ดับฝันขึ้นเงินเดือน ขรก.


เงินเดือนข้าราชการ
       คลังดับฝันขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ยันนายกฯ ไม่ได้สั่งการ เพียงแต่ให้หาแนวทาง บรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้น โต้ฝ่ายค้านไม่ใช่ดันโครงการประชานิยมหาเสียงรอบใหม่
นายวราเทพ รัตนากร รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นเงินเดือนสำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อย และที่ผ่านมายังไม่ได้มีการพูดหารือกันในเรื่องนี้เลย จึงยังไม่มีรายละเอียด หรือจำนวนเงินที่ต้องใช้ในการขึ้นเงินเดือนข้าราชการในครั้งนี้   “ผมไม่เคยได้ยินนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ คาดว่าจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะนายกฯ ได้สั่งการให้ดูแนวทางช่วยเหลือบรรเทา   ความเดือดร้อนข้าราชการกลุ่มที่มีเงินเดือน 2 หมื่นบาท เพื่อลดความเดือดร้อน ส่วนจะเป็นอย่างไรยังไม่มีใครรู้ เพราะจะต้องมีการหารือและมีความเห็นร่วมกันในวันจันทร์นี้อีกครั้ง ซึ่งคิดว่าการช่วยเหลือข้าราชการ ไม่น่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือนให้” นายวราเทพ กล่าว
       ทั้งนี้ การขึ้นเงินเดือนข้าราชการนั้น เมื่อตุลาคม 2548 รัฐบาลได้ปรับขึ้นเงินเดือน ข้าราชการ 5% ทุกอัตรา โดยจะต้องใช้เงินงบประมาณเพื่อดำเนินการ 1.64 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังปรับขึ้นเงินเดือนลูกจ้าง         จาก 7 พันบาท เป็น 1 หมื่นบาท โดยให้เหตุผลว่า เพื่อรักษาอำนาจซื้อของข้าราชการ และเพื่อยกระดับค่าตอบแทนของภาคราชการให้ใกล้เคียงกับอัตราตลาดมากขึ้น ซึ่งใช้เงินอีกประมาณ 1 พันล้านบาท    ดังนั้น หากมีการ  ขึ้นเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างประจำครั้งนี้อีก จะเป็นปัญหาในเรื่องงบประมาณ ต้องใช้จากเงินคงคลัง เนื่องจากเงินงบประมาณมีไม่เพียงพอ   ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2547 รัฐบาลได้ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 3% พร้อมกับพิเศษให้อีก 2 ขั้น โดยทั้งเพิ่มค่าตำแหน่งอีกเท่าตัว ในส่วนของลูกจ้างได้เพิ่มค่าจ้างให้ 1 พันบาท   โดยเมื่อปรับแล้วยังมีรายได้ไม่ถึง 7 พันบาท ก็ให้ปรับเพิ่มให้เป็น 7 พันบาท ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลใช้เงินไปกว่า      2 หมื่นล้านบาท
       นายวราเทพ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้ให้การบ้านหามาตรการในการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของประชาชนในแต่ละกลุ่มอาชีพ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังจะมีการประชุมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในวันศุกร์นี้ เพื่อกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือประชาชน และเสนอให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบในการประชุม ครม. นัดพิเศษครั้งต่อไปในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้    “ในภาวะที่เศรษฐกิจมีการชะลอตัว รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องหามาตรการเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชน โดยกลุ่มอาชีพที่เราจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือ อาทิ ราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานเอกชน และเกษตรกร” นายวราเทพ กล่าว
       นายวราเทพ กล่าวว่า การที่ฝ่ายค้านออกมาโจมตีมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล เป็นการใช้นโยบายประชานิยมเพื่อดึงฐานเสียงก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลแม้จะอยู่ในช่วงรักษาการ ก็จะยังต้องดูแลประชาชนไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเชื่อว่าทุกคนหากเป็นรัฐบาลรักษาการก็จะต้องทำแบบนี้เช่นกัน  ถือเป็นหน้าที่ก่อนจะส่งงานต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ไม่ใช่ปล่อยไว้เฉย ๆ

โพสต์ทูเดย์  25  พ.ค.  49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 30943เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2006 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท