การอบรมเรื่องการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานของวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัคร


ด้วยความตระหนักในความสำคัญและความจำเป็นในการจัดทำมาตรฐานวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาที่ซับซ้อนสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะจัดอบรมนักสังคมสงเคราะห์ให้มีความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิบัติงาน

              โครงการ ฝึกการอบรมนักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัคร 

เรื่อง “การพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานของวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคม”

 

จัดโดย สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย (สนสท.) 

โดยการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม

 

หลักการและเหตุผล

            คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ก.ส.ค.) ได้มีมติสำคัญประการหนึ่งซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่มีคุณค่าในการยกระดับคุณภาพการจัดสวัสดิการสังคมในประเทศ โดยมีมติให้มีข้อกำหนด ว่าด้วยมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.๒๕๕๐ และออกระเบียบว่าด้วยการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมขององค์การสวัสดิการสังคม นักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัคร พ.ศ.๒๕๕๐ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์การสวัสดิการสังคม นักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัครมีความสามารถในการจัดบริการสังคมให้แก่ผู้รับบริการสวัสดิการสังคมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการพัฒนามาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคมให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และสามารถช่วยเหลือผู้รับบริการสวัสดิการสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมและเป็นธรรม (ข้อกำหนดคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ว่าด้วยมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.๒๕๕๐, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนพิเศษ ๕๗ ง ,๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑)

            เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพ คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมได้แต่งตั้งให้คณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐาน ทำหน้าที่จัดทำมาตรฐาน ตัวชี้วัด คู่มือและเกณฑ์การประเมินมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมขององค์การสวัสดิการสังคม นักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัครขึ้น ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐาน ร่วมกับสถาบันรับรองมาตรฐานไอ เอส โอ ( ISO ) และสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย  ได้ร่วมกันจัดทำคู่มือ ตัวชี้วัดและเกณฑ์การประเมินมาตรฐานขององค์การและผู้ปฏิบัติงาน อาสาสมัคร เสร็จเรียบร้อยแล้วและได้รับการอนุมัติให้ประกาศใช้เพื่อเผยแพร่ให้องค์การ ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัครที่สนใจแสดงความจำนง ขอรับรองมาตรฐานได้โดยความสมัครใจ

            อย่างไรก็ตามจากการจัดเวทีเพื่อชี้แจงรายละเอียดการดำเนินการขอรับรองมาตรฐานในที่ประชุมหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา ในฐานะของสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ได้พบข้อจำกัดสำคัญ คือ ในการจัดประชุมชี้แจง ยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างกว้างขวางเพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่นักสังคมสงเคราะห์จำนวนมากยังไม่สามารถรับรู้ข้อมูลได้อย่างชัดเจน กลุ่มเป้าหมายนักสังคมสงเคราะห์จำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ จึงมีคำถามต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับความสำคัญ ความจำเป็นและขั้นตอนกระบวนการในการขอการรับรองมาตรฐานทางวิชาชีพ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์อีกจำนวนมากที่ไม่ได้จบการศึกษาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ทางตรง ก็ยังคงมีความไม่เข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและโอกาสในการขอรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานของตน ซึ่งน่าจะได้มีการทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดในเรื่องมาตรฐานการปฏิบัติงานให้มีความกระจ่างชัดเจนมากขึ้น         

 

 

ด้วยความตระหนักในความสำคัญและความจำเป็นในการจัดทำมาตรฐานวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ท่ามกลางสถานการณ์การปฏิบัติงานของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ที่มีความเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนมาโดยตลอด จึงทำให้สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย มีความมุ่งมั่นที่จะจัดการอบรมนักสังคมสงเคราะห์ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานทางตรงในกระทรวง องค์การ หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงาน อันเป็นการยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงานของวิชาชีพ ให้นักสังคมสงเคราะห์มีความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานอย่างมีสมรรถนะ มีประสิทธิภาพ  ตามเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด และยังเป็นการให้ความร่วมมือกับคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐาน ในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ในการทำภารกิจที่เป็นเป้าหมายร่วมกันของการพัฒนาคุณภาพวิชาชีพ

            อนึ่ง การดำเนินโครงการดังกล่าว ได้นำเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐาน ในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมในเชิงประเด็น เนื้อหา และวิธีการจัดสัมมนาแล้ว และที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการได้ โดยให้รวบรวมความคิดเห็นของนักวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ต่อการเข้าร่วมกระบวนการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงาน เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้า และนำข้อเสนอไปปรับปรุงวิธีการและกระบวนการทำงานให้เหมาะสมต่อไป

 

วัตถุประสงค์

            1.  เพื่อให้ความรู้ด้านการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานแก่นักสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัครผู้ปฏิบัติงานในสายงานสวัสดิการสังคม

            2. เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ความสำคัญของการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานของ นักสังคมสงเคราะห์ให้แก่นักสังคมสงเคราะห์ อาสาสมัคร ผู้ปฏิบัติงานและผู้สนใจ

            3. เพื่อให้ความรู้ด้านขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินการขอรับรองมาตรฐานนักสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัคร

            4. เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติใบประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ อันเป็นการเตรียมความพร้อมในการยกระดับคุณภาพวิชาชีพในอนาคต

            5. เพื่อเป็นการจัดเวทีรับฟังคำถาม ข้อเสนอแนะต่อการจัดกระบวนการรับรองมาตรฐานจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ

 

กลุ่มเป้าหมาย

            นักสังคมสงเคราะห์ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานทางตรงกับผู้ใช้บริการ (Social Workers in Direct Practice) และอาสาสมัครผู้ปฏิบัติงานในสายงานสวัสดิการสังคม และผู้สนใจทั่วไป ที่ทำงานในกระทรวงด้านสวัสดิการสังคม ทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค รวมถึงองค์กรปกครองท้องถิ่น เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย เทศบาลและองค์กรปกครองท้องถิ่น ประมาณการจำนวน 600 คน

 

 

กิจกรรมของโครงการ

            การจัดอบรมทั้งในพื้นที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยแบ่งพื้นที่เป็นศูนย์ประสานงานในภูมิภาค (Node)ออกเป็น 5 ภาค(รวมกรุงเทพมหานคร) โดยมีกิจกรรมให้ความรู้ ในรูปแบบของการจัดเวทีอภิปราย การแบ่งกลุ่มประชุมระหว่างนักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัคร ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็น ระหว่างกันและกัน รวมถึงการรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

 

วิธีการดำเนินงาน

            การจัดอบรม ในรูปแบบการบรรยาย การอภิปรายเป็นคณะ การจัดกลุ่มเสวนา จัดกิจกรรมกลุ่ม การเปิดเวทีรับฟังเสียงและความเห็น

            การให้ความรู้และทำความเข้าใจกับคู่มือการขอรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัคร

            การนำเสนอข้อมูล คำถามและข้อเสนอแนะให้แก่คณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐาน ในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ

 

ผู้รับผิดชอบโครงการ

           

           คณะทำงานฝ่ายวิชาการ สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย

 

ที่ตั้งโครงการ

ห้อง 305 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เลขที่ 2 ถนนพระจันทร์ แขวง/เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

โทร. / โทรสาร 02-613-2530

 

 

พื้นที่ดำเนินงานตามโครงการ

            การดำเนินการจะจัดดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ส่วนภูมิภาค เพื่อให้เกิดการกระจายตัวในการเข้าถึงกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางตรงได้มากขึ้น รวมเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่

            1. กรุงเทพมหานคร                             1-2       ตุลาคม 2552   

            2. ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี                    19 -20                                            3. ภาคใต้ จ.สงขลา                               26-27   ตุลาคม      2552

            4. ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่                          29-30   ตุลาคม 2552

5. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ. ขอนแก่น                9-10     พฤศจิกายน  2552

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1.  ผู้เข้าอบรมมีความรู้ด้านการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์

            2.  มีการประชาสัมพันธ์มาตรฐานการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์อย่างกว้างขวาง

            3.  ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติใบประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ อันเป็นการเตรียมความพร้อมในการยกระดับคุณภาพวิชาชีพในอนาคต

            4.  มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการจัดกระบวนการรับรองมาตรฐานจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง.

 

 

 

คุณชินชัย ชี้เจริญ บรรยาย เรื่องแนวทางการขอรับรองมาตรฐานวิชาชีพ

 

 

 

ผู้เข้าร่วมอบรมสนใจเข้าร่วมอบรมจนที่นั่งเต็ม

 

 

 

 

แบ่งกลุ่มซักถามจนมั่นใจและเข้าใจกระบวนการขอรับรองมาตรฐาน

 

 

วันนี้เพิ่งจัดทำสรุปรายงานการจัดอบรมเสร็จสิ้น มีหัวข้อการอบรมหลายหัวข้อที่น่าสนใจ ขอเริ่มด้วยคำกล่าวเปิดงานของนายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ที่มีสาระน่าสนใจและเป็นการเปิดประเด็นที่ให้กำลังใจนักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัคร  ดังนี้

 

              ปัจจุบันเรื่องการพัฒนามาตรฐานเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะมาตรฐานเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพที่พึงประสงค์และต้องการให้เกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นหลักในการส่งเสริม สนับสนุน รับรอง ติดตามประเมินผลและการประกันคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินการผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐาน จัดทำการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานขององค์การสวัสดิการสังคม นักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัคร   ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้องค์การสวัสดิการสังคม นักวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัครที่เป็นกำลังสำคัญในการทำงาน ตระหนักในภารกิจและเข้าร่วมการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานของตนเองมากขึ้น ทั้งนี้ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่เพียงการยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผู้ปฏิบัติงานเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลถึงคุณภาพของระบบการให้บริการ และความสุข ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการกลุ่มต่าง ๆ อีกด้วย

                การเข้าสู่การรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัคร ไม่ใช่เพียงการพัฒนาผู้ให้บริการรายบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระบบการให้บริการทั้งระบบด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในยุคแห่งการประเมินคุณภาพ ดิฉันเข้าใจดีว่าการนำตนเองเข้าสู่การถูกประเมิน ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะบางครั้งระบบประเมินอาจทำให้เรายุ่งยากมากขึ้นกว่าเดิม ใช้เวลามากขึ้น และถูกตรวจสอบจากบุคคลและหน่วยงานภายนอกมากขึ้น ที่ผ่านมาพวกเราส่วนมากยอมรับได้มากขึ้นกับการประเมินในเชิงองค์การ แต่การยอมรับการประเมินในฐานะบุคคล โดยเราเป็นผู้สมัครใจขอรับการประเมินเองยิ่งเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้น แต่ดิฉันเชื่อมั่นว่าวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ทำงานให้บริการกับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ มาเป็นเวลานาน ผลงาน วิธีการทำงานของพวกเราจะสามารถแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ถึงคุณภาพมาตรฐานของวิชาชีพ และจะทำให้สังคมเข้าใจและยอมรับความเป็นวิชาชีพของพวกเราได้มากขึ้น การเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานรายบุคคลจึงเป็นแนวทางประการสำคัญที่จะทำให้สถานะแห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มีความมั่นคงมากขึ้น

                ขณะเดียวกัน การขอรับรองมาตรฐานของอาสาสมัคร ซึ่งเป็นภาคีผู้ปฏิบัติงานที่มีพลังและมีคุณค่าในการหนุนเสริมงานสวัสดิการสังคม ก็เป็นข้อท้าทายเช่นกัน อาสาสมัครที่ทำงานเพื่อสังคมมีมากมายในสายงานสวัสดิการสังคมต่าง ๆ และปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายพื้นที่พวกท่านทำงานใกล้ชิดกับชุมชน เข้าถึงชุมชน ได้ง่ายและเร็วกว่าผู้ประกอบวิชาชีพสาขาต่าง ๆ และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสาร ให้การดูแลช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายในเบื้องต้น การพัฒนามาตรฐานคุณภาพงานอาสาสมัครจึงเป็นนโยบายและภารกิจของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ที่จะสร้างเสริมและผลักดันให้การปฏิบัติงานอาสาสมัคร มีความเข้มแข็งมากขึ้น และประชาชนในชุมชน สังคม ก็จะได้รับความพึงพอใจจากผลแห่งคุณภาพจากการทำงานของอาสาสมัครเพิ่มขึ้น มีความสุขขึ้น

                การทำงานของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัคร จึงมีความสำคัญ ที่เชื่อมโยงหนุนเสริมระบบการให้บริการให้เข้มแข็งมากขึ้น และยังเป็นภาคีเครือข่ายที่จะร่วมมือกันทำงานอย่างเป็นกัลยาณมิตรมากขึ้น

                การดำเนินงานเรื่องมาตรฐานในมิติงานสวัสดิการสังคม แม้จะเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็เป็นหลักการประเมินคุณภาพที่สากลยอมรับ และใช้เป็นเครื่องมือในการวัดและยกระดับคุณภาพการทำงานทั่วไป  ดังนั้นตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้ระบุให้คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติกำหนดมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคมและวางระเบียบเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมขององค์การสวัสดิการสังคม นักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัครขึ้น ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาการและความก้าวหน้าของวงการสวัสดิการสังคมไทย ที่ให้น้ำหนักในเรื่องคุณภาพของการปฏิบัติงาน โดยมีตัวมาตรฐานเป็นเครื่องมือในการให้การรับรอง เป็นการจัดทำตัวชี้วัด โดยใช้หลักการทางวิชาการเข้ามาเป็นฐานในการดำเนินงาน

                                สำหรับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมขององค์การสวัสดิการสังคม ได้มีผู้มายื่นขอรับการรับรองแล้ว จำนวน ๒๐ แห่ง ได้มีคณะกรรมการประเมินออกไปตรวจประเมินแล้ว ๑๑ แห่ง มีองค์การสวัสดิการสังคมที่ได้รับการรับรองแล้วทั้งสิ้น ๙ แห่ง และทราบว่าในขณะนี้มีองค์การสวัสดิการสังคมเริ่มให้ความสนใจและขอรับการรับรองมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นหน่วยงานของรัฐ 

              ในส่วนของการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมของนักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัครนั้น เนื่องจากการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ยังไม่อยู่ในวงกว้างนัก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย จึงได้เห็นความสำคัญ ที่จะสื่อสารและเผยแพร่แนวทางการขอรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานในครั้งนี้  ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากการอบรมในครั้งนี้ จะมีนักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัครที่สนใจ สมัครใจขอรับการรับรองมาตรฐานต่อไป

หมายเลขบันทึก: 307553เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2009 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น่าสนใจครับ

แต่ไม่ได้ทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้อง เขาร่วมได้ไหมรับ

ไปสังเกตการณ์ในฐานะผู้สนใจก็ย่อมได้

เร็วๆนี้จัดที่หาดใหญ่ค่ะ

ท่านอาจารย์ครับ เมื่อวันที่ ๙-๑๐ พ.ย. ที่ผ่านมา

ผมมีโอกาสเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ที่โรงแรมโฆษะจังหวัดขอนแก่น ผมเขียนบันทึก เรื่อง ของฝากจากที่ประชุม : การรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์

ผมไม่แน่ใจว่าผมเข้าใจได้ถูกต้องไหม
อย่างไรเสีย คงไม่พ้นการรบกวนท่านอาจารย์เติมเต็มครับผม

 

เข้าไปอ่านของฝากฯของคุณมงคลแล้วได้ประเด็นมาคิดต่อ แต่คิดคนเดียวไม่ได้คงต้องอาศัยหลายหัวร่วมกัน

เชิญผู้สนใจเรื่องมาตรฐานนักสังคมเข้าไปเยียมชมได้ เขียนไว้ดี น่าติดตาม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท