กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน (ตอนที่ 2)


กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน (ตอนที่ 2)

3.  นิติกรรมและความสามารถของผู้เยาว์
                3.1  ความหมายและลักษณะของนิติกรรม  

                นิติกรรม คือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ ซึ่งสามารถแยกประเภทของ   นิติกรรมออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
                              1.  นิติกรรมฝ่ายเดียว คือ นิติกรรมที่เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายเดียวและมีผลตามกฎหมาย เช่นคำมั่นโฆษณาจะให้รางวัล การรับสภาพหนี้ การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ คำมั่นจะซื้อหรือจะขายการทำพินัยกรรม การบอกกล่าวบังคับจำนอง
                               2.  นิติกรรมสองฝ่าย คือ นิติกรรมที่เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป เป็นคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกันเกิดเป็นนิติกรรมสองฝ่าย ซึ่งเรียกว่า “สัญญา”                      

                จากความหมายดังกล่าว สิ่งที่จะเป็นนิติกรรมได้จะต้องมีลักษณะดังนี้

                                1.  มีการกระทำ ถ้าไม่มีการกระทำแล้วนิติกรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น นายต้นต้องการซื้อรถยนต์ในร้าน จึงเดินไปบอกพนักงานขายขอซื้อรถยนต์ การกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งโดยวาจา  หรือนายเม่น เห็นเด็กขายหนังสือพิมพ์เดินมาจึงกวักมือเรียกและส่งเงินให้เด็กแล้วจึงรับหนังสือพิมพ์มาโดยมิได้พูดจาอะไร เช่นนี้เป็นการแสดงเจตนาโดยการแสดงกริยาอาการออกมาโดยชัดแจ้งแล้ว จาก 2 กรณีตัวอย่างถือว่าถึอว่ามีการกระทำหรือมีนิติกรรมเกิดขึ้นแล้ว

                                2.  การกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย หากการกระทำนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วก็ไม่ถือเป็นนิติกรรม เช่น การด่าผู้อื่นถือเป็นการกระทำอย่างหนึ่งแต่การด่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การด่าจึงไม่เป็นนิติกรรม

                                3.  การกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำด้วยใจสมัคร กล่าวคือ ผู้กระทำต้องแสดงเจตนาที่จะทำนิติกรรมหากผู้กระทำไม่แสดงเจตนาที่จะทำนิติกรรมแล้ว นิติกรรมย่อมไม่เกิดขึ้น

                                4.  ผู้กระทำต้องมีเจตนาที่จะผูกนิติสัมพันธ์ (นิติสัมพันธ์ หมายถึงเกี่ยวข้องกันโดยกฎหมาย) ระหว่างบุคคล เพื่อก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิ หรือระงับไว้ซึ่งสิทธิ

                                ตัวอย่าง  เขียว ตกลงจะขายรถจักรยานยนคันหนึ่งให้ เหลือง ข้อตกลงนี้ย่อมถือเป็นนิติกรรม คือเป็นเหตุให้ เหลือง มีสิทธิเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์แทนเขียว ส่วนเขียวก็มีสิทธิได้รับชำระราคาค่ารถจักรยานยนต์จากจากเหลือง

                นิติกรรมอาจแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้

                                1.  นิติกรรมฝ่ายเดียว และนิติกรรมสองฝ่าย

                                     (1)  นิติกรรมฝ่ายเดียว หมายถึงนิติกรรมที่เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายเดียว เช่น การทำพินัยกรรม เป็นต้น

                                     (2)  นิติกรรมสองฝ่าย หมายถึงนิติกรรมที่เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคล ตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป เช่นสัญญาต่างๆ

                                2.  นิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำมีชีวิตอยู่ และนิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำตายแล้ว

                                     (1)  นิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำมีชีวิตอยู่ เช่น สัญญาซื้อขาย จำนำ จำนอง เป็นต้น

                                     (2)  นิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำตายแล้ว เป็นนิติกรรมที่จะไม่เกิดผลบังคับจนกว่าผู้ทำนิติกรรมตายไปแล้ว เช่น พินัยกรรม

                                3.  นิติกรรมที่มีค่าตอบแทน และนิติกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทน

                                     (1)  นิติกรรมที่มีค่าตอบแทน หมายถึงนิติกรรมสองฝ่ายซึ่งต่างฝ่ายต่างมีประโยชน์ตอบแทนซึ่งกันและกัน เช่น สัญญาซื้อขาย ฝ่ายผู้ซื้อต้องชำระราคา ฝ่ายผู้ขายต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขาย

                                     (2)  นิติกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทน หมายถึงนิติกรรมซึ่งคู่กรณีฝ่ายหนึ่งไม่ต้องให้ประโยชน์ตอบแทนอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น การให้โดยเสน่หา ผู้รับไม่ต้องให้ประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้

   3.2  หลักทั่วไปในการทำนิติกรรมของผู้เยาว์

                กฎหมายได้วางหลักทั่วไปไว้ว่า “ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ โดยลำพังตนเองไม่ได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน ในกรณีที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆียะ”

                ผู้แทนโดยชอบธรรมคือใคร

                กฎหมายบัญญัติให้ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร และผู้ใช้อำนาจปกครองนี้ก็คือบิดา มารดาของผู้เยาว์นั่นเอง ดังนั้น ตามปกติ บิดาและมารดาจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ เว้นแต่ในบางกรณีอำนาจปกครองอยู่กับบิดามารดาคนใดคนหนึ่ง หรือในบางกรณีผู้เยาว์ตกอยู่ในความปกครองของผู้ปกครองซึ่งมิใช่บิดามารดา ผู้ปกครองจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์

               การให้ความยินยอมของผู้แทนดดนชอบธรรม

                           1.  กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าการให้ความยินยอมจะต้องทำอย่างไร ดังน้นผู้แทนโดยชอบธรรมจึงอาจให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยวาจา หรืออาจให้ความยินยอมโดยปริยายก็ได้

             “การให้ความยินยอมโดยปริยาย” หมายความว่า ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้แสดงออกโดยชัดแจ้งว่ายินยอมให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรม แต่ได้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการยินยอมให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรม เช้น กรณีที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมเป็นหนังสือ ผู้แทนโดยชอบธรรมได้ลงมือชื่อเป็นพยานในหนังสือด้วย เช่นนี้ ถือได้ว่า ผู้แทนโดยชอบธรรมได้ให้ความยินยอมโดยปริยาย

                           2.  ผู้แทนโดยชอบธรรมจะให้ความยินยอมแก่ตัวผู้เยาว์หรือคู่กรณีที่ผู้เยาว์เข้าทำนิติกรรมด้วยก็ได้

                           3.  การให้ความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม จะต้องให้ก่อนที่ผู้เยาว์แสดงเจตนาทำนิติกรรม แต่ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมในขณะที่ผู้เยาว์แสดงเจตนาทำนิติกรรม ก็ถือว่ามีผลเช่นเดียวกันกับให้ความยินยอมก่อนผู้เยาว์ทำนิติกรรมเหมือนกัน ส่วนการที่ผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมถายหลังที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมแล้ว ไม่ถือว่าเป็นการให้ความยินยอม แต่เป็นการให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม

                การทำนิติกรรมของผู้เยาว์ถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะ

                          ก.  ผู้เยาว์ที่ยังไม่มีความรู้สึกผิดชอบ

             ระยะนี้เริ่มตั้งแต่เกิดเป็นเด็กทารกผู้เยาว์อยู่ในภาวะที่ไม่มีความสามารถในการใช้สิทธิและปฎิบัติหน้าที่อันเนื่องมาจากธรรมชาติ เป็นระยะที่ยังไม่มีความรู้สึกผิดชอบ ขาดความสามารถในการแสดงเจตนา จึงไม่อาจทำกิจการใดอันมีผลในทางกฎหมายได้ หากทำนิติกรรม นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะเพราะขาดเจตนา การทำนิติกรรมของผู้เยาว์ในระยีน้ถูกจำกัดโดยสิ้นเชิง ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมกระทำแทน

                        ข.  ผู้เยาว์ที่มีความรู้สึกผิดชอบแล้ว

ระยะนี้แม้ผู้เยาว์จะมีอายุมากขึ้นและรู้สึกผิดชอบแล้ว แต่ความคิดความรู้ ความชำนาญ   ไหวพริบ ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะปล่อยให้ใช้สิทธิตามลำพังได้ กฎหามยจึงบัญญัติให้เป็นบุคคลหย่อนความสามารถ ถูดตัดทอนการใช้สิทธิ หากจะใช้สิทธิหรือทำกิจการใดก็ให้แสดงเจตนาทำนิติกรรมด้วยตนเอง โดยไม่ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมทำแทนเสมอไป แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมช่วยเหลือของผู้แทนโดยชอบธรรม โดยการให้ผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมเสียก่อน นิติกรรมนั้นจึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย สำหรับปัญหาว่าผู้เยาว์อายุเท่าไรจึงถือว่าสามารถทำนิติกรรมดังกล่างได้โดยลำพังตนเองนั้น เช่นผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุ15ปีบริบูรณ์จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆไป

3.3    นิติกรรมที่ผู้เยาว์กระทำได้ด้วยตนเอง

             กฎหมายมีบทบัญญัติเป็นข้อยกเว้นจากหลักทั่วไปไว้ให้ผู้เยาว์ทำนิตกรรมประเภทที่มีความจำเป็นโดยสภาพหรือโดยเหตุสมควรได้ตามลำพัง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมเหล่านี้ได้แก่

                                2.3.1  นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้มาซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง  กล่าวคือได้มาโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ เช่นการรับทรัพย์สินที่มีบุคคลอื่นยกให้ผู้เยาว์โดยเสน่หา หรือปลดนี้ให้โดยเสน่หา คือไม่มีภาระผุกพันใดๆ ผู้เยาว์ย่อมรับทรัพย์สิน หรือปลดหนี้นั้นได้ เช่น เขียว  เป็นผู้เยาว์ได้เงินจำนวน 10,000 บาท ซึ่ง ดำ ยกให้  เงินจำนวนนี้ให้โดยเสน่หา  ดำได้ส่งมอบให้แก่ตัวเขียวเอง  เขียวรับไว้โดยมิได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม

                                2.3.2  นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นหน้าที่อันใดอันหนึ่ง การหลุดพ้นจากหน้าที่นั้นต้องเป็นการหลุดพ้นโดยเด็ดขาด โดยจะต้องไม่มีภาระหน้าที่หรือเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตาม เช่นการปลดหนี้ของเจ้าหนี้ ตัวอย่าง กิ่ง ผู้เยาว์เป็นหนี้ ก้าน อยู่ 10,000 บาท ก้านยอมปลดหนี้ 10,000 บาทให้แก่ กิ่ง กิ่งอาจทำสัญญาปลดหนี้กับก้านได้โดยลำพัง ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน

                                2.3.3  นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว  การที่ต้องทำเองเฉพาะตัว หมายความว่า นิติกรรมนี้เองเกิดขึ้นได้โดยการแสดงเจตนาโดยสมัครใจของผู้เยาว์เท่านั้น หรือเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัวของบุคคล ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่มีสิทธิแสดงเจตนาแทนได้ และผู้อื่นก็จะทำแทนไม่ได้ เช่น

                                                (1)  การรับรองบุตร การรับรองบุตรอาจมีขึ้นในกรณีที่ผู้เยาว์อยู่กินฉันสามีภริยากับหญิงโดยมิได้สมรสกันแล้วเกิดมีบุตรขึ้น ผู้เยาว์จะจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร เช่น กุ้ง เป็นผู้เยาว์ อายุ 17 ปี อยู่กินฉันสามี ภริยา กับ นางสาวลูกปลา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตร 1 คน ชื่อ เด็กชายลูกปู ดังนี้ กุ้ง ผู้เยาว์ จะจดทะเบียนว่าลูกปูเป็นบุตร ก็ย่อมทำได้ แม้มิได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม

                                                (2)  การทำพินัยกรรม  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุ 15 ปีบริบูรณ์ หากผู้เยาว์ทำพินัยกรรมโดยที่อายุยังไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ ย่อมตกเป็นโมฆะ

                                2.3.4  นิติกรรมที่จำเป็นเพื่อการเลี้ยงชีพของผู้เยาว์  เช่น  การเช่าหอพัก และซื้อาหารรับประทาน การซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับการศึกษา นักเรียนจ่ายเงินเป็นค่ารถยนต์โดยสารประจำทางเพื่อไปโรงเรียนและกลับบ้าน เป็นต้น ข้อสำคัญต้องพอสมควรแก่ฐานานุรูป และจำเป็นเพื่อเลี้ยงชีวิตตามสมควร ที่ว่าสมควรแกฐานานุรูปนั้น หมายความว่าเหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของผู้เยาว์และฐานะทางการเงินของผู้เยาว์ด้วย เช่นผู้เยาว์มีฐานะรายได้พอสมควร จะซื้อรถจักรยานขับขี่ไปโรงเรียน ก็ถือว่าเป็นการจำเป็นและสมควรแก่ฐานะ ย่อมทำได้

   3.4  ปัญหาเกี่ยวกับการทำนิติกรรมของผู้เยาว์และความรับผิดทางแพ่ง 

              ปัญหาเกี่ยวกับการทำนิติกรรมของผู้เยาว์ หมายถึง การที่นิติกรรมที่ผู้เยาว์ทำไปตกเป็นโมฆียะ หรือเป็นโมฆะ นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ หมายความว่า การกระทำที่ได้ก่อขึ้นนั้นมีผลเป็นนิติกรรมตามกฎหมาย ไม่สูญเสียเปล่าไปเลยทีเดียว แต่นิติกรรมนั้นอาจถูกบอกล้างเสียได้ ซึ่งจากเงื่อนไขนิติกรรมที่ทำขึ้นอาจถูกบอกล้างเสียได้นี้ ทำให้ถือว่านิติกรรมนั้นยังไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ หรือที่กฎหมายเรียกว่า โมฆียะกรรมนั้น เมื่อถูกบอกล้างนิติกรรมจะเสียเปล่าเป็นโมฆะแต่เริ่มแรก  ปัญหาเกี่ยวกับการทำนิติกรรมของผู้เยาว์มี ดังนี้

                                2.4.1  นิติกรรมที่เป็นโมฆียะซึ่งมีเหตุอันเนื่องจากความสามารถของผู้เยาว์ เช่น นายดำ ได้ยืมเงินจากนายเหลือง โดยที่ตนยังไม่บรรลุนิติภาวะ  และนายแดง ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบทำไม่ทราบเรื่อง การยืมเงินดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ

                                2.4.2  นิติกรรม ที่เป็นโมฆะซึ่งมีเหตุอันเนื่องจากอายุของผู้ทำ กฎหมายได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้ตกเป็นโมฆะหรือโมฆกรรม เช่น เป้ ผู้เยาว์มีอายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนให้ ปู ซึ่งเป็นเพื่อนรัก พินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะ          

                3.5  ความรับผิดทางแพ่ง

                ความรับผิดทางแพ่ง หมายถึง การที่ผู้เยาว์ กระทำผิดทางแพงและถูกบังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายหรือบังคับให้ชำระหนี้ เช่น ดำ ผู้เยาว์ กู้ยืมเงิน แดง ผู้เยาว์ โดยบิดามารดาของ ดำและแดงอนุญาติให้ทำได้มาจำนวน 1000 บาท สัญญาว่าจะใช้คืนภายใน 6 เดือน เมื่อครบ 6 เดือนแล้ว ดำไม่ใช้คืน ดังนี้ ดำผิดนัดไม่ชระหนี้ แดงซึ่งแม้จะเป็นผู้เยาว์ก็มีสิทธิฟ้องต่อศาลขอให้ศาลบังคับ ดำ วึ่งเป็นผู้เยาว์เช่นกันให้ชำระหนี้เงินดังกล่าวให้แก่ แดง ได้

                อีกกรณีตัวอย่างในเรื่องละเมิด เช่น แดงเป็นผู้เยาว์ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อยู่ในรถนั้นต้องได้รับอันตรายต่อร่างกาย ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 10000 บาท ดังนี้ แดงจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวนี้แก่ผู้โดยสารตามกรณีตัวอย่าง แดง เป็นผู้เยาว์ ซึ่งกระทำละเมิดดังกล่าวแก่ผู้โดยสาร แดงต้องรับผิดทางแพ่ง

                สรุปการกระทำในทางแพ่งและความรับผิดทางแพ่ง ของผู้เยาว์

                                             (1)  ผู้เยาว์กระทำผิดทางแพ่ง ต้องรับผิดทางแพ่ง เช่นเป็นหนี้ก็ต้องชำระหนี้ ทำให้เกิดความเสียหายต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

                             (2)  ผู้เยาว์กระทำละเมิดต่อผู้อื่นซึ่งไม่เกี่ยวกับการทำสัญญา เช่น ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บต้องเสียค่ารักษาพยาบาล โดยต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาล

                             (3)  ผู้แทนโดยชอบธรรมต้องร่วมรับผิดทางแพ่งร่วมกับผู้เยาว์ที่กระทำละเมิดด้วยเว้นแต่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว

หมายเลขบันทึก: 310111เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2009 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ

 

ขอบคุณที่มาเยี่ยมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท