บทความพิเศษ….......….ต้อนรับปีขาล-พญาเสือนำโชค 2553


บทความพิเศษ ปีเสือ

บทความพิเศษ….......….ต้อนรับปีขาล-พญาเสือนำโชค 2553

 

                นับไปนับมาเหลืออีกเพียงเดือนกว่าๆ  ปีฉลู-วัวพยศ 2552 ก็กำลังจะผ่านพ้นไปอีกคราปีหนึ่งเพื่อหลีกทางต้อนรับปีถัดมา  ปีขาน-พญาเสือนำโชค 2553(รึเปล่า?) คนไทยเรามักจะพูดเข้าตัวเสมอๆไม่ว่าอะไรก็ตามแต่ว่าเป็นปีนำโชค  ตัวนำโชคบ้างล่ะ  หรือสัตว์นำโชคทั้งๆที่บางครั้งอาจนำพาความหายนะ  อับโชคมาแทนที่  ปีที่แล้วหลายๆท่านเจอพิษจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา  ชะลอตัว  คนค้าคนขายก็บ่นกันว่าขายของไม่ค่อยจะออก  ประชาชนไม่ค่อยจะจับจ่ายซื้อของเพราะไม่มั่นใจในภาวะความมั่นคงในประเทศ  บางเดือนมีการชุมนุมของคนสีเสื้อต่างๆ  ปิดถนน  เผาสถานที่ต่างๆ  โดนเข้าแบบนี้ใครมันจะทำมาค้าขึ้นล่ะจริงไหม?    ปีหน้าฟ้าใหม่(ความจริงก็ฟ้าเดิมๆนั่นแหล่ะ……แต่ไม่ใช่ฟ้าเดียวกัน นะเออ)หลายคนต่างคาดหวังเอาไว้ว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  คนที่ว่างงานก็คาดหวังเอาไว้ว่าจะได้งานทำ  คนที่มีงานทำอยู่แล้วก็หวังว่าจะเจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ  ได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ที่ดีขึ้น  ค้าขายดีขึ้น  เป็นต้น   “ ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันต่อไป ” ………..เป็นคำพูดที่มักได้ยินได้ฟังจากใครหลายๆคนเขาพูดกัน  ถ้าวันนี้ยังไม่ตายก็ยังมีความหวัง  คนตายไปแล้วไม่รู้ไปไหน  คงไม่ทุกข์ไม่ร้อนเท่าคนเป็นที่ยังต้องดิ้นรนไขว่คว้าให้ได้ในสิ่งที่หวัง  ไม่ดิ้นรนก็คงหมดหวังจะได้  ครั้งดิ้นรนแล้ว  ใจมันไม่นิ่งก็จำต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าข่มจิตใจ  ให้ใจสงบ(จะได้ไม่ต้องทุกข์ใจ)  ก็ว่ากันไป  ปีฉลู-วัวพยศ 2552 ใกล้จะผ่านพ้นไปทุกขณะแล้ว  ปีขาน-พญาเสือนำโชค 2553 ก็กำลังเดินสวนทางผ่านเข้ามาแทนที่  เรามาทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่ทำท่าว่าจะ “ ดุ ” กว่าปีก่อนกันดีกว่าเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

               

                หากพูดถึง “เสือ” แล้วหลายคนคงนึกถึงภาพของสัตว์ใหญ่ 4 เท้า  รูปร่างคล้ายแมวแต่มีลำตัวใหญ่โตกว่ากันมาก  ที่สำคัญเสือมีนิสัยดุร้ายและกินเนื้อเป็นอาหาร  กล่าวกันว่าเสือเป็นสัตว์ในตระกูลเดียวกับแมวบ้าน  คืออยู่ในวงศ์ felidae นิยมออกหากินในเวลากลางคืน  เสือมีหลายชนิดแต่ที่เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาคนไทยมากกว่าเพื่อนก็คือเสือโคร่งเพราะมักเป็นสัตว์ที่ปรากฏในหนัง  หรือละครไทยในหลายๆเรื่อง  นอกจากนี้ยังมีสุภาษิต-สำนวนไทย-คำพังเพย  ตลอดจนคำคมอยู่หลายอย่างที่กล่าวถึงเสือในลักษณะต่างๆ  อาทิ 

-เสือซ่อนเล็บ  หมายถึง  ผู้ที่มีความเก่งกล้าสามารถ  แต่ไม่ยอมแสดงให้ปรากฏ(นัยว่าเก็บเอาไว้ใช้ยามคับขัน)

-เสือติดจั่น  หมายถึง  ลักษณะอาการของคนที่กระวนกระวาย  อยู่ไม่สุขเหมือนเสือที่ติด  ถูกขังไว้ในจั่นหับ

-เสือกระดาษ  หมายถึง  ผู้ที่ดูประหนึ่งมีอำนาจ  แต่ความจริงไร้ซึ่งอำนาจ  ไม่มีอำนาจ

-เสือทลายห้าง  ช้างทลายโรง  หมายถึง  คนที่แสดงกิริยาไม่สุภาพ  เอะอะตึงตัง

-เสือเฒ่าเจ้าเล่ห์  หมายถึง  ชายผู้มีอายุมากแต่มีเล่ห์เหลี่ยมจัด

-เสือเก่า  หมายถึง  คนที่เคยมีอำนาจ  หรือเคยมีความสามารถในด้านต่างๆมาก่อน 

-เสือในร่างสมัน  หมายถึง  คนร้ายที่แฝงมาในร่างของคนดี

-เสือนอนกิน  หมายถึง  คนที่ได้รับผลประโยชน์  หรือทรัพย์สินโดยไม่ต้องลงแรงทำอะไรเลย

-เสือหิว  หมายถึง  คนที่ต้องการได้ผลประโยชน์  ทรัพย์  โดยวิธีการสกปรก  หรือไม่เลือกวิธีการ

-เสือสิ้นตวัก สุนัขจนตรอก  หมายถึง  คนที่ฮึดสู้กับศัตรูอย่างไม่คิดชีวิต

-เสือสิ้นลาย  หมายถึง  คนที่เคยมีความสามารถมาก่อน  พออายุมากขึ้นความเก่ง  ความกล้าสามารถนั้นๆก็เสื่อมลง

-เสือรู้  หมายถึง  คนที่มีความฉลาด  ไหวพริบหลักแหลม  สามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่างๆได้

-เสือลากหาง  หมายถึง  คนที่ทำเป็นประหนึ่งเซื่องซึมให้ศัตรูตายใจ  จากนั้นพอศัตรูเผลอก็กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างฉับไว

-เสือลำบาก  หมายถึง  คนที่โดนทำร้าย  หรือกระทำการให้อับจน  คนเก่งที่เอาตัวไม่รอด  เป็นต้น

 

                พูดถึงเสือในลักษณะสุภาษิต-สำนวนไทย-คำพังเพย  ตลอดจนคำคมอยู่หลายอย่าง  คราวนี้ลองมาดูเสือในลักษณะทางความเชื่อในแบบไทยๆกันดูบ้าง  กล่าวคือมีรูปแบบทางความเชื่ออย่างหลากหลายในเรื่องเกี่ยวกับเสือในชุมชน  และสังคมไทยแต่โบราณ  มีนิทานในพระพุทธศาสนาอยู่เรื่องหนึ่งมีชื่อว่า “ภิกษุผู้เห็นอริยสัจในปากเสือ”  มีความเล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุหลายรูปได้ร่ำเรียนกรรมฐานภาวนา  ครั้งร่ำเรียนกันนานๆเข้าก็พากันไปเจริญสมณธรรมกรรมฐาน ณ ป่าใหญ่ใกล้เชิงเขาแห่งหนึ่ง  ขณะนั้นเองมีเสือหิวตัวหนึ่งผ่านมาพบเข้าจึงตะปบ กัดภิกษุผู้โชคร้ายรูปหนึ่งเข้า  ระหว่างที่เสือกำลังคาบภิกษุรูปดังกล่าวลากขึ้นยอดเขาไป  ภิกษุรูปอื่นๆต่างร้องเรียกเตือนมาว่า  “ท่านผู้อาวุโส  ท่านจงปลงปัญญาพิจารณากองทุกข์เป็นอารมณ์เถิด  มีชาติเกิด  แล้วก็มีทุกข์”  ภิกษุที่กำลังถูกเสือกัดคาบเอาไว้ในปาก  ลากขึ้นสู่ยอดเขาได้ยินเข้าก็ระลึกถึงอริยสัจ หรือความจริงแห่งชีวิตทั้ง 4 ประการคือ ทุกข์-สมุทัย-นิโรธ-มรรค(ทุกข์ คือทุกข์แห่งชีวิต  สมุทัย คือเหตุแห่งทุกข์  นิโรธ คือการดับทุกข์  มรรค คือ ทางไปสู่การดับทุกข์)ปรากฏภิกษุสามารถทำจิตของตนให้เป็น “เอกัคคตา” ได้(เอกัคคตา  คือ  จิตที่มีสมาธิแน่วแน่)เจริญวิปัสสนาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์  และดับขันธ์นิพพานในปากเสือนั่นเอง  นิทานในพระพุทธศาสนาเรื่องนี้น่าจะมีแง่คิดในเรื่องของการมุ่งมั่นกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแน่วแน่  ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในภาวการณ์ใด  ดีหรือเลวร้ายขนาดไหนก็สามารถที่จะบรรลุเข้าสู่ห้วงแห่งความสำเร็จได้เหมือนภิกษุที่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์  และดับขันธ์นิพพานในปากเสือ  เป็นต้น 

                     

                เสือในทางความเชื่อของคนไทยโบราณ  กล่าวกันว่าคนไทยในสมัยโบราณล้วนเชื่อในเรื่องของเสือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์  มีฤทธิ์อำนาจที่จะให้คุณให้โทษได้  บ้างก็มีการสร้างสิ่งสักการะห้อยคอเป็นรูปเสือ  เป็นตะกรุดเสือในลักษณะ  และขนาดต่างๆเพื่อสำหรับป้องกันตน  ป้องกันคุณไสยในหลายรูปแบบ  นอกจากการนิยมสร้าง  หรือห้อยตะกรุดรูปเสือแล้วนี่  ยังพบว่าคนไทยในสมัยก่อนนิยมสักยันต์เป็นรูปเสือในท่วงท่าแบบต่างๆ  ที่นิยมสุดคงเป็นรูปเสือเผ่นที่หลายคนเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์  มีฤทธิ์ที่จะทำให้ภูตผีปีศาจและดวงวิญญาณต่างๆไม่สามารถเข้ามาทำร้ายเอาได้  นอกจากนี้ยังเชื่อด้วยว่าการสักรูปยันต์เสือเผ่นเอาไว้กับตัวจะทำให้บังเกิดลาภตามมาเข้าหาตัวตลอดห้วงเวลาที่ลายสักยังติดอยู่กับผิวหนังส่วนนั้นๆด้วย  โดยส่วนใหญ่การสักรูปเสือเผ่นมักนิยมสักกันในบริเวณแผ่นหลัง  หรือบริเวณหน้าอกซึ่งเป็น 2 จุดที่มักได้รับความนิยมในการสักเป็นอย่างสูง  กระบวนการสักยันต์รูปเสือเผ่นที่เป็นที่นิยมนี่ก็ต้องสรรหาสำนักในการสักกันหน่อยล่ะ  ยิ่งสำนักไหนมีชื่อเสียงด้วยแล้วมักเป็นที่นิยมของนักเลงรอยสักเป็นยิ่ง  มีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าในสมัยก่อนนิยมให้พระเป็นผู้สักให้มากกว่าบุคคลอื่น  เพราะวัด และพระถือว่าเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวบ้านในสมัยนั้น  ไม่แปลกที่สำนัก-วัดดังๆจะมีคิวในการสักยันต์ยาวเป็นปีๆกันไปเลย  บางคนต้องรอเป็นปีกว่าจะได้สักกับพระอาจารย์ที่ตนศรัทธา  พูดถึงเรื่องการสักยันต์เสือเผ่นนี่แล้วในสมัยปัจจุบันก็ยังมีปรากฏให้ได้เห็นกันอยู่นะครับ(โดยเฉพาะวัดดังๆ  หรือสำนักพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียง)สำนักที่สักให้ดาราไทยบ้าง  ดาราฝรั่งบ้าง  แองเจลิน่า โจลี่นั่นก็ใช่เป็นการสักด้วยความศรัทธา(รึเปล่า?)แม้นมิใช่รูปเสือเผ่นแต่ก็น่าที่จะสร้างความเชื่อมั่นทางจิตใจให้ได้ในระดับหนึ่งมิใช่น้อย  พูดถึงเรื่องฝรั่งกับรอยสักแล้วนี่ขอท้าวความถึงเรื่องนี้เสียสักหน่อย   ฝรั่งรู้จักกับการ “ สัก ” เป็นครั้งแรกในช่วงที่กัปตัน “ เจมส์ คุก ” (เกิดราว ปี ค.ศ.1728 ที่หมู่บ้านยอร์ค ในประเทศอังกฤษ) ออกเดินเรือสำรวจทะเลใต้เมื่อหลายร้อยปีก่อนและพบเข้ากับผืนแผ่นดินทางตอนใต้เข้า(ประเทศนิวซีแลนด์ในยุคปัจุบัน)  ชาวเกาะทะเลใต้นั้นนิยมการสักกันมากและเรียกมันว่า “ ทาทาอู ”  กัปตันเจมส์ คุก ได้สักผิวตามร่างกายไปอวดชาวลอนดอน ประเทศอังกฤษด้วยแต่มีการเข้าใจกันว่าการสักนั้นเรียกกันว่า “ แท็ตทู ” (tattoo) ฝรั่งจึงเรียกรอยสักหรือการสักตามร่างกายว่า “ แท็ตทู ” ซึ่งเป็นคำที่เพี้ยนมาดังปัจจุบัน  เข้ามาในประเทศไทยเราบ้าง การสักในระยะแรกๆนั้นคาดเดาเอาว่าน่าที่จะเป็นการสักเพื่อการทหารเสียมากโดยเฉพาะการสักที่เรียกกันว่า “ สักเลขลูกหมู่ ” ในสมัยรัชกาลที่ 4  ส่วนการสักยันต์นั้นเชื่อกันว่าเริ่มเป็นที่นิยมหลังจากนั้นได้ไม่นาน โดยเชื่อกันว่า “ ยันต์ ” ที่สักนั้นกันนั้นมีความหมายถึง “ องค์พระพุทธเจ้า ” ดังนี้คือ
1.ยันต์รูปกลม  หมายถึง  พระพักตร์ของพระพุทธเจ้า
2.ยันต์รูปสามเหลี่ยม  หมายถึง  พระรัตนตรัย
3.ยันต์รูปสี่เหลี่ยม  หมายถึง  ดิน น้ำ ลม ไฟ
4.ยันต์รูปตัวเลข  หมายถึง  คาถาคุ้มกันร่างกาย เช่น ยันต์เลข 9 เป็นต้น
5.ยันต์รูปภาพ  อาจจะเป็นรูปเทพ รูปมาร รูปยักษ์ รูปสัตว์ในหิมพานต์ รูปสัตว์สามัญ ก็ล้วนมีความหมายตามความเชื่อนั้นๆ อาทิ การสักรูปยักษ์เพื่อต้องการให้ตนนั้นมีพลังอำนาจเป็นเช่นพญายักษ์อันเป็นที่น่าเกรงขาม การสักรูปเสือเผ่นเพื่อให้ตนมีฤทธิ์อำนาจ  เป็นต้น   ส่วนความเชื่อในเรื่องของการสักยันต์นี่ก็ต้องมีพิธีรีตองกันมากหน่อยโดยเชื่อกันว่าถ้าต้องการจะให้ “ ยันต์ ” ที่ทำการสักนั้น “ ขลัง ” มากๆแล้วล่ะก็ต้องไปสักกันในพระอุโบสถที่เป็นแบบ “ มหาอุด ” เท่านั้น ซึ่งพระอุโบสถในแบบมหาอุด ก็คือ พระอุโบสถที่มีประตูทางเข้า เพียงด้านเดียวผนังทั้งหมดจะทึบตัน  กล่าวกันว่าเหตุที่พระอุโบสถแบบมหาอุดมีขนาดเล็กนี่ก็เพื่อใช้เป็นที่ในการประกอบพิธีปลุกเสกลงเครื่องรางของขลังต่างๆเป็นการเฉพาะ ซึ่งรวมถึงการสักยันต์ด้วย ดังมีความเชื่อว่าถ้าทำพิธีในพระอุโบสถแบบมหาอุดแล้วเครื่องรางของขลังต่างๆนั้นจะมีพุทธคุณสูงและมีความขลังมาก ในภาคใต้ของประเทศไทยเรานั้นการสักยันต์ถือเป็นที่นิยมแพร่หลายไม่แพ้ภาคอื่นๆ หนึ่งในนั้นก็คือ  “ วัดเขาอ้อ ”  หรือวัดเขาอ้อ  ตำบลมะกอกเหนือ  อำเภอควนขนุน  จังหวัดพัทลุง  ซึ่ง ณ ที่วัดแห่งนี้เองที่มีอาณาบริเวณของทางวัดตั้งอยู่บนเขาอ้อ และมีชื่อเสียงสุดๆในด้านของวิชาอาคมคงกระพันชาตรีสารพัด  นอกจากนี้วัดเขาอ้อยังเป็นแหล่งเรียนรู้วิชาทางไสยศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากอีกด้วยความเชื่อในเรื่องของการสักยันต์นั้นมีมาช้านานคู่กับชนชาติไทยแต่ครั้งบรรพกาล บ้างก็เชื่อกันว่า  “ สักยันต์ ” แล้วทำให้ฟันแทงไม่เข้า มีเสน่ห์เมตตามหานิยม มีกำลังใจดี เป็นต้น ก็ว่าๆกันไปแล้วแต่ความเชื่อของในแต่ละบุคคล  เรื่องความเชื่อนี่เราไม่สามารถที่จะไปห้ามกันได้ ผมเชื่อ  คุณไม่เชื่อ  ฉันเชื่อเล็กน้อยไม่เชื่อมาก  คุณเธอเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง  ดิฉันไม่เชื่อแต่ก็ไม่ลบหลู่ เป็นต้น 

 

               การสักยันตร์รูปพญาสัตว์ชนิดต่างๆในปัจจุบันแม้จะได้รับความนิยมน้อยลงกว่าในสมัยอดีตแต่ก็ยังคงพอมีให้ได้เห็นกันอยู่เป็นระยะๆ  ในสำนักสักที่มีชื่อเสียง  ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์อาสาสมัครท่านหนึ่งที่ได้เข้ารับการสักยันต์รูปเสือเผ่นจากสำนักพระอาจารย์ชื่อดังแห่งหนึ่ง  พอเล่าได้ว่าขณะที่พระอาจารย์กำลังดำเนินการสักนั้น  ท่านจะให้ประนมมือไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์  มีดอกไม้ธูปเทียนเครื่องเซ่นสักการะ  มีพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์  การสวดมนต์ที่ดังสะเทือนจนผิวกายแทบจะแยกแตกออกจากกันแต่ก็มีความรู้สึกที่แปลกประหลาดคือ “ไม่เกิดอาการเจ็บแสบที่แผลแต่ประการใดในขณะสัก”  ครั้งสักรูปเสือเผ่นเสร็จพระอาจารย์ท่านเอาน้ำมนต์มาพรมใส่ก็เกิดอาการเหมือนร่างกายทั้งร่างร้อนไปหมด  พอได้ยินเสียงดนตรีที่บรรเลงอย่างเร่าร้อนแล้วเหมือนมีดวงวิญญาณของพญาเสือกระโจนเข้าสู่ร่าง  หัวเสือกระแทกเข้าที่หน้าอก  แขน-ขาของพญาเสือแนบแน่นกลายเป็นหนึ่งเดียวกับร่างกายของตน  ร่างกายสั่นไหว  แสดงท่าทางประดุจดั่งพญาเสือ ณ สถานที่แห่งนั้น  เป็นอาทิ  ใครหลายคนบอกว่าอาการดังกล่าวมานี้(ดังที่ได้เห็น)เป็นอาการหลังการสักยันต์พญาสัตว์ชนิดต่างๆซึ่งก็จะได้พละกำลังของสัตว์ชนิดนั้นๆกลับไปเป็นพละกำลังประจำตน  การแสดงท่าทางแยกเขี้ยวยิงฟัน  เกร็งกรงเล็บ  หมอบคลานประหนึ่งพญาเสือออกล่าเหยื่อคือผลของการสักยันต์อันศักดิ์สิทธิ์………….หลายคนเขาว่ากันอย่างนั้น   หากมองในมุมกลับกันเท่าที่ผู้เขียนเคยได้ศึกษามานักจิตวิเคราะห์มองว่า  อาการดังปรากฏขณะสักยันต์แล้วไม่เกิดความเจ็บปวดนี่อาจจะเกิดมาจากความศรัทธาก็เป็นได้  กล่าวคือเมื่อมนุษย์เกิดความศรัทธา  และเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วอาการเจ็บปวดอาจลดลงได้มากเหมือนได้รับยาชาขนานเอก  นั่นคือความศรัทธาอันฝันรากอยู่ในใจ  ซึ่งในบางสำนัก(ที่เปิดให้มีการสัก)อาจใช้น้ำมนต์ผสมกับสารบางตัว  ทำให้เกิดอาการมึนเมา(เล็กๆ)  เกิดอาการชา  ทำให้ลืมความเจ็บปวดไปได้มาก  จนบางคนถึงขั้นลืมความเจ็บปวดไปเลยก็มี  หากมีการสักยันต์กันครั้งละหลายๆคน  บ้างก็ว่าเป็นการ “ สะกดจิตหมู่ ”  (mass hypnosis)เพื่อให้ความเจ็บปวดลดน้อยลง(หรือไม่เจ็บไม่ปวดเลย)  ระหว่างที่เจ้าพิธีทำการสักอาจจะใช้กระบวนการ transference เพื่อให้ผู้ถูกสัก(ถูกสะกด)อยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น  หรือ “ ภาวะกึ่งสำนึก ” (trance) ในหลายสำนักนิยมให้ท่องคำบางคำไว้ในใจ  อาทิคำว่า  นะนะนะนะนะ  เป็นต้น  จากนั้นการสักจะดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ  เจ้าพิธีจะเป็นผู้ผูกขาด และดำเนินการเองทั้งหมด  ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักใช้เทคนิคในแบบ  paternal technique  (เทคนิคแห่งบิดา  หรือการชักจูงแบบพ่อสั่งลูก)  เสร็จแล้วน้ำมนต์ที่ประพรม  สาดใส่อาจจะเป็นตัวจุด  หรือคลายบางสิ่งบางอย่างออกมาจากตัวผู้ถูกสักยันต์(ถูกสะกด)บางสำนักมีการใช้เครื่องเสียง  ดนตรีสดเข้าช่วย  บางคนที่ได้รับฟังอาจจะออกอาการต่างๆ  แม่ธรณีปราบมาร  นางฟ้าร่ายรำ  เจ้าแม่กวนอิม  สาลิกาลิ้นทอง  นางกวัก  เจ้ากรรมนายเวร  พญาลิง  พญาเสือ  เป็นอาทิ  อากัปกิริยา  อาการที่แสดงออกมาให้เห็นทั้งหมดนี้นักจิตวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นเพียง “ ความทุกข์ใจ ”  ความทุกข์ใจอันเอ่อล้นออกมาจากจิตใต้สำนึก  ความทุกข์ใจที่ไร้การควบคุม  เมื่อจิตสำนึกถูกสั่นคลอนให้อ่อนแรงลงปรารถนาแห่งจิตจึงเอ่อล้นออกมาโดยอัตโนมัติ  ที่กล่าวมาทั้งสองแง่คิดเห็นนี่มิได้ลบหลู่ใดใดเพียงแต่นำเสนอความคิด  ความเชื่อไว้ให้ท่านผู้อ่านเป็นผู้คิดวิเคราะห์เอาเอง……….เชื่อแบบไหนก็แบบนั้นห้ามกันไม่ได้!!!

 

                เสือ  ในความเชื่อแบบไทยเน้นหลักทางไสยศาสตร์  เคยได้ยินกันมาบ้างรึเปล่าครับในเรื่อของ “ เสืออาคม ”  หรือคาถาการแปลงร่างเป็นเสือของหมอผีในสมัยก่อน(ในประเทศไทยยุคแรกๆนี่มีความเชื่อกันมากว่ามีจริง)  เชื่อกันว่าคนที่สามารถจะแปลงเป็นเสืออาคมได้นี่จะต้องผ่านการฝึกคาถามาอย่างเชี่ยวชาญ  นับถือศีลสะอาด 5 ข้อดังบัญญัติของทางพุทธศาสนาระบุไว้  ที่สำคัญต้องผ่านการเรียนวิชา “ ไสยศาสตร์มนต์ดำ-มนต์ขาว ”  จนกลายเป็นผู้ใช้คาถาทั้งสองอย่างชำนาญจึงจะมีสิทธิ์ศึกษาคาถาการแปลงร่างเป็นเสืออาคมได้  นอกจากหมออาคมแล้ว  คนไทยยังเชื่อด้วยว่าพระเกจิที่มีชื่อเสียงหลายท่านในเมืองไทยยังสามารถแปลงร่าง-แปลงกายเป็นเสืออาคมได้หากศึกษาคาถาจนแตกฉาน  และเชื่ออีกว่าการแปลงเป็นเสืออาคมเป็นกรรมพิธีในการปล่อยของไม่ดีที่อยู่ในตัวออกไปอีกวิธีหนึ่ง  กล่าวคือการที่พระเกจิ หรือหมออาคมต้องทำพิธีให้แก่ชาวบ้าน  ในหลายครั้งจำต้องดูดเอาสิ่งไม่ดีมาเก็บไว้ในตนด้วย  เมื่อของไม่ดี  สิ่งชั่วร้ายมีมากเกินจะเก็บไว้จึงจำต้องปล่อยออกไปเสียบ้าง  มักทำพิธีปล่อยของด้วยการแปลงเป็นเสืออาคมในบริเวณป่าใหญ่(ตรงบริเวณป่าลึกที่ไร้ผู้คน)  แต่ก็เคยได้ยินตำนานบางอย่างที่เล่าสืบกันมาบ้างว่าหากหมออาคม หรือพระเกจิ แปลงเป็นเสืออาคมแล้วไม่รีบกลับเข้าร่างมนุษย์(ร่างเดิม)ในระยะเวลาที่กำหนด  ร่างเดิมก็จะตาย  และผู้แปลงเป็นเสืออาคมก็จะต้องกลายร่างเป็นเสืออาคมตลอดไป  บางตำนานก็เล่าว่าเสืออาคมที่ไม่สามารถเข้าร่างเดิมได้ทันจะกลายเป็น “ เสือสมิง ” ในที่สุด  ซึ่งในเรื่องเสือสมิงออกอาละวาดไล่ฆ่าผู้คนในสยามประเทศนี้ก็มีมานานมากแล้ว  แม้แต่ในจังหวัดสงขลาก็มีความเชื่อในเรื่องดังกล่าว  เป็นดังที่ พระอธิการถาวร ถาวโร อดีตเจ้าอาวาสวัดคูเต่า รูปที่ 6  เคยให้ทรรศนะเอาไว้ในหนังสือปะวัติวัดคูเต่า  เลขที่ 1 บ้านแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา(ที่ผู้เขียนเคยได้จัดทำเอาไว้)   เล่าเรื่องเสือสมิงเอาไว้บวกประวัติวัดคูเต่าอย่างน่าสนใจว่า เดิมทีวัดคูเต่า มีชื่อว่า “ วัดสระเต่า ”  เนื่องด้วยมีเต่าอาศัยอยู่ในบริเวณสระของวัดเป็นจำนวนมาก  และวัดมิได้ตั้งอยู่ในบริเวณสถานที่ตั้งในปัจจุบัน(เลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา) แต่วัดคูเต่าเดิม หรือวัดสระเต่า นั้นตั้งอยู่ในบริเวณผืนดินตรงข้ามป่าช้าหนองหิน หรือโคกวัดในปัจจุบัน  เหตุที่ต้องย้ายสถานที่ตั้งวัดนี่เพราะบริเวณเดิมเป็นที่ราบลุ่มมักมีน้ำหลากในฤดูฝน จึงทำให้สภาพของวัดไม่ต่างอะไรกับจมอยู่ในทะเล  สิ่งก่อสร้างต่างๆรวมถึงพระ  ภิกษุ ชาวบ้านต่างได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก   ประการหนึ่งเชื่อกันว่าแต่เดิมคนในพื้นที่คูเต่าเป็นชาวจีนส่วนหนึ่งซึ่งเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากผืนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ และชาวไทยในพื้นที่อีกส่วนหนึ่งต่างช่วยกันร่วมมือร่วมใจในการสร้างวัดคูเต่าขึ้น  ครั้งหนึ่งชาวจีนซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพในการทำสวนส้มโอ  ส้มเขียว  ส้มเช้ง  ส้มแป้นจุก(ส้มจุก) ต้องการไม้มาเพื่อเป็นวัสดุอุปกรณ์สำหรับค้ำยันต้นส้ม  เนื่องด้วยเชื่อกันว่าดินที่ทำการปลูกส้มชนิดต่างๆที่ถือเป็นดินดีที่สุดในจังหวัดสงขลานั้นต้องเป็นดินที่บ้านคูเต่า จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านคูเต่า(จีน)จะสามารถกอบโกยผลผลิตจากการทำสวนส้มได้ผลกำไรเป็นที่น่าพอใจยิ่ง  เนื่องด้วยเป็นดินดีปุ๋ยดีต้นส้มของที่นี่จึงมีลำต้นและให้ผลผลิตที่สูง ส้มมีผลใหญ่และแต่ละช่อมีปริมาณหลายผล  ปัญหาหนึ่งที่ตามมาของชาวสวนที่นี่ก็คือ ปัญหาในเรื่องที่ต้นส้มมักจะกิ่งหักเพราะผลที่ดกเป็นพิเศษ เป็นประจำ  วิธีแก้ปัญหาของชาวบ้านก็คือการไปตัดไม้ในบริเวณใกล้เคียงกับสวนส้มของพวกเขานำมาทำเป็นไม้ค้ำยันซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง  แต่ต่อมาในระยะหลังเมื่อมีการทำสวนส้มกันมากขึ้นๆ จึงเป็นเหตุให้ไม้ที่นำมาทำเป็นตัวค้ำยันหมดลง ครั้งชาวบ้านส่วนหนึ่งเดินทางไปตัดไม้ในป่าซึ่งเป็นไม้เสม็ด ที่บริเวณทุ่งเกาะไหล ขากลับมักประสบความลำบาก พบปัญหาคือไม่สามารถนำพาไม้เสม็ดจำนวนมากกลับมาได้ทั้งหมด  ทำให้เสียเวลาในการเดินทางไกลโดยใช่เหตุและได้ไม้เสม็ดไม่คุ้มกับห้วงเวลาที่สูญเสียไป  มีชาวจีนในพื้นที่หลายกลุ่มเล่าว่าขาไปในช่วงเช้ามักไม่มีปัญหา แต่ตอนช่วงขากลับมักเจอสัตว์ร้ายต่างๆอาทิ เสือ งู หมี เสือ และอื่นๆซึ่งถือเป็นสัตว์มีอันตรายเข้ามาทำร้ายได้ เป็นต้น อนึ่ง   “ มีความเชื่อเดิมของคนในพื้นที่เล่าว่าอีกเหตุผลที่มีความต้องการขุดสระ และย้ายวัดสระเต่ามาเป็นวัดคูเต่าในปัจจุบันนั้นเชื่ออยู่เรื่องหนึ่งว่าอาจจะเป็นเพราะความกลัวสถานที่ตั้งเดิมซึ่งมีอาณาบริเวณเป็นป่ารกทึบมีสัตว์ร้ายนานาพันธุ์ บ้างก็เล่าสืบทอดกันมาว่าเคยมี  เสือสมิง  อาศัยอยู่ใกล้บริเวณวัดได้เข้าทำร้ายสามเณรมรณภาพ 1 รูป คือสามเณรถูกกัดจนศีรษะขาดและถูกกินเป็นอาหารเป็นที่เล่าลืออย่างสยดสยองต่างๆนานา  เสือสมิง คือ เสือร้ายที่เชื่อกันว่าเกิดจากอิทธิฤทธิ์ของวิญญาณร้ายที่แปลงร่างขึ้นมา ”  ช่วงนั้นเองประจวบเหมาะกับที่ชาวบ้านต้องการจะย้ายวัดคูเต่าเดิม(วัดสระเต่า)ไปอยู่ในบริเวณตั้งวัดในปัจจุบันเพื่อหนีปัญหาน้ำท่วมในหน้าฤดูน้ำหลาก  ทั้งชาวจีน และชาวไทยจึงร่วมแรงร่วมใจกันขุดคูขึ้นมาแห่งหนึ่งทอดยาวไปยังสถานที่ตั้งวัดในปัจจุบัน ซึ่งในตอนที่ขุดคูนี้เองส่งผลให้เต่าที่แต่เดิมอาศัยอยู่ในบริเวณสระของวัดสระเต่าได้เคลื่อนย้ายอพยพหาทำเลที่อยู่อาศัยใหม่คือย้ายไปที่วัดคูเต่าปัจจุบันและค่อยๆหมดไป ซึ่งชาวบ้านหลายคนเชื่อว่าพวกเต่าได้ย้ายทำเลที่อยู่อาศัยคือย้ายไปลงทะเลแล้ว(สันนิษฐานว่าอาจเป็นเต่าน้ำกร่อย)  นับแต่เริ่มมีการขุดคูจนแล้วเสร็จชาวบ้านจึงมีเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่ดีขึ้น  มีเส้นทางลำเลียงไม้เสม็ดจากทุ่งเกาะไหลมายังสวนส้มได้ง่ายขึ้น  ทำให้มีผลผลิตส้มที่เสียหายจากกรณีกิ่งหักในปริมาที่ลดลง เพื่อระลึกถึงบรรดาเต่าทั้งหลายที่เคยมีมากในพื้นที่ดังกล่าวชาวบ้านจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อคูที่ขุดใหม่ว่า ?คูเต่า? และร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นมาแทนวัดสระเต่า  จนแล้วเสร็จให้ชื่อว่า ?วัดคูเต่า?  ดังปัจจุบัน ผลพลอยได้จากการขุดคูเต่านอกจากจะได้เส้นทางลำเลียงไม้จากทุ่งเกาะไหล และได้สถานที่สร้างวัดคูเต่าที่น้ำไม่ท่วมเหมือนวัดเดิมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ได้ตามมาก็คือตลาดน้ำคูเต่าซึ่งได้รับการตกทอดมาจนถึงชนรุ่นปัจจุบัน ชาวบ้านจะนำสินค้าต่างๆขนถ่ายลงเรือจากสถานที่ต่างๆนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันที่ตลาดน้ำแห่งนี้ซึ่งมีอาณาบริเวณอยู่ที่ท่าน้ำของวัดคูเต่า  ตลาดน้ำในยุคแรกๆหรือในราวปี พ.ศ. 2299 นั้นถือว่ามีความเจริญรุ่งเรืองในระดับหนึ่ง และรุ่งเรืองสูงสุดในระหว่างปี พ.ศ. 2451-2505 ซึ่งมีพระครูสุคนธศีลาจาร(หลวงพ่อหอม ปุญญาโน)เป็นเจ้าอาวาส ถือเป็นศูนย์กลางตลาดน้ำที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของจังหวัดสงขลา  จวบจนในยุคหลังๆหรือประมาณปี พ.ศ. 2520 (ในยุค พระคุณสารพิสุทธิ์ หรือหลวงพ่อหวั่นเซี้ย คุณปาโล)ได้เริ่มมีการใช้เรือยนต์ในการคมนาคมเพิ่มมากขึ้น  การค้าขายในตลาดน้ำคูเต่าเริ่มซบเซาลง  ประจวบกับการค้าขายในตลาดที่โคกเสม็ดชุน กลับดีวันดีคืนจึงเป็นผลทำให้ตลาดน้ำที่คูเต่าเริ่มเสื่อมลงเรื่อยๆจนกลายเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่มากนักในปัจจุบัน   

 

                ซึ่งในเรื่องการแปลงกาย-แปลงร่างเป็นเสืออาคมของไทยเรานี้เข้าเค้ากับการแปลงร่างของสัตว์ทางแถบยุโรปตะวันตก  ดังมีบันทึกเอาไว้ในตำนานความเชื่อของ lycanthropy (คติมนุษย์กลายร่าง) ว่าคนทางแถบยุโรปตะวันตกในสมัยโบราณล้วนเชื่อกันว่ามีลัทธิๆหนึ่งเกิดขึ้นมานมนานแล้วนั่นก็คือ  “ ลัทธิคติมนุษย์กลายร่าง ”  หรือ lycanthropy  เชื่อว่ามนุษย์ในสมัยโบราณ(บางจำพวก)สามารถกลายร่างเป็นสัตว์ได้ในยามพระอาทิตย์ตกดิน  และจะกลับกลายเป็นคนอีกครั้งหลังจากดวงตะวันแรกฉายแสงขึ้น  นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการกลายร่างมีตั้งแต่พวกที่ไม่มีพิษมีภัย  อาทิ  กระต่ายหนู  กระรอก  ไปจนถึงสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์  อาทิ  หมาป่า  จระเข้  ไปจนกระทั่งเสือ  เป็นต้น  อนึ่ง  ชาวยุโรปตะวันตกมีความเชื่ออีกด้วยว่ามนุษย์กลายร่างนั้นอันตรายมาก  หากจะฆ่าให้ตายต้องใช้กระสุนหรืออาวุธที่ทำจากเงินแท้ๆอย่างเดียวเท่านั้นจึงจะสามารถฆ่าได้

               

                เสือ  ในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  เชื่อกันว่ามีเทพอยู่องค์หนึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากเสือ  กล่าวคือครั้งหนึ่งพระอิศวร ได้ทรงสร้างพระเสาร์ขึ้นด้วยการนำพยัคฆ์(เสือโคร่ง) 10 ตัวมาป่นและร่ายพระเวทย์  ห่อด้วยผ้าสีดำ  ประพรหมด้วยอมฤต  ร่ายพระเวทย์อีกรอบจึงก่อกำเนิดเกิดเป็นพระเสาร์ขึ้นมา  โดยพระเสาร์เองก็มีเทพพาหนะเป็นพญาเสือโคร่งด้วย  คนที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงเชื่อกันว่าเสือ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มาแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา  คนอินเดียบางพวกจึงถือว่าเมื่อเสือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์แห่งพระเป็นเจ้าแล้ว(พระเสาร์)ก็ไม่ควรไปทำอันตรายให้เพราะเชื่อกันว่าผู้ที่มีศรัทธาอันแรงกล้าเสือจะไม่ทำอันตราย  แต่ก็มีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งของทางอินเดียประเทศที่ว่ากลางดึกมีเสือเพศเมียตัวหนึ่งมาติดจั่นดักเสือของนักล่าตอนกลางคืนเข้า  พอรุ่งเช้านายพรานแสนดีใจว่าจะได้หนังเสือโคร่งไปขายกลับต้องประหลาดใจ  เพราะเสือโคร่งตัวขนาดมหึมาที่เห็นเมื่อคืนนี้กลับกลายเป็นหญิงสาวเปลือยเปล่าอยู่ในจั่นดักเสือแทน  จะะเป็น lycanthropy แบบทางทวีปยุโรปตะวันตก  หรือการเล่นคาถาอาคม(เสืออาคม)แบบในประเทศไทยก็ไม่ทราบได้แน่

 

                วกกลับเข้าเรื่องเสือในเมืองไทยต่ออีกรอบ  อันนี้เป็นแบบความเชื่อไทยถิ่นใต้ว่า หากเสือตนนั้นๆอายุมาก  จะไม่ทำร้ายคน  ให้ถือว่าเป็นเสือศักดิ์สิทธิ์ เรียกกันว่า “ เสือทวด ”  หรือ “ ทวดเสือ ”  ดังมีความเชื่อในเรื่องดังกล่าวสืบทอดกันมาแถบบริเวณน้ำตกโตนงาช้าง  สรุปความได้ดังนี้คือ  น้ำตกโตนงาช้างตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง(tonengachang wildlife sanctuary) สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ห่างจากอำเภอหาดใหญ่ราว 24 กิโลเมตร เหตุที่น้ำตกแห่งนี้ได้ชื่อว่า ?น้ำตกโตนงาช้าง?  ก็สืบเนื่องมาจากชั้นที่ 3 ของน้ำตกที่เรียกกันว่า ?โตนงาช้าง? (tone nga chang) นี้เองมีลักษณะเป็นสายน้ำตกลงมาจากหน้าผาสูงชันเป็น 2 เส้นคล้ายงาช้างคู่อย่างสวยงามและเชื่อกันว่าน้ำตกชั้นที่ 3 นี้เองเป็นชั้นที่มีความสวยงามที่สุด (คำว่า โตน ในภาษาไทยภาคใต้แปลว่า น้ำตก) น้ำตกโตนงาช้างมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 7 ชั้นคือ
1.โตนบ้า (tone ba)
2.โตนปลิว (tone plew)
3.โตนงาช้าง (tone nga chang)
4.โตนดำ (tone dum)
5.โตนน้ำปล่อย (tone nam proy)
6.โตนฤาษีคอยบ่อ (tone rue srikoy bo)
7.โตนเหม็ดชุน (tone met choon)

                มีความเชื่ออยู่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตป้องปกดูแลผู้คนภายในบริเวณน้ำตกโตนงาช้างมาเป็นเวลานับได้หลายร้อยปี คือความเชื่อในเรื่องทวดตาขุนดำ  ทวดโต๊ะปะหวัง ซึ่งมักปรากฏให้ชาวบ้านภายในพื้นที่เห็นในรูปของพญาเสือดำขนาดใหญ่  ชาวบ้านเชื่อว่าเป็น “ ทวดเสือ ” ซึ่งจัดเป็น “ ทวดในรูปสัตว์ ” อีกประเภทหนึ่ง  ซึ่งในเรื่องนี้นางวรรณา  อินทรสุวรรณ์  อายุ 44 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ได้เล่าให้ฟังถึงความเชื่อในเรื่องทวดตาขุนดำ-ทวดโต๊ะปะหวัง เอาไว้ว่า  เดิมทีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ภายในบริเวณน้ำตกโตนงาช้างและบริเวณใกล้เคียงล้วนมีความเชื่ออันสืบทอดต่อกันมาว่ามีทวดเสือชื่อทวดตาขุนดำ-ทวดโต๊ะปะหวัง เป็นผู้ดูแลให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย และไร้ทุกข์ภัยเข้ามากล้ำกราย  ชาวบ้านจึงจัดแจงสร้างศาลเพียงตาไว้ให้เป็นที่สถิตของดวงวิญญาณดังกล่าว(ศาลเพียงตา หมายถึงศาลที่ต้องยกขึ้น 4 เสา ยกพื้นระดับตา มีร่มกาง มีเพดาน) ซึ่งเป็นศาลเล็กๆอยู่บนไหล่เขา ปรากฏมีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวบางส่วนน้ำดอกไม้และเครื่องเซ่นไหว้มาบูชาอยู่มิขาดสาย  ต่อมาราวปี พ. ศ. 2549 ได้มีนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์คนหนึ่งเดินทางมาเที่ยวน้ำตกโตนงาช้าง  จนตกช่วงเย็นชายคนดังกล่าวได้ออกเดินทางปีนขึ้นไปชมทัศนียภาพบนน้ำตกโตนงาช้างชั้นที่ 3 และชั้นที่ 4 (โตนงาช้าง และโตนดำ)จากนั้นจึงหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย  เพื่อนๆที่มาด้วยกันจึงออกตามหาแต่ก็หาไม่พบแต่ประการใด  จวบจนต้องลงมาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของทางน้ำตกได้ทราบจึงออกช่ว

คำสำคัญ (Tags): #พี่เสือ 2553
หมายเลขบันทึก: 312866เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2009 05:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท