กฎหมายอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน(ตอนที่ 3)


กฎหมายอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน(ตอนที่ 3)

5. ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ
                ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนนั้นอาจจำแนกได้ดังนี้
                5.1 ความผิดฐานเรียกค่าไถ่

การเรียกค่าไถ่บุคคลเป็นการกระทำต่อเสรีภาพของมนุษย์กฎหมายจึงลงโทษผู้ซึ่งเอาเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไป หรือเกิน 15 ปีแล้ว แต่โดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำ ผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังบุคคลใด ทั้งนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ซึ่งเป็นความผิดทันที แม้จะยังไม่ได้ค่าไถ่หรือติดต่อเรียกค่าไถ่ก็ตาม อัตราโทษในการกระทำความผิดฐานเอาตัวเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 30,000-40,000 บาท  ถ้าเอาตัวบุคคลอายุกว่า 15 ปีไป โดยใช้อุบาย หลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต
                5.2 ความผิดฐานพรากเด็ก
             ความผิดฐานนี้เป็นการพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยปราศจากเหตุอันสมควรไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล การ "พราก" ในที่นี้หมายถึง การเอาตัวเด็กไปจากการดูและเป็นการถาวร นอกจากนี้กฎหมายยังลงโทษผู้ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากไว้โดยทุจริตอีกด้วย และถ้าทำไปเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจารก็มีโทษหนักขึ้นอีกด้วย อัตราโทษในการกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 15 ปี และปรับตั้งแต่ 6,000-30,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5–20 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-40,000 บาท
                5.3 ความผิดฐานพรากผู้เยาว์
             การพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี ไม่เกิน 18 ปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย เป็นความผิด และนอกจากนี้กฎหมายยังลงโทษรวมไปถึงผู้ซื้อจำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากไว้โดยทุจริตและจะต้องรับโทษหนักขึ้น หากเป็นการกระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร และแม้ในกรณีที่ผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย หากเป็นการทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจารแล้ว ก็ยังถือเป็นความผิดนั้นเอง และกฎหมายยังลงโทษรวมไปถึงผู้ที่ซื้อ จำหน่วย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากไว้โดยทุจริตอีกด้วย การกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000-20,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3–15 ปี และปรับตั้งแต่ 6,000-30,000 บาท หากการพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี ไม่เกิน 18 ปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000-20,000 บาท
                5.4  ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง
             โดยทั่วไปแล้วการฉ้อโกงนั้นหมายถึง การกระทำโดยทุจริตโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้ฟัง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สิน จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่ 3 หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามทำถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ หากการกระทำดังกล่าวเป็นการฉ้อโกง มีความผิดตามกฎหมาย หากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยแสดงตนเป็นคนอื่น หรืออาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวงแล้ว ผู้นั้นจะต้องรับโทษหนักขึ้น

จะเห็นได้ว่า กฎหมายอาญานั้น หากเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนแล้วกฎหมายจะบัญญัติไว้ให้มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ ถ้า เด็กหรือเยาวชนเป็นผู้กระทำความผิดแล้วกฎหมายก็จะยกเว้นโทษหรือลดโทษให้ หรือศาลอาจใช้วิธีการสำหรับเด็กได้ และถ้ากรณีเด็กและเยาวชนเป็นผู้เสียหายแล้ว กฎหมายก็มีการคุ้มครองเป็นพิเศษเช่นกัน โดยกำหนดไว้ว่าการกระทำดังกล่าว เป็นความผิด หรือกรณีที่จะต้องรับโทษหนักขึ้น แสดงให้เห็นว่ากฎหมายอาญาของไทยให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนเป็นกรณีพิเศษ

6.  ความผิดเกี่ยวกับเพศและฐานทำให้แท้งลูก
                มาตรา 301  หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                มาตรา 302  ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
              ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
             ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
                มาตรา 303  ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นไม่ยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท
       ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
                มาตรา 304  ผู้ใดเพียงแต่พยายามกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 วรรคแรก ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
                มาตรา 305  ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา  301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์ และ
 (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ
 (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด

บทสรุป

              ความมุ่งหมายที่สำคัญของการดำเนินคดีอาญา แก่เด็กและเยาวชน นั้น มีอยู่ 2 ประการคือ ประการแรกเพื่อพิสูจน์ว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นเป็นผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ และประการที่สอง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมต่อการแก้ไข บำบัด และปกป้องสวัสดิภาพเด็กและเยาวชนผู้ที่ถูกดำเนินคดีมิให้เป็นผู้กระทำผิดในอนาคต ซึ่งความมุ่งหมาย ในประการที่สองนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของการลงโทษเพื่อแก้ไขหรือฟื้นฟูผู้กระทำผิด (reformation or rehabilitation) และนำมาใช้กับเด็กและเยาวชนที่กระทำการอันเป็นความผิดเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมเป็น การเฉพาะตัวโดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการลงโทษ หรือวิธีการ เพื่อความปลอดภัยดังเช่นผู้กระทำผิดซึ่งเป็นผู้ใหญ่เสมอไป ด้วยเหตุนี้บทบัญญัติในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 จึงมีมาตรการที่จะหลีกเลี่ยง การฟ้องคดี การดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาดังเช่นคดีธรรมดา แต่เปลี่ยนมาเป็นการคุมประพฤติแทนการฟ้องคดี การลงโทษจำคุก หรือใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย หรือ การใช้วิธีการสำ หรับเด็กให้เหมาะสมเฉพาะรายแทนการลงโทษ เป็นต้น ส่วนการดำเนินกระบวนพิจารณาก็มุ่งจะปกป้องผลเสียจากการถูกดำเนินคดี ดังนั้นเด็กหรือเยาวชนจึงต้องมีเจ้าพนักงานหรือศาล พิจารณาเป็นพิเศษ โดยรูปแบบของการพิจารณามีลักษณะไม่เป็นทางการและเป็นการพิจารณาลับโดยมุ่งหมายที่การคุ้มครองสวัสดิภาพและให้การสงเคราะห์เด็ก หรือเยาวชนมากกว่าการค้นหา ความจริงเพื่อมุ่งผลในการลงโทษ
                จะเห็นได้ว่ามาตรการในกฎหมายและความประสงค์ของการจัดตั้ง ศาลคดีเด็กและเยาวชน หรือในปัจจุบันเรียกว่า ศาลเยาวชนและครอบครัว นั้น เพื่อ กำหนดศาลและวิธีพิจารณาเป็นพิเศษให้เหมาะสมกับการดำเนินการต่อเด็กหรือเยาวชน โดยมุ่งหมายที่การสงเคราะห์และฟื้นฟูผู้กระทำมากกว่าการลงโทษ แต่ข้อที่พึงตระหนักก็คือ มาตรการทั้งหลายเหล่านี้จะบรรลุวัตถุประสงค์ได้จะต้องอาศัยบุคลากรของรัฐที่ทำหน้าที่ตั้งแต่สืบเสาะข้อเท็จจริง การสอบสวน การคุมประพฤติ และการกำหนดเงื่อนไขในการใช้วิธีการสำหรับเด็ก ซึ่งบุคลากรเหล่านี้จะต้องมีความเข้าใจและรู้จักวิธีการที่จะปรับปรุงแก้ไขเด็กหรือเยาวชนให้เป็นคนดีต่อไป ดังนั้นถ้าบุคลากรเหล่านี้ขาดความดูแลเอาใจใส่หรือไม่เข้าใจในความประสงค ์ของกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนก็จะขาดประสิทธิภาพไป นอกจากนี้บทบาทของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมดูแล พฤติกรรมของเด็กหรือเยาวชนให้อยู่ในกรอบจารีตประเพณีและกฎหมาย หากท่านเหล่านี้ละเลยหน้าที่อันสำคัญจนเป็นเหตุให้เด็กหรือเยาวชนตกอยู่ในสภาวะหรือสภาพที่โน้มนำไปในการ ดำเนินพฤติกรรมแบบอาชญากรแล้ว การแก้ไขเยียวยาในทางกฎหมายอาจช้าเกินกว่าจะแก้ไขได้ ดังนั้น ความ ร่วมมือของทั้งบิดามารดาหรือผู้ปกครองและการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ ของเจ้าพนักงาน และศาลเยาวชนและครอบครัวจะเป็นปัจจัยสำคัญๆ ต่อการป้องกันมิให้เด็กหรือเยาวชนตกอยู่ในสภาวะที่จะกระทำการอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายอาญา

 

บรรณานุกรม

ปกรณ์  มณีปกรณ์,พันตำรวจโท.  (2550).  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป.  กรุงเทพฯ:

                ห้างหุ้นส่วนจำกัดเวิลด์เทรด ประเทศไทย. 

พรพิมล  บุญนิมิต.  (2541).  การสร้างชุดการสอนเรื่อง กฎหมายแพ่งสำหรับเยาวชน ในรายวิชา

                ส 043 กฎหมายน่ารู้ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดราชาธิวาส    

                กรุงเทพมหานคร.  วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรและการสอน)    

                มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ราชบัณฑิตยสถาน.  (2544).  พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.  กรุงเทพ:

                ห้างหุ้นส่วนจำกัดอรุณการพิมพ์.

สุโขทัยธรรมาธิราช,มหาวิทยาลัย.  (2539).  เอกสารการสอนชุดวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ

                กฎหมายทั่วไปหน่วยที่ 1-8.  นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

หยุด  แสงอุทัย.  (2535).  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป.  กรุงเทพฯ: ประกายพฤกษ์

http://www.bp-smakom.org/BP_School/Social/Law1/Law-General.htm 

               (วันที่ 18  มิถุนายน 2551). 

http://www.pslc.coj.go.th/PSLC%202/SourceLaw.htm  (วันที่ 18  มิถุนายน  2551).

หมายเลขบันทึก: 310411เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2009 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชัดดีครับ ขอบคุณในความรู้

อยากถามเป็นความรู้กรณีศึกษา

1.ช.อายุ 16 ปี และ ญ.อายุ 16 ปีได้หนีออกจากบ้านหายกันไป 1 คืน

(วันแรกเวลา 3ทุ่ม-แล้วกับมาที่บ้านฝ่ายชาย 8โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น)

2.แม่ฝ่าย ญ.มาตามบ้านฝ่าย ช.(เวลา5ทุ่มที่รู้ว่าหายไป) และแจ้งความว่า ญ. หายออกไปจากบ้านกับ ช. (เวลาเช้าของวันรุ่งขึ้น)

3.ตอนเวลา1-2ทุ่มของวันที่2 แม่ ช.โทรตามแม่ ญ. ให้มารับตัว ญ.

ในช่วงตอนเวลา2-3ทุ่มของวันที่ 2 แม่ ช.พา ญ.ไปพบตำรวจเพื่อลงบันทึกว่าเด็กไม่กล้ากับบ้านจะไปส่งก็ไม่กลับ

เนื่องจากกลัวแม่ตีและทำร้ายตนเหมือนที่เคยโดนมาก่อนหน้านี้ โดยทาง ช.ไม่ได้กักขังหรือหน่วงเหนี่ยว ญ. ไว้

โดยที่ ญ.อยู่กับแม่ ช.ตั้งแต่บ่ายโมง จนถึงเวลาที่แม่ ญ.มารับตัว ญ.กลับไป

4.สุดท้ายมารู้ความจริงจาก ช. และ ญ. ว่าได้เสียกันแล้ว 1 ครั้ง

5.เมื่อแม่ ญ.รับตัว ญ.ไปแล้ว เช้าวันที่ 3 ก็พา ญ.ไปตรวจร่างกายและตรวจภายใน รอผลตรวจจากแพทย์อีกหลายวันจึงจะทราบผล

6.อยากทราบว่าถ้าเหตุการณ์เป็นแบบนี้แล้วทางฝ่าย ญ. จะทำอย่างไร จะเอาเรื่องได้ไหม

7.และทางฝ่าย ช. ควรทำอย่างไร ถ้าทางฝ่าย ญ.จะเอาเรื่อง จะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 283 ทวิ วรรคแรก "ผู้ใดพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่ออนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ความผิดในวรรคนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ครับ

ตามคำถามและเหตุการณ์ข้างต้น มีการะทำอนาจารและกระทำชำเราหญิงอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี โทษและผลการกระทำก็เป็นไปตามกฎหมายที่อ้าง เป็นคำแนะนำเบื้องต้นครับนะครับถ้าจะให้ชัดเจนควรปรึกษาทนายความครับ

ขอบคุณมากคะ จะนำข้อมูลไปแข่งขันเรื่องกฎหมายอยู่พอดีเลยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท