สรุปสาระสำคัญของงานวิจัยเล่มที่ 4


การวิจัยเชิงคุณภาพ

ชื่อเรื่อง ปัญหาและแนวทางการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้โรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม   

           อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด

ผู้วิจัย    คมสัน   ณ รังษี

ปีที่วิจัย   มิถุนายน 2550

ความมุ่งหมายของการวิจัย

           1. เพื่อศึกษาปัญหาในการดำเนินงานตามแนวคิดขององค์กรแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด

          2. เพื่อสังเคราะห์แนวทางการพัฒนาการดำเนินงานตามแนวคิดขององค์กรแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด

ความสำคัญของการวิจัย

          การวิจัยในครั้งนี้ทำให้ทราบถึงแนวทางในการพัฒนาองค์กร โดยการใช้ตามแนวคิดขององค์กรแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด ซึ่งจะนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและพัฒนาการดำเนินงานของโรงเรียนให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์การดำเนินงาน

วิธีการดำเนินการวิจัย

1. ประชากรที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 30 คน ดังนี้

      1.1 ผู้อำนวยการโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด จำนวน 1 คน

      1.2 รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด จำนวน 2 คน

      1.3 หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้โรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด จำนวน 8 คน

      1.4 ครูปฏิบัติการสอนโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด จำนวน 19 คน

2. กลุ่มตัวอย่าง คือผู้ที่ให้ข้อมูลหลักในการวิจัยที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ซึ่งเป็นการวิจัยศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจากการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 28 คน ดังนี้

      2.1 ผู้อำนวยการโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด จำนวน 1 คน

      2.2 รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด จำนวน 2 คน

      2.3 หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้โรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด จำนวน 8 คน

      2.4 ครูปฏิบัติการสอนโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด จำนวน 17 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

      1. เอกสาร หนังสือ รายงานการประชุมและรายงานการดำเนินงานเกี่ยวกับองค์กรแห่งการเรียนรู้ ทำการศึกษาโดยการวิเคราะห์เอกสาร(documentary analysis) เป็นการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารต่างๆ สิ่งพิมพ์ต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้ เช่น หลักการ แนวคิด การนำมาใช้ในองค์กร ตลอดจนถึงสภาพของการดำเนินงานองค์การการเรียนรู้ที่ผ่านมาของโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด

      2. แบบสัมภาษณ์เพื่อการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง(Structured Interview) โดยผู้วิจัยกำหนดคำถามที่ใช้ในการศึกษากว้างๆล่วงหน้าก่อนทำการศึกษา เป็นลักษณะคำถามแบบปลายเปิดที่ผู้วิจัยต้องใช้วิธีการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก การตั้งคำถามในการสัมภาษณ์เป็นหน้าที่ของผู้วิจัยที่จะซักถามรายละเอียดจากผู้ที่ให้สัมภาษณ์ มีการกำหนดคำถาม มีประเด็นที่สำคัญคือ ปัญหา ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ลักษณะการสัมภาษณ์จะออกมาในรูปแบบของการสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ในการดำเนินงาน จะจัดรูปแบบอย่างไม่เป็นทางการทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบุคคลที่จะให้ข้อมูลในแต่ละครั้ง ข้อมูลต้องครอบคลุมเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านองค์กรแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม ดังนี้

     1. การเป็นบุคคลใฝ่เรียนรู้

     2. การมีรูปแบบจำลองทางความคิด

     3. การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน

     4. การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม

     5. การคิดอย่างเป็นระบบ

การเก็บรวบรวมข้อมูล

     1. รวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินองค์กรแห่งการเรียนรู้ภายในโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2547

     2. สัมภาษณ์เกี่ยวกับสภาพปัญหา ผลการดำเนินงาน ในการดำเนินงานของโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด ในเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ตามกรอบวินัย 5 ประการจากผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้และครูปฏิบัติการสอนรวม 28 คน

    3. สัมภาษณ์แบบเจาะประเด็นในประเด็นที่เกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราดไปสู่องคืกรแห่งการเรียนรู้ เมื่อทำการรวบรวมข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วทำการสรุปสภาพปัญหาการพัมนาการดำเนินการเกี่ยวกับองคืกรแห่งการเรียนรู้โรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด

   4. วิเคราะห์แนวทางการพัฒนาจากการสัมภาษณ์แบบเจาะจงและเจาะประเด็นของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้และผู้แทนครูปฏิบัติการสอน ในประเด็นที่เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้บ่อไร่วิทยาคม จังหวัดตราด

       ผลการวิจัยพบว่า  ปัญหาหลักได้แก่

       ด้านการเป็นบุคคลใฝ่เรียนรู้ ครูมีภาระงานความรับผิดชอบมากเกินไป ขาดแหล่งเรียนรู้สำหรับครูโดยเฉพาะ

      ด้านการมีรูปแบบจำลองทางความคิด ครูบางคนยังยึดติดกรอบความคิดความเชื่อเดิมๆ ไม่ค่อยยมรับการเปลี่ยนแปลง

      ด้านการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน การนำเสนอความคิดเห็นหรืออภิปรายไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังและความแตกต่างระหว่างวัยทำให้เกิดการปิดกั้นทางความคิด

      ด้านการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม การที่มีภาระงานมากเกินไปทำให้การเรียนรู้ร่วมกันน้อยลง

     ด้านการคิดอย่างเป็นระบบ บุคลากรบางส่วนยังไม่เกิดการคิดหรือมองภาพรวมขององค์กร ยังยึดติดเฉพาะกับงานที่ทำหรือได้รับมอบหมาย

แนวทางการพัฒนาที่วิเคราะห์ได้คือ ลดภาระงานพิเศษให้น้อยลง จัดหาแหล่งเรียนรู้ สื่อ อุปกรณ์ อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แก่ครูโดยเฉพาะ ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน เปิดรับการเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ๆ เปิดโอกาสด้านการแสดงออกทางความคิดอย่างเสรีมากขึ้น สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมการทำงานข้ามสายงาน ส่งเสริมกิจกรรมร่วมคิด ร่วมทำ  เพื่อเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมกันขององค์กร

 

 

 

    

หมายเลขบันทึก: 317641เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2009 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีครับ อ่านแล้วได้รับความรู้เรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ เพิ่มขึ้นมา เป้นตัวอย่างที่ดีครับ ขอบคุณครับที่นำมาสรุปให้เพื่อน ๆ อ่านกัน

สวัสดีครับคุณกัญญ์นรา

ด้วยความยินดีครับที่นำประสบการณ์เล็กๆ ของพวกเราชาวบ่อไร่วิทยาคมมาเผยแพร่ที่นี่

ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผมเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

http://gotoknow.org/blog/krukomsun

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท