ลักษณะการทำลายและการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพูมันสำปะหลัง(2)


ลักษณะการทำลายและการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพูมันสำปะหลัง(2)

ลักษณะการทำลายและการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพูมันสำปะหลัง (2)

      ต่อเนื่องจากเรื่องเพลี้ยแป้งสีชมพูพบว่า  เพลี้ยแป้งจะอาศัยเกาะและใช้ปากดูดทุกส่วนของพืชที่อาศัย  โดยเฉพาะยอดอ่อน  ใช้ปากเจาะและดูดน้ำเลี้ยงจากท่อลำเลียงอาหารพืช  และจะดูดทำลายจนพืชเหี่ยวเฉา  จนเกิดอาการข้อถี่  ยอดแห้ง  และ  ตายในที่สุด  กรณีรุนแรงในหนึ่งยอด  จะมีจำนวนเพลี้ยและไข่ที่พร้อมที่จะฟักเป็นตัวอ่อนมาทำลายนับเป็นพัน   เป็นหมื่นตัว

                   มันสำปะหลังที่ถูกทำลายจะมีอาการใบหงิกก่อน (ใบอ่อน)  นักวิชาการเรียกว่ายอดแตกพุ่ม  หรือพุ่มแจ้  แต่ชาวบ้านเรียกดอกกะหล่ำ

                   เพลี้ยแป้งวัย 2-3 จะเข้าทำลายมันสำปะหลังทุกส่วนที่เกาะอาศัย  โดยใช้ปากเจาะลงไปจนถึงท่อน้ำเลี้ยงพืช  ถ่ายมูลหวานออกมาเมื่อตัวเต็มวัน  มูลหวานที่ถายออกมาปกคลุมบนหลัง  มดชอบกินเป็นอาหาร  ฝูงมดจะกินและคาบตัวเพลี้ยแป้งวัยอ่อนกลับรังด้วย  (เป็นการแพร่ระบาดทางหนึ่งโดยมด)  และเส้นทางที่มด นำมูลหวานไปจะทำให้เกิดเป็นราดำฉาบไปทั่วผิวใบ  ซึ่งเป็นอุปสรรคในการสังเคราะห์แสง  (ปรุงอาหาร)     ของใบพืช  การเจริญเติบโรของพืชจะชะลดลง  และหยุดชะงักตามความรุนแรงของการทำลาย  ผลผลิตพืชลดลงจนถึงเสียหายทั้งหมด

                   การทำลายของเพลี้ยแป้ง  เมื่อมันสำปะหลังมีอายุเกินกว่า 5 เดือน  ซึ่งสร้างหัวแล้ว  จะส่งผลให้  ชะงักในการสร้างขนาดและแป้ง  ผลผลิตจะลดลง  (ประมาณการอย่างน้อย 10-20%)  และถ้าไม่มีการแก้ไข   อาจรุนแรงถึงขั้นเสียหายทั้งหมด

                   การทำลายของเพลี้ยแป้งเมื่อมันสำปะหลังมีอายุต่ำกว่า 4 เดือน  จะส่งผลกระทบต่อการ     สร้างหัวโดยที่เกษตรกรไม่รู้  (ไม่เคยถอนดู)  ฉะนั้นถ้าระบาดในมันสำปะหลังอายุต่ำกว่า  4  เดือน  และพบว่า   มีผลดังกล่าว  เกษตรกรควรทำลาย  โดยการถอนและเผา  (ห้ามไถกลบ)  เพื่อลดพื้นที่อาศัยและการระบาดของเพลี้ยแป้งในปีต่อไป

                   การระบาดที่น่ากลัวที่สุดและรวดเร็วที่สุด  ไม่ใช่มด  หรือลม  ดังที่นักวิชาการทั้งหลายชอบนำมากล่าว  แต่ที่ระบาดเร็วกว่า  อยู่ที่... “คน”  และพฤติกรรมของคนที่ไม่ใส่ใจคำแนะนำในเรื่องนี้ต่างหาก “คน”  ดังกล่าว  แบ่งออกเป็นสองประเภท ประเภทที่ 1 “คนขายต้นพันธุ์”  ตั้งหน้าตั้งตาจะขายลูกเดียว         ไม่คำนึงผลกระทบกับผู้ซื้อ  ขอให้ขายได้ราคาแพงเป็นพอใจ  (ต้นทุน 40 สตางค์  ขาย  4-8 บาท/ต้น)  ขายต้นแถมเพลี้ยที่ซ่อนอยู่ใต้ตาต้นพันธุ์อีกต่างหาก  “คน”  ประเภทที่ 2 “คนซื้อต้นพันธุ์”  (เกษตรกร)  พันธุ์ไหนออกมาใหม่  แป้งดี  น้ำหนักดี (คนขายว่ามา)  ซื้อหมด  แพงก็เอก...  คนขายบอกสะอาดก็เชื่อโดยไม่เฉลียวใจ  สุดท้ายก็ต้องมานั่งแก้ปัญหาเพราะของแถมที่ได้มากับต้นทำพิษ  (ที่มีวันนี้มาจากของแถมทั้งสิ้น)

                   การเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์ที่มีเพลี้ยแป้งติดอยู่ที่ต้น  โดยมีมีการแช่น้ำยาหรือสารเคมีก่อนนั้น     นั่นแหละคือการนำเพลี้ยแป้งไปโปรยในระหว่างทางที่ผ่าน  เพราะเมื่อรถบรรทุกต้นพันธุ์ออกวิ่ง  แรงลมจะพัดเอาเพลี้ยแป้งหลุดออกมาฟุ้งกระจายไปสองข้างทาง  และหาพืชอาศัยดำรงชีพรอการระบาดต่อไป     ดังนั้น       การระบาดโดยพฤติกรรมของ “คน”  จึงน่ากลัว  และควบคุมได้ยากกว่าการระบาดทางธรรมชาติ

                   การระบาดครั้งนี้นอกจากผลผลิตโดยรวมจะลดลงอย่างน่าเป็นห่วงแล้ว  ยังจะส่งผลในปีต่อไปในเรื่องต้นพันธุ์สะอาดที่ใช้ปลูก  เพราะขณะนี้คงไม่มีจังหวัดใดไม่มีการระบาด  (นอกจากไม่รู้ว่ามันระบาด)  แล้วรายงานว่าไม่ระบาด  จะด้วยเหตุและผลประการใดก็ตาม  ที่แน่ๆ  ต้นพันธุ์สะอาด  หรือต้นพันธุ์ที่ยังสามารถนำมาใช้ได้มีน้อยและหายาก  จึงน่าที่แต่ละจังหวัดควรมีโครงการปลูกต้นพันธุ์สะอาดไว้ใช้เองในพื้นที่  (มีโครงการต้องมีงบประมาณส่งเสริมด้วย)

                   การเด็ดยอดมันสำปะหลังออก  จะส่งผลให้มีปัญหากับต้นพันธุ์เช่นกัน  เพราะยอดที่แตกออกมาหลังการเด็ด  จะไม่เป็นต้น  แต่จะแตกเป็นกิ่งสิงถึงสามกิ่ง  ตาห่าง  ไม่สามารถนำไปขยายทำต้นพันธุ์ที่ดีได้  จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าปัญหาการขาดแคลนต้นพันธุ์จะเกิดขึ้นแน่นอน

 

 

หมายเลขบันทึก: 312081เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2009 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท