พฤติกรรมศาสตร์กับ KM


พฤติกรรมศาสตร์กับ KM


          พฤติกรรมศาสตร์เป็นหัวใจของ KM เลยนะครับ   โดยเฉพาะ KM ยุคที่ 3 ที่เน้นคน   เน้นความสัมพันธ์ระหว่างคน   เน้นการมีใจเอื้ออาทรอันนำไปสู่พฤติกรรมแบ่งปันซึ่งกันและกัน


          วันนี้ (25 ส.ค.48) ผมไปร่วมงานฉลองครบรอบ 50 ปีของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มศว.   และร่วมฟังการอภิปรายกลุ่มเรื่อง “งานวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ : ประโยชน์ที่สังคมไทยได้รับ”   ผมได้ฟังเพียง 2 ท่าน  คือ ศ. ดร. ดวงเดือน  พันธุมนาวิน   กับคุณโสภณ  สุภาพงษ์   ไม่ได้ฟัง ศ. ดร. จรรจา  สุวรรณทัต   ซึ่งถือเป็นยอดนักวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์


          พฤติกรรมศาสตร์สกุล มศว. เน้นไปทางการศึกษา   การเลี้ยงดูเด็ก   และคุณธรรมจริยธรรม


          ศ. ดร. ดวงเดือนเป็นเจ้าของทฤษฎีต้นไม้จริยธรรม   ซึ่งเสนอว่าพฤติกรรมที่ดีเกิดจากปัจจัย 8 ประการหรือ 8 กลุ่ม   คือ 3 กลุ่มเปรียบเสมือนรากของ “ต้นไม้จริยธรรม” คือ  (1) ความเฉลียวฉลาด   (2) สุขภาพจิตดี   (3) ประสบการณ์สังคมสูง   และอีก 5 ปัจจัยเปรียบเสมือนลำต้น  คือ   (4) ทัศนคติ  ค่านิยม  คุณธรรม   (5) เหตุผลเชิงจริยธรรม   (6) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์   (7) มุ่งอนาคต – ควบคุมตน   (8) ความเชื่ออำนาจในตน


          ผลงานวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ของ ศ. ดร. ดวงเดือน นี้เป็นที่น่าชื่นชมมาก   เพราะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี   โดย วช. (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ)  สนับสนุนในฐานะโครงการแม่บท : การวิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย   และ กพ. ได้นำผลวิจัยไปใช้พัฒนาพฤติกรรมของข้าราชการ


          คุณโสภณ  สุภาพงษ์   บอกว่าตนพูดในฐานะ “ผู้ใช้” พฤติกรรมศาสตร์   โดยยกตัวอย่างรูปธรรมเปรียบเทียบพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี 2 คน   และพฤติกรรมต่อพี่น้องมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้   ผมตีความว่าคุณโสภณบอกที่ประชุมว่าพฤติกรรมถูกกำหนดโดยกระบวนทัศน์ที่อาจเป็นมิจฉาทิฐิหรือสัมมาทิฐิ   มีผลแตกต่างกันอย่างตรงกันข้าม   ทั้งในระดับบุคคล   ระดับประเทศและระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


          ผมตีความแบบคนไม่รู้จริง   ว่าเรามีโอกาสขยายศาสตร์ด้านพฤติกรรมนี้ออกไปได้มากมายหากเราใช้ KM เข้ามาจับ


          ก่อนการอภิปราย   ผมเล่าให้ ผศ. ดร. วิลาสลักษณ์  ชัววัลลี  ผอ. สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ให้ฟังว่า  สพบ. กับ สคส. กำลังจัด “ตลาดนัดความรู้ครูเพื่อศิษย์ : การจัดการความรู้เพื่อเด็กไทยวัยใส (ช่วยเหลือเด็กฝ่าวิกฤตวัยรุ่น)”   ในวันที่ 26 – 27 ส.ค.48    เป็นการเชิญครู/โรงเรียนที่มีความสำเร็จในการดำเนินการช่วยเหลือ/ป้องกันการติดยาเสพติด   ปัญหาทางเพศ   การยกพวกตีกัน  ติดการพนันของลูกศิษย์วัยรุ่น ฯลฯ   มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   ในตลาดนัดความรู้นี้จะมีการจดบันทึกความรู้ปฏิบัติเชิงพฤติกรรมศาสตร์อย่างมากมาย   จะมีประเด็นเชิงปฏิบัติที่ใช้ได้ผล   แต่ผู้ปฏิบัติอธิบายเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมจึงได้ผล   สำหรับให้นักวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์เข้าไปเรียนรู้และทำวิจัยต่อยอดความรู้


          ผมกำลังเสนอซ้ำ ๆ แบบแผ่นเสียงตกร่อง   ว่านักวิจัยน่าจะเข้าไปวิจัยต่อยอดความรู้ที่มีการสร้างขึ้นจากกระบวนการ KM

 

               

                       บรรยากาศในห้องประชุม                           ผู้ร่วมอภิปราย

 

 


                                                                                                วิจารณ์  พานิช
                                                                                                   26 ส.ค.48

หมายเลขบันทึก: 3164เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2005 09:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท