ภูมิปัญญาท้องถิ่น กำลังรอสืบสานด้วยวิธีการที่แท้จริง (ตอนที่ 3)


ภูมิปัญญาท้องถิ่นจำเป็นที่จะต้องมีทายาทมารับช่วงในการสืบสาน แต่ควรที่จะมีวิธีการที่ถูกต้องแท้จริง

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

กำลังรอสืบสาน

ด้วยวิธีการที่แท้จริง (ตอนที่ 3)

โดย ชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลพุ่มพนมมาลา ราชมงคลสรรเสริญ 2547

        เราไม่สามารถทราบได้ว่าในส่วนลึก ๆ แล้ว เขามีใจรักบ้านเกิดเมืองนอน หวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด เขาเดินผ่านเวทีการแสดงพื้นบ้าน เต็มใจที่จะหยุดยืนดู นั่งดูจนเลิกหรือแค่เดินผ่านเวทียังไม่อยากเห็น ถ้าเป็นอย่างนั้นมรดกของชาติที่กำลังรอสืบสาน จะใช้วิธีการใดเข้ามาช่วยประคับประคองชลอการสูญสิ้นให้ช้าลงได้  ถ้าไม่ใช่วิธีการที่แท้จริงที่สามารถสัมผัสได้ (ต่อจากตอนที่ 2) ต่อไปนี้

        

       

        3. เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของท้องถิ่น แขกไปใครมาหาชมได้ตลอดเวลา ในประเด็นนี้ ผมมองไปที่ การรักษาภาพรวมของท้องถิ่น ไปจังหวัดไหนนึกถึงอะไร สิ่งที่จะทำให้ผู้มาเยือนประทับใจ กลับไปแล้วยังจดจำภาพที่มีเสน่ห์ชวนให้หลงใหลได้อย่างไม่มีวันลืม เพราะในแต่ละจังหวัด ในแต้ละท้องถิ่นจะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างกัน แต่เป็นศิลปวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเจริญงอกงามของท้องถิ่นนั้น ๆ สืบต่อกันมาเป็นเวลานาน แต่กว่าที่จะเป็นสัญลักษณ์หรือสิ่งแทนให้มองเห็นภาพที่โดดเด่นชัดเจนออกมาได้ อยู่ที่เวลาในการรักษาคุณภาพ เพราะการพัฒนาความสามารถโดยเฉพาะด้านการแสดง จากระดับหนึ่งไปสู่ระดับที่สูงขึ้น จะต้องสรรหาประสบการณ์ที่กว้างไกลและหลากหลาย สะสมเอาไว้จนมีความอิ่มตัว เมื่อเปิดประตูสู่สายตาประชาชน ก็จะเกิดการยอมรับ และประทับใจในสิ่งที่ปรากฏตรงหน้า มีผู้ให้ความเมตตาสนับสนุนในทุกสถานที่แม้ว่าจะมีจำนวนมากน้อยแตกต่างกันนั่นคือความเป็นธรรมชาติ หากไม่รักษาสภาพให้คงอยู่ คงมี คงเป็นได้อย่างยาวนานก็คงไม่อาจที่จะแสดงตนว่า ได้เป็นผู้ที่มีใจรักสืบสานภูมิปัญญาด้านนั้น ๆ

        ในทางกลับกัน ผู้จุดประกาย ผู้ให้การสนับสนุน แหล่งงบประมาณ หน่วยงานที่จัดให้มีกิจกรรมเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเพียงจุดหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้สังคมรับรู้อันตรายที่จะเกิดขึ้น จากการปล่อยปละละเลย เพราะการตื่นตัวเพียงครั้งเดียว หรือนาน ๆ ครั้ง หรือทำแล้วหยุดไป ไม่แสดงถึงตัวตน ความยั่งยืนที่จะมาแทนคนรุ่นเก่า ๆ ได้ เพราะความน่าเชื่อถือจะต้องแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน  อย่าง เช่น เด็ก ๆ ที่ผมถ่ายทอดความรู้การแสดงเพลงพื้นบ้าน เพลงแหล่ จนถึงพิธีทำขวัญนาคให้ไปนั้น ผมถ่ายทอดศิลปะการแสดงอาชีพ เน้นที่การแสดงบนเวที อย่างน้อยจะต้องนำเสนอผลงานได้ 3-4 ชั่วโมง ต่อการแสดง 1 ครั้ง หรือทำการแสดงติดต่อกันได้ 3 คืน (บางสถานที่ 5 คืนติดต่อกัน) โดยที่โครงเรื่องของการแสดงไม่ซ้ำกัน เพราะฉะนั้น การฝึกฝน ความมานะอดทนจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการเดินหน้า สร้างสรรค์ผลงานอย่างมีความสุขใจ มิใช่ว่า ออกไปร้อง ไปเล่น พอหมดคิวของตนเอง แสดงอาการโล่งอกไปที  (นั่นไม่ใช่ศิลปิน ยังไม่ใช่มืออาชีพ) ต้องฝึก ต้องคิด ต้องนำเสนอและจะต้องทำให้คนดูทึ่งในความสามารถที่คาดไม่ถึง สิ่งเหล่านี้ทำได้ถ้ามีความตั้งใจจริงและมีความอดทน พยายาม

      

      

       4. มีการพัฒนาจนถึงระดับมืออาชีพ  รับงานแสดงได้อย่างมหรสพทั่วไป วิธีการนี้นับว่า ค่อนข้างที่จะยาก เพราะจะต้องมีองค์ประกอบหลายด้าน เริ่มตั้งแต่บุคคลต้นแบบ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้จริง ๆ ทำเป็นและสร้างศรัทธาให้กับลูกศิษย์ให้ได้เสียก่อน หากบุคคลต้นแบบยังที่จะต้องอาศัยคนดังแปะไปด้วยอยู่ คงจะต้องใช้เวลาอีกมากหน่อย เพราะว่า งานที่จะมีเข้ามา เกิดจากความรักศรัทธาในตัวเรา ทีมงานของเรา มิใช่เขารักและศรัทธาในตัวศิลปินดัง แล้วเข้ามาเชิญเราเพราะความสงสาร (คงไม่มี) การยกระดับไปสู่การเป็นนักแสดงอาชีพ ดูที่เอกสารการว่าจ้างไปแสดง หนังสือเชิญ เสียงเรียกร้องจากสังคมไปจนถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของท่านผู้ชมที่อยู่ด้านหน้าเวที หาก 2 มือถือโล่รางวัล มีเสียงโห่ร้องจากทีมที่ได้รับความสำเร็จ แต่ในเวลาต่อมาดูเงียบเหงา ขาดชีวิตชีวา (ไม่มีงานเข้านอกจากงานช่วย) น่าเสียดายความสามารถที่ได้รับการรับรอง แต่นำเอาไปประยุกต์ใช้จริงไม่ได้ หากแต่เพียงมองหาทีมงานที่เดินหน้าไปก่อนเราว่า เขามีความคิดสร้างสรรค์อย่างไร เรานำไปคิดใหม่ไม่ให้ซ้ำแบบกับของเขา ก็จะเกิดพลังดึงดูดที่เข้ามาหาเราอย่างมีน้ำหนักมากขึ้น ประกายแสงแห่งความคิดก็จะสว่างไสวมองเห็นทางเดินข้างหน้าได้

      

      

       5. สามารถถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นต่อไปได้อย่างน่าเชื่อถือและภาคภูมิใจ  ผมหมายถึงบุคคลต้นแบบ หรือผู้ที่เป็นเครือข่าย เพราะจุดนี้คือจุดเปลี่ยนมือจากครูไปสู่ลูกศิษย์ จากรุ่นพี่ไปสู่รุ่นน้อง  จากเพื่อนไปสู่เพื่อน  การถ่ายทอดความรู้จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง เป็นการสืบสานหรือสานต่องานชนิดใดชนิดหนึ่งให้คงอยู่ ไม่ให้ต้องขาดตอนไป ผู้ที่มีความสามารถในการถ่ายทอดศิลปะการแสดงจะต้องมีความสมบูรณ์ในตนเอง มีลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่คนอื่นไม่มี มิใช่ทุกสิ่งทุกอย่างจำเขาเอามาถ่ายทอด มิหนำซ้ำบางทีสิ่งที่นำเอามาถ่ายทอด ยังรับรู้มาได้ไม่หมด ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เลยก็นำเอามาเผยแพร่เสียแล้ว ตรงนี้ค่อนข้างที่จะเป็นปัญหา เพราะการเรียนรู้ศิลปะการแสดงท้องถิ่น ด้านเพลงพื้นบ้านสำหรับเด็ก ๆ แล้วแกจะจดจำในสิ่งที่ได้รับครั้งแรกเอาไว้ได้ดีและแม่นยำมาก เมื่อมาพบว่าตนเองได้รับมาผิด ๆ ถึงตอนที่จะปรับปรุงแก้ไข ใช้เวลาเป็นปี ๆ บางคน 6 ปีแล้วยังทำให้ตรงแนวทางที่ถูกต้องไม่ได้เลย ที่ผมพบเห็นด้วยตนเองมา พอที่จะยกมาเล่าได้บ้าง เช่น

       - ฝึกหัดให้นักแสดงตีตะโพนด้วยมือข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนมืออีกข้างตีลงจังหวะปิดเพียงที 2 ทีเท่านั้น แทนที่จะใช้มือทั้ง 2 ข้างตีตะโพนอย่างสัมพันธ์กัน

       - ฝึกหัดให้นักแสดงร้องเกริ่นทั้ง 2-3 แบบอยู่ในเกริ่นเดียวกัน คือร้องเกริ่นขึ้นต้นเพลงอีแซวด้วยเกริ่นยาวและตามด้วยเกริ่นสั้น และยังตามด้วยคำว่า “เอ๊ย”

       - ฝึกหัดให้นักแสดงขึ้นไปรำบนเวทีการแสดงเพลงพื้นบ้าน 30-40 คน เต็มเวทีไปหมด ทั้งที่เพลงพื้นบ้านทุกชนิดเป็นเพลงร้อง แม้ว่าจะมีอย่างอย่างเป็นเพลงเต้น  ก็ยังต้องมีผู้ร้องนำเป็นหลัก

       - ฝึกหัดให้นักแสดงรำลอย ๆ ประกอบการร้องโดยขาดอารมณ์ ความรู้สึกไปตลอดบทเพลง หรือตลอดเวลาจนจบการแสดง ดูจำเจ รำวนไปวนมาทำให้น่าเบื่อ แทนที่จะแสดงท่าทางตามบทร้อง (ตีบท)

       - ฝึกหัดให้ลูกคู่ร้องรับลงเพลงโดยไม่คำนึงถึงรูปแบบเฉพาะของเพลงพื้นบ้านนั้น ๆ ที่จะต้องเอื้อนเสียงและร้องรับคำลงให้ตรงกับของเดิม  ฟังแล้วแปลกออกไป

       - ฝึกหัดการแสดงโดยการนำเอาบทร้องที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่เล่นมากกว่าที่จะให้เด็ก ๆ นำเอามาร้อง ฟังแล้วไม่เหมาะสมกับวัย

       - นำเอาบทร้อง 2 แง่ 2 ง่ามฉบับเดิม สำนวนเก่า ที่ใช้ในการแสดงท้องถิ่นในอดีตมาแสดงบนเวทีในยุคปัจจุบัน ในขณะที่ผู้ชมมีระดับความรู้สูงขึ้นเป็นจำนวนมาก

       สิ่งที่ผมยกมาเป็นข้อสังเกตข้างตนนี้ เป็นเพียงบางส่วน ที่ชี้ให้เห็นว่า เมื่อบุคคลต้นแบบได้ถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นต่อไปแล้ว นำมาซึ่งความน่าเชื่อถือและความภาคภูมิใจ หรือเป็นจุดหนึ่งที่จะต้องแก้ไข ปรับปรุงให้ดีเสียก่อนที่จะนำมาถ่ายทอด หรือปล่อยให้ไปแก้ไขเอาเมื่อปลายมือ (เพราะว่าฉันจะทำอย่างนี้)

     

      ในการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน หากมีการสืบสานที่ไม่ตรงทาง หรือไม่ถูกต้องสมบูรณ์ย่อมที่จะทำให้รูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เดิมถูกเปลี่ยนแปลงไปอีกทางหนึ่ง หากการเปลี่ยนแปลงเป็นที่นิยมชมชอบของท่านผู้ชม ถือว่าได้ประยุกต์และนำเอาไปใช้ได้ หากแต่ว่าเมื่อนำไปเปลี่ยนแปลงแล้วจะโดยรู้เท่าหรือไม่รู้เท่าทันก็ตาม แต่มิได้รับความสนใจจากท่านผู้ชม เจ้าภาพ ไม่มีเสียงเรียกร้องสะท้อนกลับมา ก็น่าที่จะหยุด และค้นหาสิ่งที่ถูกต้อง ความเป็นจริงให้ได้เสียก่อน แล้วจึงนำเอามาเผยแพร่ต่อไป

       ภูมิปัญญาท้องถิ่น จำเป็นที่จะต้องมีทายาทมารับช่วงในการสืบสาน แต่ควรที่จะมีวิธีการที่ถูกต้องแท้จริง

ติดตามชมภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านเพลงพื้นบ้านได้ ที่เว็บไซต์ youtube.com

ชำเลือง มณีวงษ์ กับ วงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ที่ยืนยาวมานาน 18 ปี

 

หมายเลขบันทึก: 314573เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2009 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท