สมุทรโฆษคำฉันท์ ต้นแบบวรรณคดีคำฉันท์


สมุทรโฆษคำฉันท์ ต้นแบบวรรณคดีคำฉันท์

 

         สมุทรโฆษคำฉันท์เป็นวรรคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นเรื่องที่แต่งดีเป็นเยี่ยมในกระบวนคำฉันท์  ผู้แต่งเป็นกวีที่มีชื่อเสียง ได้แต่งเรื่องราวของพระสมุทรโฆษต่อกันรวม ๓ สำนวน ซึ่งล้วนแต่เป็นคำฉันท์ที่ไพเราะ สำนวนแรกเป็นสำนวนของพระมหาราชครู  แต่งตั้งแต่เริ่มต้นเรื่อง  เล่าเรื่องราวของพระสมุทรโฆษซึ่งกราบทูลลาพระราชบิดาไปคล้องช้างในป่าจนถึงตอนเสด็จไปแก้บนกับนางพินทุมดี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงนิพนธ์ต่อตอนพระสมุทรโฆษเสด็จประพาสราชอุทยานได้พบกับวิทยาธรลำบาก สำนวนที่  ๓  เป็นสำนวนของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงนิพนธ์ตั้งแต่ตอนพระสมุทรโฆษทรงรับพระขรรค์จากรณาภิมุข  ทรงประสบเคราะห์กรรมพลัดพรากจากนางพินทุมดีจนได้กลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่ง

    สมุทรโฆษคำฉันท์นี้เป็นวรรคดีที่ใช้เวลาแต่งยาวนานถึง ๓ สมัย รวมเวลา ๒๕๐ ปี  โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงนิพนธ์จบเรื่องเมื่อ ๒๑ ตุลาคม ๒๓๙๒

 ลักษณะการแต่ง 

          เป็นคำฉันท์และกาพย์  จบลงด้วยโคลงสี่สุภาพ ๔ บท

 เนื้อเรื่อง

    เริ่มต้นกล่าวนมัสการพระพุทธเจ้า พระพรหม พระวิษณุ พระนารายณ์ เทพยดาและการกล่าวยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์  จากนั้นจึงเล่าเรื่องย่อ  สาเหตุการแต่งเพื่อใช้พากย์หนังในงานพระราชพิธีฉลองพระชนมายุครบเบญจเพสของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  จากนั้นจึงดำเนินเรื่องในสมุทรโฆษคำฉันท์โดยมีความย่อว่า พระสมุทรโฆษเป็นโอรสของพระเจ้าพินทุทัตและนางเทพธิดาแห่งเมืองพรหมบุรี  มีชายาชื่อนางสุรสุดา  ทางทิศใต้ของเมืองพรหมบุรีมีเมืองรมยนคร  เจ้าเมืองชื่อพระเจ้าสีหนรคุปต์  มีมเหสีชื่อนางกนกพดี  พระธิดาชื่อนางพินทุมดี

         ต่อมาพระสมุทรโฆษออกประพาสป่าเพื่อจับช้างป่า  คืนวันนั้นเทพารักษ์ได้อุ้มพระสมุทรโฆษไปยังปราสาทนางพินทุมดี  พอจวนรุ่งเทพารักษ์ก็อุ้มคืนยังพลับพลาในป่า  พระสมุทรโฆษจึงเที่ยวติดตามค้นหานางพินทุมดี  เมื่อไม่พบก็กลับไปบ้านเมือง  ส่วนนางพินทุมดีก็โศกเศร้าถึงบุรุษผู้มาเป็นคู่ในคืนนั้น นางรัตนธารีพี่เลี้ยงได้วาดรูปเทวดา ครุฑ พญานาคและกษัตริย์ให้นางพินทุมดีดู  จนถึงพระสมุทรโฆษ นางพินทุมดีจึงรับว่าเป็นชายที่มาร่วมบรรทมกับนาง  นางรัตนธารีจึงรับอาสาจะพาพระสมุทรโฆษมาให้  พระเจ้าสีหนรคุปต์จัดให้มีพิธียกโลหธนูเพื่อเสี่ยงหาคู่ให้นางพินทุมดี  ด้วยความช่วยเหลือของพระอินทร์พระสมุทรโฆษยกโลหธนูได้จึงได้อภิเษกกับนางพินทุมดี  เมื่อปราบกษัตริย์ทั้งหลายที่มายกธนูและจะมาแย่งนางพินทุมดีแล้ว  พระสมุทรโฆษและนางพินทุมดีไปใช้บนแก่พระเทพคณบุตร  วันหนึ่งขณะเสด็จอุทยานได้พบพิทยาธรตนหนึ่งชื่อรณาภิมุข  ได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้กับพิทยาธรชื่อรณบุตร  ซึ่งจะแย่งชิงนางนารีผลผู้เป็นชายา  พระสมุทรโฆษช่วยพยาบาลรณาภิมุข  รณาภิมุขจึงถวายพระขรรค์อันมีฤทธิ์ทำให้เหาะได้แก่พระสมุทรโฆษ  พระสมุทรโฆษจึงพานางพินทุมดีเหาะไปประพาสป่าหิมพานต์

        ขณะที่พระสมุทรโฆษบรรทมหลับในป่าหิมพานต์ถูกพิทยาธรตนหนึ่งลักพระขรรค์ไป  ทั้งสองพระองค์จึงเสด็จมาถึงฝั่งน้ำที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวและเกาะขอนไม้ข้ามฟาก  เกิดพายุพัดขอนไม้ขาดเป็นสองท่อน  พระสมุทรโฆษต้องพลัดพรากจากนางพินทุมดี  ฝ่ายนางพินทุมดีขึ้นฝั่งได้และเดินทางมาถึงเมืองมัทราช  ไปอาศัยอยู่กับหญิงชราและนำแหวนออกขายนำเงินมาสร้างโรงทาน พร้อมกับให้ช่างวาดภาพของตนไว้ที่โรงทาน

       ส่วนพระสมุทรโฆษนั้นพระอินทร์ให้นางเมขลามาช่วยและบังคับให้พิทยาธรคืนพระขรรค์  เมื่อพระสมุทรโฆษได้พระขรรค์คืนก็ออกติดตามนางพินทุมดีจนมาถึงโรงทานที่เมืองมัทราช  ได้เห็นภาพวาดก็เกิดความโศกเศร้า  ผู้รักษาโรงทานจึงนำความไปทูลนางพินทุมดี  ทั้งสองจึงได้พบกันและกลับคืนสู่รมยนคร ครองเมืองด้วยความผาสุกจนสิ้นพระชนม์แล้วไปบังเกิดในสวรรค์

ตัวอย่าง          

๑)  สำนวนพระมหาราชครู

                      มนเทียรพิมานรัต-                    นจำรัสด้วยรัศมี

                  เรืองรัศมิจามี-                              กรแก้วกระลอกแสง

                  เสาทองรังรองรัศ-                        มิรจิตประชิดแชรง

                  ชรรินชรเรือดแฝง                        มณิเพ็ญดูเพรี้ยมพราย

๒)    สำนวนสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

                      พฤกษามาลีบุษ-                      ปสรหลุดสรหลอนบาน

                บัวพรรณแกมกาญจ-                    นกมุทมาศเมียร

                เพียงคีตเสียงสรรพ                       ทรหึงทรหวลเฉวียน

                ฉวัดปัทมพิศเพียน                         ชมชิดบุษปคลึงคนธ์

๓)    สำนวนสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

                    นอนไพรใบพฤกษ์ดาด     ประเล่ห์ลาดบรรจถรณ์สถาน

                ร่มรุกขเปรียบปาน                พิดานกั้นกำบังบน

                ซร้องสัตวสำเนียง                 คือเสียงพาทยกาหล

                ดุริยาในอารญ                       ประโคมไทอุไภยผทม

คุณค่าของหนังสือ

๑.       ด้านภาษาและสำนวนโวหาร    สมุทรโฆษคำฉันท์ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทคำฉันท์  การใช้ถ้อยคำมีคำไทยโบราณ คำเขมร คำบาลีสันสกฤตมากโดยเฉพาะสำนวนที่แต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ส่วนสำนวนของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ใช้คำบาลีมากกว่าคำสันสกฤต  หนังสือเล่มนี้จึงให้ความรู้ทางภาษาเกี่ยวกับศัพท์ต่าง ๆ เช่น คำไทยโบราณ คำบาลี คำสันสกฤตและคำเขมร ตลอดจนการแผลงคำที่ใช้ในวรรณคดีเรื่องนี้  นอกจากนั้นการใช้ลีลาของฉันท์ยังเหมาะสมกับเหตุการณ์และการบรรยายเรื่อง  การใช้ถ้อยคำสามารถแสดงภาพและอารมณ์ได้อย่างละเอียด  ส่วนสำนวนโวหารก็ดีเยี่ยม  มีความไพเราะด้วยรสแห่งวรรณคดีครบถ้วน  ทั้งบทรำพันความรัก  บทโศก บทเกรี้ยวกราด บทรบ บทชมโฉม ชมทัพ ชมธรรมชาติ ชมเมือง  แม้ว่าจะมีผู้แต่งถึง  ๓ คนแต่กวีก็ได้รักษาระดับฝีปากในการแต่งและในการดำเนินเรื่องอย่างเท่าเทียมกัน กลมกลืนกันทั้งสำนวนโวหารและเนื้อเรื่องประดุจว่าเป็นกวีคนเดียวกันแต่ง

๒.     ด้านความรู้  สมุทรโฆษคำฉันท์มีคุณค่าให้ความรู้ต่าง ๆ คือ

๒.๑ ความรู้เกี่ยวกับการเล่นหนังใหญ่

๒.๒ ความรู้เกี่ยวกับประเพณีคล้องช้าง

๒.๓ ความรู้เกี่ยวกับการจัดทัพสมัยโบราณ

๒.๔ ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา

๒.๕ ความรู้เกี่ยวกับป่าหิมพานต์

๓.      ด้านสังคมและวัฒนธรรม

๓.๑ สะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น ความเชื่อในเวรกรรมการบนบานศาลกล่าว การตั้งโรงทาน ตลอดจนการละเล่นของไทย ได้แก่ การเล่นแข่งวัวเกวียน จระเข้กัดกัน แรดชนกัน เป็นต้น

๓.๒ ให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีและพระราชพิธีต่าง ๆ ที่สืบเนื่องมาแต่ศาสนาพราหมณ์ เช่น พระราชพิธีอาศวยุชเป็นพระราชพิธีแข่งเรือเสี่ยงทายในเดือน ๑๑ และการอภิเษกแบบสยุมพร (การแต่งงานอย่างเลือกคู่โดยฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายเลือกคู่ อาจเป็นการเลือกคู่ตามความพึงพอใจหรือการให้ชายได้แสดงความสามารถ)

๔.      ด้านอิทธิพลต่อวรรณคดีอื่น

สมุทรโฆษคำฉันท์มีความประณีตและไพเราะในบทพรรณนาต่าง ๆ จึงเป็นแบบฉบับในการแต่งฉันท์ของวรรณคดียุคหลัง  ซึ่งกวีในชั้นหลังยังมีการกล่าวอ้างอิงถึงการพลัดพรากของพระสมุทรโฆษกับนางพินทุมดีเป็นทำนองเปรียบเทียบการจากของตน เช่นโคลงนิราศนรินทร์ เป็นต้น

 

หมายเลขบันทึก: 318849เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2009 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบมากค่ะสำหรับข้อมูลดีดีมากมายที่ได้อ่าน แต่อยากอ่านคำฉันท์ในเรื่องมากกว่านี้ค่ะ ตั้งแต่ตอนต้นจนจบ 2000 พันกว่าบท จะหาอ่านได้ที่ไหนค่ะ โปรดกรุณาช่วยบอกด้วยนะคะ [email protected] ขอขอบพระคุณไว้มาก

ขอบคุณมากค่ะสำหรับข้อมูลดีดีมากมายที่ได้อ่าน แต่อยากอ่านคำฉันท์ในเรื่องมากกว่านี้ค่ะ ตั้งแต่ตอนต้นจนจบ 2000 พันกว่าบท จะหาอ่านได้ที่ไหนค่ะ โปรดกรุณาช่วยบอกด้วยนะคะ [email protected] ขอขอบพระคุณไว้มาก

สวัสดีต่ะ

  สมุทรโฆษคำฉันท์เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่ง  ดังนั้นจึงมีการพิมพ์เป็นเล่มโดยองค์การค้าคุรุภา  คิดว่าคงจะหาซื้อได้ไม่ยากค่ะ

ขอเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ บทชมโฉมตัวละครผู้ชายหน่อยค่ะ เป็นถอดคำประพันธ์นะค่ะ

สภาพทั่วไปในยุคนั้นเป็นอย่างไรคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท