การประเมินโครงการ


ความหมายของการประเมินโครงการ

             ประชุม   รอดประเสริฐ(2535:72) กล่าวว่า การประเมินโครงการเป็น "ศาสตร์ประยุกต์"(applied science) หรือเป็น "วิทยาศาสตร์ประยุกต์" ที่เกิดจากการผสมผสานของศาสตร์หลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดและวิธีการที่ผูกพันกับวิชาสาขาเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างมาก

            "การประเมิน" หรือ "การประเมินผล" มีความหมายในภาษาอังกฤษว่า Evaluation ซึ่งหมายถึง กระบวนการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีความหมายเกี่ยวเนื่องกับคำอื่นๆอีกหลายคำ เช่น การวิจัย(research) การวัดผล(measurement)การตรวจสอบรายงานผล(appraisal) การควบคุมดูแล(monitoring)การประมาณการ(assessment)และการพิจารณาตัดสิน(judgment) ซึ่งคำดังกล่าวอาจสรุปเป้นความหมายหรือคำจำกัดความร่วมกันได้ว่าเป้นการประมาณค่าหรือการประเมินผลที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน โดยข้อมูลที่ได้รวบรวมด้วยวิธีการสอบถาม ทดสอบ สังเกต และวิธีการอื่นๆ แล้วทำการวิเคราะห์ เพื่อตัดสินว่าการดำเนินงานนั้นมีคุณค่าหรือบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานนั้นมากน้อยเพียงใด

            สมบัติ  สุวรรณพิทักษ์(2531:37) กล่าวว่า การประเมินโครงการเป้นกระบวนการของการตัดสินคุณค่า เกี่ยวกับแผนงานและการดำเนินงานของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงหรือการดำเนินงาน ตลอดจนเลิกล้มโครงการไม่ทำการใดๆอีกต่อไป

           ประชุม   รอดประเสริฐ กล่าวว่า การประเมินโครงการ หมายถึง กระบวนการในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของการดำเนินโครงการ และพิจารณาบ่งชี้ให้ทราบถึงจุดเด่นหรือจุดด้อยของโครงการนั้นอย่างมีระบบ แล้วตัดสินว่าจะปรับปรุงแก้ไขโครงการนั้นเพื่อการำเนินงานต่อไปหรือจะยุติการดำเนินงานโครงการนั้นเสีย

          นิศา   ชูโต(2538:9) กล่าวว่า การประเมินโครงการ หมายถึง กิจกรรมการเก็บรวรวมข้อมูล การวิเคราะห์ความหมายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความต้องการ การหาแนวทางวิธีการปรับปรุง วิธีการจัดการเกี่ยวกับโครงการและหาผลที่แน่ใจว่าเกิดจากโครงการ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนคุณภาพและประสิทธิภาพของโครงการให้ดียิ่งขึ้น

          รัตนะ   บัวสนธ์(2540:9) กล่าวว่า การประเมินโครงการ หมายถึง กระบวนการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเพื่อนำข้อมูลที่ได้นั้นมาเทียบเกณฑ์ แล้วตัดสินใจให้คุณค่าต่อข้อมูลหรือโครงการดังกล่าว

          สมหวัง   พิทยานุวัฒน์(2540:2) ได้ให้ความหมายของการประเมินผลแผนงาน/โครงการว่าเป้นการพิจารณาความเหมาะสมของแผนงาน/โครงการ การตรวจสอบความก้าวหน้าของการดำเนินแผนงาน/โครงการ การศึกษาผลสัมฤทธิ์ของโครงการหรือแผนงานนั้นๆว่าเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่เพียงใด

         จากความหมายดังกล่าว สรุปได้ว่า การประเมินโครงการ หมายถึง กระบวนการรวบรวมข้อสนเทศเกี่ยวกับโครงการ โดยมีการรวบรวมข้อมูลและวิธีการศึกษาอย่างเป็นระบบแล้วตัดสินใจให้คุณค่าต่อข้อมูลหรือโครงการดังกล่าว

ความมุ่งหมายและความสำคัญของการประเมินโครงการ

          โครงการมากมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การเกษตร การสาธารณสุข ความมั่งคงปลอดภัยและอื่นๆ เพื่อพัฒนาความเจริญดังกล่าวแล้ว ต้องใช้จ่ายทรัพยากรเป็นจำนวนมากทั้งที่เป็นเงิน วัสดุอุปกรณ์และกำลังคน โครงการบางโครงการมีประโยชน์มากและเห็นคุณค่าอย่างชัดเจน โครงการบางโครงการเมื่อกระทำไปแล้วไม่เกิดประโยชน์และคุณค่าแต่ประการใด การที่จะตัดสินใจระบุไปว่าโครงการใดมีประโยชน์ มีคุณค่าหรือไม่นั้นต้องทำได้ด้วยการประเมินโครงการ

          การประเมินโครงการอย่างมีระบบย่อมจะมีส่วนช่วยให้ผู้บริหารโครงการตระหนักถึงคุณภาพของโครงการที่กำหนดขึ้นไว้ว่า สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมหรือสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจในการดำเนินการการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงโครงการให้มีความถูกต้องเหมาะสม และส่งผลให้โครงการนั้นดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุถึงเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้ทุกประการ

           การประเมินโครงการ  มีความมุ่งหมายและมีความสำคัญตามความคิดเห็นของนักวิชาการในหลายแง่มุม ดังต่อไปนี้ มิเชล(นิคม ชมพูหลง.2534:42 อ้างอิงมาจาก Mitzel.1982:564-595)กล่าวว่า การประเมินโครงการมีความมุ่งหมายที่สำคัญ 3 ประการ คือ

           1. เพื่อแสดงผลพิจารณาถึงคุณค่าของโครงการ

           2. เพื่อให้ผู้ตัดสินใจมีการตัดสินใจที่ถุกต้อง

           3. เพื่อการบริการข้อมูลแก่ฝ่ายการเมืองใช้ในการกำหนดนโยบาย

           นอกซ์(นิคม ชมพูหลง.2534:42 อ้างอิงมากจาก Knox.1972:199)กล่าวว่า

 การประเมินโครงการมีความมุ่งหมายเฉพาะ ดังนี้

           1. เพื่อแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่ชัดเจนของโครงการ อันเป้นพื้นฐานที่สำคัญของการตัดสินใจว่าลักษณะใดของโครงการมีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งจะต้องทำการประเมินเพื่อหาประสิทธิผล  และข้อมูลชนิดใดที่จะต้องเก็บรวบรวมไว้เพื่อการวิเคราะห์

          2. เพื่อรวบรวมหลักฐานความเป็นจริงและข้อมูลที่จำเป็น เพื่อนำไปสู่การพิจารณาถึงประสิทธิผลของโครงการ

          3. เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆเพื่อนำไปสู่การสรุปผลโครงการ

          4. เพื่อการตัดสินใจว่าข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใดที่สามารถนำเอาไปใช้ได้

          5. เพื่อการสนับสนุนการตัดสินใจในการพัฒนาปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          ความสำคัญและความมุ่งหมายที่สำคัญของการประเมินโครงการ

          1. การประเมินโครงการ จะช่วยให้การกำหนดวัตถุประสงค์และมาตรบานของการดำเนินการมีความชัดเจนขึ้น

          2. การประเมินโครงการช่วยให้การใช้ทรัพยากรของโครงการเป็นไปอย่างคุ้มค่าหรือเกิดประโยชน์เต็มที่

          3. การประเมินโครงการช่วยให้แผนงานบรรลุวัตถุประสงค์และดำเนินไปด้วยดี

          4. การประเมินโครงการช่วยแก้ไขปัญหาอันเกิดจากผลกระทบโครงการและทำให้โครงการมีข้อที่ทำให้ความเสียหายลดน้อยลง

          5. การประเมินโครงการช่วยควบคุมคุณภาพของโครงการ

          6. การประเมินโครงการช่วยสร้างขวัญ กำลังใจ และความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบุคคลในโครงการ

          7. การประเมินโครงการช่วยตัดสินใจในการบริหารโครงการ เป็นข้อมูลอย่างสำคัญในการวางแผนหรือการกำหนดนโยบายของผู้บริหาร

          แสงดาว   เพริดพราว ได้กล่าวถึงความมุ่งหมายของการประเมินโครงการ ดังนี้

          1. เพื่อแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่ชัดเจนของโครงการ อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการตัดสินใจว่าลักษณะใดของโครงการมีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งจะต้องทำการประเมินเพื่อหาประสิทธิภาพและข้อมูลชนิดใดที่จะต้องเก็บรวบรวมไว้เพื่อการวิเคราะห์

          2. เพื่อรวบรวมหลักฐานความเป็นจริงและข้อมูลที่จำเป้นเพื่อนำไปสู่การพิจารณาถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการ

          3. เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆเพื่อนำไปสู่การสรุปผลของโครงการ

          4. เพื่อการตัดสินใจว่าข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใดที่สามารถนำเอาไปใช้ได้

          5. เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการพัฒนาปรับปรุงโครงการ

          จากความสำคัญและความมุ่งหมายของกรประเมินโครงการ สรุปได้ว่าการบริหารโครงการใดๆให้บังเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จำเป้นต้องอาศัยการประเมินโครงการอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับปรุงส่วนประกอบโครงการ การดำเนินโครงการในแง่ต่างๆ อย่างทันท่วงที ซึ่งจะทำให้โครงการเกิดประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 313124เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2009 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ฮะแฮ่ม.....ตั้งใจเรียนกันหน่อย น้อง ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท