Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

อรรถกถาสีวลิเถรปทาน: เอตทัคคะของพระสีวลี


พระสีวลีเถระ ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับเอตทัคคะจากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสีวลีเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีลาภ”.

       ในกาลต่อมา  พระศาสดา  ได้ทรงกระทำการต้อนรับพระขทิรวนิยเรวตเถระ.  อย่างไร  คือ  ครั้งนั้น    ท่านพระสารีบุตร   กราบทูลพระศาสดาว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  นัยว่า  พระเรวตะผู้เป็นน้องชายของข้าพระองค์บวชแล้ว   เธอจะพึงยินดียิ่ง  (ในพระศาสนา)   หรือไม่พึงยินดี  ข้าพระองค์จักไปเยี่ยมเธอ”. 

พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงทราบว่า  พระเรวตะเริ่มทำความเพียรเจริญวิปัสสนา  จึงทรงห้าม  (พระสารีบุตร)   ถึง ๒ ครั้ง   ในครั้งที่ ๓  เมื่อพระสารีบุตรทูลอ้อนวอนอีก  ทรงทราบว่า  พระเรวตะบรรลุพระอรหัตแล้ว  จึงตรัสว่า  “สารีบุตร  แม้เราเองก็จักไป  เธอจงบอกให้พวกภิกษุได้ทราบด้วย”.  

พระเถระสั่งให้ภิกษุทั้งหลายมาประชุมกันแล้ว  แจ้งให้ภิกษุทั้งหมดได้ทราบด้วยคำว่า  “ผู้มีอายุทั้งหลาย  พระศาสดา   ทรงมีพระประสงค์จะเสด็จไปสู่ที่จาริก  พวกท่านผู้มีความประสงค์จะตามเสด็จด้วย  ก็จงมาเถิด”. 

ในกาลที่พระทศพลจะเสด็จไปเพื่อสู่ที่จาริก  ชื่อว่าพวกภิกษุผู้ที่มักชักช้าอยู่    มีจำนวนน้อย  โดยมากมีความประสงค์จะตามเสด็จมีจำนวนมากกว่า  เพราะตั้งใจกันว่าพวกเราจักได้เห็นพระสรีระอันมีวรรณะดุจทองคำของพระศาสดา   หรือว่าพวกเราจักได้ฟังพระธรรมกถาอันไพเราะ   เพราะเหตุนั้น    พระศาสดามีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร   เสด็จออกไปด้วยพระประสงค์ว่า  จักเยี่ยมพระเรวตะ.   

ณ ที่ประเทศแห่งหนึ่ง   พระอานนทเถระถึงหนทาง  ๒  แพร่ง  แล้ว กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญตรงนี้มีหนทาง ๒ แพร่ง  ภิกษุสงฆ์จะไปทางไหน พระเจ้าข้า” 

พระศาสดาตรัสถามว่า  “อานนท์ หนทางไหน  เป็นหนทางตรง”.

พระอานนท์กราบทูลว่า   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญหนทางตรงมีระยะประมาณ  ๓๐๐ โยชน์  เป็นหนทางที่มีอมนุษย์   ส่วนหนทางที่อ้อมมีระยะทาง  ๖๐ โยชน์   เป็นหนทางสะดวกปลอดภัย  มีภิกษาดีหาง่าย”.

พระศาสดาตรัสว่า “อานนท์ สีวลีได้มาพร้อมกับพวกเรามิใช่หรือ”.

พระอานนท์กราบทูลว่า “ใช่  พระสีวลีมาแล้วพระเจ้าข้า”.   

พระศาสดาตรัสว่า   “ถ้าอย่างนั้นพระสงฆ์จงไปตามเส้นทางตรงนั้นแหละ  เราจักได้ทดลองบุญของพระสีวลี”. พระศาสดามีพระภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร  เสด็จขึ้นสู่เส้นทาง  ๓๐ โยชน์   เพื่อจะทรงทดลองบุญของพระสีวลีเถระ.

           จำเดิมแต่ที่ได้เสด็จไปตามหนทาง    หมู่เทวดาได้เนรมิตพระนครในที่ทุก ๆ โยชน์   ช่วยกันจัดแจงพระวิหารเพื่อเป็นที่ประทับ และที่อยู่แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข.   พวกเทวบุตรซึ่งเป็นดุจกรรมกรที่พระราชาทรงส่งไป   ได้ถือเอาข้าวยาคูและของเคี้ยวเป็นต้นไป   ถามอยู่ว่า  “พระผู้เป็นเจ้าสีวลีไปไหน   ดังนี้แล้ว   จึงไป”.   พระเถระให้ช่วยกันถือเอาสักการะและสัมมานะแล้วไปเฝ้าพระศาสดา. พระศาสดา  ได้ทรงเสวยร่วมกับภิกษุสงฆ์.

โดยทำนองนี้แหละ  พระศาสดาเมื่อจะทรงเสวยสักการะ   เสด็จไปวันละโยชน์เป็นอย่างสูงจนล่วงพ้นหนทางกันดาร ๓๐  โยชน์เสด็จถึงที่อยู่ของพระทิรวนิยเรวตเถระแล้ว.  พระเถระทรงว่าพระศาสดาเสด็จมา   จึงเนรมิตวิหารจำนวนเพียงพอแก่ภิกษุสงฆ์  มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขและเนรมิตพระคันธกุฏีที่ประทับกลางคืนและประทับกลางวันแด่พระทศพล ด้วยฤทธิ์  ณ  ที่อยู่ของตนนั่นแหละ  แล้วออกไปทำการต้อนรับพระตถาคตเจ้า. พระศาสดาเสด็จเข้าไปยังพระวิหาร ตามหนทางที่ประดับตกแต่งแล้ว.  ครั้นเมื่อพระตถาคต   เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎีแล้ว  พวกภิกษุจึงค่อยเข้าไปยังเสนาสนะที่ถึงแล้วตามลำดับพรรษา.พวกเทวดาคิดว่า  เวลานี้มิใช่เวลาอาหาร   จึงได้นำเอาน้ำปานะ  ๘  อย่างถวาย.  พระศาสดา   ทรงดื่มน้ำปานะร่วมกับพระภิกษุสงฆ์.  เมื่อพระตถาคต  เสวยสักการะและสัมมานะโดยทำนองนี้นั่นแหละ    เวลาผ่านไปแล้วครึ่งเดือน

          ลำดับนั้น   ภิกษุผู้ไม่พอใจบางพวก   นั่งแล้วในที่แห่งหนึ่งพากันยก เรื่องขึ้นสนทนากันว่า  พระทศพล  ตรัสว่า   “พระน้องชายแห่งอัครสาวกของเราดังนี้  แล้วเสด็จมาเพื่อทอดพระเนตรภิกษุผู้เป็นช่างก่อสร้างเห็นปานนี้ พระเชตวันมหาวิหาร  หรือว่า  พระวิหารเช่นเวฬุวันวิหารเป็นต้น  จักทำอะไรในสำนักแห่งวิหารนี้ได้  ถึงภิกษุรูปนี้    ก็เป็นผู้ทำการก่อสร้างงานเห็นอย่างนี้จักบำเพ็ญสมณธรรมอะไรได้. 

ลำดับนั้น  พระศาสดาทรงดำริว่า   เมื่อเราอยู่ในที่นี้นานไป  สถานที่นี้จักกลายเป็นที่เกลื่อนกล่น  ธรรมดาพวกภิกษุผู้อยู่ในป่า   ต้องการความสงบเงียบมีอยู่   การอยู่ด้วยความผาสุก   จักไม่มีแก่พระเรวตะแน่.   แต่นั้นก็เสด็จไปสู่ที่พักกลางวันของพระเถระ.  แม้พระเถระก็อยู่เพียงผู้เดียวอาศัยแผ่นกระดานพาดยึดที่ท้ายจงกรม  นั่งบนหลังแผ่นหินแล้วได้มองเห็นพระศาสดา  เสด็จมาแต่ไกลเทียว   จึงลุกขึ้นต้อนรับแล้ว.  

ลำดับนั้น  พระศาสดาตรัสถามเธอว่า  “เรวตะ  สถานที่นี้มีเนื้อร้ายเธอได้ฟังเสียงช้างม้าเป็นต้นที่ดุร้ายแล้ว  จะทำอย่างไร ?” 

พระเถระกราบทูลว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ธรรมดาว่าความยินดีในการอยู่ป่า  บังเกิดขึ้นแล้วแก่ข้าพระองค์  ก็เพราะได้ฟังเสียงของสัตว์เหล่านั้นแล.  ณ สถานที่นั้นพระศาสดาได้ตรัสถึงชื่อว่า  อานิสงส์ในการอยู่ป่า  ด้วยพระคาถา  ๕๐๐  พระคาถาแต่พระเรวตเถระ  วันรุ่งขึ้นเสด็จไปบิณฑบาตในสถานที่ไม่ไกล ตรัสเรียก พระเรวตเถระมาแล้ว  ได้ทรงกระทำพวกภิกษุผู้ที่กล่าวโทษพระเถระให้หลงลืมไม้เท้า  รองเท้า  ทะนานน้ำมันและร่มแล้ว.  พวกภิกษุเหล่านั้น  พากันกลับมาเพื่อนำบริขารของตนไป  แม้จะย้อนไปตาเส้นทางที่มาแล้วก็ตาม  แต่เดินไปตามเส้นทางที่ประดับตกแต่งแล้ว  แต่วันนั้น  เดินไปตามทางขรุขระในที่นั้นต้องนั่งยอง ๆ ต้องเดินเข้า.   ภิกษุเหล่านั้นพากันเดินเหยียบย่ำกอไม้พุ่มไม้  และหนาม  ไปถึงสถานที่ที่ตนเคยอยู่  จำได้ว่าร่มของตนคล้องไว้ที่ตอตะเคียนตรงนั้น  ตรงนั้น  จำได้ว่ารองเท้าไม้เท้าและทะนานน้ำมันอยู่ตรงนั้น.  ในตอนนั้น  ภิกษุเหล่านั้น  จึงทราบว่า  ภิกษุรูปนี้มีฤทธิ์  จึงถือเอาบริขารของตน  แล้วพากันพูดว่า  สักการะเห็นปานนี้  ย่อมเป็นสักการะที่พระเถระจัดแจงไว้เพื่อพระทศพล  ดังนี้แล้ว  จึงได้พากันไป.

ในเวลาที่พวกภิกษุพากันนั่งแล้วในเรือนของตน  นางวิสาขาอุบาสิกาจึงเรียนถามพวกภิกษุที่ล่วงหน้ามาก่อนว่า  “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  สถานที่อยู่ของพระเรวตะเป็นที่น่าจับใจไหมหนอ ?” 

พวกภิกษุกล่าวว่า “ดูก่อนอุบาสิกา  น่าจับใจ  เสนาสนะนั้นมีส่วนเปรียบด้วยนันทวันและจิตตลดาวันแล”. 

ต่อมานางวิสาขาก็ถามพวกภิกษุผู้พากันมาภายหลังกว่าภิกษุเหล่านั้นบ้างว่า  พระคุณเจ้าสถานที่อยู่ของพระเรวตะเป็นที่น่าพอใจไหม ?  ภิกษุเหล่านั้น   ตอบว่า  “อย่าถามเลย อุบาสิกา  สถานที่นั้นเป็นที่ไม่สมควรจะกล่าว  ภิกษุรูปนั้น   ย่อมอยู่ในสถานที่ซึ่งมีแต่ที่แห้งแล้ง  ก้อนกรวด  ก้อนหิน   ขรุขระและตอไม้เท่านั้นแล”.

         นางวิสาขา  ได้ฟังถ้อยคำของพวกภิกษุผู้มาก่อนและมาหลังแล้ว    คิดว่า  ถ้อยคำของภิกษุพวกไหนหนอเป็นความจริง   จึงถือเอาของหอมและระเบียบดอกไม้ภายหลังภัตรไปสู่ที่บำรุงของพระทศพลเจ้า      ถวายบังคมแล้ว

นั่ง ณ  ที่สมควรข้างหนึ่ง  กราบทูลถามพระศาสดาว่า   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ภิกษุบางพวกพากันนินทาที่อยู่ของพระเรวตเถระ   สถานที่อยู่นั้นเป็นอย่างไรพระเจ้าข้า”. 

พระศาสดาตรัสว่า  “ดูก่อนวิสาขา  ที่อยู่จะเป็นสถานที่อยู่รื่นรมย์หรือไม่นั้น  ขึ้นอยู่ว่า  จิตของพระอริยะทั้งหลายย่อมยินดีในสถานที่ใด  สถานที่นั้นนั่นแหละชื่อว่าสถานที่รื่นรมย์ใจ  ดังนี้แล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-

          พระอรหันต์อยู่ในที่ใด  จะเป็นบ้านก็ตาม    ป่าก็ตาม  ที่ลุ่มก็ตาม  ที่ดอนก็ตาม  ที่นั้นย่อมเป็นภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ใจ.

         ในกาลต่อมา  พระผู้มีพระภาคเจ้า   ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้าแล้ว    ทรงสถาปนาพระเถระนั้นไว้ในตำแหน่งอันเลิศว่า   “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   พระสีวลีเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีลาภ”.

          ลำดับนั้น   ท่านพระสีวลีเถระ  ได้บรรลุพระอรหัต   ได้รับเอตทัคคะแล้ว    ระลึกถึงบุรพกรรมของตนแล้ว   เกิดความโสมนัสใจ    เมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ตนได้เคยประพฤติมาแล้วในกาลก่อน      จึงกล่าวคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตโร  นาม  ชิโน  ดังนี้.

 

เชิญอ่านรายละเอียดต่อได้ที่นี่นะคะ

อรรถกถาสีวลิเถรปทาน: ผลแห่งการถวายทานของพระสีวลี

http://gotoknow.org/blog/veeranon/316083

อรรถกถาสีวลิเถรปทาน: บุรพกรรมของพระสีวลี

http://gotoknow.org/blog/veeranon/316088

สีวลิเถราปทานที่  ๓ : บุพจริยาของพระสีวลิเถระ

http://gotoknow.org/blog/veeranon/316057

 

บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองค่ะ

หมายเลขบันทึก: 316090เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2009 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท