อบรมนักบริหารมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนและช่วยวิชาการ(นบก.) รุ่นที่13(27)


การบริหารงานบริการวิชาการ

การบริหาร: การบริหารงานบริการวิชาการและสัมพันธภาพต่อชุมชน

วิทยากร: ศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ วันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2552 เวลา 13.00-17.00 น.

สรุปองค์ความรู้

1.นางเพียงเพ็ญ  ภาคอุทัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

2.นางสาวณิฐารัตน์  คำวีระ สถาบันเทคโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

3.นางอัญชลี   ตานะโก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ภารกิจหลักที่สำคัญของอุดมศึกษา คือ การเป็นองค์การที่มีความรู้อันยิ่งใหญ่ เป็นที่ร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ กับชุมชน ทักทอความรู้ให้เป็นผืนใหญ่ เพื่อนำไปใช้กับสังคม ชุมชนและประเทศของเรา อุดมศึกษาต้องรวมศูนย์ความคิด ทำงานเป็นเครือข่าย ร่วมกันวางยุทธศาสตร์ เป็นผู้นำของสังคม แต่กระจายอำนาจกันปฏิบัติ มีการทำงานเชื่อมโยงกันและเรียนรู้อยู่เสมอ การให้บริการวิชาการเป็นหัวใจของมหาวิทยาลัย  และคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ชุมชน สังคมเป็นหลัก เพื่อให้การบริการวิชาการแก่ชุมชนต้องสร้างคนด้วยการให้ความรู้ ตรงกับความต้องการและสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชน สังคม

1.สภาพแวดล้อม ยุคโลกาภิวัตน์ และการแข่งขัน องค์กรต่างๆต้องมีหลักการ (concept) มีความสัมพันธ์กับชุมชน(connection) มีทุน(capital) จึงจะยืนอยู่ในสถานะที่มั่งคงในสังคมได้ สังคม ชุมชนมีองค์ความรู้ มีปราชญ์ชาวบ้าน อุดมศึกษาก็ต้องเป็นที่อยู่ของความรู้อันยิ่งใหญ่ อนาคตของอุดมศึกษา ต้องร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ กับประชาชน ชุมชน เกิดการทักทอความรู้

สถาบันอุดมศึกษาต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงอย่างมากเพื่อขับเคลื่อนตนเอง ใช่อยู่แต่ในรั้วมหาวิทยาลัย ต้องทำงานเพื่อสังคม ชุมชน เป็นหัวใจหลักของภารกิจสถาบันอุดมศึกษา การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกต้องมีความรู้ที่ยอมรับได้ในระดับโลก ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ มีวิธีคิด ทำงานได้ทุกที่ ทุกแห่งบนโลกใบนี้

ในยุคปัจจุบัน สังคมแบ่งเป็นสี่ฐาน คือ สังคมฐานานุภาพ สังคมการแข่งขันเพื่อการค้าและกำไร สังคมด้อยโอกาส และสังคมพลเมือง การให้บริการวิชาการต้องวิเคราะห์สังคมสี่ฐาน วิเคราะห์ความต้องการให้ชัดเจน ให้ความสำคัญและโอกาสแก่สังคมทุกฐานอย่างเท่าเทียมกัน

สังคมด้อยโอกาสและสังคมพลเมืองเป็นกลุ่มที่มีส่วนแบ่งมากที่สุด ต้องทำให้สองกลุ่มนี้เข้มแข็ง มีโอกาสเท่าสังคมฐานานุภาพและสังคมการแข่งขัน โดยให้พลังความรู้เป็นตัวขับเคลื่อน อุดมศึกษาเป็นแหล่งความรู้ที่จะช่วยสังคมนี้ได้มากที่สุด

ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวณิช ได้ให้ข้อคิดเชิงยุทธศาสตร์ว่า การสร้างความมั่นคงในสังคมพลเมือง ชุมชน และท้องถิ่น โดยการสร้างองค์ความรู้ สร้างคนไทยให้มีคุณภาพ เป็นคนดี คนเก่ง มีความแข็งแกร่ง พึ่งพาตนเองได้ อุดมศึกษาต้องมีความสามารถ มีประสิทธิภาพเป็นที่ให้ความรู้แก่สังคม

สถานการณ์ที่ผลกระทบต่ออุดมศึกษาไทย

1.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม จากภาคเกษตรกรรมเป็นภาคอุตสาหกรรม และเป็นสังคมฐานความรู้

2.โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป วัยเด็กและวัยแรงงงานลดลง สังคมต้องรับผิดชอบผู้สูงวัยมากขึ้น

3.ระบบการเมืองมีการถ่ายโอนอำนาจและงบประมาณสู่องค์กรท้องถิ่นมากขึ้น

4.สิ่งแวดล้อมและพลังงานเป็นปัญหาของสังคมที่รุนแรงมากขึ้น

พลังกดดันที่ทำให้อุดมศึกษาต้องเปลี่ยนแปลง

1.กระแสกดดันภายในประเทศ ได้แก่ พลังอำนาจทุนและพลังออำนาจท้องถิ่น ความต้องการที่หลากหลาย โลกทัศน์ที่ขัดแย้ง การแย่งชิงทรัพยากร

2.กระแสกดดันภายนอก ได้แก่ การอพยพขอคนต่างด้าว การเมือง การค้า การทหารระหว่างประเทศ กระแสทุนนิยม เทคโนโลยีของโลก โรคระบาด การก่อการร้ายสากล

จากพลังกดดัน อุดมศึกษาต้องเป็นหลักของสังคม คิดร่วม ปฏิบัติร่วม เป็นสถานของความรู้ที่ต้องถ่ายทอดสู่การเป็นสังคมที่เข้มแข็ง อุดมศึกษาต้องร่วมมือกันเป็นเครือข่าย ทำให้ชุมชน สังคมอยู่ในสภาวะกดดันและอยู่ได้ในกระแสโลก

รัฐสมัยใหม่ ต้องมีการปกครองสามสถานะทับซ้อนกัน คือ

1.เป็นองค์กรอธิปัตย์ พิทักษ์ผลประโยชน์ประชาชาติและความเป็นรัฐเดี่ยวของไทย 

2.เป็นประชาคมทางการเมือง ต้องจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นสาธารณะอย่างยุติธรรม

3.ต้องมีกลยุทธ์ มีองค์ความรู้ ในการก้าวไปข้างหน้า

ผลกระทบของโลกาภิวัตน์

1.ภาวะรุกคืบของทุนต่างชาติ

2.ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ค่าครองชีพสูง ควบคุมไม่ได้ คนใช้ชีวิตไม่เพียงพอ

3.ช่องว่างรายได้ประชากรมากขึ้น ความไม่เสมอภาค คนมีความพร้อมได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ ระบบทุนสมัยใหม่

4.รัฐมุ่งประชานิยม ละเลยคนด้อยโอกาส ต้องทำให้คนด้อยโอกาส มีโอกาส

ปัญหาของอุดมศึกษาไทย

1.ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย อุดมศึกษากับท้องถิ่นไม่มีพลัง กระจัดกระจาย

2.ไม่มีความร่วมมือระหว่างอุดมศึกษากับภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง

3.การผลิตบัณฑิตไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ

2.การบริหารอุดมศึกษา

อุดมศึกษามีสิ่งท้าทาย คือ ต้องเผชิญกับโลกยุคโลกาภิวัตน์ ภาวะเศรษฐกิจ สังคม ปัจจุบัน มีการแข่งขันกันมาก อุดมศึกษาต้องตอบสนองต่อคนทุกกลุ่ม อุดมศึกาต้องเป็นพันธมิตรและเครือข่ายกัน รวมศูนย์การบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ รวมศูนย์บริการ รวมพลัง รวมความคิด ตอบสนองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตอบสนองไม่รวมอำนาจ

ระบบบริหารอุดมศึกษาต้องตอบสนอง ดังนี้

1.การใช้เงินให้คุ้มค่า

2.การใช้คนให้คุ้มเงิน

3.ผลประโยชน์ตอบแทนต้องมาพร้อมประสิทธิภาพ

4.การบริหารที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

5.ความรับผิดชอบต่อสังคม

6.การกระตุ้นให้คนเปลี่ยนแปลงและยอมรับให้มีการเปลี่ยนแปลง

7.การทำงานเป็น โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง

8.การสร้างและสื่อสารวิสัยทัศน์

9.การเพิ่มพลังเพิ่มความสามารถให้บุคลากรทุกระดับ

10.การสร้างวัฒนธรรมการให้บริการ การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

3.ยุทธศาสตร์การให้บริการวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา

อุดมศึกษาต้องวางยุทธศาสตร์การบริการวิชาการ ดังนี้

1.สร้าง เชื่อมโยงเครือข่ายกับภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม ชุมชน องค์กรส่วนท้องถิ่น

2.สนับสนุนการทำงานเป็นเครือข่ายกับภาคประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

3.รวมพลัง สร้างความร่วมมือ สร้างเครือข่ายอุดมศึกษา เพื่อบริการวิชาการ

4.ปรับเปลี่ยนระบบบริหารจัดการ เพื่อเอื้อต่อการทำงานแบบเครือข่ายและสร้างความร่วมมือ

5.พัฒนา จัดทำแผนพัฒนาชุมชนและสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การตั้งรับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ ต้องสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง มีการรวมตัวกัน พึ่งพากัน สร้างค่านิยม ระบบคุณค่า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีเครือข่าย และมีเป้าหมายการดำรงชีวิต อุดมศึกษาจะเป็นผู้กระตุ้น สร้างสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ดังนี้

1.ส่งเสริมให้ชุมชนร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหา ของตนเอง ด้วยตนเอง

2.หล่อหลอมความคิดของทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน เพื่อให้พึ่งตนองได้

3.ปรับปรุงกฎ ระเบียบ วิธีปฏิบัติงาน และวิธีการบริหาร ที่ให้ชุมชนเข้าถึงทรัพยากรได้  

4.เสริมการสร้างวิสัยทัศน์ของชุมชน

แนวทางการประยุกต์ใช้

ระดับองค์การ    

     ในระดับมหาวิทยาลัย/สถาบันต้องกำหนดกลยุทธ์ เป้าหมายการให้บริการวิชาการ การถ่ายทอดความรู้ ให้เป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชน สังคม ประเทศ มหาวิทยาลัย/สถาบันต้องสร้างและนำความรู้ และทำงานเป็นเครือข่ายกับชุมชนและมหาวิทยาลัย/สถาบันด้วยกัน

ระดับกลุ่มงาน

     ในระดับคณะ หน่วยงาน กลุ่มงานต้องสร้างให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ สร้างจิตสำนึกการบริการ และนำความรู้ขององค์การสร้างประโยชน์ต่อชุมชน สังคม  

ระดับบุคคล        

     ทุกคนต้องสร้างความคิด การปฏิบัติตน การปฏิบัติงานโดยใช้ความรู้ มีการเรียนรู้เพื่อการพัฒนางานอย่างสม่ำเสมอ เปิดใจกว้าง มีมุมมองที่ออกจากตนเอง กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ นำความรู้ที่เกิดในตนเองให้สังคม ด้วยรักและมีจิตสำนึกที่ต้องการเห็นความก้าวหน้า การพัฒนา สังคม ชุมชนอย่างแท้จริง

                         

หมายเลขบันทึก: 309816เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2009 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท