KM กรมส่งเสริมการเกษตร ณ กำแพงเพชร


คำขวัญ KM กรมส่งเสริมการเกษตร "จัดการความรู้ สู่การพัฒนา องค์กรก้าวหน้า ชาติ-ประชาก้าวไกล"

         เมื่อวันจันทร์-อังคาร 22-23 พ.ค. ที่ผ่านมา   ทีมจับภาพ สคส. (คราวนี้มี อ้อ กับ แขก)  ก็ได้ตามติดไปร่วมกิจกรรม "สรุปบทเรียน ครึ่งปี KM โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน"     ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้นำประสบการณ์ทำ KM เมื่อ 1 ปีที่แล้วกับ 9 จังหวัดนำร่อง  มาขยายต่อในปีนี้อีก 9 จังหวัด  รวมเป็น 18 จังหวัด  และ focus ทำที่เรื่อง Food Safety นี้ (ยุทธศาสตร์หลักอันหนึ่งของกรมฯ)     เราได้เห็นภาพ KM ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกรมมากขึ้นเชียวค่ะ         และแหม ! พอกลับมาไม่ทันไร  ก็เห็น blog ของ  "พี่สิงห์ป่าสัก"  (เขียนเล่ากระบวนการในกิจกรรม)   และ "พี่จี๊"  (เขียนเล่า Content)  ควบคู่กันขึ้น gotoknow อย่างรวดเร็วค่ะ    เห็นที อ้อ จะล้าหลัง วันนี้เลยเข้ามาเขียนตีความภาพรวมที่เห็นแล้วกันนะคะ    
     

         เริ่มจากเป้าหมายการเข้าร่วมครั้งนี้ของตัวอ้อเอง ก็คือ อยากรู้ความก้าวหน้าของ KM กรมส่งเสริมการเกษตรให้ละเอียดมากขึ้น และอยากเห็นผลลัพธ์บางส่วนจากการผลักดัน KM มากว่าปีครึ่งค่ะ     แล้วเราก็ได้เห็นจริงๆ ค่ะ   
        

          หนึ่ง. เราได้เห็นความฟิตเกินร้อยของทีม KM ของกรมค่ะ  เพราะพอทีม KM กรมและเราเดินทางไปถึงกำแพงเพชร วันที่ 22 พ.ค.  ประมาณทุ่มกว่า 2 ทุ่ม   ก็ไปประชุมเตรียมงาน (Before Action Review, BAR)  อย่างละเอียดอีกที  (ก่อนหน้านั้นก็ทราบมาว่าประชุมเตรียมไป 2 รอบแล้ว)  เสร็จประมาณ  3 หรือ 4 ทุ่มไม่แน่ใจ    ซึ่ง ผอ. มนตรี  วงศ์รักษ์พานิช  ประชุมให้ข้อคิดเห็นอยู่ด้วย  ไม่ทิ้งทีมเลยค่ะ      และเมื่อกิจกรรมดำเนินไปในวันที่ 22-23 ทีมก็คอยทำหน้าที่ดำเนินรายการ, เป็นคุณอำนวยกลุ่ม และเป็น staff พาลงพื้นที่อย่างขันแข็งค่ะ

                                        
รูป : ผอ.มนตรี  วงศ์รักษ์พานิช   ซักซ้อมกระบวนการกับตัวแทนเกษตรนครพนม, นครศรีธรรมราช และกำแพงเพชร
          

        สอง. ผู้มาเข้าร่วมกิจกรรมจากทั้ง 18จังหวัดนำร่อง  เข้าใจใน  KM เป็นอย่างดี  แม้อีก 9 จังหวัดจะเพิ่งเข้าสู่โครงการเพียงครึ่งปี  สังเกตจากการเล่าเรื่องของ 3 จังหวัด Best Practices คือ นครพนม, นครศรีธรรมราช และ กำแพงเพชร   รวมทั้งเรื่องเล่าและสรุปบทเรียนจากกลุ่มในภาคบ่ายซึ่งแต่ละจังหวัดเล่าเรื่องจริงที่ลงไปทำงาน food safety แบบใช้ KM (เพราะได้ลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่จังหวัดของตัวเอง  และเป็นเรื่องที่ใส่ลงในงานประจำ) งานนี้เห็นทีทางสำนักต่างๆ ในส่วนกลางคงจะได้กำไรมากสุด เนื่องจากเป็นหน่วยที่เริ่มทีหลังและได้เรียนรู้จากจังหวัดที่ทำไปก่อน (ไม่เริ่มจากศูนย์) ดูจะตื่นเต้นกันใหญ่ จดกันไปซะเยอะเชียว ได้ยินบางคนมาบอก staff ว่า "ดีๆ เยอะแยะเลย  จะลองกลับไปทำมั่ง" 


         สาม. คราวนี้การนำเสนอผลการประชุมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใช้แบบ Shopping Idea คือเสร็จแล้วแต่ละกลุ่มก็จะมีตัวแทนประจำกลุ่มซึ่งอยู่ตามมุมต่างๆ  แล้วให้กลุ่มอื่นผลัดกันเดินเข้ามาดูและนำเสนอ พร้อมแลกเปลี่ยนและให้ข้อเสนอแนะ  วนกลุ่มไปเรื่อย คล้าย Lab กริ๊ง  ทำให้การนำเสนอดูไม่น่าเบื่อและผู้เข้าร่วมได้ focus กับการนำเสนอได้ดี  แต่เวลาอาจจะน้อยไปซักหน่อยจึงทำให้แต่ละรอบกริ๊งได้ซักถามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้น้อย ก็หมดเวลา....ต้องหมุนอีกแล้ว (เหมือนตอนกริ๊งแล้วยังตอบไม่เสร็จเลยแฮะ)  พอวนดูของกลุ่มอื่นเสร็จแล้ว กลุ่มก็กลับมาอยู่ที่กลุ่มตัวเองอีกที แล้วมาทบทวนแผ่นข้อเสนอแนะที่กลุ่มอื่นมาเขียนเพิ่มให้ พร้อม share กันเพิ่มถึงประเด็นที่ได้ไปดูจากกลุ่มอื่นๆ อีก  เอามารวมๆ กัน  แล้วก็สรุปความรู้ที่กลุ่มได้อีกรอบ  ถือเป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพอีกอันหนึ่งค่ะ
         ช่วงหัวค่ำยังมีโปรแกรมเสริม คือ  การเก็บ"คลังความรู้" ของกรมส่งเสริมการเกษตร และ  "การใช้ Blog" เพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเวทีเสมือน (หลายคนตั้งใจมาเรียนการเปิด Blog เพื่อเอาไปสร้างเองบ้าง เพราะเข้าไปอ่านของคนอื่นมานาน)
 

          สี่. การพาลงพื้นที่จริงของจังหวัดกำแพงเพชรในวันที่สอง แบ่งออกเป็น 3 สาย (กลุ่มเกษตรอินทรีย์  บ้านนาป่าแดง, กลุ่มผัก และกลุ่มศูนย์เทคโนโลยีการถ่ายทอด) มีไกด์ประจำรถเป็นนักวิชาการส่งเสริมเกษตร มา Brief งานของพื้นที่ให้ฟังก่อน แล้วยังเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์อันเก่าแก่โบราณของแต่ละพื้นที่ให้ฟังด้วย ทำให้พวกลงไปดูงานเพลิดเพลินใจและได้สาระเป็นอย่างดี (เล่าได้ขนาดนี้น่าจะเป็นไกด์ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเกษตร ได้เลยนะคะ) การลงพื้นที่ได้คุยกับ "คุณกิจ" อย่างเปิดใจ เพราะนักวิชาการเกษตรไม่แทรกแทรง ให้คุณกิจมาเล่าเอง ซักถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้เองกับผู้มาดูงาน   ตัวอย่างที่ อ้อ ได้ลงไปอย่างพื้นที่เกษตรปลอดภัยสู่อินทรีย์ "บ้านนาป่าแดง" ต. คุยบ้านโอง อ. พรานกระต่าย ได้คุยกับ ผู้ใหญ่บ้าน (ทำงานจนได้แหนบทอง) และรองผู้ใหญ่บ้าน "คุณสมหมาย พลอาจ" ซึ่งเล่าที่มาที่ไปของการมารวมกลุ่มกันทำเกษตรอินทรีย์ เริ่มจาก 3 คนในตอนแรก จนเพิ่มเป็น 29 คนในปัจจุบัน   หมู่บ้านนี้นอกจากจะมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์แล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีก เช่น สตรีจักสาน .... เรียกเป็น "คุ้ม" มีทั้งหมด 7 คุ้ม  แต่ละคุ้มผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ได้ดูคนเดียวแต่จะมอบอำนาจให้รองผู้ใหญ่บ้านคนอื่นๆ คอยดูอยู่   แล้วมีการมาประชุมกันในแต่ละเดือน เพื่อติดตามเรื่องราวความก้าวหน้า ข่าวสาร พร้อมหารือการพัฒนา     คุณสมหมาย เล่าว่าก่อนมาทำเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์  ได้มีเป้าหมายว่าอยากจะลดต้นทุนการผลิตเท่านั้น ไม่ได้นึกถึงความปลอดภัยหรือสารพิษอะไรเท่าไหร่? เลยทดลองทำนาแบบลดสารเคมีดู  แล้วพบว่าแม้ผลผลิตจะไม่ได้มากขึ้น  แต่ต้นทุนลดน้อยลง  เนื่องจากคุณสมหมาย มีการจดบันทึกค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้   เมื่อบวกลบกันแล้วได้เงินมากกว่าเดิม จึงทำเพิ่มขึ้นและขยายแนวคิดชักชวนคนอื่นทำด้วย   พอทำไปได้ระยะหนึ่งหนี้ของกลุ่มก็ลดลง สิ่งแวดล้อมที่ได้เป็นของแถมก็ดีขึ้น  มีปลาในนาในแม่น้ำลำคลองเกิดขึ้นจนบางคนทำนานิดเดียว แต่ไปจับปลาขายได้เยอะแยะแทน  แถมยังมีชาวบ้านจากที่อื่นมาจับปลาในคลองหมู่บ้านนี้ด้วย       ถามถึงเงินหรืองบต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุน  คุณสมหมาย บอกว่า หมู่บ้านมีการตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ และสมาชิกกลุ่มต่างๆ จะออกเงืนคนละเล็กละน้อยนำมาเป็นเงินสนับสนุนกลุ่ม  หรือให้กู้ยืมบ้าง     ทั้งนี้ตัวแทนกลุ่มต่างๆ ยังได้ออกไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้และดูงานจากที่อื่นๆ ข้างนอกด้วย  โดยได้ข่าวหรือโอกาสจากเกษตรบ้าง ธกส.บ้าง  ที่สนับสนุนให้ไปเพื่อให้เลือกเอากลับมาพัฒนาหมู่บ้าน          ผู้ใหญ่,รองผู้ใหญ่ และนายก อบต. พากลุ่มเราไปดูงานต่างๆ ต่อ เช่น เครื่องทำปุ๋ย  กลุ่มจักสาน  สวนผสมของ นายก อบต. และ การเลี้ยงหมูหลุม (เป็นของใหม่เพิ่งไปเรียนรู้จาก จ.น่าน แล้วลองเอามาเลี้ยงดู)  หลังจากดูงานเสร็จ    จากนั้นมีการกลับมานำเสนอว่าอะไรคือ KV(เป้าหมายของหมู่บ้าน), KS(การแลกเปลี่ยนของกลุ่มชุมชนมีอะไรสำคัญ), KA (คลังความรู้ที่ชาวบ้านได้คืออะไร เป็นอย่างไร)    สุดท้ายผู้ดูงานก็มา  AAR กันด้วยโจทย์ง่ายๆ  "เห็นอะไร เป็นอย่างไร" "ได้อะไรกลับไป และเสนอแนะอะไร"  เป็นอันว่าเสร็จและพร้อมกลับไปนำเสนอให้อีก 2 กลุ่มที่ไปอีกพื้นที่ฟัง      กลางวันนั้นชาวบ้านเลี้ยงอาหารกลางวันเราอย่างอิ่มหนำ

              

                             รูป : หมูหลุม                             รูป :  mind map เกษตรปลอดภัยบ้านนาป่าแดง


         เมื่อแต่ละกลุ่มกลับมารวมตัวกันอีกทีประมาณบ่ายสองโมงครึ่งที่โรงแรมชากังราว  (ติดแม่น้ำริมปิง)  ได้มีการนำเสนอผลการไปดูงานของทั้ง 3 สาย จากนั้น คุณสายันต์   ปิกวงศ์   ก็สรุปรวบทั้ง 3 อีกทีเป็น mindmap ออกมา    หลังจากกระบวนการต่างๆ ตามกำหนดการกิจกรรมครั้งนี้เสร็จสิ้น ทางกรมก็อยากได้ข้อคิดเห็นจาก สคส.ค่ะ     ซึ่ง อ้อ ก็กล่าวขอชื่นชมกับความตั้งใจของทุกคนที่เข้าร่วมและได้แสดงให้เห็นถึง KM ของกรมที่มีเอกลักษณ์และเป็นกรมที่มีความสำคัญของประเทศไทย (เพราะอยู่คู่อาชีพหลักของคนไทย) อ้อ เห็นถึงคุณสมบัติของ "คุณอำนวย"ที่มีจิตใจดี  ใจกว้างพร้อมรับทุกข้อคิดเห็นแลกเปลี่ยน   มีความตั้งใจและมีความยินดีด้วยที่สามารถส่งเสริมให้ผู้อื่นสำเร็จ ได้ดี     และเห็นด้วยที่กรมจะเน้นการทำคลังความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่นำไปทำจริง   ซึ่งอยากย้ำให้นำความรู้ที่เก็บในคลังนั้นไปใช้ปฏิบัติด้วยเพื่อต่อยอดความรู้ และupdate เพราะความรู้นั้นมีชีวิต  การนำไปเก็บไว้ในคลังเฉยๆ แล้วไม่หยิบมาใช้ หรือหยิบมาใช้ยากย่อมน่าเสียดาย จึงต้องคำนึงถึงจุดนี้ในการออกแบบด้วย    และสุดท้ายขออ้างคำอาจารย์วิจารณ์ ที่เคยพูดว่า อย่าทำ KM ให้ทำงาน และให้ทำความดี   ให้ใช้ KM เป็นเครื่องมือที่เนียนอยู่ในเนื้องานค่ะ         แล้วสุดท้าย พี่ธุวนันท์  พานิชโยทัย  ก็มากล่าวสรุปและปิดกิจกรรมสรุปบทเรียนครั้งนี้อย่างสมบูรณ์ค่ะ   

            หมายเหตุ  อ้อ พยายามเอา VDO clip ที่ถ่ายไว้มาลิงค์กับ Blog  ค่ะ    แต่ตอนนี้ความพยายามอยู่ที่ไหน  ความพยายามก็ยังคงอยู่ที่นั่นค่ะ (เอาภาพนิ่งไปก่อนนะคะ) 

 

                                                                                          อ้อ_สคส.

 

 

หมายเลขบันทึก: 31415เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2006 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 09:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณคุณอ้อมากเลยค่ะ...นับว่าเป็นกระจกส่องให้พวกเราได้เห็นตัวเอง ได้ชัดเจนขึ้นค่ะ...และถ้ามีโอกาสอย่าลืมมาจับภาพอีกนะค่ะ.....  

 

    ขอบพระคุณมากครับ รออ่านของคุณแขกอยู่นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท