Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ไหว้พระ ชมโบสถ์ ณ วัดทองนพคุณ 1


วัดทองนพคุณ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา ๑๗ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ ๒๐ ไร่  เป็นวัดเก่าที่มีมาแต่โบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างเมื่อใด ทราบแต่เพียงว่าเดิมเป็นวัดราษฎร์ ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดทองล่างต่อมา พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) เจ้ากรมท่าชาย คหบดึชาวจีนผู้มีนิวาสสถานตั้งอยู่บริเวณนี้ ได้ปฎิสังขรณ์และน้อมเกล้า ฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ปรากฏพระนาม ในพระอุโบสถมีจิตรกรรมภาพเขียน เรื่อง พระเวสสันดรชาดก

โบสถ์วัดทองนพคุณ สีขาว  สวยงามมาก ช่องหน้าต่างพระอุโบสถเป็นรูปวงกลมคล้ายพัดยศพระครูสัญญาบัตรระดับพระราชาคณะ เรียกว่า  ซุ้มลายปูนปั้นรูปพัดยศ ซึ่งเป็นลูกเล่นเชิงศิลปะของคนสมัยโบราณ ลวดลายสวยงามยิ่ง มีรูปทรงแปลกตา แพรไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนค่ะ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพเขียนภายในพระอุโบสถเรื่องพระเวสสันดร ซึ่งเป็นฝีมือของพระครูกสิณสังวร ลูกศิษย์ของ “ขรัว อินโข่ง” โดยสะท้อนจิตรกรรมภาพผนัง ที่นำศิลปะตะวันตกมาสอดใส่ให้ภาพดูมีมิติ โดยประยุกต์วาดไว้ในพระอุโบสถบานใหญ่กลาง ทุกวันนี้ทางวัดยังคงอนุรักษ์ภาพเขียนดังกล่าว เพื่อแสดงให้คนยุคปัจจุบัน ได้ชมความสามารถทางจิตรกรรมอันล้ำค่า ของคนสมัยโบราณอยู่  นอกจากนั้น ภาพเทพชุมนุม และม่านหลังพระประธาน ดูเสมือนจริงมาก  ต้องเข้ามาดูให้ได้นะคะ

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในพระอุโบสถนั้น  เสฐียรพงษ์ วรรณปก  เขียนไว้ว่า ดูภาพรวมแล้วให้แนวคิดสอดคล้องกับสำนักวิปัสสนาอันเป็นรากฐานของสำนักวัดทองนพคุณอย่างดี

มุมหนึ่งเป็นภาพโต๊ะตั้งพระไตรปิฎก (ไม่ใช่ตู้ ถ้าตำราอยู่ในตู้กว่าจะถูกหยิบออกมาศึกษาต้องผ่านหลายขั้นตอน !) เป็นหนังสือเล่มวางซ้อนๆ กัน 3 กอง พระวินัยปิฎกหนึ่งกอง พระสุตตันตปิฎกหนึ่งกอง พระอภิธรรมปิฎกอีกหนึ่งกอง ใต้โต๊ะบรรจุคัมภีร์มีสัตว์น่ารักสองตัวคือแมวกับหนูวิ่งไล่กันอยู่ ดูแล้วอดยิ้มในอารมณ์ขันของศิลปินไม่ได้ คล้ายจะบอกว่า เมื่อศึกษาพระคัมภีร์อย่างคร่ำเคร่งแล้วทำให้เครียด ให้ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยการดูภาพน่ารักๆ เสียบ้าง

อีกมุมหนึ่งมีภาพพระภิกษุปัดกวาดลานวัด และพิจารณาอสุภกรรมฐาน (จำได้ว่ารูปเก่า ศพขึ้นอืดเชียว แต่ที่ซ่อมภายหลังศพสวยงามไปหน่อย) ให้เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นธรรมดาของชีวิต ทำนองว่าเมื่อศึกษาตำราแล้ว ก็นำทฤษฎีสู่การปฏิบัติขัดเกลาจิต

อีกมุมหนึ่ง ซึ่งผมถือว่าเป็นไฮไลต์ทีเดียว เป็น ภาพต้นไม้ 3 ต้น กิ่งไม้พันกันยุ่ง และสูงขึ้นไปหน่อย กิ่งที่พันกันนั้นคอดกิ่วดุจจะขาดมิขาดแหล่ มองไปข้างบนสุด เป็นภาพความว่างเปล่าคล้ายสุญญตา (หรือนิพพาน) ภาพนี้ตีความได้ว่า เมื่อเรียนคัมภีร์พระไตรปิฎกแล้ว ก็นำธรรมะมาปฏิบัติขัดเกลาจิต ภาพปัดกวาดลานวัดก็ดี พิจารณาศพก็ดี ให้นัยแง่ปฏิบัติคือ การปัดกวาด ขัดเกลาจิตให้บริสุทธิ์

ภาพต้นไม้ 3 ต้นที่มีกิ่งสาขาพันกันยุ่งนุงนัง แทนกิเลส 3 ตระกูล คือ โลภะ โทสะ และโมหะ ที่ร้อยใจให้ยุ่งเหยิง เมื่อปฏิบัติไประดับหนึ่ง กิ่งที่พันกันค่อยๆ เรียว คอดเกี่ยว ดุจจะขาดจากกัน ขาดผึงเมื่อไร นั่นแหละ นับว่า บรรลุซาโตริ สว่างโพลงภายใน ถึงเป้าหมายแห่งการปฏิบัติแล้ว ครับ (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัดนี้คือ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่มีพระพักตร์งดงามมาก และหลวงพ่อแสงเพชรพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาววัดทองนพคุณมีความเชื่อถือศรัทธามาก และเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดพระกฐิน ยังได้มีการสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อแสงเพชร ให้ศาสนิกชนได้นำไปสักการะบูชา

ที่สำคัญ ในช่วงฉลองกรุงเทพฯ ครบ ๒๐๐ ปี วัดทองนพคุณเคยได้รับรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะที่อนุรักษ์พระอุโบสถ และบริเวณพุทธาวาสดีที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ชาวไทยภาคภูมิใจและควรหวงแหนอนุรักษ์ต่อศาสนสมบัติ ที่เป็นมรดกของชาติแห่งนี้

ปัจจุบันวัดทองนพคุณ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตโบราณสถาน เป็นหนึ่งในวัดที่มีความสำคัญต่อสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะพระอุโบสถของวัดแห่งนี้ สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ลงมติว่าศิลปกรรมทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดในรอบ ๒๐๐ ปี ของกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ภายในบริเวณวัด ยังมีเรือสำเภาจำลองขนาดใหญ่ลำหนึ่ง เล่ากันว่า ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีเจ้าสัวคนหนึ่งได้สร้างถวายวัด เพื่อตอบแทนพระคุณเจ้าอาวาส ที่ได้ช่วยเหลือให้เรือสำเภาที่ตนเองโดยสารอยู่กลางทะเลรอดพ้นจากการอับปาง

เสฐียรพงษ์ วรรณปก  เขียนไว้ว่า  มีเรื่องเล่ากันว่า เจ้าสัวที่เคารพในท่านเจ้าอาวาส เจ้าคุณสุธรรมสังวรเถร  ไปค้าขายทางทะเล เรือรั่วน้ำเข้าเรือ ทำท่าจะล่มกลางทะเล เจ้าสัวอธิษฐานจิตขอให้ท่านเจ้าคุณช่วยให้พ้นภัย  ท่านเจ้าคุณวันนั้นนำพระลูกวัดลงศาลาสวดมนต์เย็นอยู่ ก็เอาผ้าสังฆาฏิม้วนเป็นก้อนกลมๆ แล้วอุดช่องที่ร่องกระดานศาลาสวดมนต์ พลางร้องว่า เอ้า พวกเราช่วยกันอุดหน่อยๆ ท่ามกลางสายตาพระเณรลูกวัดจ้องมองด้วยความประหลาดใจว่าเกิดอะไรขึ้น หลวงพ่อจึงมีอาการประหลาดขนาดนี้ แต่ไม่มีใครปริปาก สักพักท่านเจ้าคุณก็หยุดอุดช่อง พูดด้วยความดีใจว่า เออ พ้นแล้วๆ เมื่อเจ้าสัวคนนั้นกลับมาบ้าน ก็รีบแจ้นมากราบเท้าท่านเจ้าคุณ เล่าว่า เรือเกือบจะล่มอยู่แล้ว แต่รอดมาได้ เพราะบารมีของหลวงพ่อช่วยเหลือ ถามไถ่เวลาเกิดเรื่องกลางทะเล ตรงกับเวลาที่ท่านเจ้าคุณแสดงอาการประหลาดต่อหน้าพระภิกษุสามเณรลูกวัดวันนั้นพอดิบพอดี  เจ้าสัวจึงได้สร้างเรือสำเภาเป็นอนุสรณ์ไว้ที่ลานวัดมีมาจนบัดนี้

หมายเลขบันทึก: 314908เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2009 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท