การวัดขนาดของท่อนไม้หรือต้นไม้แบบภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวจังหวัดแพร่


การวัดขนาดของท่อนไม้หรือต้นไม้แบบภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวจังหวัดแพร่

:: การวัดขนาดของต้นไม้ ท่อนไม้ตามแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวจังหวัดแพร่

โดย  ครูสวัสดิ์ ท้าวคำลือ

         การวัดขนาดของต้นไม้  ท่อนไม้  ไม้ซุงจะวัดขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลาง  และในปัจจุบันที่นิยมกันมีหน่วยวัดเป็นมาตราสากล คือ มาตราเมตริก มีหน่วยวัดเป็น  เซนติเมตรหรือเมตร  ในวิถีชีวิตของชาวไทยในภาคเหนือหรือที่เรียกตนเองว่า คนเมือง  ได้มีการคิดคำนวณวัดขนาดของต้นไม้ ท่อนไม้หรือไม้ซุงเป็นอีกแบบหนึ่ง  เป็นการวัดขนาดของต้นไม้ ท่อนไม้  มีหน่วยวัดเป็น  ก๋ำ หรือ กำ  (1  ก๋ำหรือกำ  เท่ากับ  4  นิ้ว)  เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวจังหวัดแพร่ที่ยังมีการใช้วิธีวัดแบบนี้อยู่  และควรช่วยกันอนุรักษ์สืบทอดกันต่อไป  

       วิธีการวัดขนาดของไม้แบบภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวจังหวัดแพร่

1.  ใช้เชือกวัดรอบขนาดของต้นไม้หรือท่อนไม้ ความยาวของเชือกที่วัดได้จะเป็นความยาวรอบวงของต้นไม้หรือท่อนไม้ การวัดรอบวงท่อนซุงหรือท่อนไม้จะวัดตรงจุดกึ่งกลางของท่อนไม้   เนื่องจากตามปรกติส่วนโคนต้นของท่อนไม้จะมีขนาดใหญ่กว่าส่วนปลาย  การที่เลือกวัดตรงจุดกึ่งกลางก็จะเป็นส่วนเฉลี่ยของส่วนโคนต้นกับส่วนปลายของท่อนไม้ แต่ถ้าต้องการทราบขนาดของต้นไม้ที่ยืนต้นอยู่ก็ให้วัดรอบวงที่บริเวณโคนต้น  วัดเหนือขึ้นมาจากระดับพื้นดิน  ประมาณ  2  ศอก  หรือ  1  เมตร

2.  นำความยาวของเชือกที่เป็นความยาวของเส้นรอบวงมาแบ่งครึ่ง  แล้วนำไม้บรรทัดหรือสายวัดไปวัดหาความยาวของเชือกที่แบ่งครึ่งนี้  (ใช้หน่วยวัดเป็นนิ้ว)  ได้เท่าไรเอา  4  ไปหาร  คำตอบที่ได้คือ ขนาดของต้นไม้หรือท่อนไม้นี้ที่มีหน่วยเป็น  ก๋ำ หรือ กำ  (ที่ต้องนำ  4  ไปหารความยาวของเส้นเชือก  เพราะ  4  นิ้ว  เท่ากับ  1  ก๋ำ หรือ กำ)

ประวัติความเป็นมาของหน่วยวัดเป็น  ก๋ำ หรือ กำ

         ก๋ำ   เป็นภาษาคำเมืองเหนือตรงกับภาษากลางคือคำว่า  กำ    เป็นอากัปกริยาของคนเราที่กำมือ   ในสมัยก่อนชาวบ้านยังไม่มีการใช้หน่วยวัดตามมาตราเมตริก (เซนติเมตร  เมตร)  และมาตราอังกฤษ (นิ้ว  ฟุต  หลา)  จากไม้บรรทัดหรือสายวัด    จึงใช้วิธีการวัดโดยใช้ขนาดของกำมือ    เมื่อใช้เส้นเชือกวัดรอบขนาดของท่อนไม้แล้ว  ก็นำเส้นเชือกที่เป็นขนาดความยาวของเส้นรอบวงมาทบกัน   แล้วใช้มือกำเส้นเชือกวัดติดต่อกันตั้งแต่โคนเส้นเชือกไปจรดปลายเส้นเชือกที่นำมา  ทบกัน   ว่ามีความยาวกี่กำ  ก็จะเป็นขนาดของเส้นรอบวงของไม้ท่อนนั้น  

ต่อมา  เมื่อมีการนำวิธีการวัดโดยใช้หน่วยวัดที่เป็นมาตราอังกฤษ  (นิ้ว  ฟุต  หลา) อย่างแพร่หลาย  และชาวบ้านที่ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับการทำไม้  เห็นว่าขนาดของกำมือของคนเราไม่เท่ากัน  จึงเป็นข้อถกเถียงในการซื้อขายท่อนไม้   และเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ข้อยุติในเรื่องดังกล่าว  จึงให้มีการใช้หน่วยวัดที่เป็นมาตรฐานจึงนิยมใช้ไม้บรรทัดหรือสายวัดที่เป็นหน่วยวัดตามมาตราอังกฤษเข้ามาช่วยในการวัด   และกำหนดเป็นข้อตกลงว่า  ความยาว  1  ก๋ำ หรือ กำ  เท่ากับ  4  นิ้ว ดังนั้น  ความยาว  1  ก๋ำ หรือ กำ  เท่ากับ  4  นิ้ว 

 ตัวอย่าง    ต้นมะพร้าว  ใช้เชือกไปวัดขนาดของโคนต้น เหนือขึ้นมาจากระดับพื้นดิน  ประมาณ  2  ศอก  หรือ  1  เมตรแล้ว  นำมาแบ่งครึ่ง  แล้วนำความยาวของเชือกที่แบ่งครึ่งนี้ใช้ไม้บรรทัดวัดความยาวได้   20   นิ้ว  นำ  20  หารด้วย  4   (20 ห่ารด้วย 4 = 5)  แสดงว่าต้นมะพร้าวต้นนี้มีขนาด  5  ก๋ำ หรือ  5  กำ

หมายเลขบันทึก: 316539เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2009 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท