ปิดทองหลังพระ


“...การทำงานด้วยน้ำใจรักต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้จะไม่มีใครรู้ ใครเห็น ก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้นจะเป็นประจักษ์พยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้ เหมือนกับสอนให้ปิดทองหลังพระ การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็น ก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่า ไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้....”

พระบรมราโชวาท   

        “...การทำงานด้วยน้ำใจรักต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ  แม้จะไม่มีใครรู้ ใครเห็น  ก็ไม่น่าวิตก  เพราะผลสำเร็จนั้นจะเป็นประจักษ์พยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้ เหมือนกับสอนให้ปิดทองหลังพระ   การปิดทองหลังพระนั้น  เมื่อถึงคราวจำเป็น   ก็ต้องปิด  ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่า ไม่มีใครเห็น  แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย  พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้....”

          ทรงเตือนสติทุกคนให้ทำงานด้วยความตั้งใจ ด้วยความรู้ ความสามารถ และความสุจริต แม้งานที่ทำนั้นอาจไม่มีผู้ใดทราบ แต่เมื่อเป็นงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติแล้ว  ควรที่จะทำแม้จะเป็นการทำในลักษณะ ปิดทองหลังพระก็ตาม เพราะถ้าทุกคนคิดแต่จะปิดทองหน้าพระ ทำงานเอาหน้า ทำอะไรต้องให้มีผู้รู้ผู้เห็น   ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก  รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์         แก่ประเทศชาติได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน

          พระบรมราโชวาท  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของจุฬาลงกรณ์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  วันที่ 25 กรกฎาคม 2506

          จากพระบรมราโชวาทที่ยกขึ้นกล่าวไว้เบื้องต้นนั้น  ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย  “ปิดทองหลังพระ” เป็นคำพังเพยที่ท่านทั้งหลายคงจะเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ  แต่...

          ท่านทั้งหลายทราบกันไหมว่า  มันหลายถึงอะไร..? 

          ปิดทองหลังพระ หมายถึง การที่บุคคลทำคุณงามความดีแล้วไม่มีคนเห็น  แถมกลับได้รับคำตำหนิเสียอีก  ท่านจึงเปรียบเทียบกับการปิดทองหลังพระ  เพราะพระท่านมองไม่เห็น   อย่างนี้...เป็นความคิดของคน  ทำให้น้อยอกน้อยใจในการกระทำของตน  การคิดอย่างนี้ออกจะเป็นการขาดเหตุผลสักหน่อย  เพราะถ้าเราคิดกันเพียงตื้นๆ  ก็จะเป็นได้ว่า  เราไปปิดทองด้านหลังของพระ  พระท่านจะมองเห็นได้อย่างไร  อย่างนี้ถูกในรูปของวัตถุ  เพราะพระท่านไม่มีตาทางด้านหลังจะมองและจะเห็นได้อย่างไรว่าใครมาทำอะไรข้างหลังของท่าน  เพราะท่านเป็นแต่เพียงรูปปั้นที่ช่างเขาจินตนาการขึ้นมา  ท่านไม่มีจิตวิญญาณ  เพราะท่านเป็นพระในรูปของวัตถุมีพระที่เป็นนามธรรม ที่คอยรับรู้การกระทำของคนทั่วไป พระอย่างนี้เรียกว่า  พระธรรม  ธรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์  ให้เป็นไปต่างๆ นาๆ  ถ้าใครทำดี  พระธรรมก็จะรักษาบุคคลผู้ทำกรรมดี  ไปสู่ที่ที่มีแต่ความเจริญ  บุคคลที่ทำกรรมชั่ว  ก็ย่อมตกไปสู่ที่ชั่ว  เพราะทางพระธรรมจะคอยรับรู้อยู่ตลอดเวลา  ว่าใครทำอย่างไร  และคอยให้ผลแก่บุคคลเหล่านั้นโดยอัตโนมัติ  แต่การที่เราคิดว่าการทำดีแต่ไม่ได้ดีไม่ได้ผลตอบแทนแล้วก็ตีโพยตีพายว่า  “ทำดีได้ดี  มีที่ไหน   ทำชั่วได้ดีมีถมไป”  ทางพระพุทธศาสนาท่านสอนให้คนรู้จัก  เหตุผล  ว่าอะไรถูกอะไรผิด  ท่านสอนให้พวกเราทุกคนที่เป็นชาวพุทธนั้น  มามองดูที่ตัวของเราเองเสียก่อน  อย่าเข้าข้างตัวเอง  เราต้องดูว่าการกระทำอย่างนี้มันถูกต้องหรือเปล่าต้องตรวจดูที่ต้นเหตุเสียก่อนแล้วจึงค่อยปักใจปลง  ถ้าเราไม่ตรวจดูให้แน่นอนลงไปแล้ว  จะทำให้เราขาดเหตุผล  และเป็นผลร้ายแก่ตัวของเราทีหลัง  ถ้าเราทำถูกต้องแล้ว  แต่มันยังกลับได้รับแต่ความเดือดร้อนอีก  เราก็ต้องหลีกเลี่ยง  และอย่ายึดถือให้มากนัก  เพราะในทางพระพุทธศาสนาท่านกล่าวไว้ว่า  การที่คนทำดีไม่ได้ดีนั้น  อาจจะทำดีไม่ถูกดีก็ได้   การที่คนชั่วทำกรรมชั่วย่อมจะได้รับกรรมชั่ว  แต่การที่คนทำชั่วได้ดีก็เพราะความดีที่เขาทำไว้ในปางก่อนมันยังอำนวยผลอยู่  สิ่งที่แน่นอนแล้วบุคคลที่ทำกรรมดีแล้วต้องได้ดีอย่างแน่นอนที่สุด  บุคคลที่ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่วตอบแทนอย่างแน่นอนไม่เป็นสอง  การที่คนทำดีไม่ได้ดีนั้นมีสาเหตุอยู่  ๒  ประการ ได้แก่

          ๑.  ทำดีไม่ถูกดี  หมายความว่า  บุคคลทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งคิดว่ามันถูกก็ทำไป  แต่ขาดการพิจารณาหรือเห็นเขาทำอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น  โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลว่า  การทำอย่างนั้นมันมีประโยชน์หรือเปล่าหรือเป็นการกระทำเพราะเข้าใจผิดว่าทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์  ตัวอย่าง  เช่น  การให้ทาน  บางคนให้ในสิ่งที่ไม่ควรจะให้ เช่น  การให้น้ำเมาแก่คนต่างๆ  เมื่อให้ไปแล้วก็ดื่มกันเข้าไป  เมื่อเหล้าเข้าปากความยากก็หายไป  แล้วท่านลองคิดดูเถิดว่าจะเป็นไปในรูปไหน  ส่วนมากจะเป็นไปในทางเสื่อมเสียมากกว่า  เราท่านทั้งหลายคงจะได้อ่านหนังสือพิมพ์  ฟังข่าวกันบ้าง  และจะได้เห็นว่าเกิดเรื่องฆ่าฟันกัน  แทงกัน  การทะเลาะวิวาทกัน เกิดความวุ่นว่าย  เพราะสิ่งนี้มากที่สุด  เมื่อเมากันได้ที่แล้วก็เกิดทะเลาะวิวาทกัน  บางทีตัวคนที่ให้ของเสพย์ติดเหล่านี้ชนเหล่านั้นอาจจะได้รับผลพลอยได้จากการทะเลาะวิวาทกันก็ได้  เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็จะบ่นว่า  ทำดีแล้วไม่ได้ดีว๊ะ  อุตส่าห์หาเหล้ามาให้พวกมันกินหมดไปหลายบาท  แถมมันเมาจนเละมันก็จะเตะเราเสียอีก  การทำความดีอย่างนี้เขาเรียกว่า  ทำดีไม่ถูกดี  โดยขาดการคิดที่รอบคอบเสียก่อน ว่าการทำแบบนี้มันมีประโยชน์หรือเปล่า  ผลสุดท้ายเราทำไปก็รับแต่โทษฝ่ายเดียว  เพราะเราทำดีไม่ถูกดี  อย่างนี้แล้วจะให้อะไรช่วยได้เล่า  การทำบุญก็เหมือนกัน  เราส่วนมากจะทำตามกันมาอย่างนั้นนั่นแหละ  แต่หาเข้าใจไม่ว่าการทำอย่างไรจึงจะได้บุญ  อย่างเช่น  การบวช  ชาวพุทธทุกคนยึดถือเป็นประเพณีว่า  คนมีอายุครบ  ๒๐ ปีแล้วต้องเข้ามาบวช  จัดเตรียมการจัดงานอย่างใหญ่โตรโหฐาน  เช่น  เราจะสังเกตเห็นโดยส่วนมากมีหนัง  ลิเก  เครื่องสมโภชอย่างอื่นอีก  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะต้องหามาด้วยเงินทอง  หากฐานะเรามั่งมีก็ไม่เท่าไรหรอก  แต่ถ้าฐานะเราไม่ค่อยดีเล่า  บางคนถึงขนาดไปกู้หนี้ยืมสินเขามาเพื่อบวชลูกชาย  จัดงานใหญ่โตหน้าดูมีเครื่องสมโภชต่างๆ  เวลาการจัดงานในงานนั้นเต็มไปด้วยอบายมุขทั้งนั้น  แม้แต่ตัวเจ้าภาพเองบางงานจะทำบุญยังเมาเป๋  พระมาถึงบ้านแล้วยังหาตัวเจ้าภาพมาจุดธูปจุดเทียนยังหาตัวไมได้  ต้องหากันให้วุ่นวายไปหมด  มัวแต่เพลิดเพลินในอบายมุข  แม้แต่ศีลสักข้อหนึ่งในใจยังไม่มีเลยแล้วจะเอาความดีที่ไหนมา  ท่านทังหลายลองคิดดูเถิดว่า  การทำในลักษณะเช่นนี้จะได้อะไรขึ้นมา  พองานเสร็จแล้วอะไรก็พากันเสร็จสิ้นไปหมด  แต่ที่มันไม่ยอมหมดสิ้นไปก็คือ  หนี้สินที่ไปหยิบยืมเขามา  คราวนี้ก็ต้องหาใช้เขาตัวเป็นเกรียว  แล้วมาบ่นว่า  ทำบุญไม่ได้บุญเลย  บุญไม่เคยช่วยอะไรเลยแล้วก็พากันสิ้นศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นว่า  ทำอะไรลงไปแล้วไม่ได้เห็นสิ่งที่ตอบแทนเลย  เพราะเราทำบุญไปโดยขาดหลักการ  การกระทำสิ่งที่ดีจึงไม่ได้ดี  เพราะทำอย่างนี้มันไม่ถูกดี  แล้วจะให้ได้ดีได้อย่างไร  ก็เหมือนกับคนแทงหวยไม่ถูกแล้วจะได้รับรางวัลอย่างไรได้  พระพุทธศาสนาสอนให้ทุกคนมีเหตุผลที่ดีไม่ขาดเหตุผล  การทำบุญเราต้องดูที่ตัวเรา  ว่าตัวเราเองพร้อมที่จะทำหรือยังและสิ่งของที่เราจะทำมันพร้อมแล้วหรือยัง  ถ้าพร้อมแล้วเราก็ทำได้เลยไม่ต้องรอโอกาส  และการกระทำมันต้องดูกำลังตัวเอง  และดูกำลังทรัพย์ของเราเสียก่อนว่าเราจะสามารถทำได้อย่างไร  อย่าทำไปให้เกินกำลังตัวเอง  และกำลังสิ่งของที่มีอยู่  เราต้องทำให้มันพอเหมาะ  เหมือนกับคนที่แบกของที่หนักเกินกำลังแล้วจะทำให้เราลำบาก  และอาจได้รับโทษก็ได้  ถ้าเราเอาแต่พอกำลังของเราเราก็ไปได้สบาย  การทำบุญของเราถ้าเราทำเกินกำลังของเราเกินฐานะของเรามันก็เกิดความทุกข์ได้  แล้วเราจะมีความเห็นผิดไปอย่างเช่น  คำพูดที่กล่าวไว้ว่า  ทำบุญเสียเปล่า  ไหว้เจ้าดีกว่า  ซึ่งไหว้เจ้าอาหารมันไม่ไปไหน  มันจะไปไหนได้เล่า  ก็ไม่มีใครมากินนี่  ทำบุญ...มันต้องทำด้วยความตั้งใจ  และเราพร้อมที่จะทำจึงจะได้บุญ

          ๒.  เป็นเพราะกรรมที่เราทำไว้แต่ปางก่อน  พระพุทธศาสนาเรายอมรับเรื่องกรรม คือ  การกระทำของบุคคลและยอมรับวิบาก คือผลของการกระทำ  ถ้าบุคคลใดทำกรรมดีผลมันก็ดี  ถ้าบุคคลใดทำกรรมชั่วผลมันก็ชั่ว  การที่เราทำดีถูกที่แล้ว  แต่ได้รับผลร้ายมันเป็นเพราะเหตุอะไร  เราท่านอาจสงสัยว่ามันหมายความว่าอย่างไร  ตัวอย่างเช่น  คนๆ หนึ่งเคยเป็นโจรเที่ยวปล้นเที่ยวจี้เขา  แต่ทางกฎหมายบ้านเมืองยังทำอะไรเขาไม่ได้  ภายหลังคนนั้นกลับรู้สำนึกตัวว่าทำในสิ่งที่ผิดแล้วกลับใจเลิกเป็นโจร  ประพฤติแต่ในทางที่ดี  ทำแต่สิ่งที่ดีเพื่อไล่บาปที่เขาทำไว้  ช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก  แต่ภายหลังทางตำรวจได้สืบทราบว่านายคนนี้เคยเป็นโจรปล้นสะดม  เคยก่อคดีท้ากฎหมายบ้านเมืองโดยมีพยานหลักฐานอย่างชัดเจน  แล้วก็เข้าจับกุมไปดำเนินคดีตามกฎหมาย  อย่างนี้เราพอทราบกันได้ว่า  โจรกลับใจนั้นในปัจจุบันเขาก็สร้างคุณงามความดีทุกอย่าง  แต่...เป็นเพราะอะไรเล่าที่เข้ายังต้องติดคุก  ก็เป็นเพราะกรรมที่เขาได้ก่อในกาลก่อนนั้นเอง  อย่าว่าแต่คนธรรมดาเลย  แม้แต่อัครสาวกฝ่ายซ้ายของพระพุทธเจ้า คือ ท่านพระโมคคัลลานะ ซึ่งท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว  เป็นผู้หมดซึ่งกิเลสตัณหาทั้งปวงแล้ว  ท่านก็ยังถูกโจรทุบตายอย่างอนาถ  เป็นเพราะเหตุอะไรหรือท่านจึงมาปรินิพพานในสภาพอันไม่สมควรเช่นนั้น  ก็เป็นเพราะเหตุก็คือ  กรรมเก่าที่ท่านได้เคยทุบตีพ่อแม่ของท่าน  เพราะไปหลงเชื่อคำของเมียในอดีตชาตินั้นตามมาส่งผลในชาตินี้  แต่...รวมความแล้วการกระทำกรรมดีของท่าน  ท่านก็ได้รับแล้วในชาตินี้ คือท่านได้สำเร็จเป็น  พระอรหันต์  เป็นพระอริยบุคคลแล้ว  ที่นี้มาพูดถึงตัวเราบ้างว่า  ถ้าเราทำกรรมดีแล้วแต่ได้ผลร้ายอย่างนี้  เพราะมีอุปสรรคมาขัดขวางการกระทำของเรา  อย่าพึงไปโทษอะไร  เราต้องต่อสู้อุปสรรคที่มาขัดขวาง  อย่าไปหยุดทำความดี  เพราะถ้าเราหยุดทำความดีแล้วเราจะได้อะไร  ขนาดทำดีแล้วยังไม่ได้ดี  ถ้าหยุดทำแล้วจะได้อะไรเล่า  เราอย่าพึ่งไปท้อแท้ใจ  ถึงอย่างไรสิ่งที่ทำไปแล้วย่อมตอบสนอง  เป็นแต่ว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น  ถึงเราทำดีไม่มีใครเห็น  ท่านก็ว่าถึงใครไม่เห็นผีมันก็เห็น  ถ้าผีไม่เห็นเทวดาก็เห็น  แต่..ถ้าเทวดายังไม่เห็น  ตัวเรานั่นแหละก็เป็นผู้เห็นเอง  สมดังบทกลอนที่ท่านอณุทิพย์  ธารทอง ได้ประพันธ์ไว้ว่า......         

                             คนดีมีอยู่ใช่น้อย                 ค่อยค่อยปูทางสร้างสรรค์

                   สืบสานหว่านโปรยพืชพันธุ์            อย่าท้อรอวันผลคืน

                   อย่าทวงอย่าถามความดี                 วันไหนวันที่ชมชื่น

                   เคียดแค้นหวานอมขมกลืน             ใครอื่นไหนจักปลื้มปรีดิ์

                             เป็นสุขกับงานที่ทำ             เลิศล้ำดาลดลล้นปรี่

                   ไม่จดจ่อหวังคลั่งดี                        แต่สุขเกิดที่ในใจ

                   ปิดทองหลังพระละชั่ว                    เกรงกลัวบาปชักผลักไส

                   ดีชั่วอยู่ที่หทัย                              ไม่ต้องรอใครยกยอ

                             ผลกรรมทำดีมีแน่                เพียงแต่รอวันสานก่อ

                   สร้างสมบ่มดีมากพอ                     ทำใจไม่ท้อในทาง

                   คนอื่นไม่เห็นตนเห็น                     ระกำลำเค็ญเข็ญสร้าง

                   รอขอบฟ้าขาวรางชาง                   สว่างพร่างพราวภายใน...ฯ

 

        เพราะมันจะปรากฏในใจของเราอยู่ทุกขณะว่าเราทำดีแล้ว  แต่เราต้องดูตัวเราเองเสียก่อน  ถามตัวเราเองเสียก่อนว่า เราทำดีแล้วหรือเราทำถูกแล้วหรืออย่าพยายามเข้าข้างตัวเอง  เพราะถ้าเข้าข้างตัวเองแล้ว  เราจะไม่เห็นส่วนบกพร่องของตัวเราเอง  คนเราส่วนมากคอยแต่จะเข้าข้างตัวเองเสมอไป  คอยแต่จะเห็นว่าตัวเองนั้นทำถูกเสมอ  ถ้าเราหัดไม่เข้าข้างตัวเองเสียบ้างเราก็จะเป็นคนที่ทำถูกอยู่เสมอ  ถ้าเราเข้าข้างตัวเองแล้วก็เหมือนกับคำพังเพยที่ว่า “ปิดทองหลังพระ”  แล้วไม่ได้บุญ ข้อนี้เท็จจริงอย่างไรเราคงเคยสังเกตเห็นได้ว่าในงานปิดทองพระในสถานที่ต่างๆ  คนจะพากันกราบนมัสการพระพุทธรูปพร้อมกับนำธูป-เทียน-ทองไปสักการบูชา  แต่ที่น่าสังเกตเห็นว่าไม่ค่อยมีใครเขาเอาทองไปปิดด้านหลังของพระกันเลย  เพราะเขากลัวว่าจะไม่ได้บุญ  ข้อนี้ท่านกล่าวไว้เป็นปริศนา คือ  ท่านหมายถึงว่า  ถ้าคนเราทำอะไรลงไปโดยการเข้าข้างตัวเองอยู่เสมอแล้ว  ก็จะไม่เห็นว่าอะไรมันถูกมันผิด  เพราะส่วนมากคนเราทุกคนจะทำอะไรตามใจปรารถนาของเราอยู่แล้ว  และมันอาจจะผิดมากกว่าถูกถ้าทำด้วยอำนาจกิเลส  แต่ถ้าเราทำโดยการใช้ปัญญามาเป็นเครื่องสอดส่องใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำลงไป ผลดีก็จะเกิดขึ้นแก่ตัวของเรา  อย่างเช่นเรามองไปทางไหนเราก็จะเห็นไปทางนั้น  เรามองไปข้างหน้าเราก็จะเห็นข้างหน้า  ข้างหลังเราก็จะมองไม่เห็น  แต่ถ้าเราเหลียวกลับมาดูข้างหลังเราก็จะเห็นข้างหลัง  แต่ถ้าเรามองดูรอบๆ แล้วเราก็จะเห็นได้รอบข้าง  เหมือนกันฉันใด  คนที่ทำอะไรเข้าข้างตัวเองก็จะเห็นแต่เพียงด้านเดียว  แต่การทำอะไรลงไปโดยเราใช้ปัญญาเป็นเครื่องตัดสินโดยยึดธรรมะเป็นใหญ่ในการวินิจฉัย ใช้ปัญญาตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูก  ถ้าทำอะไรไม่ถูกเราก็เลิกทำเสีย  ก็เหมือนกับคนปิดทองหลังพระ  เขาบอกว่าไม่ได้บุญหลอกพระท่านมองไม่เห็น  เพราะ...ท่านต้องการสอนให้เรารู้ว่าจะทำอะไรอย่าเข้าข้างตัวเองให้มากนัก  ทำอะไรต้องตรองดูให้รอบคอบใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำลงไปจึงจะได้ผลดี  ถ้าเราทำโดยขาดการไตร่ตรองและใคร่ครวญเสียก่อนก็จะเปรียบเหมือน การปิดทองหลังพระ  พระท่านมองไม่เห็น  ซึ่งความจริงนั้นท่านมีจุดประสงค์ตามที่กล่าวมานี้

                แต่.....การปิดทองหลังพระนั้น  เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด  ถึงแม้ว่าคนส่วนมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่า ไม่มีใครเห็น  แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย  พระพุทธรูปองค์นั้นจะเป็นพระพุทธะที่งดงามสมบริบูรณ์ได้อย่างไร  สมตามบทกลอนของท่านผู้ใช้นามว่าหลวงตา  (14/06/09) ได้ประพันธ์ไว้ว่า...... 

                   ขอปิดทองหลังพระละทิฏฐิ        ไม่ตำหนิผู้ใดให้เสียหาย

          ยังขอปิดหลังพระตลอดไป                ไม่อยากได้หน้าตาว่าข้าดี

          มีหลังพระว่างว่างบ้างหรือเปล่า           ฉันอยากเข้าไปปิดเสริมราศี

          ให้เหลืองบ้างอย่างข้างหน้าราคามี        แม้ผิดที่ไม่เป็นไรขอได้ทำ

                   ให้องค์พระได้เหลืองเป็นสีทอง    ไม่เศร้าหมองใครมองไม่น่าขำ

          ด้านหน้าเหลืองแต่ด้านหลังเป็นสีดำ      มองแล้วขำทำไปช่างไม่อาย

          ไม่มีใครได้รู้ใครได้เห็น                    ว่าฉันเป็นคนปิดไม่เสียหาย

          ช่วยปิดทองหลังพระไม่น่าอาย         พระจะหายความหม่นหมองมีทองทา

                   ได้ทำดีไร้คนเห็นเช่นหลังพระ   จงมานะมุ่งมั่นต้องสรรหา

          จงอดทนเพื่อความดีจะกลับมา          เป็นคุณค่าในใจได้ปิดทอง

          เมื่อทำดีก็ต้องทำให้มันบ่อย              ไม่ต้องคอยความดีให้สนอง

          ให้ทำดีเพื่อดีเหมือนดั่งทอง              ไม่หม่นหมองอยู่ในตมงมขึ้นมา

                   ขอปิดทองหลังพระก่อนละโลก  จะไม่โศกไม่มีใครให้คุณค่า

          คนไม่เห็นก็ยังมีเหล่าเทวา               เห็นคุณค่าฉันบ้างก่อนวางวาย

          เชิญเถิดท่านจะรายงานว่าท่านปิด      ขอสักนิดทองของฉันอย่าให้หาย

          ทองของฉันที่ปิดนั้นคือกำไร             ขอฝากไว้กับตรงนั้นฉันยินดี...ฯ

          แต่...ถ้าเรามาดูกันที่ว่า  การยึดถืออย่างที่เขาว่านั้นจริงๆ ว่า  การปิดทองหลังพระแล้วไม่ได้บุญจริงหรือ  สมเด็จพระชินศรีท่านตรัสไว้ว่า  การกระทำอะไรสักอย่างหนึ่งเราต้องทำด้วยความตั้งใจ  ทำด้วยความเลื่อมใส  ศรัทธาแล้วจึงค่อยทำลงไป  อย่าทำแต่สักว่าเห็นเขาทำก็ทำตามเขา  แล้วจะไม่เกิดผลดีอะไรขึ้นเลย  มันแล้วแต่ใจของผู้ทำต่างหาก  ถ้าใจของผู้ทำไม่เข้าถึงพระพุทธเจ้าแล้ว  เอาทองไปปิดสักร้อยแผ่น-พันแผ่นมันก็ไม่เกิดผลดีอะไรขึ้นมา  จึงอยากขอให้พุทธศาสนิกชนจงไตร่ตรองดูเถิดว่า คำที่เขาว่า ปิดทองหลังพระ แล้วไม่ได้บุญนั้น  คำนี้ ท่านหมายความว่าอย่างไร  ท่านหมายถึง  การกระทำความดีและการกระทำความชั่ว   เขาจึงเปรียบเทียบ  การกระทำความชั่วว่าเหมือนกับการปิดทองหลังพระ      พระท่านย่อมไม่มอง  เพราะพระท่านเกลียดความชั่วและคนที่ทำกรรมชั่ว  แต่การปิดทองหน้าพระท่านเปรียบกับบุคคลที่กระทำกรรมดี  สมตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ความว่า  ที่ให้ปิดทองหลังพระก็เพื่อเตือนตัวเองว่า  การทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร หรือประกาศให้ใครรู้ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นบำเหน็จรางวัล ที่สมบูรณ์แล้ว.....(จาก พล.ต.อ.วสิษฐ  เดชกุญชร  บันทึกความทรงจำ)  พระท่านย่อมช่วยเหลือคนทำกรรมดีอยู่เสมอและคนที่ทำกรรมดีย่อมมองเห็นพระอยู่เสมอ คือ  เห็นกรรมดีที่ตนทำแล้ว  แต่..คนที่ทำแต่กรรมชั่วย่อมจะไม่มองเห็นพระคือ มองไม่เห็นกรรมดีว่า  มันดีอย่างไร มองเห็นแต่กรรมฝ่ายชั่วอย่างเดียวและย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมชั่วที่เขาทำไว้  เหมือนกับบุคคลปิดทองหลังพระย่อมจะไม่ได้บุญอย่างที่เขาว่ากัน   

         ท้ายที่สุดนี้  จึงขอให้ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย  ผู้ปรารถนาความสุข  รักความเจริญในชีวิต  ขอให้ทุกท่านจงช่วยกันปิดทองหน้าพระ  คือทำกรรมดี อย่าปิดทองหลังพระ คือทำกรรมชั่ว แต่...การปิดทองหลังพระซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า  (วัตถุ) นั้น  ก็ต้องปิดกันบ้าง  เพราะถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้าองค์พระ ไม่มีใครปิดทองหลังองค์พระเลย  พระพุทธรูปองค์นั้นก็จะเป็นองค์พระพุทธะที่งามบริบูรณ์ไม่ได้  จึงต้องมีผู้เสียสละกันบ้างดังกล่าวแล้ว ด้วยอำนาจแห่งบุญบารมีและคุณพระรัตนตรัยจะประทานพรให้ท่านทั้งหลาย ให้ชีวิตของท่านทั้งหลายจงประสบกับความสุขความเจริญในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อและจงเป็นผู้เจริญในธรรมเป็นนิตย์  เทอญ....ฯ

       

 

หมายเลขบันทึก: 307749เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2009 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท