ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

<เล่าสู่กันฟัง>เกร็ดความรู้การใช้ศัพท์ภาษาไทย


เกร็ดความรู้

เกร็ดความรู้การใช้ศัพท์ภาษาไทย

โดย  พระเทพวรมุนี   เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ

***********

 ข้อความเบื้องต้น

                 การพูดการเขียนเป็นวัฒนธรรมทางภาษา ถือว่าเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติ ชนชาติใดหรือเผ่าใดไม่มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง จัดว่าสูญเสียเอกราชไปแล้วส่วนหนึ่ง  ชนชาติไทยมีเอการาชมานาน เพราะมีภาษาเป็นของตนเองทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน

                เกร็ดความรู้การใช้ภาษาที่เขียนขึ้นนี้ ไม่ได้มุ่งหมายในทางวิชาการแต่อย่างใดเลยเพราะผู้เขียนไม่ใช่นักวิชาการทางด้านนี้แต่อย่างใด ที่เขียนเรื่องนี้เกิดจากความสนใจและตั้งข้อสังเกตของผู้เขียนเท่านั้น แต่หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านพอสมควร

 

จุดธูปเทียน

                แต่ไหนแต่ไรมาก็ใช้ว่า ธูป – เทียน จนวัฒนธรรมทางภาษาแล้วแต่สมัยหลังๆมาจนถึงทุกวันนี้ มีผู้ทำหน้าที่พิธีกรบางคนเปลี่ยนมาใช้ว่า เทียน – ธูป แทนที่จะใช้ว่า จุดธูปเทียน เหมือนแต่เดิม กลับมาใช้ว่า จุดเทียนธูป ถือว่าทำลายวัฒนธรรมทางภาษาโดยไม่รู้สึกตัว

                เหตุผลที่เขาเปลี่ยนมาใช้ว่า จุดธูปเทียน นี้ เพราะเวลาปฏิบัติจริงเห็นจุดเทียนก่อนจึง    จุดธูปทีหลัง โดยไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริง จึงขอชี้แจงทำความเข้าใจดังนี้

                (๑)  การตั้งหรือวางเครื่องสักการบูชาพระพุทธรูปนั้นเขาจะเรียงตามลำดับจากข้างใน คือ พานข้าวตอกดอกไม้ – เทียน – ธูป หมายความว่า พานข้าวตอกดอกไม้อยู่ใกล้พระพุทธรูปหรือในสุดต่อออกมาเป็นเทียน ข้างนอกสุดเป็นธูป ถ้าจุดธูปก่อนจึงจุดเทียนทีหลังจะลำบาก ไฟจะไหม้มือเอาก็ได้ (เพราะสมัยก่อนไม่มีเทียนชนวน)   จึงให้จุดเทียนก่อนธูปทีหลัง

                (๒) สำนวนภาษาไทยมีหลายประโยค ที่ไม่จำเป็นว่าต้องตรงข้อเท็จจริงเสมอไปเช่นที่พูดกันว่า “นายสมศรีมีลูกมีเมียแล้ว” ความจริงต้องมีเมียก่อนจึงมีลูก สำนวนในภาษาบาลีก็มีเหมือนกัน เช่น ในมงคลสูตรบทที่ว่า ปุตตะทารัสสะ สังคะโห แปลว่า การสงเคราะห์ บุตรและภรรยา

                (๓) ถ้าเราสังเกตดูเขาจัดห่อเทียนแพร จะเห็นว่าเขาวางธูปไว้ข้างล่าง วางเทียนไว้ข้างบน แล้วห่อหรือมัดเป็นมัดๆถ้าเปรียบเทียบกับต้นไม้ ธูปเปรียบเหมือนโคนต้นไม้ ส่วนเทียนเปรียบเหมือนส่วนบนต้นไม้ เวลาเราลำดับต้นไม้จึงนับจากข้างล่างไปข้างบนเสมอ

                ดังนั้น จึงขอให้ใช้ว่า ธูปเทียน อย่างเดิม เพราะมีที่มาที่ไปดังกล่าวแล้ว และเราได้ใช้คำนี้มาจนเป็นวัฒนธรรมทางภาษาแล้ว

 กำหนดการ หมายกำหนดการ

                ในการจัดงานพิธีต่างๆเพื่อให้ได้ทราบทั่วกันและสะดวกในการปฏิบัติว่า วันไหน เวลาใด และสถานที่ใด จะต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง จึงมักจะเขียนหรือพิมพ์รายละเอียดขึ้น เรียกว่า กำหนดการหรือหมายกำหนดการ

                กำหนดการ – ใช้ในงานที่จัดขึ้นทั่วไป เช่น กำหนดการจัดงานยกช่อฟ้า ฉลองเสนาสนะ สมโภชฉลองสมณศักดิ์ มอบตราตั้ง พระราชทานเพลิงศพ ฌาปนกิจศพ เป็นต้น

                หมายกำหนดการ – ใช้ในงานพระราชพิธีและรัฐพิธีเท่านั้น เช่น หมายกำหนดการงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาหมายกำหนดการนี้ใช้เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดินเป็นหลัก

 เผยแผ่ เผยแพร่

                สองคำนี้ในหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๓๕ บอกว่าใช้ได้เหมือนกัน คือ ใช้แทนกันได้จริง แต่ต้องคำนึงถึงความนิยมด้วย

                เผยแผ่ – ทางคณะสงฆ์หรือในวงการของพระสงฆ์นิยมใช้คำนี้มาตลอด คือ ถ้าใช้คำว่าเผยแผ่ คือ เผยแผ่ ในสมัยใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ มีองค์การหนึ่งเรียกว่า องค์การเผยแผ่ หรือว่า เผยแผ่ศาสนา เผยแผ่ศีลธรรม เป็นต้น

                เผยแพร่ – ทางโลกหรือคนทั่วมักจะเขียนหรือพูดว่า เผยแพร่ ทางราชการบ้านเมืองก็นิยมใช้กันอย่างนี้ และมักจะเห็นว่ามันเป็นคำที่โก้เก๋อะไรทำนองนั้น

                ความจริงคำว่า แพร่  มันไม่น่าจะมีคำว่า เผย นำหน้าเลยแต่ควรใช้นำหน้าคำอื่นมากกว่า เช่นแพร่ข่าว แพร่สะพัด แพร่หลาย แพร่ระบาด แพร่เชื้อ เป็นต้น

                ถ้าพระภิกษุรูปใดยังนิยมเขียนและพูดว่า เผยแพร่ ก็ขอให้เลิกเสีย เพราะเสียวัฒนธรรมทางภาษาของสงฆ์ ใช้ว่า เผยแผ่ นั้นแหละดีที่สุด

  อาราธนา นิมนต์

                สองคำนี้เป็นคำเชื้อเชิญพระภิกษุสงฆ์เหมือนกันแต่มักจะใช้ปะปนกันอยู่ตลอดมาทั้งในด้านการพูดและการเขียน และยังไม่มีใครตัดสินให้ข้อยุติว่าจะใช้อย่างไรจึงจะถูกต้อง ที่จะกล่าวต่อไปนี้จึงเป็นทัศนะหรือความเห็นของผู้เขียนเท่านั้น อาจจะถูกหรือผิดได้พอๆกัน คือ

                นิมนต์ – ควรจะใช้ในการเชื้อเชิญพระภิกษุสงฆ์ เพื่อให้ท่านไปในงานที่จัดขึ้น ถ้าทำเป็นหนังสือก็น่าจะใช้ว่า ฎีกานิมนต์ เช่น นิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์หรือสวดมนต์ นิมนต์ไปเทศน์หรือนิมนต์ไปเจริญชัยมงคลคาถา เป็นต้น

                อาราธนา – น่าจะใช้ในการประกอบพิธีนั้นๆเพราะในงานพิธีบางอย่างก่อนจะเริ่มพิธีมักจะมีการอาราธนา เช่น อาราธนาศีล อาราธนาพระปริต อาราธนาเทศน์ เป็นต้น

                แต่มีบางท่านแนะนำ ถ้าใช้พูดหรือเขียนกับพระผู้ใหญ่ควรใช้ว่า อาราธนา จึงเหมาะสมกว่าใช้ว่า นิมนต์ เรื่องนี้จะถูกหรือผิดอย่างไรผู้เขียนไม่ขอรับรอง ก็คงจะใช้ปะปนกันอย่างนี้ไปก่อนก็แล้วกัน

 สวดมนต์ เจริญพระพุทธมนต์

                คำว่า สวดมนต์ เป็นศัพท์หรือคำที่นิยมใช้มาแต่ไหนแต่ไร รียกว่าใช้เป็นทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนมาแต่เดิม เช่น หนังสือสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน สวดมนต์ฉบับหลวง หรือ ว่าทำวัตรสวดมนต์เช้า – เย็น เป็นต้น

                ต่อมาได้มีการบัญญัติกันว่า คำว่า สวดมนต์ให้ใช้งานอวมงคล เช่นงานทำบุญศพครบ ๗ วัน (สัตตมวาร) ๕๐ วัน (ปัญญาสมวาร) ๑๐๐ วัน (สตมวาร) หรืองานพระราชทานเพลิงศพ     งานฌาปนกิจศพ เป็นต้น เพราะงานดังกล่าวไม่มีการตั้งบาตรหรือขันน้ำมนต์

 อาตมา อาตมภาพ

                สองคำนี้เป็นทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน เป็นคำพูดใช้แทนชื่อพระภิกษุที่พูดกับคนที่สอง (บุรุษที่ ๒) โดยเฉพาะที่เป็นคฤหัสถ์หรือฆราวาส เป็นศัพท์ที่เป็นเทคนิคเหมือนกัน ควรใช้ให้ถูกต้องตามที่นิยมใช้กัน

                อาตมา – นิยมใช้โดดๆไม่มีคำว่า ภาพ ต่อท้าย เช่น อาตมาชื่อ........อาตมามีความเห็นว่า.........อาตมาต้องการ............

                อาตมภาพ – เป็นคำแสดงภาวะของตนเอง คือ ถ้ามีคำว่า ภาพ ต่อท้าย ต้องใช้ว่า อาตมะ เช่น   อาตมภาพจักได้แสดงพระธรรมเทศนา...อย่าใช้ว่า อาตมาภาพจักได้แสดง  พระธรรมเทศนา......

                อนึ่ง ผู้เขียนเคยสังเกตเห็นพระผู้ใหญ่บางรูป ท่านใช้คำแทนชื่อของท่านในเวลาพูดกับบุคคลที่สอง ซึ่งมีพระภิกษุและฆราวาสจำนวนมากๆว่า ตนคำว่า ตน ในที่นี้หมายถึงตัวท่านเอง คือ แทนที่จะใช้ว่า อาตมา หรือ อาตมภาพ แต่ท่านใช้ว่า ตน แทน, บางท่านใช้ว่า รูป ก็มีได้ยินมาว่าพระเถระสมัยก่อนท่านนิยมใช้กันเสมอ เข้าใจว่าเป็นคำโบราณ เช่นเดียวกับฆราวาสเรียกพระสงฆ์ว่า เจ้ากู อะไรทำนองนั้น

 เทศนา เทศหนา

                เทศนา – เขียนอย่างเดียวกัน แต่ภาษาพูดหรือเวลาพูดออกเสียงต่างกัน คือ ถ้าว่าเท ต้องออกเสียงว่า เท – สะ –นา ถ้าว่า เทส ต้องออกเสียงว่า เทส – สะ หนา เรื่องนี้พระธรรมถึกต้องสำเหนียกให้ดีและใช้ถูกต้อง

 อนุมัติ อนุญาต

                อนุมัติ – แปลว่า เห็นด้วย หรือ เห็นตาม หรือ เห็นชอบด้วย ใช้กรณีที่นำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบ หรือ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เช่น เสนอรายงานขอแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ

                อนุญาต – แปลว่า รู้ตาม หรือ ยินยอม ใช้ในกรณีที่จะให้ผู้มีอำนาจหน้าที่พิจารณายินยอม เช่น รายงานขอลาออกจากตำแหน่งเป็นต้น

                ความในมาตรา ๓๗ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่.....(พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ในกรณีพระสังฆาธิการขอลาออกจากตำแหน่งว่า เมื่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งได้ อนุญาต แล้วก็ให้ออกได้

                ดังนั้น พระสังฆาธิการผู้มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้ง จึงต้องบันทึกว่า อนุญาต คือ อนุญาตให้ลาออกนั้นเอง ถ้าทำเป็นคำสั่งหรือทำเป็นหนังสือก็ต้องว่า อนุญาต ไม่ใช้ว่า อนุมัติให้ลาออก  แต่อย่างใด

 ตั้ง แต่งตั้ง เลื่อนชั้น

                เรื่องนี้เกี่ยวกับสมณศักดิ์และตำแหน่งพระสังฆาธิการ รู้สึกว่าจะใช้สับสนกันเสมอ   จึงขอทำความเข้าใจ ดังนี้

                ตั้ง ใช้ในกรณีที่ขอพระราชทานสมณศักดิ์ใหม่ เช่น เจ้าอธิการสมควร สมาจาโร   จะขอสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ให้เขียนหรือพิมพ์ประวัติว่า…

                ...ประวัติพระสังฆาธิการเพื่อขอพระราชทานตั้งสมณศักดิ์

                เมื่อได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์มาแล้ว ถ้าจะจัดงานสมโภชฉลองสัญญาบัตรและมีการพิมพ์การ์ดหรือบัตรเชิญก็ต้องใช้ว่า เจ้าอธิการสมควรได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ในราชทินนามที่ “.............................”

                และคำว่า ตั้ง เป็นคำโดดๆ มักจะใช้ในกรณีไม่ใช่ตำแหน่งในทางปกครองคณะสงฆ์ เช่น ที่ปรากฏในสัญญาบัตรว่า “ให้พระราชวรรณเวที มีฐานาศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๔ รูป”

                แต่งตั้ง – ใช้ในกรณีที่เป็นตำแหน่งในทางปกครอง เช่น แต่งตั้งให้พระสมควร ธมฺมธโร ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคกข้ามป้อม แต่งตั้งพระอธิการทองพูน สิริปญฺโญ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลโคกขมิ้น เป็นต้น ในการออกคำสั่งให้มีกรรมการในกิจการต่างๆก็มักจะใช้คำว่า แต่งตั้ง เช่น คำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบธรรมสนามหลวง ประจำปี.........

                เลื่อนชั้น – ในที่นี้ หมายถึง การเลื่อนพระสังฆาธิการ เช่น พระครูสัญญาบัตร ชั้นตรี เป็นชั้นโท ชั้นโทเป็นชั้นเอก เวลาเขียนหรือพิมพ์หัวหน้ากระดาษประวัติต้องใช้ว่า…

                ...ประวัติพระสังฆาธิการเพื่อขอประทานเลื่อนชั้นพระสังฆาธิการ

                เมื่อได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นมาแล้ว ถ้าจะมีงานสมโภชฉลองและพิมพ์การ์ดเชิญชวน หรือ เอกสารใดๆในงานต้องใช้ข้อความว่า ....ได้รับการเลื่อนชั้นพระสังฆาธิการ อย่าใช้ว่าได้รับเลื่อนสมณศักดิ์

                ปัญหาถามว่า เพราะเหตุใดในระดับพระครูสัญญาบัตรจึงไม่ให้ใช้ว่า เลื่อนสมณศักดิ์ ตอบว่า เพราะไม่ได้เปลี่ยนราชทินนาม คือ ยังใช้ชื่อสมณศักดิ์(พระครู) ในราชทินนามเดิมอยู่นั้นเอง

                การเลื่อนสมณศักดิ์จะมีแต่พระราชาคณะ(เจ้าคุณ) ขึ้นไป เพราะมีการเปลี่ยนทั้งสัญญาบัตรและพัดยศ เช่น พระวิบูลธรรมวาที (ชั้นสามัญ) เป็น พระราชวรรณเวที (ชั้นราช) ได้เลื่อนอีกก็เป็น พระเทพ........ (ชั้นเทพ) อย่างนี้เรื่อยไป

 ถวาย ประเคน

                สองคำนี้ก็มีการใช้สับสนปนเปกันอยู่เสมอ แม้ว่าพูดหรือเขียนออกไปแล้วจะเข้าใจกันด้วยดี แต่มันจะมีหลักเกณฑ์ในการใช้คำนี้ด้วย มันเป็นเรื่องอธิบายยากเหมือนกัน ที่จะกล่าวต่อไปนี้ไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องเสมอไป

                ถวาย – เข้าใจว่าเป็นคำที่ใช้ภายหลัง คงหมายถึง สิ่งของที่จะมอบให้พระภิกษุแต่มันเป็นของหนักหรือของใหญ่ ไม่สะดวกในการที่จะหยิบยื่นให้พระสงฆ์รับ หรือ สิ่งของนั้นอยู่ห่างอยู่ไกล จึงใช้คำว่า ถวาย เช่น ถวายกุฏิ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หรือ เสนาสนะอื่นๆ

                ประเคน – ในหนังสือวินัยมุขเล่ม ๒ หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดพอสมควร คือ สิ่งของใดที่พระภิกษุจะฉันหรือกินให้ล่วงลำคอลงไป ต้องประเคนเสียก่อนจึงจะฉันได้ (เว้นแต่น้ำบริสุทธิ์และไม้สีฟัน) หมายถึง สิ่งของที่พอหยิบยกขึ้นประเคนได้ เช่น อาหาร ข้าวสวย ข้าวต้ม ขนม ผลไม้ เป็นต้น

                แต่ปัจจุบันนี้ใช้ผสมปนเปกันทั้งสองคำ เช่น กล่าวคำถวายภัตตาหาร ถวายกฐินหรือถวายผ้าป่า เป็นต้น เมื่อกล่าวคำถวายจบแล้วจึงประเคนอีกทีหนึ่ง เวลาพูดจึงใช้กันจนไม่รู้ว่าผิดถูกอย่างไร ใช้คำว่า ถวายบ้าง ประเคนบ้าง ดังที่เห็นๆกันอยู่ทั่วไป

 ***********************************

คำสำคัญ (Tags): #ความรู้
หมายเลขบันทึก: 319037เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2009 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ความรู้มากเหมือนกันคัป

มีประโยชน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท