อินโดนีเซีย : การปกครองของฮอลันดาในอินโดนีเซียในรูปแบบบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา


 การปกครองของฮอลันดาในอินโดนีเซีย

ในรูปแบบบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา

 

ภูมิหลังและการเข้ามาของฮอลันดา

 

              อินโดนีเซีย เป็นประเทศหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยเกาะใหญ่ ๆ ๕ เกาะ อันมี สุมาตรา กาลิมันตัน สุลาเวสี ชวา และอิเรียน ชยา และมีหมู่เกาะเล็ก ๆ อีกประมาณ ๓๐ หมู่เกาะ ซึ่งมีเกาะรวมกันถึง ๑๓,๖๗๗ เกาะ ในจำนวนนี้มีคนอาศัยประมาณ ๖,๐๐๐ เกาะ นอกจากนี้หมู่อินโดนีเซียยังแบ่งตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ ออกเป็น ๔ ส่วน ดังนี้

                ๑. หมู่เกาะซุนดาใหญ่ ประกอบด้วย เกาะสุมาตรา ชวา กาลิมันตัน และสุลาเวสี

                ๒. หมู่เกาะซุนดาน้อย รวมเกาะต่าง ๆ จากบาหลีถึงติมอร์

                ๓. หมู่เกาะโมลุกะ ประกอบด้วยหมู่เกาะที่อยู่ระหว่าง เกาะอิเรียน ชยา ถึงเกาะสุลาเวสี

                ๔. อิเรียน ชยา (สถานเอกอัคราชทูตอินโดนีเซีย, ๒๕๒๒ : ๑)

                สภาพการเมืองของอินโดนีเซียก่อนการเข้ามาของฮอลันดา การเมืองแตกแยกเป็นรัฐเล็ก ๆ สุลต่านเป็นประมุขสูงสุดในการปกครองและศาสนา ทำให้ประชาชนเคารพและจงรักภักดีต่อสุลต่าน    เนื้อที่พื้นดินของอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่ไปด้วยป่าดงดิบหนาแน่น ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินมีการขึ้นเรื่อย ๆ จากการระเบิดของภูเขาไฟ เช่น บนเกาะชวานั้นเต็มไปด้วยภูเขาไฟ ภายหลังจากการระเบิด ลาวาของภูเขาไฟมีแร่ธาตุที่ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์

                อินโดนีเซียมี ๒ ฤดู คือลมมรสุมตะวันออก ระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน ซึ่งเกิดจากประมาณลมทางพื้นทวีป และฤดูลมมรสุมตะวันตก ระหว่างเดือนธันวาคม – มีนาคม ซึ่งเกิดจากประมาณลมทะเลที่เต็มไปด้วยความชื้น

 

อาณาจักรโบราณในหมู่เกาะอินโดนีเซีย

 

                ตอนต้นคริสศตวรรษที่ ๖ ในขณะที่อาณาจักรฟูนันกำลังเสื่อมลงรัฐต่าง ๆ ในหมู่เกาะอินโดนีเซียก็มีความเจริญขึ้นมาแทนที่ คือ อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่ควรจะกล่าวถึง คือ ศรีวิชัย สิงหัสสาหรี และ มัชฌปาหิต ตามลำดับ ทั้ง ๓ รัฐ มีอารยธรรมแบบฮินดู – ชวา และพุทธมหายาน

             อาณาจักร ศรีวิชัย  เป็น ศูนย์กลางทางทะเลซึ่งเจริญขึ้นมาแทนที่อาณาจักรฟูนัน (ทางบก) ตั่งอยู่ในหมู่เกาะและเข้าควบคุมช่องแคบมะละกาและช่องแคบซุนดา ตั้งแต่คริสศตวรรษที่ ๖ เป็นศูนย์กลางของเส้นทางการค้าระหว่างจีนและอินเดีย เมืองท่าสำคัญคือ ปาเล็มปัง ด้วย ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ดี ทำให้ศรีวิชัยมีอิทธิพลทางด้านการค้าและการเมืองเหนือดินแดนคาบสมุทรมาลายู ฝั่งตะวันออก มีผู้นำที่เข้มแข็งเป็นนักนักการทูตที่เฉลียวฉลาด การส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนในคริสศตวรรษที่ ๕ และ ๖ เพื่อให้จีนรับรองอำนาจได้สร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้กับอาณาจักร ศาสนาพุทธได้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในอาณาจักรนี้ ปรากฏหลักฐานในการสร้างจดีย์บุโรพุทโธในภาคกลางของเกาะชวา อาณาจักรเริ่มเสื่อมลงในคริสศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓ เนื่องมาจากจีนเดินทางออกมาค้าขายนอกประเทศบ่อยขึ้น จีนเปลี่ยนเมืองท่าในการค้าขายใหม่เช่นในชวา สุมาตรา และอ่าวไทยทำให้เศรษฐกิจของศรีวิชัยตกต่ำลง อีกทั้งยังประสบปัญหาถูกพวกโจละจากตอนใต้ของอินเดียรุกราน สาเหตุสำคัญที่สุดเกิดอาณาจักรใหม่ที่มีความเข็มแข็งทั้งทางการเมืองและ เศรษฐกิจขึ้นมาแทนที่ คือ อาณาจักรสิงหัสส่าหรี

                อาณาจักรสิงหัสสาหรี น ขณะที่อาณาจักรศรีวิชัยเริ่มเสื่อมก็มีอาณาจักรหนึ่งเรื่องอำนาจขึ้นมาใน บริเวณภาคกลางของเกาะชวา คืออาณาจักรสิงหัสสาหรี (ค.ศ. ๑๒๒๒ – ๑๒๙๒ กษัตริย์องศ์สำคัญคือ พระเจ้าเกียรตินคร พระองศ์ทรงได้ขยายอำนาจและอิธิพลของอาณาจักรไปทั่วเกาะชวาไปทั่วเกาะชวาโดย ใช้อำนาจทางทหารและศาสนาจนสามารถควบคุมช่องแคบของมะละกาและสามารถขึ้นมา เรืองอำนาจแทนอาณาจักรศรีวิชัยได้ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จมากนัก จากการไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการไปจีนดังที่เคยกระทำในช่วงต้น ทำให้ในช่วงปลายของพวกมองโกลรุกราน อีกทั้งยังเกิดกบฏในเมือง จึงเป็นสาเหตุหลังที่ทำให้อาณาจักรสิงหัสสาหรีต้องเสื่อมลง

                อาณาจักรมัชฌปาหิต อาณาจักร สุดท้ายในหมู่เกาะอินโดนีเซียคืออาณาจักรมัชฌปาหิต (ค.ศ. ๑๒๙๓ – ๑๕๒๐) ถือว่าเป็นตัวแทนของอาณาจักรสิงหัสส่าหรี ในการดำเนินนโยบายในการแผ่ขยายอาณาเขตไปยังเกาะอื่น ๆ ในหมู่เกาะอินโดนีเซียเขามาเป็นสมาพันธรัฐ ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรื่องให้แก่อาณาจักรหาใช้ กษัตริย์ไม่ แต่เป็นเอกอัครมหาเสนาบดี ชื่อ คชา มาดา ผลงานสำคัญเช่น ใช้กำลังทางการทหารเป็นเครื่องมือในการก่อตั้งจักรวรรดิ จัดระเบียบการปกครองภายในเป็นสัดส่วน เสริมความสามารถของหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีปะสิทธิภาพ จัดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ เป็นการลดอำนาจและตัดปัญหาการแย้งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน สำรวจสำมะโนประชากร เพื่อจัดให้เป็นชนชั้น สะดวกแก่การจัดสรรอาชีพ รวบรวมตัวบทกฎหมายโดยดัดแปลงกฎหมายชวาเดิม ผสมผสานกับคำภีร์ธรรมศาสตร์ของอินเดีย สร้างสัมพันธไมตรีทางการค้ากับอาณาจักรใกล้เคียงเช่น อยุธยา พม่า เขมร จามปา เวียดนาม จีน อินเดีย เปอร์เชียร์ ทำให้อาณาจักรมัชฌปาหิตมีเสถียรภาพทางการเมืองส่งผลให้เศรษฐกิจของมัชฌปาหิต ดี เป็นศูนย์กลางทางการค้าระหว่างตะวันตกกับตะวันออก สินค้าสำคัญคือเครื่องเทศ ไม้หอม งาช้าง ดีบุก ฯลฯ เมื่อคชา มาดาถึงแก่อนิจกรรม อาณาจักรมัชฌปาหิตก็เสื่อมอำนาจลง  สาเหตุสำคัญความเสื่อมอีกประการหนึ่งคือ การขยายตัวของอาราจักรอิสลามเข้ามายังในหมู่เกาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐเล็ก ๆ หันไปนับถือศาสนาอิสลามมากขึ้นเพื่อความสะดวกกับการค้าขายกับชาติอาหรับและ ต่อต้านอาณาจักรมัชฌปาหิต เมื่ออาณาจักรมัชฌปาหิตก็เสื่อมลง หมู่เกาะต่าง ๆ ก็ตั้งตัวเป็นอิสระ ภาพรวมของการดำรงชีวิตของชาวพื้นเมืองนั้น มีอาชีพทางเกษตรกรรม สินค้าหลักคือ ข้าว และเครื่องเทศ มีกฎระเบียบของหมู่บ้านคือ อาดัท (Adat) เป็นจารีตประเพณีของแต่ละหมู่บ้าน รัฐต่าง ๆ มักจะขัดแย้งกัน โดยสาเหตุหลักมาจาก ลักษณะทางภูมิประเทศที่เป็นเกาะ ไม่สามารถรวมอำนาจการปกครองให้เป็นหนึ่งเดียวได้ง่าย จึงเกิดการแย่งชิงประชาชน การแย่งที่ดิน แข่งขันทางด้านการค้าข้าวและเครื่องเทศ และขัดแย้งทางด้านศาสนาฮินดูและอิสลาม การรวมอาณาจักเป็นเรื่องยาก แม้จะรวมกันใดก็ไม่นานนัก อาณาจักรมัชฌปาหิตนับเป็นอาณาจักรแรมที่รวบรวมหมู่เกาะต่าง ๆ ในอินโดนีเซียเป็นอาณาจักรได้ แต่เมื่ออาณาจักรมัชฌปาหิตเสื่อมลง บรรดารัฐเล็ก ๆ ในหมู่เกาะอินโดนีเซียก็ต่างแยกตัวเป็นอิสระ ไม่มีอาณาจักรใดก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเหมือนอาณาจักรมัชฌปาหิตได้อีก รัฐต่าง ๆ เหล่านี้บางครั้งก็เป็นไมตรีต่อกัน บางครั้งก็ทะเลาะทำสงครามกัน ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว เปิดโอกาสให้ชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซงได้ง่าย

                ฮอลันดา (ดัช) สนใจประเทศอินโดนีเซียเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของเครื่องเทศที่มีคุณภาพ ต้องการผูกขาดการค้าเครื่องเทศและกาแฟ จากการแข่งขันทางการค้าในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ศตวรรษที่ ๑๖ – ๒๐) ทำให้ รัฐบาลฮอลันดาร่วมทุนกับบริษัทของการค้าใหญ่ตามเมืองท่าต่าง ๆ ของฮอลันดา ก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (V.O.C.) ขึ้นในวันที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๖๐๒ ดำเนินกิจการในรูปแบบกิจการรัฐวิสาหกิจ ตั้งสถานีการค้าขึ้นที่บันทัม เนื่องจากนโยบายของผู้ปกครองบันทัมยินดีต้อนรับพ่อค้าต่างชาติ พ่อค้าคนแรกของดัชคือ สตีเวน แวนเดอร์ ฮาเกน ได้ทำสัญญาผูกขาดการค้ากานพลู ในนามของพ่อค้าสมาคมชาวดัช การค้าในแต่ละเมืองจะจัดส่งเรือออกไปอย่างเป็นอิสระ โดยผลกำไรและขาดทุนจะมาเฉลี่ยทั่วกัน ในที่สุด V.O.C. ก็เข้าควบคุมโรงเก็บสินค้าทั้งหมดที่ฮอลันดาตั้งขึ้นเช่นที่เกาะเทอร์เนตใน หมู่เกาะโมลุกะ บันดา บันทัม และกรีสิกริมฝั่งชวาเหนือ ปัตตานี ยะโฮร์บนแหลมมาลายูและอาเจะห์ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสุมาตรา (ดี.อี.จี. ฮอลล์, ๒๕๔๙ : ๒๙๖)

 

การขยายอำนาจและการปกครองในระบบเศรษฐกิจ

 

                 ดัชปกครองอินโดนีเซียแบ่งได้เป็น ๒ ระยะดังนี้

                 ๑. ระยะเศรษฐกิจ ระยะแรกเริ่ม

                ในระยะแรกเริ่ม ดัชสนใจเพียงแค่การค้าเพียงอย่างเดียว ไม่ได้สนใจครอบครองดินแดน การผูกขาดการค้าเครื่องเทศ ในหมู่เกาะเครื่องเทศ ผูกขาดการค้าข้าวในชวา และการผูกขาดการค้าอื่น ๆ ได้ผลเป็นอย่างดี ไม่มีความจำเป็นจะต้องครอบครองดินแดนแต่อย่างใด

                การใช้นโยบายผูกขาดทางการค้าไปพร้อม ๆ กับ ขจัดอิทธิพลของชาติอื่นคือ โปรตุเกส อังกฤษ อาหรับ โดยเสนอผลประโยชน์ให้สุลต่านในการทำสัญญาผูกขาดเครื่องเทศ ให้เงินตอบแทนและขายอาวุธให้ ขยายอำนาจทางการค้าไปยังดินแดนต่าง ๆ โดยเฉพาะในหมู่เกาะเครื่องเทศ พร้อม ๆ กับคุกคามโปรตุเกสให้ถอนกำลังทางการค้าในบริเวณถูมิภาคนี้ อีกทั้งปราบปรามอังกฤษให้ให้แข่งขันทางการค้า

                ใช้วิธีการปกครองแบบ Priangan System แบ่งดินแดนการปกครองออกเป็นเขต ๆ แต่งตั้งหัวหน้าชาวพื้นเมืองของแต่ละเขตเรียกว่า Regent มีหน้าที่ควบคุม ดูแลชาวพื้นเมืองเพาะปลูก และส่งผลผลิตให้กับ V.O.C. ในราคาที่บริษัทกำหนดไว้ Regent จะไม่ได้รับเงินเดือน แต่จะได้รับสิทธิทางภาษีจากประชาชนในเขตการปกครองของตน ภายใต้เงื่อนไขของบริษัทว่าต้องจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการชาวพื้นเมือง แต่การจัดการปกครองแบบนี้ทำให้ Regent แต่ละคนมีอำนาจมาก มักทำอะไรตามอำเภอใจ ดำเนินกิจการต่าง ๆ เป็นอิสระ Regent นานวันนับมีอำนาจมากยิ่งขึ้น เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันเอง กดขี่ชาวพื้นเมือง ในภายหลังบริษัทจึงเข้าแทรกแซง และควบคุมการตรวจสอบพวก Regent นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ฮอลันดาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายใน และเริ่มใช้นโยบายควบคุมดินแดน (ศิวพร ชัยประสิทธิกุล, ผศ., ๒๕๓๐ : ๘๕ – ๘๖)

                อย่างไรก็ตามในระยะเริ่มแรกนี้ ๆ การผูกขาดทางการค้าได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง ดัชทำการปกครองทางอ้อม ปล่อยให้ชาวพื้นเมืองปกครองตนเองของครอบครัวและหมู่บ้านที่เรียกว่า เดสา (Dasa) ตามกฎหมายและจารีตประเพณีพื้นเมือง อะดาท (Adat) ดัชรักษาเพียงผลประโยชน์ทางการค้าเท่านั้น แต่เนื่องจากการที่ชาวพื้นเมืองลักลอบขายสินค้าให้กับโปรตุเกส อังกฤษ สเปนและอาหรับ เนื่องจากชาติเหล่านี้ให้ราคาสูงกว่า Regent แต่ละคนมีอำนาจมาก เกิดการทะเลาะขัดแย้งกันเอง กดขี่คนพื้นเมือง บริษัทจึงเข้าแทรกแซง และควบคุมการตรวจสอบ อีกทั้งปัญหาโจรสลัดปล้นเรือสินค้าของ V.O.C. จึงทำให้ดัชจึงมีนโยบายควบคุมดินแดนนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของ V.O.C.

                ๒. การแทรกแซงทางการเมืองและการทำสงคราม

                การทำสงครามและเข้าแทรกแซงทางการเมือง เมื่อคนพื้นเมืองไม่ทำสัญญาทางการค้าก็จะใช้กำลังทางการทหารบีบบังคับ และถ้าดินแดนใดที่เห็นว่ามีประโยชน์ทางการค้าแก่ฮอลันดา เกิดการแตกแยกภายใน ฮอลันดาจะเข้าแทรกแซงทันที

                ปกครองระบบพาณิชย์นิยม  บริษัทซื้อสินค้าโดนตรงกับคนพื้นเมืองโดยตรง จ่ายเงินให้กับผู้ผลิต เนื่องจากบริษัทมีภาระทางการเงินมาก จึงมอบให้สุลต่านเป็นผู้ดูแล มีการนำระบบบังคับการเกษตรมาใช้ สุลต่านผูกพันสัญญากับบริษัท

                ดัชปกครองชวาอย่างใกล้ชิด ในส่วนท้องถิ่นและเกาะรอบนอก ผู้นำยังคงปกครองต่อไป ตราบเท่าที่การค้ายังคงดำเนินไปตามกฎของบริษัท แต่หากรัฐใดทำผิดกฎ ติดต่อค้าขายกับชาติอื่น ดัชจะลงโทษทันที

                 - บังคับให้ประชาชนเพาะปลูกพืชผลตามที่ฮอลันดาต้องการ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน มีระบบเรือลาดตระเวนฮองงี คอยจับผู้ลักลอบทำการค้า

                 - ชาวพื้นเมืองสามารถขายที่ดินได้ โดยเจ้าของที่ดินจะต้องแบ่งที่ดิน ๑ ใน ๕ ส่วนสำหรับปลูกพืชตามที่รัฐกำหนด

                 - ปรับปรุงการศาล ทุกเขตจะแยก Councils of Justice จากกัน

                 - ปราบปรามคอรัปชั่นของข้าราชการ และโจรสลัด

                ดัชขยายการปกครองไปทั่วดินแดนอินโดนีเซียและเก็บเกี่ยวพืชผลทางเกษตร การแสวงหาผลประโยชน์โดยปราศจากความเมตตา เมื่อดัชย้ายศูนย์กลางการปกครองและการค้าไปอยู่ปัตตาเวีย การปกครองเข้มงวดและรัดกุมมากขึ้น ทำให้ดัชได้เกาะชวาทั้งหมด และมีอิทธิพลทางการค้าและการเมืองเหนือหมู่เกาะเครื่องเทศ ยกเว้นเพียงมาคัสซาร์

 

ความเสื่อมของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา

 

              การแข่งขันทางด้านการค้าในยุโรป การขยายการค้าเกินกำลัง V.O.C. ขยายตัวทางการค้าเข้าไปใน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ทำให้มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก การค้าในจีนขาดทุ่น ประกอบกับสินค้าเครื่องเทศลดความนิยมลง ความต้องการสิ่งทอ จากอินเดีย และ ใบชาจากจีนเพิ่มขึ้น แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชชนิดใหม่เช่นชา กาแฟ แทนการปลูกเครื่องเทศในหมู่เกาะชวา ตั่งแต่บันทัมถึงมาธะรัม จำกัดการเพาะปลูกเครื่องเทศให้น้อยลง คือ ให้ปลูกได้ครอบครัวละไม่เกิน ๕ ต้น ใครปลูกมากจะถูกจำคุก (ศิวพร ชัยประสิทธิกุล, ผศ., ๒๕๓๐ : ๘๐) แต่ก็ไม่สามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทได้

                การผูกขาดการค้า ดัชไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ ไม่สนใจสวัสดิการของชาวพื้นเมือง เอารัดเอาเปรียบชาวพื้นเมือง ให้ค่าจ้างแรงงานพื้นเมืองถูก ให้ราคาสินค้าต่ำ ขายสิ้นค้าอุปโภคบริโภคให้ชาวพื้นเมืองแพงการผูกขาดทางการค้าไม่ได้ผลเท่า ที่ควรเนื่องจากมีอังกฤษและพ่อค้าชาวอาหรับเป็นคู่แข่ง อังกฤษและฝรั่งเศสหันมาส่งเสริมคนพื้นเมืองในอาณานิคมของตน เพาะปลุกค้าขายแข่งกับฮอลันดา ทำให้รายได้ของฮอลันดาลดลง ผลจากควบคุมการผลิตไม่ให้ผลผลิตมากเกินไป สิ้นค้าเครื่องเทศลดความนิยมลง การผลิตต้องถูกควบคุมโดย V.O.C. กดราคาสินค้าให้ต่ำ คนพื้นเมืองไม่พอใจต่อการบังคับการเพาะปลูก ต้องทำงานหนัก ไม่มีเสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ จึงเกิดการก่อกบฏ อีกทั้งเกิดปัญหาโจรสลัด และการลักลอบขายสินค้า ดัชต้องเสียเงินอย่างมากในการปราบปราม

                เกิดปัญหาทุจริตในแวดวงราชการ ข้าราชการได้เงินเดือนน้อยจึงต้องมีการติดสินบน แอบค้าขาย หารายได้ส่วนตัว และโกงบริษัทด้วยวิธีต่าง ๆ เช่นซื้อสิ้นค้าจากคนพื้นเมืองถูก ๆ ทั้ง ๆ ที่ดัชให้ราคาถูกอยู่แล้ว แต่กลับเบิกจากบริษัทแพงกว่าราคาซื้อ โกงตาชั่งน้ำหนัก ฯลฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากในการปราบปราม

                การมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น จึงมีค่าใช่จ่ายมากขึ้นเนื่องจากการขยายดินแดนและควบคุมดินแดนต่าง ๆ จ้างข้าราชการมากขึ้น มีการก่อกบฏหลายครั้ง รัฐเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น

                การเปลี่ยนแปลงในยุโรป สงครามปฏิวัติอเมริกา และ การปฏิวัติฝรั่งเศส ทำให้เศรษฐกิจยุโรปชะงักงัน V.O.C. เสียผลประโยชน์ทางการค้า

                การจ่ายเงินคืนกำไรให้หุ้นส่วนมาก ทั้งที่บริษัทใกล้จะขาดทุน เพราะกลัวหุ้นส่วนถอนหุ้น

                 ในที่สุด บริษัท V.O.C. ต้องล้มละลายลงในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๙ รัฐบาลฮอลันดาต้องเข้ามารับภาระในการชำระหนี้สิน มีการส่งข้าหลวงใหญ่เข้ามาปกครองอาณานิคม ทำการปฏิรูปการปกครองใหม่ แต่เมื่อเกิดสงครามนโปเลียนในยุโรป ค.ศ. ๑๘๑๑ – ๑๘๑๖ ฮอลันดาต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของฝรั่งเศส อังกฤษจึงต้องเข้ามาดูแลชวา และ หมู่เกาะเครื่องเทศชั่วคราว ภายใต้การปกครองของบริษัทอินเดียตะวันของอังกฤษ

                ในระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๑๑ – ๑๘๑๖ เซอร์ โทมัส แสตนฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Sir Thomas Stanford Reffles) นายผลผู้ว่าการชวาและเมืองขึ้นอื่น ๆ ได้แนะนำวิธีการปกครองท้องถิ่นด้วยตนเอง การค้าทาสได้ถูกสั่งห้าม ซึ่งในขณะนั้นชาวต่างชาติมักจะมีทาสไว้ครอบครอง ระบบการเช่าที่ดินได้ถูกนำมาใช้แทนกองทหาร (สถานเอกอัคราชทูตอินโดนีเซีย, ๒๕๒๒ : ๒๖) ยกเลิกการผูกขาดการค้าและการบังคับการเพาะปลูก ฟื้นฟูอำนาจสุลต่าน แบ่งชวาออกเป็น ๑๐ เขต มีผู้ปรกครองแต่ละเขตทำหน้าที่บริหารราชการ และทำหน้าที่ตุลาการ เรียกเก็บรายได้ให้รัฐบาล

 

การปกครองของรัฐบาลฮอลันดารอบที่ ๒ ภายหลังสงครามนโปเลียน

 

                ค.ศ. ๑๘๑๖ อังกฤษคืนชวาให้กับดัช ดัชกลับเข้ามาปกครองอินโดนีเซียอีกครั้ง ซึ่งสถานะทางการเงินยังทรุดหนัก การค้าในหมู่เกาะอินโดนีเซียไม่มั่นคง รัฐบาลฮอลันดาจึงเข้าปกครองชวา และหมู่เกาะเครื่องเทศอย่างใกล้ชิด และพยายามแทรกแซงการปกครองภายใน ทำให้อินโดนีเซียตั่งแต่ ค.ศ. ๑๘๑๖ ถึง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ต้องตกเป็นอาณานิคมของฮอลันดาอย่างสมบูรณ์ (ศิวพร ชัยประสิทธิกุล, ผศ., ๒๕๓๐ : ๘๓)

                รัฐบาล ฮอลันดาได้จัดตั้งคณะข้าหลวงเข้ามาปกครองอินโดนีเซีย โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญปกครองอาณานิคนที่เรียกว่า Regerrings-reglement รัฐบาลฮอลันดาได้ทดลองปกครองแบบเสรีนิยมที่แรฟเฟิลส์ได้วางเอาไว้ และมีนโยบายสงเสริมสวัสดิการของชาวพื้นเมืองให้ดีขึ้นเนื่องจากแรกงกดดันของ พวกเสรีนิยมในยุโรป ดัชได้ปรับเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบเสรีนิยมคือ

                ๑. การเสียภาษีที่ดิน จะเสียเป็นเงินหรือผลผลิตดก็ได้ เก็บเงินเป็นหมู่บ้านหัวหน้าเป็นผู้เก็บ

                ๒. ยกเลิกการบังคับการทำงาน การทำงานจะได้รับค่าตอบแทน

                ๓. ยกเลิกเรือลาดตะเวน กำหนดให้ปลูกพืชบางชนิดเพื่อหารายได้เข้ารัฐ

                ๔.ใช้ระบบการศาลยุติธรรมแบบยุโรป และแบบพื้นเมืองผสมผสานกันตามแบบที่แรฟเฟิลส์วางไว้

                ๕. มีการปฏิรูปการปกครองอย่างแข็งขัน ป้องกันมิให้ชาวพื้นเมืองถูกขูดรีด เช่นออกกฎหมายห้ามชาวยุโรปปลูกกาแฟ ห้ามชาวยุโรปเช้าที่ดินจากชาวพื้นเมือง

                ๖. โจฮันเนส แวน เดน บอส (Johannes Van der Bosch) ได้เสนอระบบเศรษฐกิจวัฒนธรรม (Culture system) คือระบบบังคับการเพาะปลูก ในปี ค.ศ. ๑๘๓๔ - ๑๘๗๗ โดยอาศัยวัฒนธรรมเดิมของชาวพื้นเมืองที่เคารพเชื่อฟังสุลต่าน เพราะสุลต่านเป็นผู้นำทางการปกครองและทางศาสนา มีการกำหนดข้อตกลงกับสุลต่าน ประชาชนปลูกพืชตามที่ยุโรปต้องการ ดัชได้ประโยชน์จากระบบนี้มาก สถานะทางการเงินดีขึ้น

                ระบบวัฒนธรรม เป็นระบบควบคุมหน่วยการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเกื้อหนุนระบบการเพาะปลูกแบบบังคับและระบบบรรณราการ แบบเก่าของรัฐต่าง ๆ ในชวา ซึ่งได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดให้สอดคล้องกับมาตรการการปกครองทาง ภาษีแบบอาณานิคม ที่ดัชพยายามประยุกต์ให้สอดคล้องกับพื้นฐานของวัฒนธรรมและประเพณีการปกครอง ของสังคมชาวพื้นเมืองอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ระบบวัฒนธรรมการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสามารถก่อให้เกิดผลผลิตทางการ เกษตรเพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลกที่มีมากขึ้นตลอดเวลา ระบบวัฒนธรรมจะดำรงอยู่ได้ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการควบคมการผลิตโดยตรงและมี ประสิทธิภาพมากที่สุด ระบบวัฒนธรรมจะควบคุมพืชเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ตามระบบที่ V.O.C. เคยปฏิบัติมาแล้วในอดีต พร้อมกับเน้นประสิทธิภาพในการจัดการทางด้านแรงงานและที่ดินให้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น กล่าวโดยสรุป ระบบวัฒนธรรมคือผลลัพธ์ของการฟื้นฟูอิทธิพลของลัทธิพานิชยกรรมนิยม (Liberalism) ในการประกอบการทางเศรษฐกิจ ทั่วดินแดนต่าง ๆ ของดัชนั่นเอง (ภูวดล ทรงประเสริฐ, ๒๕๓๙ : ๑๖๕)

                หลักการของระบบวัฒนธรรม (การบังคับเพาะปลูก)

                ชาวพื้นเมืองสามารถให้ชาวยุโรปเช่า หรือขายที่ดินได้ โดยเจ้าของที่ดินจะต้องกันที่ ๑ ใน ๕ สำหรับปลูกพืชผลตามที่รัฐกำหนด เช่น คราม อ้อย กาแฟ ยาสูบ ฝ้าย เป็นต้น ๑ ใน ๕ ของที่ดินนั้น กันไว้เพื่อเสียภาษีเป็นผลผล

                ๑. ต้องปลูกข้าวตามจำนวนที่รัฐกำหนด พืชผลที่จะส่งไปศูนย์ชั่งน้ำหนัก เมื่อหักค่าเช่าและภาษีแล้ว ส่วนที่เหลือรัฐจะจ่ายให้ในราคาที่ต่ำ แต่ถ้าพืชผลประสบความเสียหายเนื่องจากภัยธรรมชาติ รัฐบาลจะเก็บพืชผลเฉพาะฤดูที่ไม่เสียหายเท่านั้น

                ๒.การเพาะปลูกของประชาชน ต้องปฏิบัติตามแนวทางของผู้ควบคุม และข้าราชการฮอลันดา

                ๓.มีการแบ่งแรงงาน ส่วนหนึ่งทำงานเพาะปลูก อีกส่วนหนึ่งทำการเก็บสินค้าและทำการขนส่ง เพื่อกระจายแรงงานออกไป ทำให้รัฐบ้างและทำให้ที่ดินของตนเองบ้าง

                ๔.เน้นความสำคัญในการตกลงกับประชาชน ควบคู่กับเอาวิธีการบีบบังคับมาใช้ และขอความร่วมมือจากนายทุน

                ข้อดี

                ๑. วิธีบังคับการเพาะปลูก ทำให้ชาวพื้นเมืองมีความรู้ความเจริญด้านการเกษตรกรรม มีผลผลิตทางการเกษตรมากที่สุด ฮอลันดามีผลกำไรมากมาย

                ๒. อัมเตอร์ดัม กลายเป็นตลาดที่สำคัญของสินค้าจากอินโดนีเซีย โดยเฉพาะเครื่องเทศและพืชผักเมืองร้อน ฮอลันดา กลายเป็นอันดับที่ ๓ ในการขนส่งรองจากอังกฤษ และ ฝรั่งเศส ฮอลันดาสามารถใช้หนี้สินได้ ฐานะทางการเงินดีขึ้น

                ๓. โดยทั่ว ๆ ไป ผู้คนมีฐานะดีขึ้น ประชากรเพิ่มขึ้นถึง ๓ เท่า

                ข้อเสีย

                ๑. เป็นระบบเศรษฐกิจที่ทารุณชาวพื้นเมือง ชาวพื้นเมืองต้องทำงานหนัก เป็นการบังคับใช้แรงงานในระบบทาส ชาวนาต้องเสียภาษีที่ดิน

                ๒. ผู้คนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการเพาะปลูก

                ๓. รายได้จากการเพาะปลูกพืชรัฐเอาไปหมด ส่วนแบ่งที่คนพื้นเมืองได้ ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

                ๔. คนพื้นเมืองค้าขายไม่เป็น คนกลายเข้ามาทำการค้าขาย กลายเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจภายในอินโดนีเซีย

                ๕. ขาดการอุตสาหกรรม ทำให้ขาดดุลทางการค้า เพราะต้องซื้อของจากต่างประเทศ เงินที่ลงทุนคือเงินของรัฐบาลฮอลันดา ฮอลันดาควบคุมเศรษฐกิจไว้ทั้งหมด

                การ ปกครองของดัชสร้างปัญหาให้กับอินโดนีเซียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะระบบบังคับการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เกิดปัญหาการขาดแคลนข้าว เพราะที่ดินที่ควรจะนำมาปลูกข้าวเพื่อใช้บริโภคกลับถูกนำไปปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย ผู้คนค้าขายไม่เป็น สภาพชีวิตของผู้คนแย่ลง กลุ่มเสรีนิยมได้โจมตีระบบนี้อย่างหนัก เกิดขบวนการชาตินิยม เกิดการก่อกบฏชองชาวพื้นเมืองไปทั่วภูมิภาค ในปี ค.ศ. ๑๙๑๙ ระบบนี้ได้ถูกยกเลิกเป็นการถาวร

                ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อินโดนีเซียได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ประเทศได้ตกอยู่ในภาวะยากเข็ญ เกิดการเรียกร้องเสรีภาพและเอกราชในการปกครองตนเองทั่วอินโดนีเซีย บุคคลที่มีความสำคัญในการเรียกร้องเอกราชคือ ดร. ซูการ์โน และ ดร.โมฮามัด อัตตา

                ในที่สุด ชาวอินโดนีเซียก็ประสบความสำเร็จ สามารถก่อตั้งสาธารณะรัฐอินโดนีเซียอย่างสมบูรณ์ หลังจากประกาศเอกราชในวันที่ ๑๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๙

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

 

หนังสืออ้างอิง

ดี.อี.จี. ฮอลล์. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : สุวรรณภูมิ – อุษาคเนย์ภาคพิสดาร เล่ม ๑ –

เล่ม ๒. ในมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ.

ไม่ปรากฏสำนักพิมพ์. ๒๕๔๙.

ภูวดล ทรงประเสริฐ. อินโดนีเซีย : อดีตและปัจจุบัน. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์

             มหาวิทยาลัย. ๒๕๓๙.

ศิวพร ชัยประสิทธิกุล, ผศ. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีตถึงปัจจุบันโดยสังเขป.

             พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ๒๕๕๐.

“_____________”. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายหลังการเข้ามาของชาติตะวันตกถึงภายหลัง

             สงครามโลกครั้งที่ ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ๒๕๓๐.

สถานเอกอัคราชทูตอินโดนีเซีย. อินโดนีเซียโดยสังเขป. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : สถาณเอกอัคราชทูต

             อินโดนีเซีย, ๒๕๒๒.

หมายเลขบันทึก: 309086เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2009 08:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อากได้เนื้อหารวมของเอเชียตะวันออกทั้งหมดค่ะ

ขอบคุณนะค่ะ สำหรับข้อมูล กำลังเรียน อาเซียนศึกษานะค่ะ เปนประโยชน์ จังเรยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท