รับเหมากรมทางฯ ป่วนรัฐเงินฝืด ไม่จ่ายค่างวด-แห่ปิดกิจการอื้อ!


รับเหมากรมทางฯ ป่วนรัฐเงินฝืด ไม่จ่ายค่างวด-แห่ปิดกิจการอื้อ!
       ผู้รับเหมากรมทางหลวงป่วนหนัก แฉโดนดึงทั้ง "ค่างวด- ค่าเค" แห่ปิดกิจการรายเดือน สถิติขึ้นทะเบียนผู้รับเหมาสร้างทางลดฮวบ 50% ชี้รัฐบาลเงินขาดมือหนักดึงค่างวดสร้างทางนาน 4 เดือนเต็ม แถมปัญหาระบบ    อีออกชั่นเป็นตัวถ่วง มีงานรอประมูลถึง 28 สายทาง มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท
       นายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2549 ของกรมทางหลวงมีความล่าช้าบ้าง   ในส่วนของงบฯ ลงทุนก่อสร้าง โดยล่าสุดมีการเบิกจ่ายแล้วประมาณ 24.84% จากประมาณการทั้งปีตั้งเป้าไว้ต้องเบิกจ่ายให้ได้ 73%  โดยงบประมาณของปี 2549 ได้รับการจัดสรรมา 37,561.52 ล้านบาท เป็นงบฯ รายจ่ายลงทุน 34,776.12 ล้านบาท รายจ่ายประจำ 2,785.40 ล้านบาท ขณะนี้งบฯ ลงทุนมีการเบิกจ่ายไปเพียง 8,638 ล้านบาท   ส่วนงบฯ รายจ่ายประจำมีการเบิกจ่ายไป 68.65% จำนวน 1,912.12 ล้านบาท กรมอยู่ระหว่างดำเนินการเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้า แม้ว่าจะเหลือระยะเวลาแค่ 2-3 เดือนจะสิ้นปีงบประมาณ แต่คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 70% 
       ทั้งนี้ เมื่อประเมินปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การเบิกจ่ายเงินล่าช้าพบว่ามาจาก 4-5 ประเด็นหลัก ๆ ประกอบด้วย 1) ปัญหาภายในของกรมเป็นเรื่องของการกำหนดรูปแบบการก่อสร้างที่มีการปรับปรุงแก้ไขแบบให้สอดคล้องกับราคาค่าก่อสร้างในปัจจุบันและต้องเป็นไปตามหลักการทางด้านวิศวกร การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ   2) ปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอก คือ การประเมินราคาก่อสร้าง การใช้เทคนิคในด้านวิศวกร สถาปัตยกรรม การขอความเห็นชอบด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก  ทำให้ล่าช้า    3) สาเหตุที่มาจากเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ ปัญหาฤดูกาล เช่น ฝนตก เกิดอุทกภัยใน 8 จังหวัดภาคใต้ ทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างงานไม่ได้ ขาดแรงงาน เครื่องจักรเครื่องมือ วัสดุก่อสร้าง ทำให้งานล่าช้า   4) ปัญหาระเบียบอีออกชั่นใหม่ เพราะจนถึงขณะนี้กรมยังไม่สามารถเปิดประมูลได้ ทั้งที่มีงานรอประมูลอยู่ 28 สายทาง มูลค่าก่อสร้างประมาณ 20,000 ล้านบาท ก็เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่กรมกำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันเบิกจ่ายงบประมาณของปีนี้ ตามแผนงานประมูลระบบอีออกชั่น คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้น่าจะเริ่มได้ ซึ่งเมื่อเซ็นสัญญาแล้วผู้รับเหมาสามารถเบิกส่วนแรก 15% ได้เลยโดยไม่ต้องมีผลงาน    5) ปัญหาการเบิกเงินล่าช้าที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากงบประมาณปี 2548 ทั้งนี้ พบว่ามีหลายสัญญาที่เปิดประมูลไปเมื่อปีงบประมาณ 2548 ที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ เนื่องจากติดขั้นตอนในเรื่องของการเสนอพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีมติ ครม. ให้ต่อรองราคา หรือรอราคาที่เหมาะสมจากสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวต่อว่า สำหรับปีงบประมาณ 2550 กรมได้ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายในเบื้องต้นไว้ประมาณ 82,000 ล้านบาท แต่ยัง   ไม่ทราบว่าจะได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเป็นวงเงินเท่าใด ถ้าหากอนุมัติเต็มจำนวนวงเงินที่ขอไปก็ถือว่าเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2549 มากเป็นเท่าตัว เนื้องานหลักจะเป็นงบประมาณก่อสร้างถนน รวมถึงการบำรุงรักษาทางด้วย และจากการประเมินปัญหาของกรมทางหลวง พบว่าผู้รับเหมาที่ได้รับผลกระทบจากการเบิกจ่ายเงินล่าช้าน่าจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มตามเนื้องานและมูลค่างาน ได้แก่ 1) กลุ่มผู้รับเหมารายเล็ก มูลค่างานก่อสร้างต่ำกว่า 50 ล้านบาท จะกระจายให้แขวงการทางและหมวดการทางจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ระยะเวลาทำงานสั้นประมาณไม่เกิน 6 เดือน
       ส่วนใหญ่มักจะเบิกจ่ายงวดเดียว และมักจะเป็นกลุ่มที่ไม่ขอเบิกเงินล่วงหน้า 15% เพราะมีปัญหาความยุ่งยากเกี่ยวกับภาระค่าธรรมเนียม หลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น    2) กลุ่มผู้รับเหมารายกลาง-รายใหญ่ มูลค่างานก่อสร้างเกิน 50 ล้านบาท จะทำสัญญากับกรมทางหลวงที่ส่วนกลางดูแลโดยตรง พบว่าไม่ค่อยมีปัญหามากนัก
       นายทรงศักดิ์ แพเจริญ วิศวกรใหญ่ฝ่ายก่อสร้าง กรมทางหลวง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมามีปัญหาค้างค่าเบิกจ่ายเงินงวดให้กับผู้รับเหมาเหมือนกัน เนื่องจากต้องใช้งบฯ กลาง คือตามขั้นตอนต้องทำเรื่องเบิกจ่ายกับกรมบัญชีกลาง ซึ่งก็ไม่ทราบว่ากรมบัญชีกลางติดขัดเรื่องอะไรจนทำให้ผู้รับเหมาได้รับ    ค่างวดล่าช้า จากการตรวจสอบก็มีหลายงวดเหมือนกัน บางรายล่าช้า 3-4 งวด   อย่างไรก็ตาม ปัญหายังไม่วิกฤตจนถึงขั้นมีการทิ้งงานเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในยุคที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 รวมทั้งดูแนวโน้มปัญหาการเบิกจ่ายล่าช้าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปีงบประมาณ 2550 เพราะเป็นสัญญางบฯเหลื่อมปีที่กันเบิกไว้ได้
ประเด็นเรื่องการปิดตัวลงของผู้รับเหมาที่รับงานกับกรมทางหลวงนั้น นายทรงศักดิ์กล่าวว่า สถิติปัจจุบัน  มีผู้รับเหมามาจดทะเบียนกับกรมทางหลวงในสัดส่วนที่ลดลงมากกว่า 50% โดยสถิติปี 2547 เดิมมีผู้รับเหมาขึ้นทะเบียนมากกว่า 1,000 ราย ต่อมากรมมีนโยบายปรับปรุงหลักเกณฑ์คุณสมบัติผู้รับเหมาขึ้นทะเบียนรับงานกับกรมใหม่ส่งผลให้ปี 2548 สถิติผู้รับเหมาจดทะเบียนลดเหลือ 565 ราย และปี 2549 สถิติจดทะเบียนใหม่   เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2549 มีเพียง 14 ราย อาจจะเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจและการปรับหลักเกณฑ์คุณสมบัติผู้รับเหมาขึ้นทะเบียนให้รัดกุม เข้มงวด และมีมาตรฐานมากขึ้น
       แหล่งข่าวจากผู้รับเหมาก่อสร้างกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" เพิ่มเติมว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีผู้รับเหมาหลายรายได้รับผลกระทบจากการเบิกจ่ายเงินล่าช้าจากหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกรมทางหลวง ล่าช้าไป   3-4 เดือน เพิ่งได้รับงวดเงินเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยทางหน่วยงานบอกว่าเป็นเพราะติดขัดการเบิกจ่ายงบประมาณจากกรมบัญชีกลาง ที่ต้องรอรายได้จากการเก็บภาษีเสียก่อน ขณะนี้กำลังรอดูเงินงวดใหม่ว่าจะมีการค้างจ่ายอีกหรือไม่
นายพลพัฒ กรรณสูต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ปัญหาการเบิกจ่ายเงินค่างวดล่าช้านั้น เป็นที่รับรู้ในวงการรับเหมาก่อสร้างว่าเริ่มมีให้เห็นและมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็กเป็นอย่างมาก และมีการทยอยปิดตัวลงเนื่องจากไม่มีงานรับเหมาอยู่ในมือ          สาเหตุน่าจะมาจาก 2-3 ประเด็นหลัก ๆ คือ ขาดเงินทุนหมุนเวียน ประสบปัญหาน้ำมันแพง ทำให้สายป่านไม่ยาว จนต้องปิดตัวลงแทบทุกเดือน รวมถึงปัญหาใหญ่ก็คือ "ค่าเค" หรือค่าเงินชดเชยตามต้นทุนที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งรัฐไม่ได้ชดเชยค่าเคให้อย่างเต็มที่ตามความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ทำให้ตอนนี้มีแต่ผู้รับเหมารายกลางและรายใหญ่ที่อยู่รอดได้    "ที่ผมแปลกใจมากคือ แม้แต่สมาชิกของสมาคม พบว่ามีผู้รับเหมาที่ค้างชำระค่าสมาชิกสมาคม ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์อย่างมาก เพราะค่าสมาชิกแค่ 10,000 กว่าบาทเท่านั้น มีสมาชิกแจ้งไม่จ่ายมากกว่า 10 รายแล้ว เท่ากับว่าวงการผู้รับเหมาตอนนี้ปั่นป่วนพอสมควร ทางสมาคมเปิดให้สมาชิกมาลงชื่อแจ้งปัญหาที่ประสบ ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมปัญหาเพื่อเตรียมเสนอขอความช่วยเหลือสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไป"
นายพลพัฒกล่าวในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทเนาวรัตน์ฯ ว่า จริง ๆ แล้วบริษัทมีสัญญาก่อสร้างทางอยู่กับกรมทางหลวงเช่นกัน และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทประสบปัญหาการเบิกจ่ายเงินล่าช้า 1 เดือน ได้รับการแจ้งว่าขั้นตอนล่าช้าเพราะติดอยู่ที่กับกรมบัญชีกลาง แต่ตอนนี้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

ประชาชาติธุรกิจ  25  พ.ค.  49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 30944เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2006 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 12:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท