โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (10) พรรณาพันธุ์ข้าว


...การแบ่งข้าวตาม สภาพของแสงแดด สภาพการเก็บเกี่ยว และสภาพพื้นที่ปลูก สภาพแวดล้อม...

๑๐ พรรณาพันธุ์ข้าว

     นับพันๆ พันธุ์ที่ยากจะพรรณนา...เมื่อกล่าวมาถึงเรื่องพันธุ์ข้าว เราๆท่านๆต้องยอมรับว่าบนผืนแผ่นดินไทยเรานี้อุดมสมบูรณ์เหลือคณา ในน้ำมีปลาในนามีข้าว พันธุ์ข้าวมีนับไม่ถ้วน นับได้หลายพันพันธุ์เลยทีเดียว

     เมื่อพันธุ์ข้าวมีหลายพันธุ์เช่นนี้ แน่นอนแหละว่า แต่ละชนิดแต่ละพันธุ์ย่อมมีความเหมือนความคล้ายและความแตกต่างกันไป ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ยังพอสามารถจำแนกแยกประเภทข้าวออกเป็นประเภทตามสภาพ นักเรียนชาวนาลองมาพิจารณาข้าวตามสภาพดูกัน... ไหนดูซิว่า แต่ละสภาพเป็นอย่างไร

     หากพิจารณากันตามสภาพของแสงแดด จะแบ่งข้าวได้เป็น ข้าวไวแสง กับ ข้าวไม่ไวแสง ซึ่งเป็น ๒ สภาพที่มีความแตกต่างกัน

     ข้าวไวแสงเป็นข้าวที่มีช่วงเวลาของการออกดอกที่แน่นอน และเป็นข้าวที่ปลูกในฤดูนาปีเท่านั้น ข้าวจะออกดอกในช่วงที่มีเวลากลางวันสั้นกว่ากลางคืน จึงต้องปลูกในฤดูฝนเพื่อให้ออกดอกในช่วงฤดูหนาว ซึ่งมีช่วงเวลากลางวันสั้นกว่า ๑๒ ชั่วโมง และนอกจากนี้ ข้าวไวแสงก็ยังมีรายละเอียดของสภาพต่อการไวแสงแยกย่อยอีก ได้แก่ ข้าวที่มีความไวต่อแสงมาก ข้าวที่มีความไวต่อแสงน้อย รายละเอียดอย่างนี้นี่เองที่ส่งผลให้ข้าวแต่ละพันธุ์มีช่วงเก็บเกี่ยวต่างกันออกไป และข้าวพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มข้าวไวแสง

     ส่วนข้าวไม่ไวแสงเป็นข้าวที่ออกดอกตามอายุเก็บเกี่ยวของข้าวโดยไม่ขึ้นอยู่กับช่วงแสง และเป็นข้าวนาปรัง หากแต่มีน้ำเพียงพอก็สามารถปลูกได้ตลอดปี ข้าวไม่ไวแสงนี้จะปลูกได้ดีในฤดูร้อน เพราะมีช่วงแสงมากกว่าฤดูอื่น อายุของข้าวตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวจะอยู่ในช่วงประมาณ ๑๑๐ – ๑๕๐ วัน

     หรือหากพิจารณาตามเงื่อนไขในสภาพการเก็บเกี่ยว โดยเงื่อนไขเป็นไปตามระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว สามารถแบ่งข้าวได้เป็น ข้าวเบา ข้าวกลาง และ ข้าวหนัก รวม ๓ สภาพ

     ข้าวเบาเป็นข้าวที่ใช้ระยะเวลาสั้น หากเป็นข้าวไวแสงจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกพื้นที่ภาคของประเทศ เว้นแต่ภาคใต้ และข้าวเบานี้ยังสามารถแยกย่อยอีก ได้แก่ ข้าวค่อนข้างเบา ข้าวเบา และข้าวเบามาก

     ข้าวกลางเป็นข้าวที่ใช้ระยะเวลาปานกลาง หากเป็นข้าวไวแสงจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนของปี

     ส่วนข้าวหนักเป็นข้าวที่ใช้ระยะเวลานาน หากเป็นข้าวไวแสงจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม และข้าวหนักก็ยังสามารถแยกย่อยอีก ได้แก่ ข้าวค่อนข้างหนัก ข้าวหนัก และข้าวหนักมาก

     และหากพิจารณาจากสภาพพื้นที่ปลูก สภาพแวดล้อม ก็สามารถแบ่งสภาพได้เป็น ข้าวไร่ ข้าวนาสวน และ ข้าวนาเมือง รวม ๓ สภาพ

     ข้าวไร่เป็นข้าวที่ปลูกตามสภาพธรรมชาติ อาศัยน้ำฝน ปลูกในพื้นที่ไร่หรือพื้นที่ดอน ไม่มีการเก็บกักน้ำในแปลงนา ปลูกด้วยวิธีการหยอดหรือโรยเมล็ดข้าวแห้ง ซึ่งพันธุ์ข้าวไร่ส่วนใหญ่มักจะทนต่อความแห้งแล้ง

     ข้าวนาสวนเป็นข้าวที่ปลูกกันทั่วไปในพื้นที่ที่มีน้ำขัง มีการเก็บกักน้ำไว้ในแปลงนา ซึ่งมีระดับน้ำลึกตั้งแต่ ๑ เซนติเมตรเป็นต้นไป แต่ลึกไม่เกิน ๕๐ เซนติเมตร สำหรับข้าวนาสวนยังสามารถแบ่งย่อยได้เป็น “ข้าวนาน้ำฝน” กับ “ข้าวนาชลประทาน” ๒ สภาพ โดยที่ข้าวนาน้ำฝนนี้จะเป็นข้าวนาปี อาศัยน้ำฝนธรรมชาติ ปลูกด้วยข้าวพันธุ์พื้นเมืองหรือข้าวที่คัดพันธุ์มาจากข้าวพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณภาพ เมล็ดดี ทว่าต้นข้าวจะสูง แล้วล้มง่าย ส่วนข้าวนาชลประทานนั้น จะเป็นข้าวที่ปลูกในเขตนาชลประทาน สามารถปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง ปลูกด้วยข้าวพันธุ์ที่พัฒนาพันธุ์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งให้ผลผลิตสูง และเหมาะสำหรับการใช้ปุ๋ยเคมี

     ข้าวนาเมือง หรือข้าวขึ้นน้ำ หรือข้าวฟางลอย เป็นข้าวนาปี ส่วนใหญ่ปลูกด้วยข้าวพันธุ์ที่คัดมาจากพันธุ์พื้นเมือง อาทิเช่น ปิ่นแก้ว ๕๖ เจ๊กเชย ๑๕๙ เล็บมือนาง ๑๑๑ ซึ่งเป็นข้าวที่สามารถยืดปล้องตามระดับน้ำได้ มีการแตกแขนงและรากที่ข้อ ทนต่อสภาพน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และยังทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ทว่าผลผลิตค่อนข้างจะต่ำกว่านาน้ำฝน

ภาพที่ ๔๕ สภาพพ้นที่ นาข้าวชลประทานในจังหวัดสุพรรณบุรี

ภาพที่ ๔๖ สภาพพื้นที่ที่ปลูกข้าวไร่ ซึ่งปลูกตามธรรมชาติอาศัยน้ำฝน พื้นที่บนภูเขาในจังหวัดเชียงใหม่

 

หมายเลขบันทึก: 31639เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2006 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท