กระต่ายกับเต่าในยุคของการประเมินคุณภาพ


เราต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าเรามีความสามารถพิเศษอะไร จากนั้นให้เปลี่ยนแปลงสนามแข่งขันให้เหมาะกับความสามารถพิเศษนั้น การทำงานที่ใช้จุดแข็งของตัวเรา จะช่วยให้ตัวเราเด่นขึ้น และยังช่วยสร้างโอกาสความเจริญก้าวหน้าต่อไป

                                

                   สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยจัดอบรมเรื่องการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานของวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคม” จัดแบบเคาะประตูบ้าน 5 ภูมิภาค ออกประเดิมที่กรุงเทพ แล้วย้ายไปภาคตะวันออกที่พัทยา ชลบุรี วิ่งต่อปไปที่หาดใหญ่ จ. สงขลา บินจากใต้ไปแอ่วเชียงใหม่ แล้วก็ถึงบทสรุปสุดท้ายที่ขอนแก่นเมื่อวันที่ 9-10 พย. 52

                  การออกไปคุยกันถึงถิ่นพี่น้องนักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัครคราวนี้ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเต็มห้องประชุมขนาด 170-180 คนทุกที่ การอบรม 2 วันก็ไม่มีใครถอย สนใจสาระ ซักถามแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกล่าวขานเรื่องการขอรับรองมาตรฐาน และเรากำลังรอต้อนรับผู้จะเข้ามายื่นขอรับรองมาตรฐานอย่างใจจดใจจ่อ ระหว่างรอขอคั่นรายการด้วยรายการที่มีผู้สนใจฟังและติดตามลีลาการเล่านิทานของ รศ. ดร. ศุภรัตน์ รัตนมุขย์ ด้วยความสนุกสนานและแฝงข้อคิดเกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิบัติงาน และต้องอภัยท่านอาจารย์ศุภรัตน์ ที่ดิฉันไม่อาจถอดความเรื่องที่ท่านเล่าได้อย่างสนุกเหมือนท่านแต่หวังว่าผู้อ่านจะได้ประโยชน์จากสาระดังกล่าว

 

ขอยกนิทานเรื่อง “กระต่าย กับเต่า” มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นบทสรุปของแนวคิดเกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิบัติงาน  ความเดิม มีอยู่ว่ากระต่ายกับเต่าแข่งวิ่งให้ถึงเส้นชัยแต่ด้วยความชะล่าใจของกระต่ายว่าตัวเองวิ่งได้เร็วส่วนเต่านั้นคลานต้วมเตี้ยมยังไงตัวเองก็ชนะแน่นอนจึงแอบงีบหลับเอาแรงไว้วิ่งม้วนเดียวถึงเส้นชัย ด้วยความบรรยากาศที่ร่มรื่นทำให้กระต่ายนอนอย่างเพลิดเพลินเมื่อตื่นขึ้นมาก็เห็นว่ากระต่ายค่อยๆคลานอย่างพากเพียรและสม่ำเสมอเกือบถึงเส้นชัยแล้ว กระต่ายจึงเร่งความเร็วเต็มที่แต่สายเสียแล้วเมื่อเต่าแตะเส้นชัยได้ก่อน นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าผู้ที่ทำช้าแต่ถ้ามั่นคง และสม่ำเสมอก็สามารถชนะผู้ที่ทำไวได้

                เรื่องกระต่ายกับเต่ายุคใหม่ไม่ได้จบเพียงแค่นี้เพราะกระต่ายกลับไปครุ่นคิดและวิเคราะห์ถึงการพ่ายแพ้ของตนก็พบว่าตนเองมีความประมาทเป็นที่ตั้งประเมินคู่แข่งต่ำเกินไปและประเมินตนเองสูงเกินจนทะนงตน  คราวนี้กระต่ายขอท้าแข่งขันกันใหม่ซึ่งเต่าก็ยินดีร่วมแข่งขัน กระต่ายวิ่งด้วยความเร็วเต็มที่ของตนและมุ่งหน้าสู่เส้นชัยส่วนเต่าก็คลานไปด้วยความเพียรอย่างต่อเนื่องเช่นเคย ในที่สุดกระต่ายก็เข้าสู่เส้นชัย การแข่งขันในรอบนี้สอน ผู้ที่ทำได้ไว ผู้ที่ทำเร็ว และสม่ำเสมอย่อมชนะผู้ที่ทำช้า ถึงแม้จะมีความมั่นคงต่อเนื่องก็ตาม

                เรื่องไม่จบเพียงแค่นี้เมื่อเต่ากลับไปพินิจพิเคราะห์ความพ่ายแพ้ของตนเองประเมินจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคาม( ทำ SWOT ) ของตนและคู่แข่ง  เต่าพบว่าต้องแข่งขันโดยใช้จุดแข็งของตนเองเป็นสำคัญจึงไปท้าแข่งนัดล้างตากับกระต่ายอีกครั้งโดยขอกำหนดเส้นทางการแข่งขันเอง กระต่ายยินดี เมื่อถึงวันแข่งขันเต่าคลานด้วยความเร็วเต็มที่ส่วนกระต่ายวิ่งด้วยความมุ่งมั่นและเต็มฝีท้าจนมาถึงแม่น้ำลำคลองพาดผ่านกั้นเส้นชัยที่อยู่อีกฝากฝั่งกระต่ายข้ามไปไม่ได้  เต่าวิ่งมาทันและว่ายน้ำข้ามแม่น้ำไปสู่เส้นชัยได้ในที่สุด  การแข่งขันครั้งนี้สอนให้รู้ว่าเราต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าเรามีความสามารถพิเศษอะไร จากนั้นให้เปลี่ยนแปลงสนามแข่งขันให้เหมาะกับความสามารถพิเศษนั้น  การทำงานที่ใช้จุดแข็งของตัวเรา จะช่วยให้ตัวเราเด่นขึ้น และยังช่วยสร้างโอกาสความเจริญก้าวหน้าต่อไป

                นิทานเรื่องนี้ไม่จบเพียงแค่นี้เพราะกระต่ายกับเต่าต่างก็ไปวิเคราะห์การแข่งขันที่ผ่านมาแล้วเห็นว่าถ้าจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดเราต้องมาร่วมแข่งขันกันอีกในเส้นทางเดิมแต่แข่งขันเป็นทีมแข่งกับเวลาต้องทำเวลาให้น้อยกว่าเต่าผู้ชนะครั้งที่แล้ว เริ่มต้นการวิ่งโดยกระต่ายแบกเต่าแล้ววิ่งสุดฤทธ์เมื่อมาถึงแม่น้ำที่ขวางอยู่เต่าว่ายข้ามน้ำโดยมีกระต่ายขี่หลังไปจนถึงเส้นชัยด้วยเวลาที่น้อยลงกว่าเดิม บทสรุปของเรื่องนี้คือการเป็นคนเก่งมีความสามารถเป็นสิ่งที่ดี แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าสามารถนำความสามารถเหล่านั้นมาหลอมรวมกันได้

                ข้อคิดที่ฝากไว้ : การมุ่งสู่ความสำเร็จในการปฏิบัติงานไม่ควรปล่อยให้เป็นแบบแล้วแต่โอกาสจะพาไป ( POSSIBLE ) แต่ควรเป็นแบบที่เราต้องการให้เป็น ( PREFERABLE )

 

 

หมายเลขบันทึก: 313704เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2009 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบข้อคิดที่ฝากไว้ค่ะ การมุ่งสู่ความสำเร็จในการปฏิบัติงานไม่ควรปล่อยให้เป็นแบบแล้วแต่โอกาสจะพาไป ( POSSIBLE ) แต่ควรเป็นแบบที่เราต้องการให้เป็น ( PREFERABLE )

เป็นนิทานที่เยี่ยมมากครับ

คำสำคัญน่าสนใจมากคะ อย่างรู้เรื่องราวของการเปลี่ยนสนามแข่งขันให้เหมาะสมกับความสามารถพิเศษจังคะ

ทำไงดีคะ

เช่นกันค่ะ คุณ noktalay ชอบข้อคิดอันนี้เพราะรู้สึกว่ามีกำลังใจ มีพลังในการกำหนดชีวิตของตนเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท