KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๗๑๖. BAR และ AAR ฉบับพิสดาร



          มีคนถาม ว่าในการทำ AAR จะพูดเรื่องข้อผิดพลาดได้หรือไม่    ทำให้ผมคิดว่า น่าจะรวบรวมประสบการณ์การใช้เครื่องมือ BAR และ AAR อย่างมีพลัง    เอามา ลปรร. กัน

          ผมคิดว่า พลังพิเศษของ KM อยู่ที่มัน empower คนทำงานทุกคน ทุกระดับของความรับผิดชอบ   ทำให้การทำงานทุกย่างก้าวเป็นการเรียนรู้ และเป็นความภาคภูมิใจไปพร้อมๆ กัน

          และ KM Tool ที่ empower คนทำงานได้อย่างเป็นธรรมชาติ อย่างเนียนอยู่ในเนื้องาน คือ AAR และ BAR

          ต่อไปนี้ผมจะตีความการใช้ KM Tool ทั้งสองนี้    จากประสบการณ์ตรงของผม 
          ก่อนทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือช่วงใดช่วงหนึ่ง ร่วมกัน    สมาชิกมาตั้งวงทำ BAR (Before Action Review) ร่วมกัน   เป้าหมายคือ เพื่อให้สมาชิกทุกคนรู้เป้าหมายและการทำงานของภาพรวม  ของตนเอง  และของเพื่อนร่วมงาน   เพื่อซักซ้อมให้การทำงานเป็นทีม หรือเสมือนวงดนตรี    และที่สำคัญ ให้สมาชิกแต่ละคนพร้อมที่จะ “ด้นกลอนสด” ในการทำหน้าที่ของตน ยามที่มีเรื่องหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น  

          BAR คือเครื่องมือเตรียมพื้นฐานให้สมาชิกของทีมงานทุกคนพร้อมที่จะทำงานสร้างสรรค์ในงานประจำนั้นเอง    งานสร้างสรรค์สุดๆ ก็คืองาน “ด้นกลอนสด” นั่นเอง  
ทั้ง BAR และ AAR จะมีพลังได้ต้องมีบรรยากาศเชิงบวก บรรยากาศที่ทุกคนรู้สึกมีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง   และต้องมี Appreciative Inquiry (AI) เป็นเครื่องมือเสริม   AI กินความหมายกว้างไปถึงการให้คุณค่าความแตกต่างหลากหลาย

          ใน BAR ที่ทรงพลัง “คุณอำนวย” ของกระบวนการอาจชวนพูดเรื่องข้อพึงระวังอย่าให้เกิดขึ้น   โดยพูดจากประสบการณ์การทำงานครั้งก่อนๆ   และเช่นเดียวกัน อาจชวนให้เล่าเรื่องประสบการณ์การทำงานคล้ายๆ กัน ที่เกิดผลดีเกินคาด   ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร   โดยที่ทั้งหมดนั้นเป็นการตีความของผู้เล่า    โดยหากมีการพูดถึงข้อผิดพลาด ต้องไม่มีการชี้มูลความผิดไปที่บุคคลใดอย่างเด็ดขาด 

          ต้องไม่ลืมว่า กระบวนการ BAR และ AAR มีเป้าหมายค้นหาความรู้   ไม่ใช่ค้นหาฮีโร่หรือหาคนผิด   เราต้องการค้นหาความรู้จากการลงมือทำ   ที่ได้ทำร่วมกัน   สำหรับเอาไว้ใช้งานต่อ

          ที่จริง ๕ คำถามของ AAR มีคำถามที่ซ่อนประเด็นเชิงความล้มเหลวอยู่แล้ว   เพราะคำถามเหล่านั้นได้แก่

๑.   เป้าหมาย (ของทีมงาน และของตนเอง) ในการทำงานนี้ คืออะไรบ้าง   มีคำว่า “บ้าง” เพื่อบอกความเป็นพหูพจน์ของเป้าหมาย   ให้เห็นความซับซ้อนหลากหลายของเป้าหมาย


๒.   เป้าหมายข้อใดที่บรรลุมากเกินคาด   คือได้ผลดีเกินคาด   เพราะเหตุใด 


๓.   เป้าหมายข้อใดที่บรรลุผลน้อย หรือไม่ได้ผลเลย   เพราะเหตุใด


๔.   หากจะมีการทำงานเช่นนี้อีก   มีคำแนะนำให้ปรับปรุงตรงไหนบ้าง 


๕.   จะเอาความรู้หรือประสบการณ์อะไรบ้างไปใช้งานต่อในหน้าที่ของตนเอง   ซึ่งข้อนี้ “คุณอำนวย” ของวง AAR อาจขยายคำถาม   เป็นว่านอกจากความรู้ที่ตนเองเอาไปใช้แล้ว   จะแนะนำต่อหน่วยงานให้เอาความรู้ส่วนไหนไปใช้งานใด 

          จะเห็นว่า ในคำถาม AAR ข้อ ๓ และ ๔ ได้มีส่วนของความล้มเหลวหรือปัญหาซ่อนอยู่แล้ว   แต่เราทำให้มันออกมาในบรรยากาศเชิงบวก   และมองเป็นความท้าทายมากกว่าเป็นปัญหา  

          จะเห็นว่า เครื่องมือ KM ไม่ใช่ชวนให้มองโลกด้านเดียว   เป็นด้านดีไปหมด   เรามองส่วนที่ยังไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อยด้วย   แต่เราไม่ใส่สีดำ (ซึ่งเป็นสีแห่งความหมดหวัง) ลงไปตรงนั้น   เราใส่สีเขียวคือสีแห่งโอกาส   มองส่วนที่ยังได้ผลน้อยเป็นส่วนที่เรามีโอกาสทำให้ได้ผลดีกว่าเดิมในโอกาสต่อไป

 

วิจารณ์ พานิช
๒๕ ก.ย. ๕๒

                     

คำสำคัญ (Tags): #aar#521103#bar#km วันละคำ
หมายเลขบันทึก: 310793เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2009 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณครับ อาจารย์หมอ

ช่วงนี้กำลังต้องใช้พอดี

ขออนุญาตนำไปปรับใช้นะครับ

สวัสดีึครับ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า part ของ Lesson learnt หรือส่วนที่นำเอาอุปสรรค และการแก้ปัญหามา share มีประโยชน์มากกว่าเรื่อง positive ตั้งแต่การเกิด awareness และ พฤติกรรมที่จะมีการเปลี่ยนแปลง (เรื่อง positive ทำให้ผ่อนคลาย แต่อาจจะไม่ทำให้ "พฤติกรรมเปลี่ยน" สักเท่าไร เพราะเกิด mentality ของ if not broken, ain't fix it ขึ้น)

ใน Servant Leadership ของ Greenleaf เคยเล่าว่าบางครั้งใน class เรียน ครูอาจจะ "จงใจ" นำนักศึกษาเข้าป่าดงพงไพร เพื่อกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเรียนรู้ด้วยซ้ำ หากรู้สึกว่าชีวิตราบเรียบ ประสบแต่เรื่องถูกต้อง เหมาะสมมากเกินไป

อีกประการ ผมคิดว่า ในอารมณ์ที่ท้อแท้ หดหู่ หรือเสียใจ ไม่ใช่อารมณ์ที่เราพึงหลีกเลี่ยงเสียเสมอไป แต่เป็นอารมณ์ที่เราสามารถนำมาเผชิญหน้า เรียนรู้ และรับรู้่ว่าเราจี๊ด เราหงุดหงิด เราเศร้า เพราะมันเกิดขึ้นจริงๆ และ nothing wrong with it การที่คนเรามีอารมณ์ลบ ไม่ใช่เรื่องเสียหายหากเราได้เรียนรู้ และสามารถมีบริบทที่เรารับรู้อารมณ์เหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย ดีกว่าหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงมันเพียงเพราะมันเป็นอารมณ์ลบ

คิดแบบนี้อาจจะเป็นเพราะผมทำ palliative care และการร้องไห้ เสียใจ depress เป็น bread & butter เป็น "ปกติ" ของมนุษย์ที่เรามีอารมณ์เหล่านี้ และสามารถแสดงออกมาได้อย่างเหมาะสม จะเป็นการเยียวยาที่ดีที่สุด

จึงนำมาแลกเปลี่ยนครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท