ชีวิตนายลี่


การช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยนอกจากการฟื้นฟูด้านร่างกายแล้ว การฟื้นฟูจิตใจ สร้างความเชื่อมั่น ความหวังในชีวิตให้กลับมาอีกครั้ง ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ผู้เล่า คุณพรพิสมัย พินิจมนตรี (บัวชมพู) นักกายภาพบำบัด

แก่นของเรื่อง  การช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยนอกจากการฟื้นฟูด้านร่างกายแล้ว การฟื้นฟูจิตใจ สร้างความเชื่อมั่น ความหวังในชีวิตให้กลับมาอีกครั้ง ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

เนื้อเรื่อง

        สมุดบันทึกเล่มน้อย หน้าปกสีสดใส   เล่มนั้น บันทึกเรื่องราวชีวิตลี่  ทำให้เรา ทมงานไม้เลื้อยได้ทราบ ได้เห็นถึงพัฒนาการของลี่ ลี่เป็นอีกหนึ่งในผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแลของเรา ลี่ประสบอุบัติเหตุ จากรถมอเตอร์ไซด์ ( Head injury , MCA ) ที่ต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ หลักจากการผ่าตัดทีมงานได้เข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟู ดูแลอย่างต่อเนื่อง จากการสอบถามลี่ ลี่บอกทีมงานว่า ลี่รับรู้ทุกอย่าง รับรู้ถึงความจริงใจ ที่ทีมงานมีต่อลี่

      ลี่บอกว่า หมอเป็นเหมือนแรงบันดารใจ เป็นเหมือนอะไรหลายๆสิ่ง หลายๆอย่าง ที่ทำให้ลี่อยากดำเนินชีวิตอยู่ต่อ อยากทำงานช่วยเหลือครอบครัว

      ก่อนประสบอุบัติเหตุ ลี่เป็นคนขยันขันแข็ง ช่วยเหลืองาน พ่อแม่ทุกอย่าง ตอนนี้ลี่ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ลี่ขยันขันแข็งดี ช่วยเหลืองานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่ทำได้ หลายต่อหลายครั้งที่ทำให้ลี่ท้อแท้ หดหู่ อาจด้วยเพราะความที่ร่างกายไม่สมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ตอนนี้ลี่มีอาการสั่นเพราะฤทธิ์ยา และผลจากการผ่าตัดสมอง คิด อ่าน จะทำอะไรก็ช้ากว่าคนปกติ และอาจเพราะลี่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ตอนนี้ลี่อายุ 22 ปี กำลังอยู่ในช่วงอยากลองอยากรู้

      ครั้งแรกที่ผู้เขียนเองได้ไปพบลี่ ลี่บอกว่า “ลี่อยากมีแฟน” ผู้เขียนยิ้ม และถามลี่กลับว่า “ทำไมถึงอยากมีแฟนล่ะลี่”  ลี่ตอบว่า “ผมอยากได้กำลังใจ อยากมีคนคุยด้วย เวลาเหงา” นี่ล่ะค่ะคือสิ่งที่นำเรา ให้เข้าถึง สิ่งที่เป็นแรงจูงใจผู้ป่วย ต่อเลยนะค่ะ

ผู้เขียนตอบลี่ว่า “ผู้หญิงทุกคนอยากได้แฟนที่ ร่างกายแข็งแรง คิดว่าปกป้องดูแลเขาได้  มีความคิดอ่านดี เป็นผู้นำ  ตอนนี้ลี่มีหรือยังครับ” ลี่ตอบหน้าเศร้าๆว่า “ยังครับ”ถ้าอย่างนั้นลี่จะแข็งแรงได้ลี่ต้องตั้งใจออกกำลังกาย และอีกอย่างที่จะทำให้ลี่คิดอ่านได้ดี ลี่ต้องเขียนบันทึกด้วย

ทีมงานเฝ้าดูลี่อยู่ห่างๆหลังจากที่ ดูแลอย่างใกล้ชิดมาสักระยะหนึ่ง เพื่อรอดูพัฒนาการของลี่

ลี่อาการดีขึ้นเป็นลำดับ เดินได้เก่งขึ้น และจดบันทึกทุกวัน ช่วงแรกเราฝึกให้ลี่จดบันทึกเฉพาะชีวิตประจำวัน ต่อมาให้จดความคิดความรู้สึกด้วย

ทุกวันศุกร์ลี่จะเฝ้ามอง ว่ารถหมอเยี่ยมบ้าน จะมาเยี่ยมลี่หรือไม่ ถ้านับวันนี้ก็สองสัปดาห์แล้วที่หมอไม่มาเยี่ยมลี่  วันนี้ลี่ตั้งใจกับตัวเองว่า ถ้าหมอไม่มา ลี่จะไม่เขียนบันทึกอีกต่อไป....คอยจนเย็น...

หมอมาจนได้ มาพร้อมกับหนังสืออีกสามเล่ม พร้อมสมุดบันทึกเล่มใหญ่ ที่มามอบให้ลี่ “ได้เขียนจนได้” ลี่กล่าวกับทุกคน ทีมงานมองหน้ากับ และถามลี่ว่า “ทำไมถึงว่าอย่างนั้น” ลี่บอกว่า สัปดาห์ที่แล้ว หมอไม่มาหาลี่ ลี่น้อยใจ เลยตั้งใจกับตัวเองตั้งแต่เช้าว่า ถ้าหมอไม่มา ลี่จะเลิกจดบันทึกแล้ว

เราเลยย้อนถามลี่กลับว่า “แล้วตอนนี้จะยังเขียนต่อไหม”เขายิ้มหน้าแป้น และตอบเสียงดัง ฟังชัดว่า   “เขียนต่อครับหมอ”

 

ผู้บันทึก คุณพรพิสมัย พินิจมนตรี  นักกายภาพบำบัด      วันที่ 23 ตุลาคม 2552

 

ประเด็นที่น่าสนใจ

  1. เมื่อคนหนึ่งเจอเรื่องร้ายในชีวิตเปรียบเสมือนชีวิตที่ซวนเซจะล้มแหล่ ไม่ล้มแหล่ สิ่งหนึ่งที่บุคลากรสาธารณสุขทำได้นอกเหนือจากการรักษาตามวิชาชีพ คือการเป็นกำแพงให้เขาพิง
  2. การเป็นกำแพง คือการปฏิบัติต่อเขาราวกับเพื่อนคนหนึ่ง ห่วงใยทุกข์สุข และคอยประคองทั้งร่างกายและจิตใจด้วยความปรารถนาดี มิใช่เห็นเป็นเพียงคนไข้ที่เรามาดูแลตามหน้าที่เท่านั้น
  3. แต่กำแพงก็ต้องเข้าใจว่าเขาคงพิงเราไปตลอดชีวิตไม่ได้ เราจึงต้องสอนทักษะที่จำเป็นเพื่อให้เขาแข็งแรงขึ้น เมื่อผู้ป่วยของเราแข็งแรงขึ้นแล้ว ก็ต้องผลักให้เขาไปสู้ชีวิต และแก้ปัญหาด้วยตัวเองให้ได้ที่สุด

 

ผู้สรุปประเด็น นพ.สิริชัย นามทรรศนีย์

 

หมายเลขบันทึก: 309803เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2009 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอร่วมแสดงความเห็นด้วยนะค่ะ

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่จ้างนักกายภาพบำบัด (ซึ่งปกติไม่มีกรอบอัตรากำลัง) ทำให้การดำเนินงานเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพสามารถทำได้ครอบคลุมโดยทุกวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยและญาติต้องการ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหว ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ถ้าไม่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ เขาก็จะเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพในการดูแลตนเอง จนกลายเป็นผู้พิการในที่สุด "ลี่อาการดีขึ้นเป็นลำดับ เดินได้เก่งขึ้น" คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยรายอื่นๆ การฟื้นฟูผู้ป่วย head injury หรือ CVD ที่มีอาการอ่อนแรงของแขนขา ต้องทำในผู้ป่วยให้เร็วที่สุด(เมื่อผู้ป่วยมีอาการ stable แล้ว) โดยเฉพาะ 6 เดือนแรก ในระบบการรักษาของโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป ไม่สามารถให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพื่อทำการฟื้นฟูเป็นระยะเวลานานได้ เพราะจะทำให้ระยะเวลานอนนาน ไม่คุ้มค่า DRG จึงต้องมีระบบการติดตามจากโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อให้สามารถให้โปรแกรมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และปรับเปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของผู้ป่วย รวมถึงการประสานงานกับแหล่งช่วยเหลือในชุมชน เช่น อสม ในโครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)เชิงรุก ปี 2552 หรือ แนะนำในเรื่องการหาอาชีพหรือกิจกรรมนันทนาการหรืองานอดิเรกที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ซึ่งคุณพรพิสมัย พินิจมนตรี ได้ให้ลี่เขียนบันทึก แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ได้ออกสู่สังคม เขาก็จะมีเรื่องเขียนน้อยลงๆเรื่อยๆ จนอาจเขียนวนอยู่เรื่องเดิมๆ ดังนั้นการกระตุ้นให้ญาติพาผู้ป่วยออกนอกบ้านเป็นสิ่งที่จำเป็น เราลองนึกถึงตัวเราที่เป็นคนปกติถ้าไม่ได้ออกนอกบ้านเลยสัก 3 วันเนี่ยก็เครียดแล้ว คนป่วยยิ่งกว่าเราอีก

เคยไปทำโครงการให้ผู้พิการมาร่วมกันทำบุญที่สถานีอนามัย เชื่อไหมว่า วันนั้นมีลูกพาแม่ที่แก่แล้วมา เขาบอกว่าตั้งแต่แม่เป็นอัมพฤกษ์ ไม่เคยออกจากบ้านเลย แล้วในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาแม่ไม่ได้ตักบาตร วันนี้ก็เลยงงๆ ไม่รู้ว่าจะต้องตักบาตรอย่างไง

ส่วนอีกรายไม่ได้ออกบ้านปีกว่า เมื่อทีมไปเยี่ยมให้โปรแกรมการออกกำลังกาย เขาก็สามารถเดินออกจากบ้านไปที่ถนนหน้าบ้าน ไปใส่บาตรตอนเช้า เดินไปคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน ออกจากบ้านไปตั้งแต่ 6 โมงเช้า กว่าจะเข้าบ้านก็ 10 โมง ผู้ป่วยก็มีกิจกรรมทางสังคม มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้ระบายความรู้สึก ฝึกการใช้สมอง

ชุมชนเพื่อนบ้านเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วย เพราะเราไม่สามารถไปเยี่ยมผู้ป่วยได้บ่อย แต่คนในชุมชน เขาเดินผ่านหน้าบ้านกันทุกวัน ตรงนี้เขาสามารถ support ด้านจิตใจได้ ต้องพยายามวางระบบการดูแลให้ชัดเจน เช่น จากการสำรวจหมู่นี้ มีผู้ป่วย/ผู้พิการที่ต้องการการเยี่ยมบ้านกี่ราย อสม กลุ่มไหนรับผิดชอบ (คือ อสม ต้องมีข้อมูลนี้ในมือ) ให้เขาเลือกกันเอง โดยมากก็เลือกที่บ้านใกล้กัน หรือเป็นบ้านทางผ่านที่ อสม ต้องไปเป็นประจำ เช่น ทางไปตลาด ร้านค้า โรงเรียน โรงพยาบาล ก็จะทำให้ผู้ป่วย/ผู้พิการ มีคนไปเยี่ยมมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ต้องการ

การเขียน บันทึกแบบนี้ มี ข้อดี คือ อ่านเข้าใจง่ายครับ

แต่... บันทึกจะแข็งๆ หน่อยครับ

ไม่รู้ว่าหมายถึงเราหรือเปล่า

แต่...จะบอกว่าใช้วิธี จิ้ม ไม่ใช่ พิมพ์ ค่ะ

ก็เลยอยากให้เสร็จเร็วๆ ไม่ไหวตาลาย เมื่อยมือด้วย

คงไม่ใช่การบันทึก แต่เป็นการพูด ด้วยภาษาพูด ไม่ใช่ ภาษาเขียน จึงอาจจะไม่สละสลวย

ขอบคุณที่อ่านนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท