จากทฤษฎีใหม่...สู่...การประยุกต์ใช้ในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ


ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ สนองแนวพระราชดำริ"เศรษฐกิจพอเพียง"

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทัว ทรงมีพระราชดำริ เรื่องทฤษฎีใหม่  เหล่าพสกนิกรชาวไทยต่างชื่นชมโสมนัสและได้นำเอาแนวคิดทฤษฎีใหม่ เกี่ยวกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" ไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ  สนองแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" นับเป็นกรณีตัวอย่างที่สถานศึกษาต่างๆสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางได้อย่างดียิ่ง

ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ
สนองแนวพระราชดำริ  “เศรษฐกิจพอเพียง : Sufficiency  Economic
โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
 
                เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ทั้งครอบครัว ชุมชน จนถึงภาครัฐ เน้นการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปตามทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
                ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี (ชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว 2545 : 3)
เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ความสามารถของชุมชนเมือง รัฐ ประเทศ หรือภูมิภาคหนึ่ง ๆ ในการผลิตสินค้าและบริการทุกชนิดเพื่อเลี้ยงสังคมนั้น ๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยต่าง ๆ ที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ
                เศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคล คือ ความสามารถในการดำรงชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน  มีความเป็นอยู่อย่างประมาณตนตามฐานะ ตามอัตภาพ ที่สำคัญไม่หลงใหลไปตามกระแสของวัตถุนิยม มีอิสรภาพ เสรีภาพ ไม่พันธนาการอยู่กับสิ่งใด (สุนทร กุลวัฒนวรพงศ์ 2545 :44)
                เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเอง (Relative Self-Sufficiency)    อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน แต่ต้องสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีเสียก่อน คือตั้งตนให้มีความพอกินพอใช้ ไม่ใช่จะมุ่งหวังแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจให้รวดเร็วแต่เพียงอย่างเดียว เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่พึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้า และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับต่อไปได้ (ทัศนีย์ ลักขณาภิชนธัช 2545 : 65)
                นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไดพระราชทานพระราชดำรัส เพิ่มเติมให้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงว่า
                “...คำว่า พอเพียง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีใช้สำหรับใช้ของตนเอง มีความหมายว่าพอมีพอกิน...พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง...”
                “...ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่ามีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ก็ทำให้มีความสุขถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ...”
                “...Self-sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอยืมคนอื่นอยู่ได้ด้วยตนเอง...”
                “...คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข...” (สุนทร ตุลวัฒนวรพงศ์  2545 : 57)
                “...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง...”
                “...ความพอเพียงนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่ให้ตัวเองสำหรับครอบครัว อย่างนี้มันก็เกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการที่ขายได้ แต่ขายในที่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก...” (ทรงเกียรติ เมณฑกา 2541 : 10)
                ถ้าประเทศไทยได้มีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”
                “พอเพียงนี้อาจจะมี มีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณ พูดจาก็พอเพียง ปฏิบัติงานพอเพียง...”
                “...ฉะนั้น ความพอเพียงก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล...” (ทัศนีย์ ลักขณาภิชนชัช เล่มเดียวกัน : 65)
การดำรงชีพแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” หรือการดำรงชีพแบบ “พออยู่พอกิน” ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาจปฏิบัติดังนี้
1.    ยึดความประหยัด ลดค่าใช้จ่าย ไม่ฟุ่มเฟือย ในการดำรงชีพอย่างจริงจัง ดังพระราช  ดำรัสว่า “...ความเป็นอยู่ที่ไม่ต้องฟุ่มเฟือย ต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง...”
2.    ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง สุจริต แม้ว่าจะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีพก็ตาม ดังพระราชดำรัสว่า “...ความเจริญของคนทั้งหลายย่อมเกิดมาจากการประพฤติชอบและการหารเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสำคัญ...” 
3.    ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์ และการแบ่งปันกันในทางการค้า หรือการประกอบอาชีพแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรงเหมือนอดีต ดังพระราชดำรัสว่า “...ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรมทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น...”
4.    ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยากครั้งนี้ โดยต้องขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้เกิดมีรายได้เพิ่มขึ้นจนถึงขั้นพอเพียง เช่นเป้าหมายสำคัญ ดังพระราชดำรัสว่า “...การที่ต้องการให้ทุกคนพยายามที่จะหาความรู้และสร้างตนเองให้มั่นคงนี้ เพื่อตนเอง เพื่อที่จะให้ตังเองมีความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้า ที่มีความสุข พอมีพอกิน เป็นขั้นหนึ่งและขั้นต่อไป ก็คือ ให้มีเกียรติว่ายืนได้ด้วยตนเอง...”
5.    ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งไม่ดีให้หมดสิ้น จากที่สังคมไทยได้ประสบภาวะวิกฤติในครั้งนี้ เพราะยังมีบุคคลจำนวนมากที่ดำเนินการโดยปราศจากความละอายต่อแผ่นดิน ดังพระราชดำรัสว่า “...พยายามไม่ก่อความชั่วให้เป็นเครื่องทำลายตัว ทำลายผู้อื่น พยายามลด พยายามละความชั่วที่ตัวเองมีอยู่ พยายามก่อความดีให้แก่ตัวเองอยู่เสมอ พยายามรักษาและเพิ่มพูนความดีที่มีอยู่นั้นให้งอกงามสมบูรณ์ขึ้น...” (สุนทร กุลวัฒนวรพงศ์ เล่มเดียวกัน:59)
การพัฒนาประเทศนับตั้งแต่มีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ในปีพ.ศ. 2504 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการพัฒนาที่ขาดสมดุลโดยประสงความสำเร็จเฉพาะในเชิงปริมาณ แต่ขาดสมดุลด้านคุณภาพ เกิดเป็นจุดอ่อนให้กับการพัฒนาสังคม ขณะเดียวกันการพัฒนาที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดทุนทางสังคมและทางเศรษฐกิจหลายประการซึ่งเป็นจุดแข็ง เกิดประโยชน์ในการนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศเช่นเดียวกัน
               
การพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 – 8 (พ.ศ. 2504 – 2544)
ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 – 2 กระบวนการพัฒนาประเทศเน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการลงทุนกระจายการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างสาธารณูปโภค เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา เน้นการขจัดความยากจนโดยการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่ม GDP ของคนในประเทศให้สูงขึ้น จึงทำให้เกิดช่องว่างการกระจายรายได้ และคุณภาพชีวิตของคนในเมืองกับชนบท แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมมากขึ้น มีนโยบายประชากรในการวางแผนครอบครัว เพื่อลดอัตราเพิ่มของประชากร การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ ต่อมา ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 ยังคงรักษาเสถียรภาพและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งฟื้นฟูจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แต่ความผันผวนทางการเมืองและวิกฤตการณ์น้ำมัน ก่อให้เกิดปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างรุนแรง แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 – 6 จึงมุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคุณภาพคน การสวัสดิการสังคม ต่อมาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจส่วนรวมขยายตัวอย่างมากเกินกว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศจะรองรับได้ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 จึงได้เริ่มปรับแนวคิดไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม จากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 – 7 ทำให้เห็นการพัฒนาประเทศว่า “เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 จึงเป็นแผนที่ปฏิรูปความคิดและคุณค่าใหม่ของสังคม เน้นคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ให้เศรษฐกิจเป็นเพียงเครื่องมือช่วยพัฒนาให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมมีสมรรถภาพ มีเสรีภาพ ยุติธรรม และมีการพัฒนาแบบสมดุลบนพื้นฐานความเป็นไทย ปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนามาเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้เป็น “เศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืน”
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 2549) จึงเป็นแผนที่ได้รับอัญเชิญแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศโดยยึดหลักทางสายกลางเพื่อช่วยให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้สามารถดำรงชีพอยู่ใต้โดยมีความมั่นคงเป็นผลนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุล มีคุณภาพและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก
การพัฒนาในลักษณะเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นการใช้คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา การพัฒนาแบบองค์รวม การพัฒนาที่สมดุลย์ ทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การเมือง ฯลฯ โดยใช้พลังทางสังคมเป็นกระบวนการสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาในรูปแบบของเครือข่าย อันประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

ฐานคิดการพัฒนาเพื่อความพอเพียง
1.     ยึดแนวพระราชดำริ การพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามขั้นตอนทฤษฎีใหม่
2.    สร้างพลังทางสังคม โดยการประสานกับภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน ประชาชน ฯลฯ เพื่อใช้ขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาธุรกิจชุมชน
3.   ยึดพื้นที่เป็นหลัก ให้องค์กรชุมชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและให้ภาคอื่น ๆ คอยให้การกระตุ้น ส่งเสริม และสนับสนุน
4.   ใช้กิจกรรมของชุมชนเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และการจัดการร่วมกัน พร้อมพัฒนาอาชีพที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกของคนในชุมชน ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งด้านเพศ วัย การศึกษา ความถนัด ฐานะ ฯลฯ
5.    ส่งเสริมการรวมกลุ่ม และการสร้างเครือข่าย องค์กรชุมชนเพื่อสร้างคุณธรรมจริยธรรมและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างรอบด้าน ทั้งการศึกษา สาธารณสุข การฟื้นฟูวัฒนธรรม การจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
6.    การวิจัยและการพัฒนาธุรกิจชุมชนครบวงจร โดยให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและฐานทรัพยากรของท้องถิ่น การเริ่มพัฒนาจากวงจรธุรกิจขนาดเล็กระดับท้องถิ่นไปสู่วงจรธุรกิจขนาดใหญ่ระดับประเทศ และต่างประเทศ
7.    พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ให้มีศักยภาพสูงให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ที่มีข้อมูลข่าวสารธุรกิจนั้น ๆ อย่างครบวงจรพร้อมทั้งใช้เป็นสถานที่ศึกษาดูงานและฝึกอบรม

ดังพระราชดำรัสที่ทรงกล่าวไว้ว่า
                “...การพัฒนาประเทศจำต้องทำตามลำดับขั้นตอน ต้องสร้างพื้นฐานคือความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ในเบื้องต้นก่อน โดยวิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อได้พื้นฐานที่มั่นคงพร้อมพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ    ยกเศรษฐกิจโดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะประเทศและประชาชนไทยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยะประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในเวลานี้...” (ทัศนีย์ ลักขณาภิชนชัช เล่มเดียวกัน:66)
                กล่าวคือ การหันกลับมายึดหลักทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ในการดำรงชีวิตโดยใช้หลักการพึ่งตนเอง 5 ประการดังนี้
1.       ด้านจิตใจ ทำให้ตนเป็นที่พึ่งตนเอง มีจิตสำนึกที่ดี สร้างพลังผลักดันให้มีภาวะจิตใจที่เข้มแข็งที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จ และตั้งมั่นในความบริสุทธิ์ ยุติธรรม
2.       ด้านสังคม ภายในชุมชนให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เชื่อมโยงกันเพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนให้มีความเข้มแข็งและเป็นอิสระ
3.       ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการจัดการเก็บทรัพยากรอย่างชาญฉลาดโดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการแปรรูปทรัพยากรให้เกิดมูลค่า เกิดประโยชน์สูงสุด
4.       ด้านเทคโนโลยี ควรส่งเสริมให้มีการศึกษา และเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และสังคมไทย
5.       ด้านเศรษฐกิจ ยึดหลักพออยู่พอกินพอใช้ ลดรายจ่ายในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ
แนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงจะช่วยแก้ไขวิกฤตทางเศรษฐกิจและปัญหาของสังคมไทย คือ ช่วยให้ประชาชนที่อยู่ในภาคเกษตรและที่กลับคืนสู่ภาคเกษตร มีรายได้และ          ในขณะเดียวกัน ภายในชุมชนต้องช่วยกันสร้างรากฐานของชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะสามารถพึ่งตนเองได้ระยะยาว โดยแนวคิดระบบเศรษฐกิจพอเพียง มีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก เป็นระบบที่ยึดหลักการที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน โดยมุ่งเน้นการผลิตพืชผลให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในครัวเรือนเป็นอันดับแรก เมื่อเหลือพอจากการบริโภคแล้วจึงคำนึงถึงการผลิตเพื่อการค้า สร้างกำไรเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนสถานะของผู้ผลิต กล่าวคือ เกษตรกรจะกลายเป็นผู้กำหนดตลาด มากกว่าตลาดจะเป็นตัวกำหนด เกษตรกรเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ที่สำคัญควรมีการลดค่าใช้จ่ายโดยการสร้างสิ่งอุปโภคในที่ดินของตนเอง เช่น ข้าว  ปลา ไก่ ไม้ผล พืชผัก ฯลฯ
ประการที่สอง เศรษฐกิจแบบพอเพียงให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มของชาวบ้านโดยกลุ่ม หรือองค์กรชาวบ้าน จะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้มีความหลากหลายและครอบคลุมทั้งการเกษตรแบบผสมผสาน การแปรรูปอาหาร งานหัตถกรรม การทำธุรกิจ ค้าขายและการท่องเที่ยวระดับชุมชน ฯลฯ เมื่อองค์กรชาวบ้านได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็ง มีเครือข่ายที่กว้างขวางมากขึ้น คนในชุมชนก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นได้รับการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในทุก ๆ ด้าน ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญเติบโตไปได้อย่างมีเสถียรภาพ
ประการที่สาม เศรษฐกิจแบบพอเพียงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมีเมตตา ความเอื้ออาทร และความสามัคคีของสมาชิกในชุมชนในการร่วมแรงร่วมใจเพื่อประกอบอาชีพต่าง ๆ ให้บรรลุผลสำเร็จ ก่อให้เกิดประโยชน์ทางรายได้ การสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันครอบครัว ชุมชน ความสามารถในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนบนพื้นฐานของการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งการรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยให้คงอยู่ตลอดไป
แนวคิดของระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยยึดหลักความพอดีกับศักยภาพของตนเองบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง รวมทั้งมีความเอื้ออาทรต่อคนอื่น ๆในสังคมเป็นประการสำคัญ ถึงแม้ว่าข้อคิดทั้งหมดจะมุ่งเน้นไปสู่ภาคเกษตรหรือผู้ที่มีที่ดินทั้งหลาย ก็ไม่ได้หมายความว่าภาคอื่นจะต้องกลับไปสู่ภาคเกษตรดังสังคมไทยสมัยโบราณกาล แต่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาใช้เป็นหลักการดำเนินชีวิตได้ เพราะเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน ในการยึดวิถีชีวิตไทย อยู่แต่พอดีไม่ฟุ่มเฟือยอย่างไร้ประโยชน์ ไม่ยึดติดกับวัตถุ ยึดหลักทางสายกลาง มีความเป็นอยู่ตามฐานะ ใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิต มีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช้หลักการลงทุนเชิงการพนัน ซึ่งตั้งอยู่บนความเสี่ยง หรือาการกู้เงินมาลงทุนโดยหวังรวยอย่างรวดเร็ว เพราะอาจจะทำให้ล้มละลายได้ ต้องตั้งมั่นอยู่บนหลักของ “รู้ รัก สามัคคี” ใช้สติปัญญาปกป้องตนเองไม่ให้หลงใหลไปกับกระแสความเจริญเติบโต ความศิวิไลซ์ของโลกยุคใหม่ โดยไม่คิดถึงผลกระทบตามมา รู้จักแยกแยะสิ่งดี ไม่ดี เป็นประโยชน์ ตามสภาพความเป็นจริงของบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง สร้างพลังสามัคคีในหมู่คณะ เพื่อความเข้มแข็งและมั่นคง กอบกู้วิกฤตของประเทศรวมทั้งเพื่อเป็นการพัฒนา แก้ไข ปัญหาของสังคม ให้มีการพัฒนาในรูปแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืน

แนวคิดการจัดศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ สนองแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง”
                   สืบเนื่องมาจากการปฏิรูปการเรียนรู้ที่โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มมีพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง  ดังนั้นคณะผู้บริหารและคณะกรรมการสถานศึกษาจึงได้พร้อมใจกันจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมาบนเนื้อที่ 16 ไร่ ที่บริเวณตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ชื่อว่า ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ  สนองแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง"

    ภายในศูนย์ได้จัดแบ่งพื้นที่ส่วนต่างๆออกเป็นพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นหลากหลายชนิด พืชแต่ละชนิดจะมีป้ายชื่อและสรรพคุณซึ่งทำขึ้นตามหลักเกณฑ์วิธีการของสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนปลูกผักสวนครัวในแปลงเกษตร  ขุดบ่อเลี้ยงปลา  มีเล้าหมู และบ้านพักพร้อมทั้งศาลาเรือนไทยกลางน้ำสำหรับเป็นที่จัดกิจกรรมต่างๆ จุคนได้ประมาณ 200-300 คน
กิจกรรมการเรียนรู้ลักษณะบูรณาการ

             
ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ใช้ศูนย์แห่งนี้เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ลักษณะบูรณาการ ตามหลักสูตรสถานศึกษา "บริบทอยุธยา" ซึ่งนักเรียนทุกคนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึง ม.3 ได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้ตามตารางเรียนที่กำหนดไว้ ประมาณสัปดาห์ละครั้งเป็นอย่างต่ำ

              แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นไปตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่ครูผู้สอนแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้มาร่วมกันจัดทำ "แผนการเรียนรู้แบบบูรณาการ" โดยมีการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์อย่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ เป้าหมายและธรรมชาติของผู้เรียนแต่ละระดับ ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-3)เข้าไปศึกษาตามฐานการเรียนรู้ภายในศูนย์ แบ่งออกเป็นฐานต่างๆ เช่น ฐานพฤกษาพาเพลิน    พฤกษาสารพัดประโยชน์   ฯลฯ  เมื่อนักเรียนได้ทำกิจกรรมแต่ละฐานตามใบงานหรือใบสร้างความรู้ที่ครูกับนักเรียนได้ร่วมกันกำหนดไว้แล้ว ครูผู้สอนสามารถจะวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามสภาพจริง โดยการสังเกต สอบถาม และตรวจผลงานของนักเรียน   กระบวนการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆเหล่านี้เป็นไปตาม"รูปแบบการสอนของจิระศาสตร์ หรือ JIRASART Teaching's Model" (ดูรายละเอียดจาก www.jirasart.com)

ผลงานความสำเร็จและความภาคภูมิใจ
               จากความมุ่งมั่นพยายามในการปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนโดยใช้รูปแบบการสอนของ  จิระศาสตร์เป็นไปตามปรัชญาของโรงเรียนที่ว่า...จิระศาสตร์ต้อง "ฉลาดและมีคุณธรรม" สอดประสานกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนไทยมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ กล่าวคือ "เป็นคนดี มีปัญญา และมีความสุข"

               จากสังเกตและสอบถามนักเรียนประกอบกับคำบอกเล่าของท่านผู้ปกครองนักเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่าผลจาการที่บุตรหลานได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ทำให้มีผลสำเร็จเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างน้อย 3 ประการ คือ
                 ประการแรก  นักเรียนได้เรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมตามสภาพจริง เช่น ปลูกผัก ขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ และนำไปขยายผลที่บ้านของนักเรียน  นักเรียนบางคนไม่มีพื้นที่เพาะปลูกก็มีการประยุกต์ใช้ความรู้โดยการปลูกผักลอยฟ้า เป็นต้น
                ประการที่สอง นักเรียนมีความสุขที่ได้ออกไปเรียนรู้ตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆนอกห้องเรียน รู้จักการสังเกต สอบถาม ทำงานเป็นทีม รู้จักการจดบันทึกและนำเสนอรายงานหรือผลงานเป็นต้น
                 ประการสุดท้าย ครูนักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ "ศิษย์กับครูเรียนรู้พร้อมๆกัน" นับเป็นบรรยากาศของ"การจัดการความรู้"ที่เป็นประโยชน์ มีความหมาย และท้าทายอย่างยิ่ง
ถึงวันนี้ท่านผู้บริหารและครูผู้สอนทุกท่านคงไม่ปฏิเสธใช่ไหมครับว่า "เราต้องปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน" เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการสังเกต ทดลอง ลงมือปฏิบัติจริงควบคู่ไปกับการเรียนหลักการหรือทฤษฎี

                 ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือการจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ตามธรรมชาติ สนองแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" บนเนื้อที่ 16 ไร่ ของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถานที่แห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 7 กิโลเมตร อยู่ใกล้กับช่างแสง เยื้องโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช ห่างจากถนนสายเอเซียประมาณ 80 เมตร
การจัดพื้นที่ใช้สอยภายในเนื้อที่ 16 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกไม้ดอกไม้ประดับ สวนเกษตรประมาณ 8 ไร่ บ่อเลี้ยงปลา 2 ไร่ สนามหญ้า 4 ไร่ และพื้นที่ปลูกสร้างอาคารประมาณ 2 ไร่
ซึ่งศูนย์แห่งนี้เป็น "สวนพฤษศาสตร์โรงเรียน" ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ โรงเรียนได้จัดตารางการใช้ศูนย์ฯโดยมอบหมายให้ครูผู้สอนจัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะบูรณาการทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ทุกระดับ ทุกช่วงชั้น  ซึ่งในแต่ละสัปดาห์นักเรียนจะมีโอกาสไปศึกษาศูนย์แห่งนี้ประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยมีรถบัสของโรงเรียนรับ-ส่ง  ใช้เวลาศึกษา เรียนรู้ประมาณ 2 ชั่วโมง/ครั้ง

ผลดีจากการเรียนในศูนย์การเรียนรู้
จากการสังเกตและสอบถามนักเรียนพบว่า
               1. นักเรียนมีความกระตือรือร้น สนใจในการเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในศูนย์ เช่น ต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ (ตามรายละเอียดข้อมูลพรรณไม้ที่อยู่ภายในสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน)
                2. นักเรียนได้เรียนรู้จากการสังเกต ทดลอง และลงมือปฏิบัติจริงตามแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูกำหนด
               3. ครูผู้สอนแต่ละคนมีโอกาสจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะบูรณาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การบูรณาการสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กับภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ศิลปะ ฯลฯ
              4. นักเรียนได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด ร่มรื่น สวยงาม และมีอากาศดี

ผลพลอยได้จากการจัดศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ สนองแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง"
                      1. โรงเรียนมีพื้นที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจหรือการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น
                     2. ผลผลิตจากสวน เช่น ผลไม้ตามฤดูกาล ไม้ดอก ไม้ ประดับ สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์แก่นักเรียน  เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อ  และยังสามารถจัดจำหน่ายได้ด้วย
                    3. เศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคภายในโรงเรียนสามารถนำไปเลี้ยง หมู เป็ด ไก่ หรือปลาในศูนย์ฯ  เป็นการ Re-used
                   4. ผู้ปกครองและชุมชนได้ใช้เป็นสถานที่ฝึกอาชีพ เช่น การทำปุ๋ย EM เป็นต้น

ข้อจำกัดของการนำนักเรียนไปศึกษาเรียนรู้ที่แหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียน
                   1. ต้องมีรถรับ-ส่งนักเรียน และมีค่าใช้จ่ายค่านำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
                  2. ครูจะต้องมีการเตรียมการวางแผน จัดเตรียมข้อมูล  ใบงานให้พร้อมเป็นการล่วงหน้าก่อนที่จะนำนักเรียนไป
                  3. การนำนักเรียนไปแต่ละครั้งจะต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางหรืออุบัติเหตุต่างๆ จึงต้องจัดครูดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด
                 *ท่านใดสนใจสามารถตามไปดูได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ตามธรรมชาติฯ โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ตำบลบ่อโพง  อำเภอนครหลวง   จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร 035-211300
 
    ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
      26 พ.ค.2549

 

หมายเลขบันทึก: 30996เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2006 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ผมสนใจแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ "ศิษย์กับครูเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน" ซึ่งเท่ากับปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน จากเดิมที่ครูเป็นผู้ให้เด็กเป็นผู้รับ  นับว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท