ควรทำอย่างไรเมื่อถูกขอร้องให้การุณยฆาต(Mercy Killing)?(ตอนที่ 1)


“มียาอะหยังก่อ ตี่หื้อเปิ่นกิ๋นแล้วก็หลับสบายๆไปอี้แหนะ...เปิ่นทรมานล้ำ”

ณ ช่วงเวลาบ่ายของวันที่ 29 ตุลาคม 2552 …สมาชิกบุคลากรทีมสุขภาพทั้งหลายที่มีความสนใจในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ก็ได้มารวมตัวกันโดยนัดหมายไว้ล่วงหน้า ที่ห้องประชุมของโรงพยาบาล...วันนี้ เรามีพันธะสัญญากันว่าจะมาทบทวน ทำความเข้าใจถึงระบบของการดูผู้ป่วยระยะสุดท้ายรวมทั้งผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคองถึงแม้จะยังไม่ใช่ระยะสุดท้ายของชีวิตก็ตาม  นอกจากที่เราได้ทบทวนทำความเข้าใจในเรื่องของระบบบริการที่เราทำเป็นแนวปฏิบัติขึ้นกันแล้ว ก็มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องราวของการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว ที่ชุมชนนักปฏิบัติของเราได้พบเจอ

 

วันนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เมื่อคุณหมอ ประธาน/ผู้จัดการทีมการจัดการเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายของเราเปิดประเด็นขึ้นมาว่า “ความตาย” สำหรับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายหรือแสดงถึงความล้มเหลวของระบบ เหมือนกับที่เราคิดกันในโรคอื่นๆ ที่มักใช้อัตราตายที่ลดลงเป็นข้อบ่งชี้คุณภาพการของการดูแล

  

คุณหมอยกตัวอย่างกรณีผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่น่าสนใจขึ้นมารายหนึ่ง ซึ่งพวกเราในทีมมีโอกาสได้ร่วมการดูแลกันอยู่หลายฝ่ายด้วยกัน...จึงเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นนี้ด้วยกัน...เธอเป็นผู้ป่วยหญิงโสดวัยใกล้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคก้อนเนื้องอกที่สมอง ในช่วงแรกของการเจ็บป่วยญาติพี่น้องซึ่งมีน้องชายของผู้ป่วยที่เป็นผู้ดูแลหลัก ก็ดิ้นรนพากันไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนท้ายที่สุดได้รับการรักษาโดยการใส่ท่อระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองให้สามารถระบายมาสู่ช่องท้องได้ซึ่งพอจะแก้ไขปัญหาอาการซึมลง ปวดศรีษะเนื่องจากก้อนเนื้องอกอุดตันระบบการระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองตามธรรมชาติได้  แต่โชคร้าย หลังทำไปได้เพียงระยะเวลาไม่นาน ท่อระบายนี้ก็เกิดอุดตันอีก ผู้ป่วยทรุดลง เธอไม่รู้สติอีกครั้ง ครั้งนี้เธอได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยชีวิต จนในที่สุดก็รอด(ตาย)  แต่อยู่ในสภาพที่ไม่รู้สติ รับรู้เพียงการกระตุ้นสัมผัสหรือเสียงที่ดังๆเท่านั้นจึงจะมีอาการขยับแขนขาคล้ายสะดุ้ง  ต้องหายใจผ่านท่อหลอดลมซึ่งเจาะไว้ที่คอ ต้องรับอาหารเหลวที่ญาติป้อนให้ผ่านทางสายยางที่ใส่ไว้ทางจมูกสู่กระเพาะอาหารวันละ 4 ครั้งด้วยกัน  ซึ่งก่อนให้อาหารนั้นผู้ดูแลก็จะต้องทำการดูดเสมหะในท่อหลอดลมคอให้ก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันการสำลัก  อีกทั้งการดูแลปฏิบัติให้ได้รับการตอบสนองด้านกิจวัตรประจำวันส่วนตัวทั้งหมดล่ะ...

 

ปัจจุบันการดูแลที่กล่าวมานี้ น้องชายผู้ป่วยและน้องสาวอีกคนหนึ่ง รับภาระไว้ทั้งหมด...ที่บ้าน...โดยมีทางโรงพยาบาลและสถานีอนามัยให้การสนับสนุนด้านความรู้ ทักษะการดูแล วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ ตลอดจนคอยติดตามการดูแลเป็นที่ปรึกษาให้เป็นระยะๆ...

 

หลังจากดูแลที่บ้านในสภาพอาการดังกล่าวได้ประมาณ 2 เดือน...วันหนึ่งที่ Palliative Care Clinic  เราก็ได้รับคำถาม/การปรึกษาจากผู้ดูแลหลักของผู้ป่วยว่า...

“แม่เลี้ยง เปิ่นจะทรมานจะอี้ไปแหมเมินก่...

“ค๊ะ!...อือม์...แล้วตอนนี้ คนไข้เป๋นจะไดพ่องหละ?”

“ก็เหมือนเก่าหนะ...ถ้าเป๋นจะอี้ไปแหมเมินท่าจะบ่ไค่ไหว บ่มีไผผ่อ...”

……………………………………………………………………………………….

“มียาอะหยังก่อ ตี่หื้อเปิ่นกิ๋นแล้วก็หลับสบายๆไปอี้แหนะ...เปิ่นทรมานล้ำ”

 

เอาละสิ!...จะทำอย่างไรดีล่ะ?

พยาบาลประจำ Palliative Care Clinic บอกว่าตอนแรกที่ได้ยินก็...อึ้งนะ   ไม่ตกใจ  แต่ก็นิ่งเงียบไปพักหนึ่งเพื่อคิดต่อไป ว่าจะทำอย่างไรกับคำถาม/คำร้องขอเรื่องนี้ดี...ถ้าเป็นท่านล่ะคะ?

 

หมายเลขบันทึก: 310053เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2009 05:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เป๋นคำถามตี่ตอบยากแต้ ๆ ครับ

แล้วปี่ตอบไปว่าจะใด...ไข้หู้แต้

น่าเห็นใจ

คนดูแลผู้ป่วย

บางครั้งการเยียวยา

ผู้ดูแลผู้ป่วย

ที่ทำงานหนัก

ทำงานมานาน

ก็ท้อได้ครับ

การเยียวยา

จะเน้นให้เห็นถึง

การเข้าใจธรรม

การมองหาสิ่งดี

การปล่อยวาง

การชื่นชมสิ่งดี

หากเป็นแนวนี้ การสังหาร อย่างหวังว่าเมตตา

คงไม่มีครับ

เท่าที่อ่านผู้ป่วยช่วงหลังไม่รู้ตัวแล้ว แต่สิ่งที่ผู้ดูแลสะท้อนมีนัยยะที่ต้องตีความ

"คนไข้ทรมานอย่างไร?"

"ผู้ดูแลทุกข์และเหนื่อยขนาดไหน?"

ส่วนตัวผมคิดว่า คงต้องหันมาดูแลความรู้สึกของ care giver เพิ่มเติม...รวมทั้ง explore ความสัมพันธ์ในอดีต รวมถึงถ้า burden มากอาจต้องหาวิธีช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ๆ ตามปัญหาของครอบครัวนี้และตามศักยภาพของทีมเรา+ชุมชนนี้ครับ

เป็นคำถามที่ตอบยากจริงๆค่ะ ก็อยากรู้คำตอบเหมือนกัน เท่าที่เคยดูแลคนไข้มา ยังไม่เคยเจอคำถามแบบนี้เลยค่ะ

  • ขอบคุณกับความเห็นและการแลกเปลี่ยนของทุกท่านนะคะ
  • เมื่อครั้งแรกที่ทราบว่ามีเหตุการณ์ทำนองนี้(ในผู้ป่วยรายแรก) "...ปี่ก็เอ๋อ เหมือนกั๋นเนาะเจ้า อ้ายเกเร..." โชคดี ที่รายนี้ไม่ใช่ครั้งแรกก็เลยพอพูดคุยแลกเปลี่ยนได้...เห็นประโยชน์ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในหมู่ผู้ป)บัติจริงๆ เพราะลำพังผู้ดูแลบางคนอาจยังไม่เคยเจอด้วยตนเอง แต่เคยได้เรียนรู้เรื่องราวที่เพื่อนในทีมได้เจอ มันเหมือนกับการอ่านหนังสือ ล่วงหน้าก่อนสอบหนะค่ะ เวลาเจอข้อสอบจริง เราก็ไม่จะไม่สอบตก...
  • ชอบและเห็นด้วยกับท่านศุภรักษ์ ค่ะ ที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ดู พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ที่จะพิจารณาถึงธรรม ความไม่เที่ยงของสังขาร  การปล่อยวาง มองหาและชื่นชมในสิ่งดีๆที่พบเจอในระหว่างการดูแล  น่าจะทำให้ผู้ดูแลมีความทุกข์น้อยลงนะคะ
  • ผู้ป่วยรายนี้ไม่รู้สติแล้วล่ะค่ะ คุณหมอโรจน์ แต่เมื่อดูดเสมหะทุกครั้งก่อนให้อาหาร หรือเมื่อถอด inner tube ของท่อหลอดลมคออกมาล้าง ก็จะมีสีหน้าเหยเก เหมือนเจ็บปวดหนะค่ะ มีน้ำไหลออกมาจากตา (ไม่มีเสียงนะคะ เพราะใส่ท่ออยู่) และจะมีสีหน้าแบบนี้เวลาพลิกตัว หรือเมื่อจับเคลื่อนไหวน่ะค่ะ ...
  • ''...ทรมานล้ำ" นั้นเป็นสิ่งที่ caregiver คิดและรู้สึกแทนผู้ป่วยอยู่...
  • ผู้ป่วยรายนี้เมื่อยังไม่เจ็บป่วย เพื่อนบ้านให้ข้อมูลว่า "ขี้จิ๊อยู่พ่องหนะ"
  • ยังจำได้ดีนะคะ ที่คุณหมอบอกว่า...คนที่ไกล้ตาย ถ้าย้อนกลับไปดูว่าเมื่อยังดีอยู่ เขาอยู่อย่างไร เมื่อจะใกล้จะไป เขาก็จะไปอย่างนั้นหนะค่ะ...
  • ถ้าตอนอยู่ เราทำความดีไว้มากๆ ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ หวังว่าเราคงจะไปดีนะคะ 
นายนิรันดร์ อมตะอมร

ส่วนหนึ่งก็น่าเห็นใจครับ  แต่เมื่อคิดตามที่คุณตอบไว้ ก็ใช่ครับ ควรให้เขาชดใช้ตามวาระอันควร  เราเองที่เป็นผู้ดูแลก็ต้องชดใช้ (ถ้าคิดแบบจริยะ)  เขาต้องจากไปแน่นอนครับเมื่อถึงวาระที่ต้องจาก  ผู้ดูแลควรหาเทปธรรมะ หรือ อ่านหนังสือที่ฟังแล้วสบายใจ  ปลดปล่อยความผูกพันต่าง ๆ ออกไปก็คงจะทำให้สบายใจและจากไปโดยสงบ ครับ  (ผมเชื่ออย่างนั้น)

สวัสดีค่ะน้องไพลิน

ทุกๆวันช่วงนี้ ถ้ามีโอกาสพี่ก็พยายมลองแลกเปลี่ยนกับผู้รับบริการกัน ว่า ชีวิตคนเราทุกคนต้องได้พบ เกิด แก่ เจ็บ ตาย

ช่สงเรามีชีวิตอยู่ ควรทำตัวให้เป็นประโชยน์ อย่างไร

ขอบคุณน้อง ไพลินที่บันทึกเรื่องเลาดีๆๆๆพี่ก้ไองค์ความรู้เรื่องEnd of Life จากบันทึกของน้องค่ะ

-จากวันนั้นมา ตั้งแต่ปลายปี 2552 ...จนถึงวันนี้...

-เมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ก่อน...คุณลุง...น้องชายของผู้ป่วยโทรมา บอกว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วที่บ้าน และขอบคุณที่ได้ร่วมดูแลผู้ป่วยด้วยกันมา...

-เราก็อยากบอกคุณลุงไปว่า "ขอบคุณ คุณลุงและครอบครัว รวมทั้งทุกท่านที่มีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วย...ขอบคุณ ผู้ป่วยที่เป็นครู และให้โอกาสพวกเราได้ทำความดี...ขอบคุณจริงๆค่ะ...

-ขอให้ดวงวิญญาณของคุณยายจงไปสู่สุคติภูมิด้วยเทอญ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท