อรวง  หรือดอกที่แตกขึ้นจากยอด  เมล็ดที่แก่แล้วอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมจะงอกเป็นต้นเจริญเติบโตขยายพันธุ์ต่อไป

    มนุษย์รู้จักปลูกข้าวและนำข้าวมากินเมื่อใด  ไม่มีหลักฐานชัดเจน  เป็นเวลาหลายพันปีมาแล้วที่มนุษย์เรารู้จักวิธีการปลูกข้าวและการกินข้าวเป็นอาหารหลัก  แต่จะเริ่มปลูกข้าวกันมาตั้งแต่เมื่อไรไม่มีใครสามารถยืนยันได้แน่นอน  เมื่อเป็นเช่นนี้การที่จะทราบถึงถิ่นกำเนิดและวิวัฒนาการก็ย่อมที่จะคาดคะเนไม่ได้ง่ายๆ 

    มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงจุดกำเนิดว่า  พันธุ์ข้าวที่มนุษย์เพาะปลูกในปัจจุบันพัฒนามาจากข้าวป่าในตระกูล Oryza gramineae สันนิษฐานว่า พืชสกุล Oryza มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของทวีป Gondwanaland ก่อนผืนดินจะเคลื่อนตัวและเคลื่อนออกจากกันเป็นทวีปต่างๆ เมื่อ 230-600 ล้านปีมาแล้วจากนั้นกระจายจากเขตร้อนชื้นของแอฟริกา  เอเชียใต้  เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ  ออสเตรเลีย  อเมริกากลางและใต้  มนุษย์ได้คัดเลือกข้าวป่าชนิดต่างๆ ตามความต้องการของตน  เพื่อให้สอดคล้องกับระบบนิเวศน์  มีการผสมพันธุ์ข้ามระหว่างข้าวที่ปลูกกับวัชพืชที่เกี่ยวข้อง  เกิดข้าวพื้นเมืองมากมายหลายสายพันธุ์ ซึ่งสามารถให้ผลผลิตสูง ปลูกได้ตลอดปี ก่อให้เกิดพันธุ์ข้าวปลูกที่เรียกว่า ข้าวลูกผสมซึ่งมีปริมาณ 120,000 พันธุ์ทั่วโลก  ข้าวที่ปลูกในปัจจุบันแบ่งออกเป็นข้าวแอฟริกาและข้าวเอเชีย

    อริตา อินทสิน (2543,หน้า 11) กล่าวว่าถ้าพืชพันธุ์ไม่ว่าชนิดใดก็ตามมีถิ่นกำเนิดในบริเวณใดก็ตาม  นานมากเท่าใด  จำนวนชนิด (species)ของพืชนั้นๆที่จะพบในบริเวณนั้นๆก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น  จากหลักฐานทางพฤกษศาสตร์พิสูจน์ว่าบริเวณที่ทำการเกษตรทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของภูเขาหิมาลัยในประเทศอินเดีย  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาเป็นแหล่งกำเนิดของข้าว  เพราะค้นพบว่ามีข้าวหลายชนิดขึ้นอยู่ในบริเวณนี้  จึงสันนิษฐานได้ว่าข้าวมีกำเนิดอยู่ 2 แห่ง  คือ  ทางทวีปเอเชียและแอฟริกา  ส่วนข้าวที่มีอยู่ทั่วโลกนั้นแบ่งเป็น 3 พวกด้วยกัน  คือ  O. sativa  ชนิดที่ใช้ปลูกกันทั่วไป  O.glaberrima  ปลูกเฉพาะในแอฟริกาและข้าวป่า(wild  rice)  ที่เกิดขึ้นทั่วไป

     สันติ เศวตวิมล (2547) กล่าวว่า  ในเบื้องแรกมนุษย์ค้นพบวิธีปลูกข้าวแบบทำไร่เลื่อนลอย ดังปรากฏหลักฐานในวัฒนธรรมลุงซาน  ประเทศจีนและวัฒนธรรมฮัวบิเนียน  ประเทศเวียดนาม  เมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว ต่อมามนุษย์ค้นพบการทำนาหว่าน  ดังปรากฏหลักฐานในวัฒนธรรมยางเชา  บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง  ในวัฒนธรรมลุงซาน  ประเทศจีนและวัฒนธรรมฮัวบิเนียน ประเทศเวียดนาม  เมื่อ 5,000 - 10,000 ปีมาแล้ว  ในประเทศไทยเมล็ดข้าวที่เก่าแก่ที่สุดที่พบมีลักษณะคล้ายข้าวปลูก  ภูมิปัญญาด้านการปลูกข้าวพัฒนาสู่การปักดำ  จากหลักฐานในวัฒนธรรมบ้านเชียง  ประเทศไทยรู้จักการการปลูกข้าวไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีมาแล้ว

     สุจิต วงษ์เทศ (2546) กล่าวถึงความเป็นมาของข้าวว่า  มีเรื่องเล่าของชาวจ้วงในมณฑลกวางสี  เรื่อง หมาเก้าหาง  ไว้ว่า “ ครั้งนั้นมีหมา 9 หางตัวหนึ่งขึ้นไปบนสวรรค์ แล้วเอาหางทั้งเก้าจุ่มลงไปในกองข้าวของสวรรค์ เพื่อขโมยพันธุ์ข้าวมาให้มนุษย์ พันธุ์ข้าวสวรรค์ก็ติดที่หางทั้ง 9 แล้วหนีลงมา แต่เทวดาเห็นก่อน จึงไล่ตาม แล้วใช้เทพอาวุธฟาดฟันหมาที่ขโมยพันธุ์ข้าว เทพอาวุธฟาดถูกหางขาดไป 8 หาง หมาจึงเหลือหางเดียว  พร้อมพันธุ์ข้าวที่ติดหางหมามาให้มนุษย์”

     แต่ในวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง  วรรณคดีพระพุทธศาสนาเล่มสำคัญของอาณาจักสุโขทัย  พระยาลิไทได้พยายามจัดระเบียบความคิดความเชื่อของคนไทยให้เดินไปตามรอยเดียวกัน  ความคัมภีร์ก็ได้กล่าวถึงกำเนิดข้าวซึ่งสัมพันธ์กับสภาพธรรมะของมนุษย์ผู้บริโภค  และกำเนิดของชนชั้นปกครองว่ามาจาการจัดระเบียบสังคมของคนปลูกข้าว

     เมื่อแรกเริ่มสร้างโลก  อาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์คือ  “โอชารสปฐพี”  ต่อมาเมื่อมนุษย์หลงลืมตน  อาหารวิเศษนั้นก็จมดินหายไปเกิดเป็นดินคล้ายเห็นตูม  แล้วก็สูญหายไปอีกเกิดเป็นพืชเถา  ชื่อ “ภทาลตา”  มีลักษณะคล้ายเถาผักบุ้ง  และก็สูญหายไปอีกเมื่อคนไร้ธรรมะมากขึ้น  จนต่อมาเกิดเป็นต้นข้าวขึ้นชื่อ  “สัญชาติสาลี”

     คำว่า สัญชาติสาลี  มาจากคำ 2 คำ คือ คำว่าสัญชาติ  ซึ่งแปลว่าความเกิด  การเป็นขึ้น  ส่วนอีกคำว่าสาลี นั้นเป็นชื่อพันธุ์ข้าวชนิดหนึ่ง

     เมื่อมนุษย์ได้กินข้าวชนิดนี้อาจมจึงเกิดขึ้น  เกิดกิเลส  เกิดการแบ่งเพศหญิง-ชาย  เกิดผัว-เมีย  เกิดการสะสมข้าว  แย่งข้าว  ข้าวสัญชาติสาลีก็สูญไปเหลือแต่ต้นข้าวที่มีเปลือกที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

     ดังที่ว่า “ แลเป็นก่อนทั้งหลาย  แต่ฝูงคนอันเกิดในแผ่นดินนี้กินโอชารสปฐพีด้วยฤดูฝูงนี้แล  เหตุว่าฝูงชนทั้งหลายประมาทลืมตน  การอันจะเป็นกุศลบุญธรรมอันว่าโอชารสปฐพี  อันคนทั้งหลายกินนั้นก็จมลงไปใต้ดินจึงพูนขึ้นในกลีบดิน  ดังดวงเห็ดอันตูม  นั้นก็จมลงหายในแผ่นดินแล จึงพูนเกิดเข้าอนึ่งชื่อภทาลดา ประดุจดังผักบุ้ง  แลมีโอชารสอันดีนักหนา  ชนทั้งหลายจึงกินเชือกเขานั้นต่างเข้าทุกวารแลอยู่จำเนียรกาลคนทั้งหลายประมาทในบุญธรรมนั้นนักหนา จึงเชือกเขาภัทธาลดานั้นดานหายไป  จึงพูนเกิดเป็นเข้าอันชื่อชาติสาลี  อันหาแกลบแลรำบ่มิได้แลมิพักตำ  หากขาวเองแล้วกลายเป็นต้นเป็นหน่อเป็นกอเกิดเป็นเข้าสารอยู่เอง  แลมิพักตำมิพักตากมิพักฝัดสักอัน  ครั้นว่าเอาเข้าสารนั้นใส่หม้อแล้วดังตั้งขึ้นเหนือก้อนเส้า  อันชื่อโชติกปาสาณฉันนั้น  อันว่าเพลิงในก้อนเส้าหากลุกขึ้นเอง  ถ้าแลมีใจจะใคร่กินกับไส้หากเกิดมีกับเข้าทุกสิ่งแล  ครั้นว่าคนทั้งหลายกินเขั้าดังนั้นจึงเกิดมีลามกอาจม  จิงรู้ร้ายตีนร้ายมือ  เป็นลามกอาจมเป็นปรกติมนุษย์แล  เป็นแต่นั้นต่อเท่าบัดนี้แล ”

(ไตรภูมิพระร่วง,2551,หน้า 303-304)

      ต่อจากนั้นจึงเกิดการแบ่งปันที่นาเพื่อปลูกข้าว  เกิดการทะเลาะเบาะแว้งทำให้ต้องไปเชิญพระโพธิสัตว์มาเป็นผู้นำ  “ เขาจึงอภิเษกพระโพธิสัตว์เจ้าให้เป็นพระยา  ด้วยชื่อ  3  ชื่อ  อันหนึ่งชื่อมหาสมมติราช  อันหนึ่งชื่อขัตติยะ  อันหนึ่งชื่อราช   อันเรียกชื่อขัตตะนั้นไส้  เพราะว่าคนทั้งหลายให้แบ่งปันไร่นาข้าวน้ำแก่คน  ทั้งหลายแล ”  ด้วยเหตุนี้ผู้ปกครองหรือกษัตริย์จึงเกิดขึ้นเพื่อตัดสินการจัดสรรที่นาให้ยุติธรรม

     ทำให้คนนั้นต้องปลูกข้าวขึ้นกินเอง  ซึ่งขั้นตอนและวิธีการปลูกข้าว  เริ่มจากการเตรียมดิน โดยการไถดะ ไถแปร  การคราด แล้วจึงเริ่มปลูก ใช้เมล็ดโดยตรง ด้วยวิธีการหยอดและหว่าน  และการเพาะกล้านาดำ  พอข้าวออกรวงก็ได้เวลาเก็บเกี่ยว  แล้วจึงนำข้าวไปนวด  พอได้เมล็ดข้าวมาก็นำมาผ่านกระบวนการสี  ออกมาเป็นข้าวสารที่ใช้กินกัน  ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้เวลายาวนาน  ต้องผ่านกรรมวิธีหลายขั้นตอนกว่าจะมาเป็นข้าวที่พร้อมกิน  ความลำบากยากเย็นแสนเข็นนี้เองที่ทำให้วรรณคดีเรื่องไตรภูมิ  จึงสะท้อนภาพข้าวในอุดมคติของคนไทยให้ออกมาในลักษณะที่มีให้กินโดยไม่ต้องปลูก 

     ในเรื่องไตรภูมิพระร่วง  ยังได้พรรณนาความวิเศษของสัญชาติสาลี  ตลอดจนวิธีการหุงการกินข้าวชนิดนี้ไว้  จนยากที่จะที่หาพฤกษาหารใดๆ จะมาเปรียบเทียบได้เลย   ดังที่พรรณนาข้าวที่ชาวอุตรกุรุทวีปกินนั้นวิเศษนักว่า  “ แลชาวอุดรกุรุทวีปนั้นมีเข้าสารสิ่งหนึ่งชื่อ  สัญชาติสาลี  บ่มิพักทำนา  แลสาลีนั้นหากเป็นต้นเป็นรวงมาเอง  เป็นเข้าสารแต่รวงนั้นมาเองแลเข้านั้นขาว  แลหอมปราศจากแกลบรำ  บ่มิพักตำแลฝัดแล  หากเป็นเข้าสารอยู่  เขาชวนกันกินทุกเมื่อแล  ในแผ่นดินอุดรกุรุนั้น  ยังมีศีลาสิ่งหนึ่งชื่อ  โชติปาสาณ  คนทั้งหลายฝูงนั้น  เอาเข้าสารนั้นมาใส่ในหม้อทองอันเรืองงามดั่งแสงไฟ  จิงยกไปตั้งลงเหนือศิลาอันชื่อโชติปาสาณ  บัดใจหนึ่งก็เป็นไฟลุกข้น  แต่ก้อนศิลาอันชื่อโชติปาสาณนั้น  ครั้นว่าเข้านั้สุกแล้วไฟก็ดับไปเองแล  เขาแลดูไฟนั้น  ครั้นเขาเห็นไฟนั้นดับแล้ว  เขาก็รู้ว่าเข้านั้นสุกแล้ว ” 

(ไตรภูมิพระร่วง,2551,หน้า 90)

      นอกจากนั้นยังมีการพรรณนาสรรพคุณของสัญชาติสาลีไว้ว่า  “ คนผู้กินเข้านั้นแล  จะรู้เป็นหิดแลเรื้อน  เกลื้อนแลกากหูแลเปา  เป็นต่อมเป็นเตา  เป็นง่อยเป็นเพลียตาฟูหูหนวก  เป็นกระจอกงอกเงือย  เปื้อยเนื้อเมื่อยตน  ท้องขึ้นท้องพอง  เจ็บท้องต้องไส้  ปวดหัวมัวตา ไข้เจ็บเหน็บเหนื่อย  วิการดังนี้ไส้บ่ห่อนจะบังเกิดมีแก่ชาวอุดรกุรุนั้นแต่สักคาบหนึ่งเลย  ผิว่าเขากินเข้าอยู่  แลมีคนไปมาหาเมื่อเขากินเข้าอยู่นั้น  เขาก็เอาเข้านั้นให้แก่ผู้ไปเถิงเขานั้นกินด้วยใจอันยินดี  บ่ห่อนจะรู้คิดสักเมื่อเลย ”

(ไตรภูมิพระร่วง,2551,หน้า 91)

      ซึ่งจะเห็นว่ามีสรรพคุณเสิศกว่าข้าวที่เรากินนัก  เพราะข้าวที่เรากินนั้นมีสารอาหารเพียงบางชนิด อันได้แก่  วิตามินบี 1 บี 3  บี 5  บี 6  วิตามินโฟเลต  วิตามินดี  วิตามินเค  วิตามินคิว  เกลือแร่  สังกะสี โปรตีน  ไขมัน  คาร์โบไฮเดรต  แคลเซียม  ธาตุเหล็ก  และช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง  โรคในหลอดเลือด ช่วยระบบการขับถ่าย  ลดน้ำตาลในเลือด  และยังช่วยซ่อมแซมส่วนต่างๆ ที่สึกหรอของร่างกาย 

      การกินข้าวเป็นวัฒนธรรมการกินที่ทำให้เห็นว่า  คนไทยเป็นคนที่ประณีต มีศิลปะ และรู้จักวิถีการกินอย่างชาญฉลาด  มีเทคนิคในการจัดปรุงอาหารให้มีสมดุลเหมาะสมในด้านสารอาหาร รส ความงาม และสภาพลม ฟ้า อากาศ

        นับเป็นความฉลาดของคน  โดยเฉพาะชาวเอเชียที่รู้จักการกินข้าวมานานนับพันปีดังที่ปรากฏหลักฐานตาม  แหล่งโบราณคดีต่างๆ  รสของข้าวเป็นมิตรกับอาหารแทบทุกชนิด  และเข้ากับอาหารต่างๆได้ไม่ยาก  จึงทำให้คนยังกินกันข้าวสืบมาจนถึงปัจจุบัน  และด้วยความผูกพันด้วยเวลาอันยาวนานระหว่างข้าวกับคนนี่เอง  จึงทำให้วรรณคดีเรื่องไตรภูมิเป็นเหมือนภาพสะท้อนสิ่งต่างๆ ตามอุดมคติของคน  สิ่งที่คนอยากให้มีอยากให้เป็น  รวมทั้งสะท้อนวิถีการกิน “ ข้าว ” ตามอุดมคติของคนไทยไว้ด้วย

 

............................

 

 

 

 

อ้างอิง

กาญจนา นาคสกุล.(2524). การใช้ภาษา. กรุงเทพมหานคร : เคล็ดไทย.

พญาลิไทย.(2551).ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ พญาลิไทย  

       ฉบับตรวจสอบชำระใหม่.(พิมพ์ครั้งที่ 33). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของ สกสค.

สันติ เศวตวิมล.(2547).เปิบพิสดาร ตำนานอาหารโลก และแกะรอยสำรับไทย.

       กรุงเทพฯ : ประพันสาส์น.

สุจิตต์ วงษ์เทศ.(2546). ข้าวปลา หมาเก้าหาง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

สุกัญญา สุจฉายา.(2545).วัฒนธรรมข้าวของชนชาติไท : ภาพสะท้อนจากตำนาน

       นิทาน เพลง. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อริตา อินทสิน.(2543) การเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของข้าว. ขอนแก่น :

       คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

 

หมายเลขบันทึก: 319537เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2009 13:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท