กว่าจะเป็นค่ายเบาหวานในชุมชน


การสนับสนุนจากผู้บริหารและผู้รับผิดชอบงานมีความรู้ ทำให้เกิดแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่หลากหลาย

ปัจจุบันมีการจัด "ค่ายเบาหวาน" กันมากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้เรียนรู้เรื่องโรคและการดูแลตนเอง การจัดค่ายมีหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของผู้ป่วยและบริบทที่เกี่ยวข้อง สัปดาห์นี้ดิฉันจะรวบรวมเรื่องเล่าเกี่ยวกับค่ายเบาหวานของที่ต่างๆ มาให้สมาชิกทราบ เรามาช่วยกันพิจารณาและสรุปบทเรียนจากการจัดค่ายเบาหวานดีไหมคะ

วันนี้เป็นเรื่องเล่าจากค่ายเบาหวานโรงพยาบาลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เป็นค่ายในชุมชนใช้เวลา ๑ วัน

วัลลา ตันตโยทัย

๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๘

"กว่าจะเป็นค่ายเบาหวานในชุมชน"

ดิฉันเป็นพยาบาลผู้ให้คำปรึกษาเรื่องโรคเบาหวานและดูแลผู้ป่วยเบาหวานในโรงพยาบาลชุมชนและ PCU ในโรงพยาบาล มีผู้ขึ้นทะเบียนประมาณ ๔๐๐ กว่าคน ให้บริการคลินิกเบาหวานทุกวันจันทร์และศุกร์ของทุกสัปดาห์ ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อมาให้บริการ ผู้ป่วยจะมารับบริการแต่เช้ามืด บางครั้งก็จะให้บริการตรวจเลือดจากปลายนิ้ว หรือบางครั้งก็จะเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำ แล้วแต่สถานการณ์ นอกจากนั้นก็จะมีการให้สุขศึกษาในเรื่องโรคเบาหวาน การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การดูแลเท้า การใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด

การที่มีผู้บริหารระดับสูงและระดับต้นที่เห็นความสำคัญของโรคเรื้อรัง และผู้รับผิดชอบงานได้ผ่านการอบรมจากสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน การศึกษาดูงานจากโรงพยาบาลข้างเคียง ทำให้เกิดแนวทางในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานมากขึ้นและหลากหลาย จึงทำให้เกิดค่ายเบาหวานในชุมชน จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานมีความรู้ความเข้าใจในโรคที่เป็นอยู่และมีการฝึกปฏิบัติในการดูแลตนเอง

เริ่มจากการติดต่อประสานงานกับผู้นำชุมชนและ อบต. เพื่อติดต่อขอสถานที่ในการเข้าค่าย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากท่านนายก อบต.เป็นอย่างดี และเขียนจดหมายเชิญผู้นำในชุมชนให้มาเข้าค่าย และวันที่รอคอยก็มาถึง เจ้าหน้าที่งานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชนทุกคนช่วยกันทำงาน โดยการลงทะเบียนผู้เข้าค่าย เจาะเลือดที่ปลายนิ้ว วัดความดันโลหิต ให้ผู้เข้าร่วมโครงการ หลังจากนั้นก็แยกกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการเป็น ๔ กลุ่ม เพื่อเข้าศึกษาและปฏิบัติจริงในแต่ละฐานคือ

ฐานภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ศึกษาผ่านจอคอมพิวเตอร์โดยมีพยาบาลเป็นผู้บรรยาย ฐานความรู้เรื่องการใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยเภสัชกรเป็นผู้ให้ความรู้ ฐานอาหารกับโรคเบาหวาน บรรยายโดยพยาบาลที่ผ่านการอบรมจากสมาคมฯ ฐานการออกกำลังกาย โดยนักกายภาพบำบัดและทีมแอโรบิกจากโรงพยาบาล และฐานการดูแลเท้า ซึ่งจะมีการปฏิบัติจริง ตั้งแต่การล้างเท้าที่ถูกวิธีและการบริหารเท้า โดยแพทย์แผนไทย

ผู้เข้าร่วมโครงการสลับหมุนเวียนศึกษาในฐานต่างๆ จนครบ และรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันโดยฝีมือของ อสม. หลังจากนั้นมีการตั้งชมรมเบาหวานประจำหมู่บ้าน มีการคัดเลือกประธานชมรม รองประธาน เหรัญญิก และมีการกำหนดข้อตกลงของกลุ่มว่าจะทำอะไรให้เป็นแนวเดียวกัน เช่น สมาชิกทุกคนจะไปรับบริการตามนัดทุกครั้ง มีกิจกรรมออกกำลังกายร่วมกันทุกวัน และมีกิจกรรมร่วมกันเพื่อชุมชน เช่น มีการทำความสะอาดลานวัดทุกวันพระ มีการจับคู่ดูแลกันเองในผู้ป่วยเบาหวาน

ปิดค่ายในช่วงบ่ายแก่ๆ ซึ่งกว่าจะปิดได้ก็เหนื่อยไปตามๆ กัน ทั้งคนไข้ ทั้งทีมงาน แต่ทุกคนก็สนุกตื่นเต้นกับการเข้าค่าย

ผู้เล่าเรื่องคือคุณนงลักษณ์ บุตรชาดา พยาบาลวิชาชีพ ๗ โรงพยาบาลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร หนึ่งในทีมงานของ นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร

ติดต่อนพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ ได้ที่ ๐๔๒-๗๑๑-๑๕๗ ต่อ ๑๑๐๒

หมายเลขบันทึก: 318เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2005 03:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท