ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย(ตอนที่ 4)


ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย(ตอนที่ 4)

3.  ความสำคัญของกฎหมายต่อสังคมและบุคคล 

                                เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันมากๆ ผลประโยชน์มักขัดกันหรือมีการกระทบกระทั่งจากการที่ต่างคนต่างใช้สิทธิ ดังนั้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกในกลุ่มสังคมนั้นๆ จึงจำเป็นต้องมีระเบียบปฏิบัติในกลุ่มของตน ซึ่งระเบียบดังกล่าวนี้เรียกว่ากฎหมาย
                                กฎหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็นของการอยู่รวมกันเป็นสังคมของมนุษย์เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา ขจัดความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนด้วยกันหรือระหว่างรัฐกับประชาชน หรือระหว่างรัฐต่อรัฐ โยมีเจตนารมณ์เพื่อช่วยให้เกิดความสงบเรียบร้อยของสังคม
                                จากการศึกษาประวัติศาสตร์พบว่า แม้ในสังคมโบราณซึ่งมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายก็จำเป็นต้องมีระบบกฎเกณฑ์ข้อบังคับไว้สำหรับจัดระเบียบในการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในสังคม ไม่มีสังคมใดเลยที่ปล่อยให้สมาชิกประพฤติตนอย่างไรก็ได้ตามใจชอบโดยปราศจากกฎเกณฑ์ไว้ควบคุมความประพฤติบางประการที่ไม่เหมาะสมซึ่งเป็นผลร้ายต่อสังคมส่วนรวม ดังนั้นทำให้สรุปได้ว่ากฎหมายมีความสำคัญต่อสังคมเป็นอย่างยิ่งดังมีคำกล่าวไว้ว่า “ที่ใดมีสังคม ที่นั่นต้องมีกฎหมาย”

                                ความสำคัญของกฎหมายต่อสังคม
                                1.  กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศ  ในการปกครองประเทศที่ผู้ใช้อำนาจในการบริหาร  คือ  รัฐบาลซึ่งจะบริหารปกครองประเทศให้เป็นไปด้วยความราบรื่นนั้น  จะต้องอาศัยกฎหมายเป็นหลักให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติตาม  ถ้าประชาชนของประเทศเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด  ก็ย่อมทำให้การบริหารประเทศเป็นไปด้วยดี  และส่งผลให้การพัฒนาประเทศเป็นไปด้วยดี  และส่งผลให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว  เช่น  ประชาชนรู้จักหน้าที่ของตน  ก็จะไปเสียภาษีตรงตามกำหนดเวลา  รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติไว้  ตลอดจนช่วยป้องกันประเทศและช่วยเหลือราชการ  เป็นต้น
                                2.  กฎหมายเป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและประเทศชาติ  เมื่อคนจำนวนมากมาอยู่รวมกัน  ถ้าคนเหล่านี้ทำอะไรตามใจชอบก็ย่อมจะทำให้สังคมวุ่นวาย  แต่เมื่อมีกฎหมายเป็นข้อบังคับของสังคมและประเทศชาติ  ทุกคนต้องปฏิบัติตามก็ย่อมทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสงบสุข  เช่น  เมื่อทุกคนรู้จักสิทธิในชีวิต  ร่างกายและทรัพย์สินของตนเอง  ก็จะไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น  เป็นต้น
                                3.  กฎหมายก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม  กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่เป็นหลักของความยุติธรรม  ในกรณีที่เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้นทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น  ผู้ที่ได้รับความเสียหายก็ย่อมได้รับการชดใช้ค่าเสียหายอย่างยุติธรรม  ตามบทบัญญัติของกฎหมายเมื่อมีการฟ้องร้องคดีกันต่อศาล  ศาลก็จะตัดสินโดยยึดตัวบทกฎหมายเป็นหลัก
                                4.  กฎหมายเป็นหลักในการจัดระเบียบการดำเนินชีวิตให้แก่ประชาชน  ทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขในสังคม  เช่น  การกำหนดให้บุคคลดำเนินการตั้งแต่การแจ้งเกิด  การแจ้งตาย  การแจ้งการย้ายถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายทะเบียนราษฎร  หรือการทำบัตรประจำตัวประชาชน  เป็นต้น
                                5.  กฎหมายเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์  มีกฎหมายหลายฉบับที่กำหนดให้บุคคลต้องปฏิบัติในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพของตนเองและสิ่งแวดล้อม  เช่น  กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาที่กำหนดให้รัฐจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  หรือกฎหมายที่กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เป็นต้น

                                ความสำคัญของกฎหมายต่อบุคคล

                                1.  กฎหมายช่วยกำหนดสิทธิหน้าที่แต่ละบุคคลอย่างเหมาะสม เพื่อจะได้ไม่ใช้สิทธิที่ตนมีอยู่เกินขอบเขต อันจะเกิดการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน อีกทั้งก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคลอื่น กฎหมายจะเป็นเครื่องกำกับดูแลให้ทุกคนอยู่ในกรอบระเบียบอันดีของสังคม

                                2.  กฎหมายมีส่วนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลทุกคนในสังคมตามสถานะและโอกาส จะเห็นได้ว่าการดำเนินชีวิตประจำวัน การประกอบสัมมาอาชีพทุกแขนงย่อมต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ด้วยเหตุนี้การรู้กฎหมายจึงช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพของบุคคล

                                3.  การศึกษาหรือเรียนรู้กฎหมายช่วยเสริมสร้างให้บุคคลเกิดสำนึกในความยุติธรรม  เมื่อบุคคลได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองถูกต้องและครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดและใช้สิทธิที่มีอยู่ในขอบเขตของกฎหมายซึ่งนอกจากช่วยให้บุคคลได้รับประโยชน์โดยตรงแล้วยังช่วย

ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าต่อประเทศชาติสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

                                กล่าวได้ว่าการที่รัฐหรือประเทศมีบทบัญญัติกฎหมายออกมาแล้วประชาชนทุกคนปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดแล้ว  ย่อมส่งผลดีต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข  และเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้ก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง

4.  ผลกระทบที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

                                เนื่องจากกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับสำหรับใช้ควบคุมความประพฤติของบุคคลในสังคม เพื่อให้เกิดความสงบสุขและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการอยู่ร่วมกัน ทุกคนจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากปรากฏว่ามีใครคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนฝ่าฝืนกฎหมาย ความไม่สงบเรียบร้อยย่อมเกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อบุคคลและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจแยกกล่าวเป็นแต่ละด้านได้ ดังนี้

                                ผลกระทบต่อบุคคล  ขอให้นักเรียนดูตัวอย่างง่ายๆ จากข้อปฏิบัติที่กฎหมายกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

                                -  เมื่อเด็กเกิดในบ้าน เจ้าบ้านต้องแจ้งเกิดเพื่อขอออกสูติบัตร การไม่แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา 15 วัน บุคคลย่อมได้รับโทษปรับตามที่กฎหมายกำหนด

                                -  เมื่อบุคคลมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ต้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชน โทษของการไม่ขอมีบัตรประจำตัวประชานภายใน 60 วันนับจากวันที่มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ บุคคลนั้นต้องเสียค่าปรับ

                                -  เมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์ หากเป็นชายที่มีสัญชาติไทยก็ต้องไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินและต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารกองประจำการเมื่ออายุ 21 ปี โทษของผู้ฝ่าฝืนคือต้องถูกจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ

                                -  เมื่อชายหญิงสมัครใจอยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยาก็ต้องจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย ผลของการไม่จดทะเบียนสมนสคือจะไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางด้านทรัพย์สิน สิทธิหน้าที่ระหว่างสามี ภริยา

                                -  เมื่อบุคคลจะประกอบธุรกิจร่วมกันก็ต้องไปจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท การไม่จดทะเบียนย่อมไม่สามารถมีและใช้สิทธิในการประกอบธุรกิจตามกฎหมายได้

                                -  เมื่อบุคคลมีรายได้ก็ต้องมีหน้าที่ต่อรัฐคือเสียภาษีอากร ถ้าหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรย่อมได้รับโทษปรับ

                                -  เมื่อบุคคลตายในบ้าน เจ้าบ้านหรือผู้พบเห็นก็ต้องไปแจ้งทางอำเภอหรือเขตเพื่อขอออกใบมรณบัตร ถ้าไม่แจ้งภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด มีโทษปรับตามที่กฎหมายกำหนด

                                จากตัวอย่างที่ยกมา นักเรียนคงทราบดีว่าถ้าบุคคลละเลยไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น บุคคลผู้มีรายได้หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ย่อมได้รับโทษปรับตามที่กฎหมายกำหนด

                                ผลกระทบต่อสังคม

                                นักเรียนคงทราบดีว่าเมื่อเราอยู่โรงเรียนก็มีข้อบังคับระเบียบวินัยของโรงเรียนกำหนดไว้สำหรับบังคับแก่นักเรียนที่อยู่โรงเรียน ในระดับสังคมหรือระดับประเทศก็ต้องมีกฎหมายกำหนดเอาไว้สำหรับห้ามปรามมิให้มีการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะผลกระทบต่อสังคมนั้นมีมากมาย อาทิ

                                -  การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับชุมชนก่อให้เกิดแหล่งเสื่อมโทรมและเกิดปัญหาต่อเนื่อง ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเด็กทำทารุณกรรม

                                -  การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดก่อให้เกิดมลภาวะจากขยะหรือสิ่งปฏิกูล

                                -  การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ทางน้ำ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทั้งทางน้ำและทางบก ทำความเสียหายต่อเศรษฐกิจของรัฐอย่างมากมาย

                                -  การไม่ปฏิบัติตนตามกฎหมายอาญา เช่น การยกพวกไปทำร้ายร่างกายหรือก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันทำให้สังคมไม่มีความปลอดภัย

                                การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เลยต่อผู้ฝ่าฝืน ตรงกันข้ามมีแต่จะเกิดเป็นผลเสียหายหรือเป็นโทษแก่ผู้กระทำและมีผลกระทบถึงสังคมคือสังคมขาดความสงบเกิดความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต การพัฒนาประเทศเป็นไปได้อย่างล่าช้า       
5.  บทสรุป

                                กฎหมายเป็นกติกาของสังคมที่จะทำให้สังคมมีระเบียบสงบสุข แต่ถ้าหากว่าสมาชิกของสังคมฝ่าฝืนกฎหมายหรือกติกาของสังคมก็จะทำให้สังคมนั้นเดือดร้อน สับสนวุ่นวาย และที่สำคัญสมาชิกของสังคมจำเป็นที่จะต้องรู้กฎหมาย เพราะจะได้รู้จักระวังตนเองไม่ให้พลาดพลั้งกระทำผิดอันเนื่องมาจากไม่รู้กฎหมาย ถ้าทำผิดแล้วต้องรับผิดตามกฎหมายจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ และยังช่วยป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเอาเปรียบและถูกโกงโดยความไม่รู้กฎหมายและยังเป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพและประโยชน์ในทางการเมืองการปกครอง

 

บรรณานุกรม

ปกรณ์  มณีปกรณ์,พันตำรวจโท.  (2550).  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป กรุงเทพฯ 
               ห้างหุ้นส่วนจำกัดเวิลด์เทรด ประเทศไทย. 

พรพิมล  บุญนิมิต.  (2541).  การสร้างชุดการสอนเรื่อง กฎหมายแพ่งสำหรับเยาวชน ในรายวิชา

                ส 043 กฎหมายน่ารู้ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดราชาธิวาส    

                กรุงเทพมหานคร.  วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรและการสอน)    

                มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ราชบัณฑิตยสถาน.  (2544).  พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.  กรุงเทพ:

                ห้างหุ้นส่วนจำกัดอรุณการพิมพ์.

สุโขทัยธรรมาธิราช,มหาวิทยาลัย.  (2539).  เอกสารการสอนชุดวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ

                กฎหมายทั่วไปหน่วยที่ 1-8.  นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

หยุด  แสงอุทัย.  (2535).  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป.  กรุงเทพฯ: ประกายพฤกษ์

http://www.bp-smakom.org/BP_School/Social/Law1/Law-General.htm 

               (วันที่ 18  มิถุนายน 2551).  

http://www.pslc.coj.go.th/PSLC%202/SourceLaw.htm  (วันที่ 18  มิถุนายน  2551).

หมายเลขบันทึก: 310107เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2009 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท