The End of Poverty


การหยุดปัญหาความยากจนเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเรา - ซาคส์
The End of Poverty

     ต้นปี 1985 ในงานสัมมนาเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศโบลิเวีย ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ซึ่งจัดโดยนักศึกษาชาวอเมริกาใต้กลุ่มหนึ่ง ระหว่างการพูดคุยอย่างออกรสถึงหนทางการแก้ปัญหาอยู่นั้น ซาคส์ หนึ่งในศาสตราจารย์ที่หนุ่มที่สุดในประวัติศาสตร์ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ลุกขึ้นจากเก้าอี้ผู้ฟัง เดินรี่ไปยังกระดานดำหน้าเวที ก่อนจะเล็กเชอร์ผู้ฟังทั้งห้องประชุมว่า ทำไมสาเหตุของวิกฤติจึงเกิดขึ้น ระบบเศรษฐกิจทำงานอย่างไรบ้าง

     Carlos Iturralde นักธุรกิจชาวโบลิเวีย ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของโบลีเวีย พูดขึ้นจากด้านหลังห้องประชุมในเชิงท้าทาย ซาคส์ ว่า ถ้าเขาเก่งจริง ทำไมไม่ไปที่ ลา ปาซ (เมืองหลวงของประเทศโบลิเวีย) เพื่อช่วยชาวโบลิเวียล่ะ

     เจ็ดอาทิตย์ถัดมา ในวันที่ 9 กรกฎาคม 1985 นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มชาวอเมริกันวัยสามสิบปี ชื่อ เจ็ฟฟรี่ ซาคส์ (Jeffrey Sachs) เดินลงจากเครื่องบินที่สนามบิน กรุงลา ปาซ ประเทศโบลิเวีย

     ณ ที่นี่ คือ ปฐมบทของการเดินทางที่ยาวไกลอีกกว่า 20 ปีในประเทศกำลังพัฒนากว่า 100 ประเทศทั่วโลก หรือคิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก

     ประสบการณ์ทั้งหมดของ ซาคส์ รวมอยู่ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา ที่ชื่อว่า The End of Poverty: How We Can Make It Happen in Our Lifetime

     โบลิเวีย เป็นประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา หรือ อเมริกาใต้ ตั้งอยู่ในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลหลายพันเมตร และเป็นประเทศปิด นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทีมฟุตบอลทีมชาติโบลิเวียได้เปรียบประเทศคู่แข่งเสมอเมื่อต้องต้อนรับการมาเยือนของทีมคู่แข่ง และทำให้พวกเขาเก็บชัยชนะในบ้านได้บ่อยครั้ง ที่แม้แต่มหาอำนาจของวงการฟุตบอลโลก อย่าง ทีมชาติบราซิล ยังต้องคิดหนักเมื่อต้องมาเยือนโบลิเวีย

     แต่ความสูงของพื้นที่ กลับไม่ร้ายแรงเท่า อัตราเงินเฟ้อที่ขึ้นไปถึง 3,000% เมื่อครั้งที่ ซาคส์ ก้าวเท้าเหยียบลงบนผืนแผ่นดิน กรุงลา ปาซ

     เงินเฟ้อที่ขึ้นแบบติดจรวด ส่งผลให้ราคาสินค้าพุ่งขึ้นแบบหยุดไม่อยู่ ราคาสินค้าพุ่งเร็วมากจนทำให้ผู้คนบนท้องถนนเร่งรุดแบกกระสอบเงินเปโซของโบลิเวียที่ลดค่าลงทุกวันๆ ไปแลกเอาเงินดอลลาร์ไม่กี่เหรียญมาเก็บไว้

     ซาคส์ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเงินเฟ้อและการเงินระหว่างประเทศ เสนอคำแนะนำแก่รัฐบาลโบลิเวีย สามปีถัดมา สถานการณ์เงินเฟ้อติดจรวดสิ้นสุดลง

     ซาคส์ เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้รัฐบาลโบลิเวียหลายปี ก่อนที่จะเดินทางไป โปแลนด์ และ รัสเซีย ที่นี่เขาต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งในการเปลี่ยนแปลงสองประเทศนี้จากคอมมิวนิสต์สุดขั้วไปสู่ทุนนิยมสุดโต่ง

     และสุดท้าย กลุ่มประเทศแอฟริกาเป็นลูกค้ารายล่าสุดของ ซาคส์

     ประสบการณ์อันยาวนานในแวดวงประเทศกำลังพัฒนา โดยทำงานกับเหล่าผู้นำรัฐบาล, รัฐมนตรีคลัง และ รัฐมนตรีสาธารณสุข ซาคส์กลับสู่มาตุภูมิ และใช้ความรู้และประสบการณ์ที่เชี่ยวกรากบริหาร Earth Institute แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และโครงการยักษ์ใหญ่ Millennium Project ของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นโครงการที่รวบรวม นักเศรษฐศาสตร์, นักวิทยาศาสตร์, และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาในหลากหลายสาขา เพื่อที่จะแก้ปัญหาความยากจนและความหิวโหยของโลกให้ได้ภายในปี 2015 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการประชุมสุดยอด the U.N. Millennium Summit เมื่อเดือนกันยายน ปี 2000 โดยมีแผนการที่จะเรียกร้องประเทศร่ำรวยให้เพิ่มการช่วยเหลือทางการเงินเป็นสองเท่าให้แก่ประเทศที่ยากจน

     ซึ่งหนทางนี้ ซาคส์ ยืนยันว่า เป็นวิธีที่เป็นไปได้, ส่งผลอย่างแท้จริง และอยู่ในวิสัยที่ทำได้

     โดยได้ร่วมมือกับกลุ่มจูบิลี 2000 ซึ่งนำโดย บ็อบ เกลดอล์ฟ และ โบโน แห่งยูทู ที่มีเป้าหมายที่สอดคล้องกัน คือ เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วยกหนี้ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา จัดคอนเสิร์ต Live 8 ที่โด่งดังไปทั่วโลก ด้วยยอดคนดูทางโทรทัศน์ 2,000 ล้านคน กับเวทีคอนเสิร์ต 10 แห่งทั่วโลก ด้วยสโลแกน “ทำความยากจนให้เป็นเพียงประวัติศาสตร์บทหนึ่ง (Make Poverty History)”

     ซึ่ง ซาคส์ ประกาศว่า การหยุดปัญหาความยากจนเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเรา

     คำนิยมของ โบโน ในหนังสือเล่มนี้ที่กล่าวถึง การเดินทางไปกับซาคส์บนเครื่องบินเที่ยวหนึ่ง มีแอร์โฮสเตสสาวคนหนึ่งเข้ามาขอลายเซ็นต์ของเขา แต่เขากลับชี้ให้ไปขอลายเซ็นต์ ซาคส์ ดีกว่า เพราะ แม้เขาจะเป็นนักร้องร็อคสตาร์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ลายเซ็นต์ของ ซาคส์ จะมีค่าเหลือคณานับ

     โบโน กล่าวถึง การแก้ปัญหาความยากจนของ ซาคส์ ว่า เป็นเหมือนสมการทางคณิตศาสตร์ที่ยาก แต่สามารถแก้ได้

     โบโน ยกย่อง ซาคส์ ว่า เสียงของเขาดังกว่ากีตาร์ไฟฟ้าตัวไหนๆ , หนักยิ่งว่าวงเฮพวี่ เมทัล วงใด ๆ

     โบโน กล่าวถึง ซาคส์ ว่า มีจินตนาการที่ล้ำเลิศในการแก้ปัญหา แต่เขาก็ไม่เคยละทิ้งความจริงเบื้องหลัง ซาคส์ เชื่อว่า วิกฤตต่าง ๆ ในประเทศกำลังพัฒนาสามารถหลีกเลี่ยงได้ และมีทางออกในการแก้ปัญหา

     ซาคส์ เริ่มต้นประโยคแรกแนะนำหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นหนังสือเกี่ยวกับการหยุดยั้งความยากจนในยุคสมัยของพวกเรา โดยมิได้เป็นคำทำนายว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่จะอธิบายว่า อะไรสามารถเกิดขึ้นได้บ้าง

     ปัจจุบัน คนแปดล้านคนทั่วโลกตายในแต่ละปี เพราะสาเหตุคือ พวกเขายากจนเกินกว่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

     ซาคส์ ตั้งปณิธานว่า คนรุ่นเราจะต้องหยุดยั้งปัญหาความยากจนสุดขั้วให้ได้ภายในปี 2025

     นับแต่วันที่ 11 กันยายน 2001 รัฐบาลทำเนียบขาวมุ่งแต่การกำจัดผู้ก่อการร้าย แต่กลับมองข้ามสาเหตุลึกๆ ที่ทำให้โลกขาดซึ่งเสถียรภาพ ทั้งเสถียรภาพทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ

     ประเทศอเมริกาทุ่มงบประมาณ 450,000 ล้านเหรียญในปีนี้ให้กับกิจการทหาร แต่จ่ายเงินเพียงหนึ่งในสามสิบ หรือ 15,000 ล้านเหรียญให้แก่ประเทศที่ยากจน ซึ่งทำให้เสถียรภาพทางสังคมของประเทศเหล่านี้ยังคงสั่นคลอนอย่างต่อเนื่อง และ ไม่แปลกที่ประเทศเหล่านี้จะกลายเป็นสวรรค์ของเหล่าผู้ก่อการร้าย

     เงิน 15,000 ล้านเหรียญ หรือ 15 เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติทุกๆ 100 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ โดยที่แนวโน้มการให้เงินช่วยเหลือของประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะพี่ใหญ่ของโลก กลับลดลงเรื่อยๆ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา และที่สำคัญ เงินเหล่านี้น้อยกว่าที่พี่ใหญ่เคยประกาศให้คำสัญญาไว้ แต่กลับทำไม่ได้

     เจ็ดสิบห้าปีก่อน นักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษและของโลก อย่าง จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เจ้าของทฤษฎีแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เขียนหนังสือ ชื่อ The Economic Possibilities for Our Grandchildren ซึ่งกล่าวถึงหนทางที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศอังกฤษ และ ประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในยุคสมัยของคนรุ่นหลานของเขา

     เคนส์ ให้ความสำคัญกับ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงประสิทธิภาพของความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยเป็นความเติบโตในระดับที่เพียงพอที่จะหยุดยั้งปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีมาอย่างยาวนาน โดยทำให้ประชาชนมีกินอย่างเพียงพอ และ มีรายได้มากพอที่จะซื้อหาปัจจัยสี่ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต

     เคนส์มาถูกทางแล้ว เพราะทุกวันนี้ ไม่มีความยากจนอย่างเด่นชัดแล้วในกลุ่มประเทศร่ำรวย และกำลังจะหายไปในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

     ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ระหว่างปี 1990 – 2001 จีดีพีต่อหัวของประเทศเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้น 5.5% ต่อปี และ 3.2% ต่อปีในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ผลก็คือ ความยากจนลดลงอย่างเห็นได้ชัดในทั้งสองภูมิภาค ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งคำถามว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดในการป้องกันปัญหาความยากจนจริงหรือ

     ตรรกะเดียวกันนี้ ซาคส์ เห็นว่า น่าจะสามารถนำมาใช้กับกลุ่มประเทศยากจนข้นแค้นได้เช่นกัน โดยเขาต้องการให้เกิดผลในรุ่นของเราเลย มิต้องรอให้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

     น่าเสียดายที่ว่า ระหว่างปี 1990 – 2002 ที่ผ่านมารายได้ต่อหัวของประชากรในทวีปแอฟริกากลับไม่เพิ่มขึ้นเท่าไร แต่จำนวนประชากรที่ดำรงชีวิตด้วยรายได้น้อยกว่า 1 เหรียญสหรัฐต่อวันกลับเพิ่มขึ้น 33% หรือคิดเป็นมากกว่า 330 ล้านคน

     ถึงแม้ว่า W. W. Rostow นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแห่งเอ็มไอทีเคยเขียนไว้ในหนังสือ The Stage of Economic Growth ว่า ถ้าประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มอัตราการลงทุนเป็นสองเท่า พวกเขาจะสามารถเติบโตได้ด้วยตัวของเขาเองได้

     ในยุคของประธานาธิบดี เคนเนดี้ และ จอห์นสัน ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงตั้งงบประมาณช่วยเหลือประเทศยากจนอื่นๆ มากถึง 0.6% ของจีดีพี โดยเงินเหล่านี้นำไปใช้ลงทุนในเมกะโปรเจ็คท์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงาน, ทางด่วน และ เขื่อน

     แต่ผลก็คือ เศรษฐกิจของประเทศผู้รับเงินช่วยเหลือจำนวนมากเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น กานา , แซมเบีย, ชาด และ ซิมบับเว กลับไม่เติบโต หรือ อาจจะกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจหดเสียด้วยซ้ำ

     ในขณะที่ เศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับเงินช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ , ฮ่องกง และ มาเลเซีย กลับเติบโตอย่างรวดเร็ว

     เมื่อดูจากประวัติศาสตร์เหล่านี้แล้ว จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า มีความสัมพันธ์อย่างสอดคล้องระหว่างความช่วยเหลือกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

     แต่ในมุมมองของ ซาคส์ เขาไม่เชื่อเช่นนั้น เขาเห็นว่า การลงทุนจะต้องทำอย่างเหมาะสม และ ตรงจุด โดยต้องคำนึงถึง วัฒนธรรม , คุณค่า และ พฤติกรรมส่วนตัวของแต่ละคนในแต่ละประเทศด้วย และเป็นที่มาของโครงการของสหประชาชาติหลายต่อหลายโครงการ โดยเขาอ้างถึงงานวิจัยของธนาคารโลกที่บอกว่า ความช่วยเหลือสามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ถ้าความช่วยเหลือนั้นถูกให้แก่ประเทศที่มีรัฐบาลที่มีการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน

     ซาคส์ นำเสนอสิ่งที่เรียกว่า Clinical Economics ซึ่งจะให้ความสนใจแก่ประวัติศาสตร์, ชาติพันธุ์, และ การเมืองของแต่ละประเทศ มากกว่าการใช้วัคซีนชนิดเดียวกันแก้ปัญหาทุกประเทศ

     ซาคส์ ยอมรับว่า รัฐบาลของประเทศในทวีปอัฟริกามีคุณภาพต่ำ แต่เขาเห็นว่า เหตุที่การบริหารของรัฐบาลเหล่านี้ย่ำแย่ เพราะ ประเทศยากจน

     การพัฒนาของประเทศในทวีปแอฟริกาที่ประสบความล้มเหลวมาโดยตลอด เพราะ ผู้บริหารและผู้บริจาคไม่เข้าใจสภาพภูมิศาสตร์ของทวีปนี้ที่อากาศร้อน , ถูกแยกออกจากทวีปอื่น ๆ, และต้องผจญกับปัญหาโรคเขตร้อน ซึ่งส่งผลให้สภาพผืนดินไม่สามารถเพาะปลูกได้ดีพอ, ขาดระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมถึงกันทั่ว, ขาดพลังงาน และ การสาธารณสุขที่ดีพอ ทำให้เหล่าประเทศในทวีปแอฟริกาต้องตกอยู่ในกับดักความยากจนที่สุดในโลก

     โครงการต่อต้านความยากจนของสหประชาชาติ ภายใต้การดูแลของ ซาคส์ จึงวางแผนที่จะช่วยเหลือ โดยการกำหนดแผนการระยะยาวในการลดความยากจน โดยศึกษาถึงความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละพื้นที่ และจะต้องหาประเทศที่จะมาเป็นผู้บริจาคเงิน ซึ่งแน่นอนว่า สหประชาชาติต้องการเงินงบประมาณมหาศาลเพื่อการนี้

     นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องแก้ไข คือ การแก้ทัศนคติที่มีต่อทวีปแอฟริกา ที่มองว่าพวกเขาเป็นดินแดนแห่งความเลวร้าย ที่ไม่สามารถพัฒนาได้ ซึ่งสิ่งที่ประเทศในทวีปแอฟริกาต้องการเป็นสิ่งแรก ๆ อาจจะเป็นกรณีตัวอย่างสักหนึ่งหรือสองประเทศที่ประสบความสำเร็จได้ โดยแสดงให้เห็นว่า ประเทศเหล่านี้ก็มีศักยภาพเช่นกันไม่ว่าจะเป็นทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ ซึ่งกรณีเหล่านี้จะกลายเป็นโมเดลตัวอย่างสำหรับประเทศอื่น ๆ รวมถึงนักลงทุนทั่วโลกที่จะปรายสายตามามองแอฟริกาบ้าง และปัจจุบันก็มีตัวอย่างบ้างแล้ว อย่าง หมู่เกาะมอริเชียส ( Mauritius ) ทางฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมทอผ้า

     ตัวอย่างเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่า ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม และ ถูกต้อง ประเทศในทวีปแอฟริกาก็สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจโลกได้เช่นกัน และสถานการณ์ปัจจุบันที่ ราคาน้ำมัน , กาแฟ และ สินค้าอุปโภคบริโภค หลายชนิดมีแนวโน้มสูงขึ้น ก็อาจจะทำให้หลายประเทศในทวีปแอฟริกาที่เป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดสามารถเติบโตโดดเด่น ในระบบเศรษฐกิจโลกได้

     ซึ่งตรงนี้ โครงการต่อต้านความยากจน ของสหประชาชาติ ภายใต้การนำของ ซาคส์ ก็เตรียมพร้อมจะช่วยเหลือประเทศที่มีโอกาสเติบโต แต่ไม่สามารถดิ้นหลุดจากกับดักความยากจนได้

     ซาคส์ ชี้ว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดในปัจจุบันมิใช่ประเทศที่มีรัฐบาลบริหารย่ำแย่แต่ได้เงินช่วยเหลือมากเกินไป แต่เป็นเพราะ ประเทศที่มีการบริหารจัดการดี แต่ได้รับเงินช่วยเหลือน้อยเกินไปต่างหาก

     The End of Poverty: How We Can Make It Happen in Our Lifetime อาจจะมิใช่หนังสือ ฮาว-ทู ที่จะบอกว่า การแก้ไขความยากจนทำได้อย่างไรบ้าง แต่นี่เป็นมุมมองของโลกในแง่ดีที่เห็นว่า ปัญหาทุกอย่างมีทางออก สมการทุกอย่างสามารถแก้ได้เพียงแต่เราจะใส่ใจและแก้โจทย์ได้ตรงจุด

     ทฤษฎีการแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้มีทฤษฎีเดียว แต่ต้องการหัวใจที่มุ่งแก้ไขดวงเดียวกัน

     จากบทความ Clinical Economics

     โดย ikke

     ที่มา http://lepidopterans.blogspot.com/2007/03/clinical-economics.html

คำสำคัญ (Tags): #the end of poverty
หมายเลขบันทึก: 308280เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2009 17:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท