การจัดการความรู้เรื่องน้ำท่วม 2


ถ้าเขื่อนได้รับการออกแบบและทำการก่อสร้างมาอย่างถูกต้องตามมาตรฐานทางวิศวกรรม ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนที่สร้างจากวัสดุอะไรก็ตาม โอกาสพังมีน้อยมาก

อ่างเก็บน้ำแตก

น้ำท่วมล่าสุด (พ.ค.2549) ที่อุตรดิตถ์และแพร่ มีอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่งแตก

 

ณ เมืองสาระขันที่ผู้เขียนอาศัยอยู่

ทุกครั้งที่มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันและน้ำก็ทำท่าว่าจะท่วมมิท่วมแหล่ ก็มักจะมีข่าวลือแพร่สะพัดออกไปว่าอ่างเก็บน้ำที่นั่นที่นี่แตก ซึ่งข่าวนี้สร้างความขวัญผวาให้แก่ชาวบ้านชาวเมืองอยู่ไม่น้อย

เพราะว่าเมืองนี้มีอ่างเก็บน้ำอยู่หลายแห่งรอบเมืองเลยทีเดียว

ผู้อ่านอย่าตกเป็นเหยื่อของข่าวลือทำนองนี้ ตั้งสติให้ดี แล้วถามกลับไปว่า (หรือฟังข่าวจากวิทยุ) ระดับน้ำต่ำกว่าสันเขื่อนอยู่เท่าไหร่ เพราะว่าถ้าระดับน้ำยังต่ำกว่าระดับสันเขื่อน โอกาสที่เขื่อนจะแตกมีน้อยมากครับ

 

ลักษณะการพัง (Fialure) ของอ่างเก็บน้ำ (เขื่อนดิน) มีดังนี้

1 น้ำล้นสันอ่างเก็บน้ำ

2 น้ำซึมผ่านใต้ฐานเขื่อน

การพังในลักษณะที่ 2 นี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เท่าที่จำได้ (เพราะเป็นข่าว) มีแห่งเดียวคือที่เขื่อนลำมูลบน ทั้งนี้เนื่องจากไม่ได้ทำแนวกันซึมที่ใต้ฐานเขื่อน (หรือทำแล้วแต่ไม่ดีพอ)

ส่วนเขื่อนคอนกรีตนั้นมีโอกาสน้อยมากที่จะพังเพราะน้ำท่วม

ถ้าเขื่อนได้รับการออกแบบและทำการก่อสร้างมาอย่างถูกต้อง ตามมาตรฐานทางวิศวกรรม ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนที่สร้างจากวัสดุอะไรก็ตาม โอกาสพังมีน้อยมาก

เพราะ

1ทุกเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนดินจะมีอาคารระบายน้ำล้น (Spill way) เพื่อระบายน้ำที่มากกว่าความจุ(ที่ได้ออกแบบไว้แต่แรก) ของเขื่อนออกไปโดยอัตโนมัติ ก่อนที่จะเกิดอันตรายกับตัวเขื่อน รวมไปถึงผู้คนที่อยู่บริเวณท้ายเขื่อน

2 จะมีการเจาะสำรวจชั้นดินที่ตั้งเขื่อน และทำการป้องกันการซึมผ่านของน้ำใต้ฐานเขื่อนไว้แล้ว

3 มีการเตรียมการป้องกันอื่นๆ ที่เหมาะสม แล้วแต่วิศวกรผู้ออกแบบ

 

มีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งตั้งอยู่ ณ เชิงเขา ของเมืองสาระขัน มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้วย และนานทีปีหนอ่างเก็บน้ำใบนี้ถึงจะมีน้ำเต็มอ่างสักครั้งหนึ่ง จึงมีนักคณิตศาสตร์ท่านหนึ่งเกิดมีไอเดีย (ที่ท่านคิดเองว่า) บรรเจิดที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีใครคิดได้มาก่อน แล้วท่านก็ได้เผยแพร่ไอเดียนี้ออกไปในวงกว้าง ไอเดียของท่านมีอยู่ว่า "ถ้าระดับน้ำสูงขึ้นอีก เท่านั้นเท่านี้ อ่างก็จะมีน้ำเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ก็ว่าไป" แล้วท่านก็เอาผลการคำนวณออกมานำเสนอ ท่านก็บอกต่อว่าแล้วทำอย่างไรที่จะทำให้อ่างเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นล่ะ "เราก็เอาแผ่นไม้กระดานไปปิดทางระบายน้ำล้นสิ น้ำก็จะสูงขึ้นเอง" ท่านไม่พูดเฉยๆ ท่านก็ลงมือทำ (หรือบอกให้มีใครบางคนทำ) ด้วย

ผมได้ยินแล้วขนหัวลุก เพราะสิ่งที่ท่านคิดและทำจะนำความหายนะมาสู่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ได้ เพราะอะไรหรือ

1 ถ้าน้ำล้นสันเขื่อนเมื่อไหร่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ก็ถึงกาลอวสานต์ทันที (รวมถึงอ่างเก็บน้ำอื่นๆ ทุกๆ แห่งด้วย)

2 แรงดันน้ำที่สูงขึ้น เพราะระดับน้ำสูงขึ้น จะส่งผลให้เกิดเกิดการซึมผ่านของน้ำในอ่างไปยังท้ายเขื่อนได้ง่ายขึ้น และถ้าน้ำซึมผ่านตัวเขื่อนหรือใต้ฐานเขื่อนเมื่อไหร่ก็อพยพหนีเถอะครับ

 

ใกล้ๆ อ่างเก็บน้ำนี้ เป็นที่ตั้งของหอพักนักศึกษา ซึ่งบางหอพักมีห้องพักอยู่ที่ชั้น 1 ด้วย ถ้าเขื่อนแตกตอนกลางคืน อะไรจะเกิดขึ้นกับนักศึกษาที่นอนหลับอยู่

กระแสน้ำที่ไหลแรงและเร็วจากการแตกของเขื่อนอาจทำอันตรายต่อฐานรากอาคารต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้นได้

ดังนั้นถ้าเมืองที่ท่านอยู่มีเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำแล้วละก็

1 ช่วยไปตรวจดูสุขภาพของอาคารระบายน้ำล้นของเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำนั้นๆ ว่าอยู่ในสภาพที่สามารถทำหน้าที่ได้หรือไม่ มีอะไรกีดขวางการไหลของน้ำหรือไม่ มีใครเอาอะไรไปปิดไว้หรือไม่

2 ให้ความรู้กับ ผู้ที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อน ว่าถ้าถึงหน้าฝนเมื่อไรให้หมั่นไปดูระดับน้ำ และอาคารระบายน้ำล้น ถ้าสามารถจดระดับน้ำเก็บไว้ได้ก็จะเป็นการดีมาก

3 ห้ามไปขุดดินท้ายอ่างเก็บน้ำโดยเด็ดขาด แม้จะเป็นเพียงหลุมเล็กๆ ก็ตามที

4 รวมถึงไม่ควรปลูกต้นไม้ใหญ่ๆ ใกล้ตัวเขื่อนเพราะรากไม้อาจชอนไชไปใต้ฐานเขื่อนได้

 

หมายเลขบันทึก: 30920เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2006 23:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท