The Outliners VS ปืนบ่มีลูก : Malcolm Gladwell VS สมัย อ่อนวงศ์


ไวโอลิน มันมีสี่สาย เอาไปสีใส่ควาย...

ผมเป็นแฟนหนังสือของ Malcolm Gladwell ครับ เคยเขียนถึงงานของเขาในบันทึกของผมด้วย

http://gotoknow.org/blog/phd-life/126640

The Outliners เป็นเล่มล่าสุดของเขาครับ วางแผงมาได้สักพัก ล่าสุดเห็นแวบๆ ว่ามีผู้แปลเป็นภาษาไทยแล้ว

Outliners วิเคราะห์ ความสำเร็จของคน ครับ

ตำรา, หนังสือประเภท Howto มักจะบอกว่า คนจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยในตัวเขา ประเภท "อุปนิสัยเจ็ดประการ" เป็นต้น

คุณมัลคอล์มบอกไว้ในหนังสือว่า คนที่จะประสบความสำเร็จอยู่แถวหน้านั้น มีแค่ความตั้งใจ ความขยัน ความฉลาด แค่นั้นไม่พอ สิ่งที่สำคัญมากที่จำเป็นต้องมีคือ "โอกาส"

โอกาสที่เหมาะสม เข้ามาในช่วงชีวิตที่เหมาะสม ผนวกกับความสามารถที่คนคนหนึ่งมี เป็นปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ

บางครั้งโอกาส เกิดจากการสร้างเอง แต่หลายหน โอกาสก็เป็นเรื่องของความบังเอิญ, ความประจวบเหมาะ

อยากให้ลองหาอ่านดูนะครับ วิธีที่ มัลคอล์ม แจกแจงข้อสมมติฐาน และหาเหตุผล หลักฐานมารองรับสมมติฐานนั้นๆ สามารถเอามาประยุกต์ใช้กับการเขียนเชิงวิชาการของเราได้อย่างดี

ส่วนตัวผมเองไม่ชอบประเด็น "ประสบความสำเร็จ" ในแง่ที่ว่า ร่ำรวย มีชื่อเสียง แต่หากเราประยุกต์เนื้อหาที่ได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้มาสู่เรื่องการจักการศึกษา ก็เป็นประเด็นที่น่าคิดครับ

การศึกษา ในความหมายที่ผมสมาทานนั้น มันคือ การจัดให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้กับผู้เรียน, ครู คือ "ผู้จัด" ให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ปลอดภัย และหลากหลาย

(หรือสรุปเป็นคำเดียวได้ว่า "ประสบการณ์การเรียนรู้อันเกษม" อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/siam-ohp/180490)

หากเปลี่ยนคำ "ผู้จัด" เป็น "ผู้สร้างโอกาส" ให้เกิดการเรียนรู้อันเกษม ผมว่าได้มุมมองที่กว้างและน่าสนใจขึ้นอีกเยอะเลยครับ มันทลายกรอบเดิมที่เคยจำกัดว่า ผู้เรียนต้องเรียนรู้อะไรบ้าง ครูต้องจัดอะไรให้บ้าง มาเป็น วิธีคิดที่มองว่ามีโอกาสการเรียนรู้อยู่มากมายให้ผู้เรียนเลือกที่จะเรียนรู้ในโอกาสอันหลากหลายนั้น พอปัจจัยทุกอย่างมา "สบสังวาสสโมสร" กัน ผู้เรียนก็จะเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาไปเป็นพุทธิปัญญา อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการศึกษา (ในมุมมองของผม)

แน่นอนผู้เรียนต้องมีธาตุอันเหมาะสมที่จะเรียนรู้ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้น ผนวกเข้ากับโอกาสที่หลากหลาย ในห้องเรียน ในชุมชน ในระบบกิจกรรมของมหาวิทยาลัย, โรงเรียน, ในฐานข้อมูลขนาดมหึมาบนเครือข่ายอินเทอร์เนต โดยมีครูเปิดโอกาส และสร้างสภาวะอันเกษม ปัจจัยเหล่านี้ล่ะครับ พอมาสบกันเข้า กลไกการสร้างปัญญาก็เกิดขึ้น

สุดท้ายขอสรุปด้วยบทเพลงของสมัย อ่อนวงศ์ นะครับ

 

เพลงนี้เขียนโดยครู กานต์ การุณวงศ์ ครับ เนื้อเพลงคมคาย ลึกซึ้ง และมีอารมณ์ขัน นี่คือเอกลักษณ์อันโดดเด่นและมีเสน่ห์เหลือเกินของภูมิปัญญาไทยเราครับ

http://www.imeem.com/preem-preem/music/VLTzuYx1//

สรุปสิ่งที่ Outliners บอกไว้ทั้งเล่มในเพลงลูกทุ่งท่อนเดียวว่า...สิ่งต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง มีการอิงอาศัยกันของปัจจัยหลายอย่างที่มาสบกันในปริมาณ พอดี ถูกที่ ถูกเวลา ถูกคน ไม่ยังงั้น ก็จะเป็นไปอย่างที่เพลงว่านั้นล่ะครับ

ปืนบ่มีลูก ยิงถูกก็บ่ตาย

ซอบ่มีสาย สีได้ก็บ่ดัง

.....

ปืนมีลูก ยิงบ่ถูก บ่ตาย

ซอมีสาย เอาแขวนไว้ก็บ่ดัง

ไวโอลิน น้้นก็มีสี่สาย

เอาไปสีใส่ควาย ควายใด๋มันสิฟัง

หมายเลขบันทึก: 310284เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2009 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท