งบ ‘รสก.’ ค้างท่อ 7.8 พันล.


งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ
       คลังยอมรับงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 7.8 พันล้านบาทค้างเติ่ง คณะรัฐมนตรีรักษาการไม่กล้าอนุมัติ  ปรับเป้าเบิกจ่ายลงเหลือแค่ 91% จากเดิม 93%
       แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้ กระทรวงการคลัง     จะเสนอมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรค โดยพบว่าการเบิกจ่ายงบประมาณงวดครึ่งปี ณ วันที่ 31 มีนาคม 2549 มีการเบิกไปแล้ว 7.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 28% คงเหลืองบอีก 2 แสนล้านบาท ที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้า 2.79 แสนล้านบาท    ทั้งนี้ หากรวมโครงการที่ต้องรออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ด้วย 7.8 พันล้านบาท ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนของระยะเวลาที่จะอนุมัติ โอกาสที่จะเบิกจ่ายเป็นไปได้ยาก จึงเหลืองบลงทุนที่คาดว่า จะเบิกได้จริงเพียง 2.71 แสนล้านบาทเท่านั้น    คิดเป็น 91% จากที่ตั้งไว้ 93%    สำหรับปัญหาและอุปสรรค ที่รัฐวิสาหกิจไม่สามารถประมูลงานและเบิกจ่ายล่าช้า  ส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ด้วยวิธีอีออกชั่น ซึ่งมีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ที่กำหนดให้ใช้วิธีประมูล ดังกล่าวในวงเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งกรมบัญชีกลาง ก็ได้แก้ไขระเบียบใหม่เพิ่มเป็น 5 ล้านบาทขึ้นไปเพื่อแก้ไขปัญหา  นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการเร่งรัดก่อหนี้ผูกพันให้ได้ภายในวันที่   30 มิถุนายนนี้ โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเร่งทำแผนเบิกจ่ายรายงานให้กรมบัญชีกลางรับทราบ เพื่อนำเข้าคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดการเงินภาครัฐเพื่อเร่งรัดใช้งบลงทุนต่อไป
       ขณะเดียวกันได้ให้อำนาจกรมบัญชีกลาง เป็นกรณีพิเศษ สามารถผ่อนผันกฎเกณฑ์การ เบิกจ่ายในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ โดยวงเงินจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ 2-5 ล้านบาท ที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ    สำนักนายกรัฐมนตรี สามารถผ่อนผันให้หัวหน้าหน่วยงานใช้ดุลยพินิจดำเนินแก้ไขได้ตามความจำเป็น รวมทั้งการให้อธิบดีสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการประกวดราคา คัดเลือกผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดวัน เวลา สถานที่ เสนอราคาได้ในวงเงิน ไม่เกิน 50 ล้านบาท
       สำหรับรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายล่าช้าตามปีงบประมาณ ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย เบิกจริง 1.7 พันล้านบาท คิดเป็น 11% การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เบิกจริง 170 ล้านบาท คิดเป็น 6% โรงงานยาสูบ เบิกจริง 67 ล้านบาท คิดเป็น 1.8%      บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย เบิกจริง 631 ล้านบาท คิดเป็น 29%    และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เบิกจริง 73 ล้านบาท คิดเป็น 4.7%     ส่วนรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายตามปีปฏิทินที่ยังล่าช้าอยู่ประกอบด้วย การไฟฟ้านครหลวง 890 ล้านบาท คิดเป็น 6.4%  และบริษัท กสท โทรคมนาคม เบิกจริง 426 ล้านบาท คิดเป็น 5.3%

โพสต์ทูเดย์  29  พ.ค.  49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 31676เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2006 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 02:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท