เล่าขานตำนานไทย ..การจับช้างป่า..


เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ที่สามารถนำมาฝึกเพื่อใช้ทำงานหนักได้ ในอดีตจึงมีการจับช้างป่าด้วยวิธีการต่างๆ มาฝึกให้เชื่องไว้ใช้งานหรือขาย ที่นิยมกันก็คือการโพนช้างและการคล้องช้าง ซึ่งเป็นวิธีจับช้างป่าในเขตจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์และที่อื่นๆ อีกเป็นอันมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตแขวงเมืองจำปาศักดิ์และปากเซ เป็นต้น

เล่าขานตำนานไทย ...การจับช้างป่า...          

                  เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ที่สามารถนำมาฝึกเพื่อใช้ทำงานหนักได้ ในอดีตจึงมีการจับช้างป่าด้วยวิธีการต่างๆ มาฝึกให้เชื่องไว้ใช้งานหรือขาย ที่นิยมกันก็คือการโพนช้างและการคล้องช้าง ซึ่งเป็นวิธีจับช้างป่าในเขตจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์และที่อื่นๆ อีกเป็นอันมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตแขวงเมืองจำปาศักดิ์และปากเซ เป็นต้น

     การโพนช้าง เป็นวิธีการจับช้างป่าบนหลังช้างต่อโดยใช้บ่วงบาศคล้องที่เท้าหลังของช้างป่า เป็นอาชีพซึ่งสืบต่อกันมาเป็นทอดๆ จากบรรพบุรุษของพวกส่วย ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเขมรที่อาศัยอยู่ในเขตอีสานใต้

     หมอช้าง คือผู้ที่จะออกไปจับช้าง มีหลายระดับตามผลงานในการจับช้าง “หมอจ่า” คือหมอช้างใหม่ มีผลงานในการจับช้างได้เชือกสองเชือก ระดับต่อไปที่จับช้างได้จำนวนมากขึ้นเรียกว่า “หมอเสดียง” หมอระดับสูงขั้นรองหัวหน้าเรียกว่า “หมอสดำ” และหัวหน้าหมอช้างซึ่งเป็นหมอที่มีอาวุโสและชำนาญในการจับช้างมากที่สุด เรียกว่า “หมอเฒ่า” หรือ “ครูบาเฒ่า” จะเป็นหัวหน้าในการออกไปจับช้างแต่ละครั้ง

 หมอช้างมีเครื่องมือที่ใช้ในการโพนช้างหลายชนิด เครื่องมือหลักๆ ได้แก่ เชือกบาศหรือเชือกปะกำใช้สำหรับผูกมัดช้างหลังจากที่คล้องได้ ทำจากหนังควาย จึงมีความเหนียวและทนทานมาก ไม้คันจามและบ่วงบาศใช้สำหรับคล้องเท้าช้าง ทามคอเป็นเชือกหนังที่ทำเป็นเงื่อนเลื่อนได้ใช้สำหรับรัดคอช้าง หากช้างยิ่งดิ้นมาก เชือกจะรัดแน่นขึ้น ตามช่องเชือกจะมีไม้เสี้ยมเป็นหนามแหลมซึ่งจะทิ่มแทงช้างให้เจ็บปวด ทำให้ช้างป่าต้องสงบลง สะเนงเกล ทำจากเขาควาย ใช้เป่าเป็นสัญญาณในการออกเดินทางไปจับช้างป่า และงก เป็นไม้รูปร่างคล้ายค้อน แต่ตรงกลางหัวค้อนทำเป็นปุ่มแหลมสำหรับควาญช้างใช้ตีท้ายเมื่อต้องการให้ช้างวิ่ง

     การโพนช้างทำได้ปีละ 3 ครั้ง คือระหว่างเดือนพฤษภาคม กรกฎาคมและพฤศจิกายน ในฤดูแล้งไม่เหมาะแก่การโพนช้างเพราะกันดารน้ำ ไม่สะดวกแก่การรอนแรมในป่าและช้างป่าก็มักไปเที่ยวหากินกันไกลๆ นอกจากนี้ อากาศร้อนจะทำให้ช้างอิดโรยและช้างป่าที่จับได้ก็จะบอบช้ำมากจนอาจล้มตายลงได้ ส่วนฤดูหนาว ช้างมักจะตกมัน ไม่เหมาะแก่การโพนช้าง

     ก่อนจะยกขบวนไปโพนช้าง หมอช้างจะต้องทำพิธียกหมอ หาฤกษ์ยามให้ได้วันดีมีโชค โดยมีครูบาเฒ่าเป็นผู้อำนวยการพิธี เมื่อปลูกโรงทำพิธีแล้วจึงก่อไฟขึ้นสามกอง หมอช้างทั้งหลายนั่งล้อมวงกัน ที่กลางวงตั้งเชือกบาศหรือสายปะกำ หลังจากจุดธูปเทียนบูชาพระพิฆเณศวรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์และถวายเครื่องกระยาบวชแล้ว ครูบาเฒ่าจะกล่าวคำยกหมอแล้วหมอช้างจะว่าตามพร้อมกัน คำกล่าวโดยย่อคือบูชาครูผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ขอให้มาครอบให้มีความชำนาญในการคล้องช้าง ให้ได้ช้างป่าที่ดี ให้มีโชคลาภและปฏิญาณว่าในการโพนช้างจะไม่ฆ่าไม่ยิงช้าง

     เมื่อกล่าวคำเสร็จแล้ว ครูบาเฒ่าจะพรมน้ำมนต์และให้หมอช้างทุกคนอมน้ำซึ่งผสมด้วยมูลช้างและพ่นลงที่เชือกบาศ เสร็จแล้วมีพิธีขี่ช้างรอบเพิงพิธี ทำท่าคล้องช้างและกล่าวคำที่เป็นมงคลต่างๆ แล้วจึงทำพิธีหุงข้าวที่กองไฟทั้งสามกอง หลังจากนั้น หมอช้างยกขันล้างหน้า ผ้าขาวและเงินหกสลึงให้เป็นสิทธิ์แก่ครูบาเฒ่าแล้วเตรียมออกเดินทาง โดยนำเชือกบาศ เครื่องใช้ต่างๆ และเสบียงอาหารขึ้นหลังช้าง หมอช้างขึ้นขี่คอช้าง ควาญขี่ท้ายช้าง เสียงเป่าสะเนงเกลจะดังกังวานไปทั่วหมู่บ้านเมื่อขบวนช้างเริ่มออกเดินทางเป็นทิวแถวจากหมู่บ้านไปสู่ป่าเขาลำเนาไพร

     ก่อนออกเดินทางครูบาเฒ่าแนะนำภรรยาของหมอช้างที่อยู่ทางบ้านให้ถือเคล็ดไม่ตัดผม ไม่ใส่น้ำมันผมและไม่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ ตลอดจนพวกหมอช้างและควาญช้างก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับภรรยา ถ้าใครมีผ้าใหม่ ก็มักเอาไฟจุดให้เป็นรูเสีย ถ้าฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามนี้ ถือว่าเป็นลางไม่ดี นอกจากนี้ หมอควาญช้างจะต้องพูดกันด้วยภาษาโพนซึ่งฟังดูคล้ายภาษามอญหรือเขมร จะพูดภาษาไทยธรรมดาไม่ได้

     เมื่อเดินทางถึงป่า ต้องทำพิธีเซ่นสรวงเจ้าป่าและผีปะกำก่อน คือเอาเชือกบาศหรือเชือกปะกำของช้างต่อทุกตัววางกองที่กลางแจ้ง แล้วจุดธูปเทียนบูชาพร้อมด้วยเครื่องกระยาบวช เมื่อบูชาเสร็จแล้ว ต้องทำพิธีเสี่ยงคางไก่ อธิษฐานแล้วจึงถอดกระดูกคางไก่ออกตรวจดู ถ้าคางไก่ยาวเรียวงอนอย่างงาช้าง ข้อกระชั้น ก็จะทำนายว่ามีโชคชัย แต่ถ้าคางไก่หักหรือข้อห่าง ทำนายว่าจะไม่ประสบโชคหรืออาจถูกช้างป่าทำอันตรายได้ จากนั้น ก็เลือกสถานที่พักแรมซึ่งมักเลือกที่ใกล้หนองน้ำที่มีหญ้าหรือใบไม้พอให้ช้างต่อกินและต้องไม่ห่างจากที่ที่จะไปโพนช้าง

     ครั้นถึงเวลาเช้า หมอช้างและควาญช้างจะต้องออกสำรวจดูว่าช้างป่าออกหากินที่ใดบ้าง โดยตรวจดูร่องรอยตามชายป่าดงที่ใกล้หนองน้ำหรือที่มีหญ้า เมื่อทราบว่าช้างป่าออกหากินที่ใดแล้ว ตอนพลบค่ำหมอช้างและควาญช้างก็นำช้างต่อออกเดิน เมื่อเข้าใกล้ช้างป่าแล้ว ช้างต่อจะแสดงอาการให้ทราบ โดยยกงวงชูไปทางทิศที่ช้างอยู่ หมอช้างและควาญจะเตรียมการโพนช้างโดยใช้เถาวัลย์ถูบ่วงบาศเพื่อให้ลื่นและรูดง่าย ผูกบ่วงบาศติดกับคันจาม ควาญถืองกตีช้างต่อ ช้างต่อจะรู้ตัวทันทีว่าจะต้องผจญศึกหนัก มักจะเกิดความกลัวจนถ่ายปัสสาวะถ่ายมูลอยู่บ่อยๆ ยิ่งใกล้เข้าไป ก็ยิ่งถ่ายมาก

     ถ้าบังเอิญลมพัดหวน จนกระทั่งช้างป่าได้กลิ่นแปลกปลอม ช้างป่าตัวที่เป็นแม่โขลงจะทิ้งงวงลงที่ดินเสียงดังปร๋อง ช้างป่าตัวอื่นๆ พอได้ยินเสียงแม่โขลงทำอาการดังนั้น ก็จะยืนสงบนิ่งไม่กินหญ้า หูแทบจะไม่กระดิกเพื่อคอยระวังศัตรู เมื่อแม่โขลงแน่ใจว่าเป็นกลิ่นคนก็จะร้องแอ๊กๆ ขึ้น แล้วรีบออกเดินนำโขลงเข้าดงไป ช้างต่อไม่สามารถตามเข้าไปได้

     แต่หากช้างต่อเข้าใต้ลม ช้างป่าจะไม่ได้กลิ่นและสามารถเข้าไปได้ใกล้มาก พอช้างป่าได้กลิ่นหรือเห็นคนก็จะออกวิ่งหนี หมอช้างก็จะไสช้างต่อออกวิ่งไล่ตาม ในระหว่างที่ไล่ตามช้างป่าอยู่นี้ หมอช้างจะต้องตรวจดูโขลงช้างว่าช้างตัวใดบ้างที่พอจะคล้องได้ ส่วนมากมักเลือกช้างพลายสูงขนาด 3 ศอกเศษ งาพ้นพรายปากประมาณหนึ่งฝ่ามือ เมื่อต้องการตัวใด หมอช้างก็จะนำช้างต่อวิ่งไล่ไปอย่างกระชั้นชิด

     ในระหว่างที่ไล่ติดพัน จะมีอันตรายรอบด้าน เช่น ต้องต่อสู้กับแม่โขลงบ้าง กับช้างป่าที่จะคล้องบ้าง หรือบางทีช้างป่าวิ่งไล่ตามมาข้างหลัง ก็จะเอางวงกวาดคนบนหลังช้างต่อลงดินหมด หมอช้างและควาญช้างจึงต้องระวังตัวรอบด้าน ถ้าเห็นช้างป่าไล่มาข้างหลัง ต้องหันช้างต่อเข้ารับ โดยช้างต่อจะช่วยป้องกันคนที่อยู่บนหลังได้เป็นอย่างดี

     เมื่อช้างต่อวิ่งไล่ทันช้างป่าตัวที่จะคล้องได้ระยะพอเหมาะแล้ว หมอช้างจะใช้ไม้คันจามที่ผูกติดกับบ่วงบาศยื่นสอดเข้าไปใต้ท้องช้างระหว่างเท้าหลังกับเท้าหน้า ในขณะที่หมอช้างโน้มตัวจะคล้องช้างป่านี้ ควาญช้างจะต้องคอยตีช้างต่อให้วิ่งเร็วเท่ากับช้างป่า เมื่อดูระยะให้พอเหมาะกับการคล้องแล้ว จะสอดไม้คันจามเข้าไปใต้ท้องช้างให้บ่วงบาศอยู่ระดับพื้นดิน ได้ระยะกับเท้าหลังของช้างป่าที่จะก้าวสอดเข้าไปเพราะบ่วงบาศนั้นดัดปลายงอนคอยรับเท้าช้างที่จะสอดลงไปอยู่แล้ว

     พอคล้องติด หมอช้างจะกระชากเชือกบาศให้บ่วงรูดเข้ากระชับกับเท้าช้าง แล้วเอี้ยวตัวไสช้างต่อให้เบนไปข้างซ้ายขวางตัว เพื่อให้เชือกปะกำบนหลังช้างที่ม้วนอยู่คลี่กระจายออก พอถึงปลายเชือกก็จะเบนช้างต่อกลับตรงกันข้ามกับช้างป่าเพื่อให้มีกำลังดึงปลายเชือกที่ผูกติดกับทามที่คอช้างต่อ กล่าวกันว่าเมื่อหมอช้างคล้องติดแล้วเอี้ยวตัวเบนช้างต่อนั้นเป็นท่าที่สง่างามน่าดูนัก แต่ถ้าทำไม่ถูกท่า อาจถูกเชือกบาศที่ช้างป่าวิ่งดึงไปนั้นกวาดตกจากหลังช้างต่อได้

     เมื่อช้างป่าถูกดึงตึงแล้วก็จะล้มลุกคลุกคลานและดึงอยู่ตลอดไป ถ้าช้างป่าที่ถูกคล้องเป็นช้างขนาดใหญ่กว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะต้องคล้องอีกเท้าหนึ่งด้วยจึงจะอยู่ ช้างป่าที่ถูกคล้องนั้นดึงด้วยกำลังเท้าเพื่อดิ้นรนสู่อิสรภาพ แต่ก็ย่อมสู้ช้างต่อซึ่งดึงด้วยสายทามที่ผูกติดกับคอไม่ได้

     ในขณะที่ลูกช้างป่าถูกคล้องติดนั้น แม่ช้างหรือแม่โขลงมักจะเข้ามารังควานช้างต่อ หรือไม่ก็จะวิ่งร้องไปรอบๆ ช้างที่ถูกคล้อง ถ้าช้างต่อเป็นช้างใหญ่มีกำลังมาก แม่ช้างหรือแม่โขลงก็จะเกรงกลัวหนีไป แต่ถ้าขนาดตัวย่อมสักหน่อย ก็ต้องเตรียมต่อสู้กับแม่โขลงหรือแม่ช้าง

     เมื่อช้างป่าหนีไปหมดแล้ว ก็ต้องนำปลายเชือกที่ผูกช้างป่าไปผูกกับต้นไม้ค้างไว้หนึ่งคืน และคอยดูแลไม่ไห้ช้างโขลงมารบกวน เมื่อเห็นว่าช้างป่าหมดกำลังดึงแล้ว จึงนำช้างป่ากลับไปที่พัก ในการนำช้างป่ากลับที่พักแรมในป่านั้น หมอช้างสองคนจะขี่ช้างต่อคนละเชือกเข้าเทียบขนาบช้างป่าแล้วช่วยกันเอาทามคล้องคอช้างป่า การโยนทามคล้องคอช้างป่านั้นมิใช่ของง่ายเพราะช้างป่าจะไม่ยอมให้คล้องโดยดี เมื่อคล้องทามที่คอได้แล้ว ต้องผูกให้แน่น แล้วเอาเชือกบาศผูกติดกับสายทามคอช้างต่อ ใช้กำลังช้างต่อดึงให้ออกเดินทางกลับที่พักแรม

     ในเวลากลางคืนจะต้องผูกช้างป่าไว้กับต้นไม้ ครูบาเฒ่าทำน้ำมนต์รดช้างป่าเพื่อปัดรังควาน ในตอนเช้าก็ผูกเชือกติดกับคอช้างต่อพาออกไปหากิน ช้างป่าที่ผูกติดกันนี้เรียกว่า ลูกคอ และจะต้องค่อยฝึกหัดไปวันละเล็กวันละน้อยจนกว่าจะเชื่องและใช้ขับขี่ได้

     การจับช้างป่าอีกวิธีหนึ่งคือ การคล้องช้าง คือการต้อนช้างป่าเข้ามาในคอกหรือที่เรียกว่า เพนียด แล้วเลือกคล้องเอาตามความต้องการ ก่อนที่จะต้อนช้างป่าเข้าเพนียดได้นั้น จำเป็นต้องส่งช้างต่อเข้าไปในป่าประมาณ 11-12 เชือก ช้างต่อเป็นช้างพังทั้งสิ้นและได้รับการฝึกหัดในการล่อช้างป่าไว้แล้วเป็นอย่างดีและยังมีช้างนำอีกหลายเชือก บนหลังช้างจะมีกิ่งไม้มัดใหญ่ซึ่งมีควาญช้างซ่อนตัวอยู่

     เมื่อช้างต่อเข้าไปถึงป่าที่มีช้างป่า ช้างพลายป่าจะเข้าคลอเคลียกับช้างต่อ ควาญช้างก็จะให้สัญญาณแก่ช้างที่ขี่อยู่นั้นให้กลับโดยบ่ายหน้าตรงเข้าสู่เพนียด ช้างต่อจะค่อยๆ เดินไปช้าๆ แวะกินใบไม้ใบหญ้าตามทางไปอย่างปกติ ช้างป่าก็จะตามกระชั้นเรื่อยมาวันละเล็กวันละน้อย พอถึงเพนียด ก็จะเดินนำหน้าโขลงเข้าเพนียดไปก่อน ช้างป่าทั้งหลายก็จะติดตามเข้าไป เมื่อช้างทั้งหมดเข้าไปในเพนียดแล้ว บานประตูก็จะเลื่อนปิดขังช้างไว้ข้างในเพนียด

     ต่อจากนั้น ช้างพลายก็จะถูกกันไปไว้ตอนหนึ่ง ส่วนช้างพังจะถูกปล่อยออกไปทีละเชือกจนเหลือน้อยลง ช้างพลายป่าจะโกรธวิ่งวนไปรอบๆ เพนียดเพื่อหาทางออก แต่เมื่อออกไม่ได้ก็จะเกิดต่อสู้กันเอง ทันใดนั้นประตูคอกเล็กจะเปิดออกและมีช้างพลายเชื่องๆ เชือกหนึ่งมาล่ออยู่นอกคอก

     ช้างป่ากำลังโกรธก็จะวิ่งถลันเข้าไปในคอกเล็กเพื่อต่อสู้กับช้างต่อนั้น แต่พอช้างป่าเข้าไปในคอกเล็กยังไม่ทันสุดตัว ประตูคอกเล็กก็จะปิดลงทันที ช้างป่าจะกลับตัวก็ไม่ได้เพราะคอกเล็กพอดีกับตัว ครั้นแล้วหมอช้างก็จะเอาเชือกเข้าไปคล้องเท้าหลังของช้างป่าไว้ แล้วควาญช้างก็จะช่วยกันดึงเชือกที่ผูกเท้าช้างอยู่นั้นจนกระทั่งช้างป่าออกมาพ้นเพนียดและใช้ช้างต่อสองเชือกเข้าขนาบซ้ายขวา ควาญช้างจะใช้เชือกผูกช้างทั้งสามเข้าด้วยกันแล้วพาช้างป่าเดินไป การคล้องช้างนี้จะเลือกคล้องเฉพาะตัวที่ต้องการเท่านั้น นอกนั้นจะปล่อยไป

     ควาญช้างจะต้องพาช้างป่าไปอาบน้ำในแม่น้ำ แล้วเอาเชือกสวมคอล่ามขาเอาปลายเชือกอีกด้านหนึ่งสวมไว้กับเสาตะลุงในโรงช้าง ช้างป่าที่ถูกล่ามจะทุรนทุรายเดินไปรอบๆ เสาตะลุงจนเหนื่อยจึงจะสงบนิ่ง ควาญช้างจะต้องคอยดูแลอาบน้ำช้างป่าทุกวันและทรมานให้กินอาหารแต่เพียงเล็กน้อยพอประทังชีวิตจนกระทั่งซูบผอมลง เรี่ยวแรงก็ลดถอยลงไปด้วย จึงจะฝึกให้เชื่องเหมือนช้างเลี้ยงเชือกอื่นๆ ได้ภายในหนึ่งเดือน หลังจากนั้นก็จะได้กินอาหารเต็มที่จนอ้วนพีอย่างเดิม

     ปัจจุบัน การคล้องช้างเพนียดได้เลิกไปแล้ว คงเหลือแต่เพนียดคล้องช้างซึ่งทางการยังคงรักษาไว้ในสภาพเดิม และมีการแสดงจับช้างในเพนียดให้แขกเมืองได้ชมเป็นครั้งคราวโดยเอาช้างบ้านมาแสดงแทน แต่ความสนุกตื่นเต้นระทึกใจคงจะไม่เท่าเทียมกับชมการคล้องช้างป่าในเพนียดในอดีตกาล

 

ช้างเผือกประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชโรงช้างต้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2547 ณ โรงช้างต้น วังไกลกังวล ทรงพระราชทานอ้อยแก่ พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ

พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เป็นช้างพลายเผือกโท เกิดในป่าเขตจังหวัดกระบี่ [3]เมื่อประมาณ พ.ศ. 2494 [1] ถูกคล้องได้ที่ บ้านหนองจูด ตำบลดินอุดม อำเภอลำทับ [4] จังหวัดกระบี่เมื่อ พ.ศ. 2499 โดยนายแปลก ฟุ้งเฟื่องและนายปลื้ม สุทธิเกิด(หมอเฒ่า) เป็นลูกช้างติดแม่อยู่ในโขลงช้างป่า พร้อมกับช้างอื่นๆ อีก 5 เชือกคือ พังสาคร พลายทอง พังเพียร พังวิไล และพังน้อย [5] โดยในตอนนั้นพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ได้ชื่อว่า "พลายแก้ว" [1] มีความสูง 1.60 เมตร เมื่อพระราชวังเมือง (ปุ้ย คชาชีวะ)ได้ตรวจสอบคชลักษณ์แล้วพบว่าเป็นช้างสำคัญ จึงนำมาเลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์ดุสิต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

พลโทบัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยได้นำช้างพลายแก้วขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 เพื่อประกอบพิธีขึ้นระวางเป็นช้างต้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กำหนดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกประจำรัชกาล ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 เป็นปีที่ 13 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เติบโตขึ้นโดยการดูแลขององค์การสวนสัตว์ ที่สวนสัตว์ดุสิต และมีอาการดุร้ายมากขึ้นจนควาญช้างควบคุมไม่ได้ จึงต้องจับยืนมัดขาทั้งสี่ไว้กับเสา เป็นที่เกรงกลัวของบุคคลทั่วไป จนกระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถมีพระราชเสาวณีย์ โปรดเกล้าฯ ให้นำพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เข้าไปยืนโรงในโรงช้างต้น ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานซึ่งอยู่ตรงกันข้ามถนน เมื่อ พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชได้บันทึกไว้ว่า

ในขณะที่นำคุณพระจากสวนสัตว์ดุสิตไปยังสวนจิตรลดา ซึ่งเพียงแต่มีถนนคั่นอยู่สายเดียวนั้น คุณพระก็อาละวาดอย่างหนัก ไม่ยอมออกเดิน เอางวงยึดต้นไม้จนต้นไม้ล้ม จนแทบจะหมดปัญญาเจ้าหน้าที่

กว่าจะนำคุณพระจากเขาดินไปถึงประตูสวนจิตรลดา ซึ่งมองเห็นกันแค่นั้น ก็กินเวลาหลายชั่วโมง ต้องใช้คนเป็นจำนวนมากถือปลายเชือกที่ผูกไว้กับขาคุณพระทั้งสี่ขา คอยลากคอยดึง และดูเหมือนจะต้องใช้รถแทรกเตอร์เข้าช่วยขนาบข้าง เสี่ยงอันตรายกันมากอยู่ แต่ในที่สุดก็นำคุณพระไปยังประตูพระราชวังได้

พอได้ก้าวเท้าเข้าไปในบริเวณพระราชวัง คุณพระก็เปลี่ยนไปทันที จากความดุร้ายก็กลายเป็นความสงบเสงี่ยม เดินอย่างเรียบร้อยไปสู่โรงช้างต้น และเข้าอยู่อย่างสงบเรื่อยมา [6]

ปัจจุบัน พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ย้ายไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเคลื่อนย้ายคุณพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เมื่อวันที่ 17-18 มีนาคม พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชโรงช้างต้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2547

เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2549 ทรงมีกระแสพระราชดำรัสให้จัดสร้าง คชาภรณ์ หรือเครื่องทรงช้างต้นชุดใหม่ พระราชทานแก่พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เนื่องจากคชาภรณ์ชุดเดิมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ เมื่อ พ.ศ. 2502 มีสภาพเก่า และมีขนาดเล็กเกินไป โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม รับสนองพระบรมราชโองการจัดสร้างเครื่องคชาภรณ์ชุดใหม่ ด้วยงบประมาณ 4 ล้านบาท ใช้ทองคำ 96.5 % หนักกว่า 5,953 กรัม ประกอบด้วย [7][8]

  • ผ้าปกพระพอง ทำด้วยผ้าเยียรบับ
  • ตาข่ายแก้วกุดั่น ทำด้วยทองคำ ร้อยลูกปัดเพชรรัสเซีย จำนวน 810 เม็ด
  • พู่หู จำนวน 1 คู่ ทำจากขนจามรีนำเข้าจากทิเบต
  • พระนาศ หรือผ้าคลุมหลัง ทำจากผ้าเยียรบับ
  • กันชีพ ทำด้วยผ้าสักหลาดปักดิ้น
  • เสมาคชาภรณ์ หรือ จี้ทองทำรูปใบเสมา เขียนลายนูนรูปพระมหามงกุฎครอบอุณาโลม
  • สร้อยเสมาคชาภรณ์ หรือสร้อยคอทองคำ

เรียบเรียงจากหนังสือ ช้างไทย โดย สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2540 สำนักพิมพ์มติชน.

หมายเลขบันทึก: 307651เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2009 08:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะ

คนโบราณเก่งจังนะคะ ช้างตัวใหญ่ๆยังจับมาฝึกใช้งานได้

เคยไปนั่งบนกูบ ลงมาเมาเลยค่ะ เลยได้รู้ว่าการเมาช้างก็มีด้วย

สวัสดีครับ ขอบคุณพี่ณัฐรดาครับที่เข้ามาเยี่ยมดูวิธีจับช้างป่า

  • เคยฟังหมอช้างที่สุรินทร์
  • เล่าให้ฟังเหมือนกันครับ
  • น่าสนใจมาก
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/124219

สวัสดีครับ อ.ขจิต ขอบคุณครับที่แวะเข้ามาเยี่ยมดูวิธีจับช้าง

สวัสดีครับ...อาจารย์

ขอบคุณครับสำหรับความรู้ที่นำมาให้อ่าน

ช้างคือหนึ่งสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย

สวัสดีค่ะ

  • ขอขอบพระคุณกับข้อมูลความรู้เรื่องช้างค่ะ
  • เป็นเรื่องไทย ๆ ที่ชาวไทยควรรู้นะคะ
  • บันทึกนี้  เป็นการแลกเปลี่ยนที่มีคุณค่าอย่างยิ่งค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • แวะมาขอบคุณ สำหรับการไปเยี่ยมเป็นกำลังใจค่ะ
  • ช้างคู่ไทยมาเนิ่นนาน แต่ความนิยมกลับไม่สู้หมีแพนดานะคะ
  • น่าน้อยใจแทนช้างจัง

 

สวัสดีครับขอบคุณคุณครู phayorm แซ่เฮ มากนะครับที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมและร่วมจดจำบันทึกช้างไทย ที่ไปโด่งดังยังต่างแดน

สวัสดีครับพี่ครูคิม ขอบคุณครับที่แวะเข้ามาเยี่ยม และร่วมรับรู้ตำนานช้างไทยกว่าจะได้มาเป็นช้างงานในอดีต ร่วมกอบกู้รักษาชาติศาสกษัตริย์ดำรงคงอยู่ซึ่งความเป็นไทยจนถึงปัจจุบัน

สวัสดีครับขอบคุณคุณ ทรายน้อย มากครับที่แวะเข้ามาเยี่ยม

ช้างเป็นสัตวืคู่ชาติไทยมายาวนาน ช่วยกันอนุรักษ์รักษาไว้ให้คู่ชาติไทยตลอดไปนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท