เทคนิคการจัดการ


เทคนิคการจัดการ

การจัดการความรู้  

(Knowledge Management : KM) 

แนวคิดและหลักการสำคัญการจัดการความรู้ (Knowledge Management )มีดังต่อไปนี้ 

  นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้ความหมายของคำว่า “การจัดการความรู้” ไว้ คือ สำหรับนักปฏิบัติ การจัดการความรู้คือ เครื่องมือ เพื่อการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 4 ประการไปพร้อมๆ กัน ได้แก่

          1. บรรลุเป้าหมายของงาน

          2. บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน

          3. บรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรไปเป็นองค์กรเรียนรู้ และ

          4. บรรลุความเป็นชุมชน เป็นหมู่คณะ ความเอื้ออาทรระหว่างกันในที่ทำงาน    

การจัดการความรู้เป็นกระบวนการรวบรวม จัดระบบ จัดหมวดหมู่ และเผยแพร่สารสนเทศทั่วทั้งองค์การเพื่อให้ผู้ที่ต้องกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ (Alter,1988 อ้างถึงในShukla,www.geoities.com/madhukar_shukla/km.pdf)

 การจัดการความรู้เป็นการรวบรวมวิธีปฏิบัติขององค์การและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างการนำไปใช้ และการเผยแพร่ความรู้และบริบทต่างๆทีเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ (World Bank อ้างถึงใน สุวรรณ เหรียญเสาวภาคย์ และคณะ,2548)

 การจัดการความรู้เป็นการนำความรู้ให้กับผู้ที่ต้องการในเวลาเหมาะสม (USAID,http://knowledge.usaid.gov/JoeRabenstine_Seminar1.pdf)

 การจัดการความรู้ หมายถึง ความสามารถในการจัดการความรู้ ประกอบด้วย การสร้างความรู้ การประมวล การแลกเปลี่ยนและสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้และการสร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในหน่วยงาน

จากแนวคิดดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า การจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management คือ ความสามารถในการรวบรวมความรู้ที่มีอยู่ในองค์กรมาจัดระบบ และพัฒนาให้มีความทันสมัย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงเพื่อให้บุคลากรนำความรู้ ไปพัฒนาการ ปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด  

ความรู้จำแนกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1. ความรู้ที่ฝังอยู่ในคน ( Tacit Knowledge) คือ ประสบการณ์ ทักษะ พรสวรรค์ เทคนิค การทำงานที่สั่งสมมาจนชำนาญไม่มีในตำรา

2. ความรู้ที่ชัดแจ้ง ( Explicit Knowledge ) คือ ความรู้ที่สามารถจับต้องได้ เช่น หนังสือ เอกสาร รายงาน ซีดี เทป เป็นต้น 

  กระบวนการจัดการความรู้  7 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1 การบ่งชี้ความรู้
หน่วยงานต้องสำรวจความรู้ที่บุคลากรจำเป็นต้องใช้เพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมาย โดยสำรวจว่า เราต้องการความรู้อะไร และที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่
ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและแสวงหาความรู้  เมื่อสำรวจแล้วเห็นว่าความรู้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ก็ต้องไปแสวงหามาเพิ่มเติมให้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ มากที่สุด
ขั้นตอนที่ 3 การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ
เมื่อได้ความรู้มาเพียงพอแล้วก็นำมาจัดหมวดหมู่ให้ชัดเจน และจัดเก็บไว้ในรูปแบบต่างๆ ทั้ง เอกสาร หนังสือ เทป วีซีดี เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 4 การประมวลและกลั่นกรองความรู้   ต้องนำความรู้ที่จัดเก็บเป็นหมวดหมู่ไว้แล้วมาทบทวน กลั่นกรอง ให้มีความทันสมัย
ขั้นตอนที่ 5 การเข้าถึงความรู้
ต้องมีการจัดช่องทางเผยแพร่ความรู้ทางช่องทางต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อให้บุคลากรสามารถเข้าถึง ความรู้ได้สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง
ขั้นตอนที่ 6 การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้
จัดกิจกรรมให้บุคลากรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น กิจกรรมชุมชนนักปฏิบัติ ( Community of Practice หรือ Cop.), การสอนงาน ( Coaching ) และระบบพี่เลี้ยง (Mentoring) เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 7 การเรียนรู้
กำหนดให้บุคลากรในองค์กรต้องใช้ KM เข้ามาช่วยในการทำงานเพื่อผลงานที่มีประสิทธิภาพ โดย อาจกำหนดเป็นนโยบาย จากผู้บริหารขององค์กรก็ได้

องค์ประกอบสำคัญของการจัดการความรู้ (Knowledge Process)

 1. คน ถือว่า เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นแหล่งความรู้และเป็นผู้นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์

2. เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือเพื่อให้คนสามารถค้นหา จัดเก็บ แลกเปลี่ยน รวมทั้งนำความรู้ไปใช้อย่างรวดง่ายและรวดเร็วข้น

3. กระบวนการความรู้ เป็นการจัดการเพื่อนำความรู้จากแหล่งความรู้ไปใช้เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงและนวัตกรรม

 

การบริหารผลการปฏิบัติงาน  

(Performance  Management: PM)

แนวคิดและหลักการสำคัญด้านการบริหารผลการปฏิบัติงานที่เป็นผลจากการพัฒนากระบวนการประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance appraisal) มีดังต่อไปนี้

            Armstrong (2000 : 16-18) ได้ให้แนวคิดด้านการบริหารผลการปฏิบัติงานไว้ดังนี้

1) จะต้องเกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างกลยุทธ์ด้านทรัพยากรมนุษย์กับกลยุทธ์ขององค์การ จึงจะเกิดประสิทธิผลสูงสุด (Strategic fit)

2)ให้มองคนเป็นสินทรัพย์ (Asset) อย่างหนึ่งที่ควรค่าแก่การลงทุนเพื่อมูลค่าเพิ่ม (Value added) ของคนให้กับองค์การ โดยใช้กระบวนการต่างๆ ของการบริหารจัดการ หรือการดำเนินการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

3) ระบบการให้รางวัลจะต้องให้ตามความสามารถ ทักษะ และผลการปฏิบัติงานของแต่ละบุคคล

4) มุ่งให้พนักงานเกิดความผูกพันกับองค์การ (Commitment) และเกิดความไว้วางใจ เพราะผลลัพธ์หรือเป้าหมายของการบริหารผลการปฏิบัติงานในงานทรัพยากรมนุษย์ขององค์การ คือ เพื่อเกิดผลิตภาพ (Productivity) กำไร (Profit) และมีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น

            ชัยทวี เสนาะวงศ์ (2547:39-44) ได้ให้แนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับกระบวนการบริหารผลการปฏิบัติงานว่า องค์การมีความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารและพัฒนาพนักงานให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะในการปฏิบัติงาน จนมีผลการปฏิบัติงานในอนาคตบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถอธิบายรายละเอียดได้ดังนี้

1)         การบริหารผลการปฏิบัติงานเป็นกระบวนการในการบูรณาการเป้าหมายขององค์การมาสู่เป้าหมายของหน่วยงานและพนักงาน

2)         การบริหารผลการปฏิบัติงานเป็นกระบวนการทำงานที่มุ่งมองไปข้างหน้าโดยมุ่งเน้นที่กระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

3)         การบริหารผลการปฏิบัติงานเป็นกระบวนการในการสร้างความร่วมมือ การยอมรับ และเห็นพ้องต้องกันมากกว่าการควบคุม

4)         การบริหารผลการปฏิบัติงานเป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นการปรับปรุงการปฏิบัติงานของพนักงานอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

5)         การบริหารผลการปฏิบัติงานเป็นการสร้างให้เกิดการยอมรับในสาเหตุของความบกพร่องในการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคน แล้วยังสามารถบ่งชี้ได้ว่าจะแก้ไขความบกพร่องนั้นด้วยวิธีการอย่างไร

6)         การบริหารผลการปฏิบัติงานจะกระตุ้นให้พนักงานรู้จักการบริหารผลการปฏิบัติงานของตนเอง

7)         การบริหารผลการปฏิบัติงานต้องการวิธีการบริหารงานแบบการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

8)         การบริหารผลการปฏิบัติงานต้องการข้อมูลย้อนกลับระหว่างพนักงานและผู้บังคับบัญชาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

9)         การบริหารผลการปฏิบัติงานเป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานต่อเป้าหมายที่ได้ตกลงไว้

10)       การบริหารผลการปฏิบัติงานจะไม่ใช้เป็นวัตถุประสงค์หลักในการขึ้นค่าจ้างประจำปี

            นอกจากนี้ ทศพร ศิริสัมพันธ์ (2543 : 55-69) ได้ให้แนวคิดการบริหารผลการปฏิบัติงานโดยเน้นที่การพิจารณาการบริหารจัดการเชิงระบบ ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

1)         ปัจจัยนำเข้า (Input) หรือทรัพยากรต่างๆ (Resources) ที่จะต้องนำมาใช้ในการดำเนินงาน อาทิ งบประมาณ บุคลากร เป็นต้น

2)         กระบวนการดำเนินงาน (Process) หรือกิจกรรมต่างๆ (Activities) ขององค์การ อาทิ การวิเคราะห์โครงการ การให้สิทธิประโยชน์ การตรวจสอบ การศึกษาภาวะอุตสาหกรรมรายสาขา เป็นต้น

3)         ผลผลิต (Output) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ (Products) ในรูปของสินค้าและบริการ ผลงานที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ขององค์การโดยตรง

4)         ผลลัพธ์ (Outcome) เป็นความคาดหวังที่ต้องการจะบรรจุผลขององค์การหรือผลรวมที่ได้รับติดตามมาจากผลผลิต

จากแนวคิดและหลักการของการบริหารผลการปฏิบัติงานที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถสรุปสาระได้ว่า การบริหารผลการปฏิบัติงานเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นการบริหารผลการปฏิบัติงานของบุคคลแต่ละคนในองค์การที่ต้องการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างองค์การและบุคคลเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายของงาน ให้มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์การควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของบุคคลไปพร้อมๆกันโดยมีการประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง

 

การพัฒนาองค์การ

(Organization Development: OD )

แนวคิดและหลักการสำคัญการพัฒนาองค์การ(Organization Development)มีดังต่อไปนี้

1. การพัฒนาองค์การ คือ ความพยายามอย่างมีแผนที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์การ เป็นความพยายามที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบขององค์การ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ควรมุ่งเน้นที่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์การเป็นหลัก ไม่ใช่การมุ่งเน้นที่การเปลี่ยนแปลงของบุคคล แต่การเปลี่ยนแปลงของบุคคลที่เกิดขึ้นเป็นผลพลอยได้ของการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์การ

2. การพัฒนาองค์การ คือ กระบวนการปรับปรุงองค์การให้กลับสู่สภาวะใหม่ที่เหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิมโดยมุ่งที่ความกล้าในการยอมรับการเปลี่ยนแปลง เน้นให้องค์การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ที่จะนำเอาความใหม่และแปลกทั้งทางด้านเทคนิค วิทยาการ และทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่ามาสู่องค์การ

3. การพัฒนาองค์การ คือ กระบวนการปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์การ โดยใช้การวิจัยเชิงแก้ปัญหา ซึ่งมีลักษณะเป็นกระบวนการการแก้ปัญหาอย่างมีระบบเชิงวิทยาศาสตร์

จากแนวคิดและหลักการของการพัฒนาองค์การที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถสรุปสาระได้ว่า การพัฒนาองค์การคือ ความพยายามในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์การทั่วทั้งระบบให้ดีกว่าเดิมเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์การ 

กระบวนการพัฒนาองค์การ 

ขั้นตอนที่ 1  การวินิจฉัยองค์กร (Organization Diagnosis)ทำการศึกษา ทำความเข้าใจและอธิบายสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา และเสนอแนะวิธีการพัฒนาองค์กรในอนาคต

ขั้นตอนที่    2  การกำหนดกลยุทธ์และวางแผนพัฒนาองค์กร ( Establish OD Strategy and Implementation Plan)กำหนดแผนพัฒนาองค์กรเลือกเทคโนโลยีและระดับในการพัฒนาองค์กรและร่างแผนปฏิบัติงาน ( Action Plan ) เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผลตามเป้าหมายที่ต้องการ

ขั้นตอนที่ 3 การนำกลยุทธ์การพัฒนาองค์กรไปประยุกต์ (OD Intervention)การกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบในการทำแผนการพัฒนาองค์กรที่มีการวางแผนปฏิบัติงาน ตารางกิจกรรม กำหนดตารางเวลา และผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน

ขั้นที่ 4    การประเมินการพัฒนาองค์กร (OD Evaluation)เป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งในการพัฒนาองค์กรที่ช่วยในการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการพัฒนาองค์กรว่าสอดคล้องกับเป้าหมาย เกณฑ์ และมาตรฐานที่กำหนดไว้เพียงใด ตลอดจนจะต้องมีการแก้ไขและปรับปรุงจะได้รับข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) เพื่อปรับปรุงตนเองให้สามารถทำการพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นในอนาคต

   จะเห็นได้ว่า การพัฒนาองค์การย่อมจะช่วยให้ผู้บริหาร และบุคคลในองค์กรสามารถปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายด้วยความเข้าใจและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อองค์กร  ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

อ้างอิง

การพัฒนาองค์กร.http://www.pantown.com  ธันวาคม 2552

การพัฒนาองค์กร.http://www.pantown.com  ธันวาคม 2552

การจัดการความรู้.http://www.dopa.go.th  ธันวาคม 2552

การจัดการความรู้.http://bb.go.th  ธันวาคม 2552

การจัดการความรู้.http://www.vcharkarn.com/vblog/35774/2 ธันวาคม 2552

คำสำคัญ (Tags): #km pm od
หมายเลขบันทึก: 317785เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2009 02:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 00:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท