ทำดีมีที่เรียน


          เช้าวันที่ ๕ พ.ย. ๕๒ ผมมีความสุขอย่างยิ่งที่ได้รับฟังเรื่องราวของนวัตกรรมการศึกษาเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่   ของโครงการที่ชื่อว่า “โครงการส่งเสริมนักเรียนผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม มีโอกาสศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา”   ที่เรียกชื่อย่อๆ ว่า  โครงการเด็กดีมีที่เรียน   ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา  สพฐ.   และเริ่มต้นที่เขตการศึกษานครปฐมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยศิลปากร    จึงได้ชื่อเล่นว่า นครปฐมโมเดล

          ผมกลับมาบ้าน ค้น Google ด้วยคำว่า “โครงการเด็กดีมีที่เรียน”   ได้ผลออกมาหลายเรื่อง เช่นเรื่องนี้   ทำให้ยิ่งมีความสุข ว่าแนวคิดคัดเลือกเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยโดยให้น้ำหนักการทำความดีให้แก่สังคม แพร่ออกไปกว้างขวางพอสมควร 

          เมื่อค้นด้วยคำว่า “นครปฐมโมเดล” ยิ่งได้ผลการค้นมากมาย เช่นเรื่องนี้   และเรื่องนี้  

          ผมคิดว่าโครงการนำร่องแนวนี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ   โดยการให้โควต้าแก่เด็กในท้องถิ่นเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในพื้นที่ หรือใกล้เคียง   แล้วต่อไปเมื่อวิธีการวัดการทำดีแม่นยำขึ้น   และมีการวิจัยประเมินผลของเด็กที่เข้าเรียนผ่านการคัดเลือกแบบนี้    ว่าเรียนได้ และมีผลดีหลายๆ ด้าน   ในที่สุดคะแนนทำดีก็จะเข้าไปอยู่ในคะแนน admission

          ผมฟัง อ. อธิวัฒน์ พันธ์ประชา รอง ผอ. สพท. นครปฐมเขต ๑ (เวลานี้เป็น ผอ. สพท. สุรินทร์) ผู้ริเริ่มโครงการนี้เล่ากิจกรรมของ นครปฐมโมเดล แล้วก็ดีใจ    ที่มีการดำเนินการโดยมีการประเมินเชิงวิจัยควบคู่ไปด้วย   และเมื่อเด็กเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ก็ยังมีการสนับสนุนกิจกรรมให้ได้ทำความดีต่อเนื่อง    และเด็กเหล่านี้ชักชวนเพื่อนที่ไม่ได้เข้าเรียนในโครงการนี้ ไปทำกิจกรรมทำดีแก่สังคมด้วย

          ผมมองว่า นี่คือนวัตกรรมด้านการศึกษาอย่างหนึ่ง    และยินดีอย่างยิ่งที่ สกอ. – สพฐ. จะจับมือกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ในภาพใหญ่ต่อไป

 

วิจารณ์ พานิช
๕ พ.ย. ๕๒

 

คนขวาคือ อ. อธิวัฒน์ พันธ์ประชา

 

 

หมายเลขบันทึก: 313257เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2009 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์หมอครับ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ยังให้โควต้าแก่นักเรียนในเขต กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี ตามโครงการนี้ด้วยครับ มีนิสิตหลายคนที่ผมสอนได้มาเรียนในโครงการนี้ ตั้งใจเรียนดี มีน้ำใจกับเพื่อนๆดีมาก คาดว่าจบออกไปจะเป็นนิสิตที่มีคุณภาพครับ...

  • เป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ
  • แต่ไม่ทราบว่า ทางมหาวิทยาลัยเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาเท่ากับนักศึกษาปกติหรือเปล่า เข้าใจว่าคงเก็บเท่ากัน และให้นักศึกษากู้เงินเรียน

นครปฐมโมเดล มาจากใคร?

อยากกราบเรียนอาจารย์หมอ ถึงโครงการเด็กดีมีที่เรียนในมหาวิทยาลัย "นครปฐมโมเดล" ที่ดำเนินงานร่วมกันระหว่าง ม.เกษตรศาสตร์กำแพงแสนและ สพท.นครปฐม ทั้ง 2 เขตพื้นที่ มาตั้งแต่มิถุนายน 2548 นั้น ในเบื้องต้น มิได้คิดกันในประเด็นเป็นโควต้าสำหรับเด็กดี แต่เป็นประเด็นการออกแบบอนาคตใหม่ ร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคประชาสังคมในจังหวัดนครปฐม

ผู้ที่เป็นครูมาซักระยะหนึ่งย่อมตระหนักว่า เด็กๆจำนวนมากที่เป็นคนดีมีคุณธรรมสูง มีจิตอาสาขริการช่วยเหลือชุมชน อย่างที่เราหวังจะฝากอนาคตสังคมไว้กับพวกเขานั้น มักตกเป็นผู้เสียเปรียบ เมื่อต้องเผชิญกฏเกณฑ์กติกาทางสังคม อย่าแอดมิชชั่นเป็นต้น เพราะกติกาเหล่านั้น ส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยฝ่ายผูได้เปรียบและครอบครองปัจจัยการแข่งขันที่เหนือกว่าเสมอ

ต้องขอบคุณบรรดาผู้ใหญ่ใจดีทั้งในขณะนั้นและปัจจุบันนี้ ทั้งจากมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ จาก สพฐ. และ สพท. ทั้ง 9 จังหวัด รวมทั้งภาคประชาสังคมในจังหวัดต่างๆ ที่ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมนี้ขึ้น พร้อมทั้งฝ่าฟันอุปสรรคนานาอย่างอาจหาญอดทนและอดกลั้น ด้วยวิธีคิดและการทำงานที่แสนประณีตจนรักษาความยั่งยืนมาถึงปีที่ 5 ขยาผลออกไปถึง 9 จังหวัดและอีกหลายสถาบันการศึกษาที่ต่างมีอุดมการณ์เพื่อสังคมพร้อมอยู่แล้ว

สำหรับตัวกระผมเอง เป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ ทำหน้าที่ประสานแนวคิดและแผนงานของทุกองค์กร ให้มารวมกันเป็นมวลที่หนาแน่นขึ้นเป็นเพียงช่างเขียนแบบ ทำงานตามที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและนวัตกรสังคมออกแบบอนาคตไว้ให้ปรากฎเป็นรูปธรรมขึ้นเท่านั้น

อธิวัฒน์ พันธ์ประชา

ผอ.สพท.สุรินทร์ เขต 2

25 พ.ย. 52

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท