เทศนาเรื่อง ทุกข์ (แสดงแก่บุบาสกอุบาสิกาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑) (ต่อ)


ทุกข์ คือ สภาวะที่ทนได้ยาก ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ในสิ่งนั้น การประจวบกับสิ่งอัน ไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก เหล่านี้เป็นทุกข์ ซึ่งตัวทุกข์นั้น หมายถึง ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ รูป นาม นั่นเอง

 

          คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค  แสดงอรรถของทุกขตาไว้อย่างเดียวว่า  ชื่อว่าเป็นทุกข์ โดยความหมายของความเป็นภัย (ภยฏฺเน) ที่ว่ามีภัยนั้น  จะแปลว่า  เป็นภัยหรือน่ากลัวก็ได้  ทั้งนี้โดยเหตุผลว่า สังขารทั้งปวง เป็นสภาพที่ผุพังแตกสลายได้  จะต้องย่อยยับมลายสิ้นไป  จึงไม่มีความปลอดภัย ไม่ให้  ความปลอดโปร่งโล่งใจ  หรือความเบาใจอย่างเต็มที่แท้จริง หมายความว่า   ตัวมันเองก็มีภัยที่จะต้องเสื่อมโทรมสิ้นสลายไป  มันจึงก่อให้เกิดภัย คือความกลัวและความน่ากลัวแก่ใครก็ตามที่เข้าไปยึดถือเกี่ยวข้อง  ส่วนคัมภีร์ชั้นอรรถกถาขยายความหมายออกไปโดยนัยต่างๆ คำอธิบายที่ท่านใช้บ่อย  มีอยู่ ๒ นัย คือ ชื่อว่าเป็นทุกข์ โดยความหมายว่า มีความบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา

          ด้วยความเกิดขึ้นและความเสื่อมลาย (อุปฺปาทวยปฏิปีฬนฏเน หรือ อุปฺปาทวยปฏิปีฬนตาย)  ทั้งบีบคั้นขัดแย้งต่อประดาสิ่งประกอบอยู่กับมัน  และทั้งมันเองก็ถูกสิ่งที่ประกอบอยู่ด้วยนั้นบีบคั้นขัดแย้ง และ(ชื่อว่าเป็นทุกข์) เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์    (ทุกฺขวตฺถุตาย หรือ ทุกฺขวตฺถุโต) คือ เป็นที่รองรับของความทุกข์  หรือทำให้เกิดทุกข์  ก็เพราะทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ เป็นต้น  หรือที่เรียกว่าบีบคั้น ก็เพราะทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์  ตามความหมายที่ท่านประมวลไว้ครบถ้วนที่สุดมี ๔ นัย คือ เป็นทุกข์ด้วยอรรถ  ๔ อย่าง ดังนี้

          ๑.  อภิณฺหสมฺปติปีฬนโต  เพราะมีความบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา คือ  ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเกิดขึ้น ความเสื่อมโทรมและความแตกสลาย  และบีบคั้นขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา  กับสิ่งที่ประกอบอยู่ด้วยหรือสิ่งที่เกี่ยวข้อง  ด้วยต่างก็เกิดขึ้น  ต่างก็โทรมไป  ต่างก็แตกสลาย

          ๒.  ทุกฺขมโต  เพราะเป็นสภาพที่ทนได้ยาก  คือ คงทนอยู่ไม่ไหว หมายความว่า  คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้  จะต้องเปลี่ยน จะต้องกลาย  จะต้องหมดสภาพไป  เพราะความเกิดขึ้นและความโทรมสลายนั้น

           ๓.  ทุกฺขวตฺถุโต  เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ คือเป็นที่รองรับของความทุกข์  หรือเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์ หมายความว่า  ทำให้เกิดความทุกข์ต่างๆ เช่น ทุกขเวทนา  คือความรู้สึกทุกข์  หรือความรู้สึกบีบคั้น เป็นต้น  (อรรถกถาและฎีกา อธิบายว่า เป็นที่ตั้งแห่งทุกขตาทั้ง ๓ และแห่งสังสารทุกข์)

          ๔.  สุขปฏิกฺเขปโต  เพราะแย้งต่อความสุข คือโดยสภาวะของมันเอง ก็ปฏิเสธความสุขหรือกีดกั้นความสุขอยู่ในตัว หมายความว่า เมื่อพูดตาม ความจริงแท้ๆ แล้ว  ความสุขที่เป็นตัวสภาวะจริงๆ ก็มีแต่เพียงความรู้สึกสุขเท่านั้น  อธิบายว่า  ตัวสภาวะที่เป็นพื้นได้แก่ ทุกข์ คือ ความบีบคั้นกดดันขัดแย้งที่เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของสังขารทั้งหลาย  ความบีบคั้นกดดันขัดแย้งนี้  ก่อให้เกิดความรู้สึกบีบคั้นกดดันขัดแย้ง ที่เรียกว่า ความรู้สึกทุกข์ (ทุกขเวทนา) ด้วย  เมื่อใดทุกข์ คือ ความบีบคั้นกดดันผ่อนคลายหายไป  หรือคนปลอดพ้นจากทุกข์นั้น ก็เรียกว่ามีความสุขหรือรู้สึกสุข ยิ่งทำให้  เกิดทุกข์คือบีบคั้นกดดันทำให้รู้สึกขาด บกพร่อง กระหาย หิวมากเท่าใด  ในเวลาที่ทำให้ผ่อนหายปลอดพ้นจากทุกข์หรือความบีบกดดันนั้น ก็ยิ่งรู้สึกสุขมากขึ้นเท่านั้น  เหมือนคนที่ถูกทำให้ร้อนมาก

        เช่น  เดินมาในกลางแดดพอเข้ามาในที่ร้อนน้อยลงหรืออุ่นลง ก็รู้สึกเย็น ยิ่งได้เข้าไปในที่ที่เย็นตามปกติก็จะรู้สึกเย็นสบายมาก  ในทางตรงข้าม ถ้าทำให้ได้รับความรู้สึกสุข (สุขเวทนา)  แรงมาก  พอเกิดความทุกข์  ก็จะรู้สึกทุกข์  (ทุกขเวทนา)  รุนแรงมากด้วยเช่นกัน  แม้แต่ทุกข์เพียงเล็กน้อยที่ตามปกติ  จะไม่รู้สึกทุกข์  เขาก็อาจจะรู้สึกทุกข์ได้มาก  เหมือนคนอยู่ในที่ที่เย็นสบายมากพอออกไปสู่ที่ร้อนก็รู้สึกร้อนมาก  แม้แต่สภาวะที่คนอื่นๆ หรือตัวเขาเองเคยรู้สึกเฉยๆ เขาก็อาจจะกลับรู้สึก  เป็นร้อนไป

          พูดลึกลงไปอีกให้ตรงความจริงโดยสมบูรณ์ว่า  ที่ว่าเป็นสุขหรือรู้สึกสุข (สุขเวทนา)  นั้น  ตามที่แท้จริงก็ไม่ใช่ปลอดพ้นหรือหายทุกข์ดอก  แต่เป็นเพียงระดับหนึ่งหรือขีดขั้นหนึ่งของทุกข์เท่านั้น  กล่าวคือ  ความบีบคั้นกดดันขัดแย้งที่ผ่อนหรือเพิ่มถึงระดับหนึ่งหรือในอัตราส่วนหนึ่งเราเรียกว่าเป็นสุข  เพราะทำให้เกิดความรู้สึกสุข 

          แต่ถ้าเกินกว่านั้นไป ก็กลายเป็นต้องทนหรือเหลือทน  เรียกว่าเป็นทุกข์  คือ รู้สึกทุกข์ (ทุกขเวทนา) ว่าที่แท้จริงก็มีแต่ทุกข์  คือแรงบีบคั้นกดดันขัดแย้งเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เหมือนกับเรื่องความร้อนและความเย็น  ว่าที่จริงความเย็นไม่มี  แต่มีความรู้สึกเย็น สภาวะที่เป็นพื้น   ก็คือ  ความร้อนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง  จนถึงไม่มีความร้อน ที่คนเราพูดว่าเย็นสบายนั้น  ก็เป็นเพียงความรู้สึก  ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นความร้อนในระดับหนึ่งเท่านั้น  ถ้าร้อนน้อยหรือมากเกินกว่าระดับนั้นแล้ว  ก็หารู้สึกสบายไม่โดยนัยนี้  ความสุขหรือพูดให้เต็มว่าความรู้สึกสุขคือสุขเวทนาก็เป็นทุกข์ ทั้งในความหมายว่าเป็นทุกข์ระดับหนึ่ง  มีสภาวะเพียงความรู้สึกและในความหมายว่าเป็นสิ่งที่ขึ้นต่อความบีบคั้นกดดัน ขัดแย้ง จะต้องกลาย จะต้องผันแปร  จะต้องหมดไป  เหมือนกับว่าทุกข์ที่เป็นตัวสภาวะนั้น  ไม่ยอมให้สุขยืนยง    คงอยู่ได้ยั้งยืนตลอดไป

 

รู้ทัน-รู้เท่า  ไม่เศร้าไม่ทุกข์

          ต้นกำเนิดของอารมณ์มาจากกรอบความคิดที่มองภาพและตีความสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวคนเรา       จะดำเนินชีวิตประจำวันให้มีความสุข  ก็ขึ้นอยู่กับกรอบความคิดที่มองภาพและตีความสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเรื่องราวที่มากระทบทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ศิลปะในการใช้ชีวิตจะต้องรับสิ่งที่มากระทบเหล่านั้น ฝึกเป็นคนกำหนดอารมณ์ตัวเองแนวคิดเตือนตน  เพื่อ รู้ทัน-รู้เท่าไม่เศร้าไม่ทุกข์  ไว้ว่า ชีวิตคนเราทุกๆ คนนั้นในแต่ละวัน มีเรื่องราวที่มากระทบทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมากมาย สังคมรอบด้านเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย  เพราะฉะนั้น  ต้องมีศิลปะในการใช้ชีวิตต้อนรับสิ่งที่มากระทบเหล่านั้นด้วยสติปัญญา เวลาที่เกิดอารมณ์ต่างๆ ขึ้น ซึ่งทำให้เป็นทุกข์นั้นได้แก่ อารมณ์อึดอัดขัดเคือง อารมณ์ร้อนไม่พอใจจนกระทั่งเกิดความโกรธ เป็นสิ่งที่เราพบกันมากในชีวิตประจำวันและมักจะควบคุมไม่ค่อยอยู่ต้องเตรียมพร้อมต้อนรับ เตรียมพร้อมที่จะป้องกันเอาไว้ การรู้ทันคือมีสติมาทันเวลาที่ตาของเราเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นชิมรส กายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งและใจรับ

         อารมณ์   รู้เท่า  คือ มีปัญญาพิจารณาทุกสิ่งตามความเป็นจริงไม่หลงรักหลงเกลียด เพราะหลงรักก็เป็นทุกข์    หลงเกลียดก็เป็นทุกข์   โดยเฉพาะโลกวัตถุนิยมนี้มีโฆษณาประชาสัมพันธ์หลอกล่อยั่วยวนให้เที่ยวไปดื่มไปกินไปซื้อไป ถ้าเชื่อง่าย ไม่รู้เท่าทันก็คงหมดเนื้อหมดตัว และเกิดอารมณ์ร้ายต่างๆ ขึ้นในชีวิตได้มากมายขอเสนอเป็นคาถาให้จดจำง่ายเพื่อการอยู่อย่าง รู้ทันรู้-เท่าชีวิต ของเรา จะได้ไม่ต้องเศร้าไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องเกิดอารมณ์ร้ายๆ

            คาถาที่ ๑  เขาด่าดีกว่าเขายอ  บางคนคงนึกแย้งอยู่ในใจว่าเขาด่าจะดีได้อย่างไร ต้องเขายกย่องหรือเยินยอถึงจะดี เรื่องนี้ต้องพิจารณาให้ดีๆ ใครก็ตามได้รับคำชมคำยกย่องโดยเฉพาะเยินยอบ่อยๆ  อาจจะเหลิงลืมตัวฟุ้งซ่าน  แต่ถ้าถูกติถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียบ้างจะเกิดสำนึกขึ้นมาและแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดีได้ คำติคำด่ามี  ๒ ประเภท

          ประเภทแรก คือ ติเตือน  ติเพื่อก่อเพื่อสร้างสรรค์จะด้วยความหวังดี จะต้อนรับคำตินี้อย่างไรจึงจะไม่   เป็นทุกข์ต้องคิดว่าเขาเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์คือให้ปัญญากับเราสิ่งที่ทำนั้นมันผิดมันชั่วมันไม่ดีอย่าทำอีกต่อไป ยอมรับไปปรับปรุงแก้ไข  ไม่มีใครอยากจะได้รับคำ.... 

            ประเภทที่สอง คือ ติเตียน ติเพราะไม่หวังดี ติเพราะไม่เข้าใจ  ควรคิดว่าดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวของเราเอง  เราเป็นคนขยัน  เขามาหาว่าขี้เกียจ  แท้ที่จริงไม่ได้ขี้เกียจไปตามที่กล่าวหา  เป็นคนฟุ่มเฟือยเขาชมว่าเราเป็นคนประหยัด ดีชั่วอยู่ที่ตัวของเรา ถ้าเตรียมพร้อมไว้อย่างนี้จะติเตือน หรือติเตียนก็รับได้  ฉะนั้น คาถาที่ ๑ การอยู่อย่างรู้ทันรู้เท่าชีวิตจะได้ไม่เศร้า ไม่ทุกข์ คือ  เขาด่า...ดีกว่าเขายอ

          คาถาที่ ๒ ลำบากดีกว่าสบาย ทุกวันนี้มีวัตถุอำนวยความสะดวก สบาย บางคนติดความสะดวกสบายจากวัตถุนั้นกลายเป็นคนอ่อนแอคุณพ่อคุณแม่สมัยนี้ที่ฐานะดีๆ เลี้ยงลูกด้วยวัตถุ เลี้ยงลูกด้วยเงิน เลี้ยงลูกด้วยธรรมะคำสอนคน

          โบราณสอนว่า ทางเตียน.. เวียนลงนรก  ทางรก...วกขึ้นสวรรค์ ความลำบากสร้างคน  แต่..ความสบายทำลายคน  คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต  ล้วนแต่ต้องผ่านความยากลำบากฝ่าอุปสรรค ขวากหนามกัน ฉะนั้นต้องสอนกันใหม่ว่าลำบากดีกว่าสบาย ขอบคุณ ความลำบากที่ทำให้ฉันเข้มแข็ง

          คาถาที่ ๓  จิตที่คิดจะให้ สบายกว่าที่จิตคิดจะเอา จิตที่คิดจะให้นั้นเบาแสนเบา จิตที่คิดจะเอานั้นหนักเหลือประมาณ ภาษาธรรมะใช้ศัพท์ว่าทาน แปลว่าการให้ ส่วนใหญ่จะนึกถึงแต่วัตถุทาน อามิสทาน วัตถุสิ่งของเงินทองเป็นทาน หลายคนบอกว่าฉันยังไม่มีเงินไม่มีเวลาจะไปทำบุญทำทาน อภัยทาน  คือ การให้ความไม่เป็นพิษเป็นภัย การให้ความไม่น่ากลัว ยกโทษให้เขา      ให้โอกาสแก้ตัววิทยาทานการให้ความรู้เป็นทาน  ธรรมทาน  ให้ธรรมะ     เป็นทานอย่างนี้ไม่เสียสตางค์แล้วถือว่าเป็นกายสนะการให้ทุกสิ่งทุกอย่าง  การให้ธรรมะมี ๔ รูปแบบคือ  พูดให้ฟังหรือเขียนให้อ่าน ทำให้ดู อยู่เป็นสุขให้เห็น ใครก็ตามที่มีชีวิตอยู่ด้วยการให้จะเป็นชีวิตที่งดงามและมีความสุขมาก เพราะฉะนั้นคาถาที่ ๓ นี้คือ ให้ดีกว่าเอา การให้เป็นการเสียสละหรือไม่เห็น แก่ตัว  การอยู่อย่างรู้ทันรู้เท่าชีวิตจะได้ไม่ต้องเศร้าไม่ต้องทุกข์เกิดอารมณ์ร้ายๆ  

          การอยู่อย่างรู้ทันรู้เท่าชีวิตจะได้ไม่ต้องเศร้าไม่ต้องทุกข์ ไม่เกิดอารมณ์ร้ายๆ  โดยให้หลักคำเตือนสติไว้  ๓ คาถา คือ

            ๑.  เขาด่าดีกว่าเขายอ  ขอบคุณคำด่าที่ทำให้ฉันไม่ลืมตัว

            ๒ลำบากดีกว่าสบาย  ขอบคุณความลำบากที่ทำให้ฉันเข้มแข็ง

            .  ให้ดีกว่าเอา ขอบคุณการให้ที่ทำให้ฉันได้เสียสละ และไม่เห็นแก่ตัว  

 

                                  ธรรมะจากหลวงพ่อชา เรื่อง  ความทุกข์

                                               ทุกข์มี         เพราะยึด            

                                          ทุกข์ยืด            เพราะอยาก

                                          ทุกข์มาก          เพราะพลอย        

                                          ทุกข์น้อย          เพราะหยุด

                                          ทุกข์หลุด          เพราะปล่อย...ฯ

          ทุกข์มี   เพราะยึด คือ การที่เราเอาจิต เข้าไปยึดในสรรพสิ่งว่า  มันเป็นเช่นนี้นี้ ตามอุปทานที่เราปรุงแต่งขึ้น เช่น ยึดว่า “เรา” ว่าตัวว่าตนของเรา สิ่งนี้เราชอบ สิ่งนั้นเราไม่ชอบ อันนี้ของเรา อันนั้นก็ของของเรา ฯลฯ มันจึงเกิดทุกข์ขึ้น จะนั่งจะนอนก็ไม่สบายเพราะกลัวเหลือเกิน กลัวว่าคนนั้น คนโน้น คนนี้ จะขโมยของเรา จะนินทาเรา จะทำร้ายเรา จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็เกรงว่าจะเสียศักดิ์ศรี

                  “เมื่อมีตัวกู  ของกูเมื่อไหร่  เมื่อนั้นก็เกิดทุกข์ (พุทธทาสภิกขุ)

          ทุกข์ยืด  เพราะอยาก คือ ทุกข์เพราะเราอยากได้สิ่งนั้น อยากได้  สิ่งนี้ อยากเป็นอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้  ไม่รู้จักพอ จิตใจโหยหาไปเรื่อยๆ   ทำให้เกิดความทุกข์ร้อน ดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ได้มาตลอดเวลา

                    “เมื่อความอยากไม่มีที่สิ้นสุด  ความทุกข์จึงไม่มีที่สิ้นสุด

          “ทุกข์มาก  เพราะพลอย  คือ ทุกข์ที่เกิดจากจิตใจหลงระเริงไปกับกิเลสตัณหา ที่เข้ามายั่วยุให้เรามัวเมา ไม่ว่าจะเป็นการที่เราวิ่งตามค่านิยม ไล่ตามแฟชั่น ซื้อเสื้อมียี่ห้อตัวละหลายๆ ร้อย ใส่แค่ครั้งสองครั้ง ก็โยน   มันทิ้งเสียแล้ว เห็นคนโน้นเขาแต่งอย่างนั้นอย่างนี้แล้วสวย เราก็แต่ง  อย่างเขาบ้าง เห็นเขาซื้อรถเราก็ซื้อบ้าง ฯลฯ นี่แหละคือ  ตัวทุกข์   หากเรายิ่งพลอยไปกับกระแสสังคมที่ไม่เหมาะสม เราก็ยิ่งทุกข์มากขึ้นเท่านั้น เหมือนกับเราวิ่งไล่ล่าบาง

           สิ่งบางอย่างที่ไม่เคยหยุดนิ่ง หรือหยุดรอเราแม้สักวินาที จะทำให้เราเหนื่อยเจียนตาย เมื่อใดที่เราหยุดวิ่งตามกิเลสตัณหา     เดินตามวิถีชีวิตของเราเอง ในทางที่ถูกต้อง เราก็จะก้าวเดิน   อย่างมั่นคง   ไม่ล้มกลางทาง ไม่ต้องคอยระแวงระวังว่า คนนั้นคนนี้ เขาจะแซงหน้าเราไปแล้ว  ไม่ต้องเกรงว่าเขาจะเหยียบย้ำเรารึเปล่า?

          ทุกข์น้อย  เพราะหยุด คือ ทุกข์จะน้อยลงเมื่อเราหยุด กาย วาจา ใจ  จากกิเลสทั้งปวงหรือจากการกระทำกรรมความชั่วทั้งหลาย เช่น เขาทำร้ายเรา เราก็หยุดไม่ทำร้ายตอบ ดั่งคำที่ว่า เวรย่อมระงับด้วยการ  ไม่จองเวร

          ทุกข์หลุด  เพราะปล่อย คือ ทุกข์จะหมดไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเรารู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดถือในสรรพสิ่ง สักแต่ว่ามันเป็นไปตามกรรม เป็นไปตามธรรมชาติของโลก  เช่น    

            เมื่อเพื่อนด่าเรา เสียงคำด่ากระทบหู ได้ยิน เรารับรู้ แต่ไม่ปรุงแต่ง ไปว่า  เราชอบหรือไม่ชอบ  ให้เราปล่อย  วางเฉย  สักแต่ว่าได้ยิน

           เมื่อเพื่อนชมเรา  เสียงคำชมกระทบหู ได้ยิน เรารับรู้ แต่ไม่ปรุงแต่ง  ไปว่า  เราชอบหรือไม่ชอบ ให้เราปล่อย วางเฉย  สักแต่ว่าได้ยิน

          เมื่อเป็นเช่นนี้  ทุกข์...จึงไม่เกิดแก่เราโดยสิ้นเชิง.

          ทุกข์เป็นความจริงอันประเสริฐข้อที่  ๑  ในอริยสัจ ๔ เหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเริ่มต้นด้วย ทุกข์ก่อน  เพราะมีเหตุผลดังนี้

          ๑. ทุกข์เป็นปรากฏการณ์แห่งชีวิตที่เป็นส่วนผลเป็นสิ่งประจักษ์  สามารถเห็นได้ในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องใช้สติปัญญาอะไรมากนัก  เหมาะสำหรับชี้ให้คนเป็นดี

          ๒. ในประสบการณ์ของพระพุทธองค์นั้น พระองค์ทรงเริ่มต้น  การดับทุกข์ด้วยการเห็นทุกข์ก่อน  เมื่อเห็นทุกข์แล้วจะเบื่อหน่ายในทุกข์  จะปฏิบัติเพื่อดับเหตุของทุกข์  แล้วในที่สุดก็จะบรรลุถึงความดับทุกข์ แม้พระอรหันต-สาวกทั้งหลายก็ดำเนินมาตามทางสายนี้  ถ้ายังไม่เห็นทุกข์ก่อนอยากที่จะดับทุกข์ได้ 

          สรุปว่า  ทุกข์   แบ่งได้เป็น  ๒ กลุ่ม คือ

          ๑.  สภาวะทุกข์ คือ ทุกข์ประจำ ทุกข์ที่มีอยู่ด้วยกันทุกคน ไม่มียกเว้น ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย

          ๒.  ปกิณกะทุกข์ คือ ทุกข์จร  ทุกข์ที่จรมาเป็นครั้งคราว ได้แก่  ความเศร้าโศก ความพร่ำเพ้อรำพัน ความไม่สบายใจ ความน้อยใจ ความคับแค้นใจ ความประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบ ความพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบ ความผิดหวังไม่ได้ตามที่ต้องการ

 

อานิสงส์การเห็นทุกข์

            คนบางคนกลัวทุกข์จนไม่กล้าศึกษาทุกข์  เพราะเข้าใจว่าถ้ารู้ทุกข์แล้ว  จะเป็นทุกข์มากขึ้น  แต่ความจริงตรงกันข้าม  คนที่รู้ทุกข์กลับจะมีทุกข์น้อยลงนอกจากนี้การรู้ทุกข์ยังมีอานิสงส์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น

          ๑. จิตใจจะคุ้นเคยกับทุกข์  เมื่อเกิดทุกข์ขึ้น จะไม่ทุกข์มาก จะต่อสู้กับทุกข์ด้วยจิตใจสงบ  ไม่ขวัญเสีย

          ๒. เมื่อเห็นทุกข์อย่างแจ่มแจ้งในตนเองแล้ว จะเกิดความเบื่อหน่ายทุกข์จะตั้งใจปฏิบัติจริงจัง  เพื่อความดับทุกข์นั้นๆ          

          ๓. เมื่อเห็นทุกข์ในตนเองแล้วก็จะเห็นทุกข์ในคนอื่นและสัตว์อื่นด้วย  เมื่อเห็นทุกข์ในชีวิตอื่น จะเกิดความสงสารเห็นใจ (กรุณา) ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ  เมื่อสงสารเห็นใจแล้ว  จะก่อให้เกิดการกระทำสำคัญ  ๒  ประการ คือ

              ก)  จะงดเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นเด็ดขาด  เพราะเมื่อเขาสงสารเสียแล้ว  เขาจะเบียดเบียนไม่ลง

              ข)  จะช่วยเหลือผู้อื่นอย่างจริงใจและบริสุทธิ์ใจ  เพื่อช่วยให้เขาพ้นจากทุกข์นั้นๆ  ไม่ใช่ช่วยเพราะหวังผลประโยชน์ตอบแทน

            ดังนั้น  พระพุทธศาสนามองชีวิตว่า  เจือด้วยทุกข์  มีทุกข์มากจริง  แต่เห็นว่าบุคคลสามารถเอาชนะทุกข์  หรือพ้นทุกข์ได้  โดยวิธีของพุทธศาสนา   พุทธธรรมสอนเรื่องทุกข์ก็จริง  แต่สอนเรื่องความดับทุกข์และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ไว้ด้วย  พุทธศาสนาจึงไม่เป็นทั้งทุนิยมและสุนิยมซึ่งมองโลกในแง่สุข เพลิดเพลิน หลงใหลอยู่กับโลก  แต่พุทธศาสนามองโลกตามความเป็นจริงและปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับความเป็นจริงนั้นๆ  เข้าไปเกี่ยวข้องกับ

            สิ่งต่างๆ ด้วยความรอบรู้เข้าใจเพื่อให้มีทุกข์น้อยที่สุดหรือไม่มีทุกข์เลย  และพิจารณาด้วยปัญญาว่า  สิ่งทั้งหลาย   มีทั้งคุณและโทษเจือกันอยู่  ให้ท่านทั้งหลายเลือกถือเอาเฉพาะส่วนที่เป็นคุณ  ละสิ่งที่เป็นโทษเสีย  (เปรียบเทียบ)ทำนองเดียวกับที่  หนู.. รู้ว่า  ข้าวสารและแกลบปนกันอยู่  เลือกกินแต่ข้าวสาร  ละทิ้งส่วนที่เป็นแกลบเสีย

          สมตามธรรมภาษิตที่อาตมภาพได้ยกขึ้นกล่าวไว้  ณ เบื้องต้นนั้นว่า

           ทุกฺขเมว  พิ สมฺโภติ                 ทุกฺขํ  ติฏฺติ  เวติ  จ

           นาญฺตฺร  ทุกฺขาสมฺโภติ          นาญฺตฺร  ทุกฺขานิรุชฺฌติ.

          ความจริง  ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น  ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่  ทุกข์เท่านั้น ที่ดับไป  นอกจากทุกข์แล้ว  ไม่มีอะไรเกิด  นอกจากทุกข์แล้ว  ไม่มีอะไรดับ. (วชิรสูตร   ๑๕/๕๕๒)

          สิ่งที่จะขอฝากไว้ในโอกาสสุดท้ายแห่งการเทศนาวันนี้ก็คือ  วันนี้ญาติโยมได้รู้แล้วว่า  ทุกข์  คือ สภาวะที่ทนได้ยาก  ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ในสิ่งนั้น การประจวบกับสิ่งอัน ไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก เหล่านี้เป็นทุกข์ ซึ่งตัวทุกข์นั้น หมายถึง ขันธ์ ๕  คือ รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  หรือ รูป นาม นั่นเอง

          เพราะฉะนั้น  สิ่งที่ญาติโยมจะต้องศึกษาเรียนรู้กันต่อไปก็คือ  สมุทัย คือ การเกิดขึ้นหรือสาเหตุแห่งทุกข์  ซึ่งตัวสำคัญ ได้แก่ ตัณหา ๓  คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา แต่นอกจากนี้ยังมีข้อที่เป็นเหตุแห่งทุกข์   อีกมากมาย ได้แก่ อกุศลมูล  อกุศลกรรมบถ ๑๐  นิวรณ์ ๕   มลทิน ๙  อุปกิเลส ๑๐ ทุจริต ๓ 

          เมื่อรู้สาเหตุแห่งทุกข์แล้วญาติโยมก็ต้องรู้  นิโรธ คือ  ความดับทุกข์ สภาพที่ทุกข์หมดไป ผลของการดับทุกข์ ผลของการดับกิเลส ตัณหา และอุปาทาน   จากนั้นจึงต้องหาวิถีทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ ก็คือ มรรค คือ ทางที่นำไปสู่ความดับทุกข์  มรรคมีองค์ ๘ ประการ ได้แก่ ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ  เลี้ยงชีพชอบ  พยายามชอบ  ระลึกชอบ  ตั้งจิตมั่นชอบ  ต่อไป...ฯ

         อาตมภาพ  ได้ใช้เวลาในการแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องทุกข์  มาพอสมควรแก่กาลสมัยแล้ว  ในท้ายที่สุดแห่งการแสดงพระสัทธรรมเทศนาในวันนี้  ก็ขออนุโมทนาต่อคณะอุบาสกอุบาสิกาที่ได้ตั้งใจฟ้งด้วยดี  ด้วยอาการอันสงบ  จึงขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัย  คือคุณแห่งพระพุทธเจ้า  คุณแห่งพระธรรม  และคุณแห่งพระอริยสงฆ์ทั้งปวงจงมาเป็นเดชเดชะเป็นพลวะปัจจัยให้ญาติโยมทุกท่าน  จงถึงซึ่งธรรมอันเป็นหนทางแห่งความพ้นทุกข์ ตามที่ญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาทุกท่านปรารถนา  ด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ

         เทศนาวสาเน  ในอวสานกาลเป็นที่สุดขอสมมุติยุติพระสัทธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้  

                                     เอวํ  ก็มีด้วยประการฉะนี้...ฯ

 

                                      แสดง ณ  ศาลารวมใจ  ศาลาการเปรียญวัดตากฟ้า

                                           เมื่อวันจันทร์ที่  ๒๒  กันยายน  พ.ศ. ๒๕๕๑

                                                         เวลา   ๑๓.๓๐ -  ๑๔.๓๐ น.   

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมะ
หมายเลขบันทึก: 314575เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2009 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท