น้ำตาลมะพร้าว


ความเป็นมาของการทำน้ำตาลมะพร้าว     

              

การทำน้ำตาลมะพร้าว  เป็นอาชีพที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในพื้นที่เมืองแม่กลอง  จังหวัดสมุทรสงคราม  ซึ่งเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานใกล้ปากอ่าวบริเวณลุ่มแม่น้ำ

แม่กลอง  เมื่อประมาณกว่า  200  ปีมาแล้ว  เมืองแม่กลองเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกมะพร้าวมากและมีการทำน้ำตาลมะพร้าวในบริเวณเขตพื้นที่ที่เรียกว่า  บางนางจีน  และบางขันแตก  ปัจจุบันคือ  ตำบลท้ายหาด  และตำบลบางขันแตก  ทั้งสองพื้นที่เป็นที่อยู่ของกลุ่มชนชาวจีน  กลุ่มชนชาวมอญ  กลุ่มชนชาวมุสลิม  และกลุ่มคนไทยที่มาตั้งหลักแหล่งและทำมาหากินแต่ดั้งเดิม

              เมื่อได้ศึกษาถึงประวัติ  แหล่งที่อยู่  และการประกอบอาชีพแล้วสันนิษฐานได้ว่า  การทำน้ำตาลมะพร้าวน่าจะเป็นภูมิปัญญาของชาวไทยเชื้อสายมอญ  ที่มาตั้งรกรากอยู่ในบริเวณเขตพื้นที่ทั้งสอง  ก่อนที่ความรู้เรื่องการทำน้ำตาลมะพร้าวจะแพร่ขยายออกไปสู่ชาวไทยเชื้อสายอื่น

              และจากการศึกษาเชิงสืบค้นของผู้เขียน  ซึ่งได้ข้อมูลจากบุคคลในท้องถิ่นที่มีอายุยืนยาวกว่า  85  ปี  หลายท่าน  ได้ข้อสรุปตรงกันว่า  บรรพบุรุษไทยในอดีตรู้จักธรรมชาติของต้นมะพร้าวเป็นอย่างดี  จึงปลูกมะพร้าวกันมากในเขตพื้นที่ดังกล่าว

              จุดประสงค์ของการปลูกมะพร้าว  มี  2  ประการ  คือ

              1.  เพื่อเก็บผล  โดยเอาเนื้อและน้ำในลูกมะพร้าวไปประกอบอาหารหวานคาวและทำน้ำมันมะพร้าว  เพื่อใช้เป็นน้ำมันตะเกียง  สำหรับจุดตะเกียงไส้แช่น้ำมันมะพร้าวที่ประดิษฐ์ขึ้นใช้เอง  เพื่อให้แสงสว่างในยามค่ำคืน

              2.  เพื่อเก็บน้ำหวาน  ที่เรียกว่า  น้ำตาลใส  โดยนำไปทำน้ำตาลมะพร้าว  น้ำตาลสด 

น้ำส้มสายชู  น้ำตาลเมา  และเหล้าที่ใช้ผสมยาสมุนไพร  น้ำตาลเมานี้มักใช้ดื่มในงานสังสรรค์และงานรื่นเริงต่าง ๆ

จังหวัดสมุทรสงครามหรือเมืองแม่กลองในอดีต  เป็นพื้นที่ที่ติดกับชายทะเล  ดังนั้นพื้นดินจึงกระทบกับน้ำ  3  สภาพ  คือ  น้ำเค็ม  น้ำกร่อย  และน้ำจืด  ลักษณะดินเป็นดินเลนเก่าบริเวณที่อยู่เหนือปากอ่าว  น้ำไม่ท่วมขังจึงเหมาะแก่การทำการเกษตรอย่างยิ่ง  กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่แห่งนี้  จึงปลูกมะพร้าวและพืชผักผลไม้นานาชนิด  โดยเฉพาะมะพร้าวซึ่งเป็นพืชที่เหมาะกับสภาพดินเลนชายทะเลยิ่งนัก  ดังจะเห็นได้จากพื้นที่อำเภอเมืองซึ่งอยู่ใกล้ทะเลที่สุด  จะอุดมไปด้วยมะพร้าวทั้งเก็บผลและเก็บน้ำหวาน  ส่วนพื้นที่อำเภออัมพวา  ซึ่งอยู่ในช่วงกลางของแม่น้ำแม่กลองจะอุดมไปด้วยผลไม้หลากหลายชนิด  และพื้นที่อำเภอบางคนที  ซึ่งเป็นบริเวณช่วงปลายที่อยู่ใกล้กับจังหวัดราชบุรี  กระทบเพียงน้ำจืดเท่านั้นจึงสามารถปลูกผักได้แทบทุกชนิด  แต่ทุกพื้นที่ล้วนปลูกมะพร้าวไว้ตามคันดินรอบสวน  ตรงกลางสวนจะยกเป็นร่องสวนสำหรับปลูกพืชผักผลไม้  ระหว่างร่องสวนเรียกว่า  ท้องร่อง  หรือเว้นที่ว่างไว้สำหรับปลูกข้าว  ซึ่งชาวสวนเรียกว่า  ข้าวนาสวน  เก็บไว้รับประทานเอง  โดยในสมัยก่อนจะมีประเพณีการเกี่ยวข้าวชนิดนี้ด้วย  แต่เป็นที่น่าเสียดาย  ที่ปัจจุบันน้อยคนนักจะรู้จักข้าวนาสวน  พันธุ์ข้าวแก้วจากเมืองอยุธยา

              ช่วงประมาณ  พ.ศ.  2400 – 2500  ชาวสวนในพื้นที่ตำบลท้ายหาดและตำบลบางขันแตก  ได้พัฒนาสวนมาเป็นสวนมะพร้าวสำหรับเก็บน้ำหวานหรือที่เรียกว่า  สวนมะพร้าวน้ำตาล  โดยมรการยกร่องปลูกมะพร้าวพันธุ์เก็บน้ำหวานเพื่อนำมาทำน้ำตาลข้นแห้งมากขึ้น  มีการคัดเลือกพันธุ์มะพร้าวและปรับเปลี่ยนพันธุ์  พร้อมทั้งขยายพื้นที่สวนมะพร้าวน้ำตาลทั้งสองพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้นทุกครัวเรือนระหว่าง  พ.ศ. 2480 – 2500  ซึ่งสามารถผลิตน้ำตาลรวมกันได้วันละประมาณ  8,000  ปีบ  ช่วงเวลาดังกล่าวนี้  เป็นช่วงที่ชาวสวนน้ำตาลมะพร้าว  ผลิตน้ำตาลมะพร้าวด้วยกรรมวิธีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษในอดีตอย่างครบถ้วน  ดังนั้นน้ำตาลมะพร้าวในยุคนี้จึงมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 309479เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2009 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าเสียดาย !! วิถีเดิม ๆ เริ่มหายไป สวนผสม ผสานกลายเป็นสวนเชิงเดี่ยว เป็นรีสอร์ท น้ำตาลมะพร้าว กลาย เป็นน้ำตาลทรายผสมน้ำตาลมะพร้าวไป ทำไงดีครับ..?

การทำน้ำตาลมะพร้าว เป็นอาชีพที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในพื้นที่เมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานใกล้ปากอ่าวบริเวณลุ่มแม่น้ำ

แม่กลอง เมื่อประมาณกว่า 200 ปีมาแล้ว เมืองแม่กลองเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกมะพร้าวมากและมีการทำน้ำตาลมะพร้าวในบริเวณเขตพื้นที่ที่เรียกว่า บางนางจีน และบางขันแตก ปัจจุบันคือ ตำบลท้ายหาด และตำบลบางขันแตก ทั้งสองพื้นที่เป็นที่อยู่ของกลุ่มชนชาวจีน กลุ่มชนชาวมอญ กลุ่มชนชาวมุสลิม และกลุ่มคนไทยที่มาตั้งหลักแหล่งและทำมาหากินแต่ดั้งเดิม

เมื่อได้ศึกษาถึงประวัติ แหล่งที่อยู่ และการประกอบอาชีพแล้วสันนิษฐานได้ว่า การทำน้ำตาลมะพร้าวน่าจะเป็นภูมิปัญญาของชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่มาตั้งรกรากอยู่ในบริเวณเขตพื้นที่ทั้งสอง ก่อนที่ความรู้เรื่องการทำน้ำตาลมะพร้าวจะแพร่ขยายออกไปสู่ชาวไทยเชื้อสายอื่น

ข้อมูลส่วนนี้ผู้เขียนค้นคว้าจากที่ใหนครับ ผมว่าอาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียวนะครับ แต่ผมชอบครับที่มีการค้นคว้าเรื่องเหล่านี้เพราะเป็นวิถีที่ยั่งยืนมากกว่าภาคอุตสาหกรรมที่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท