แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการวางแผน 2 (ความหมายของแผน)


แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการวางแผน ความหมายของแผน

ความหมายของแผน

นักวิชาการหลายท่านได้อธิบายไว้ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเพียงเพื่อเป็นแนวทางที่ทำให้เข้าใจแผนได้ดีขึ้น Breton และ Henning (1961, p. 7) ได้อธิบายไว้ว่า แผนหมายถึงวิถีของการกระทำที่กำหนดไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว (predetermined course of action) แผนประกอบด้วยลักษณะ 3 ประการ คือ (ก) จะต้องเกี่ยวข้องกับอนาคต (ข) จะต้องเกี่ยวข้องกับการกระทำ และ (ค) จะต้องมีปัจจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องขององค์การ

จากนิยามดังกล่าวพออธิบายสรุปได้ว่า แผนก็คือข้อกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อนำไปดำเนินการในอนาคต แผนอาจเป็นของบุคคลหรือขององค์การก็ได้ เมื่อมีแผนแล้วผู้ปฏิบัติตามแผนสามารถใช้เป็นแนวทางในการทำงานได้ และในการทำงานนั้นก็คงต้องมีปัจจัยสำคัญตามหลักการ คือต้องมีคน มีเงิน มีวัสดุเครื่องใช้ และมีการจัดการที่ดีด้วย

ตามความหมายโดยทั่วไป แผนงานจะหมายถึงการรวมเข้ด้วยกันของโครงการหลายๆโครงการ ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน อันอาจเป็นโครงการที่มีลักษณะงานเหมือนกัน หรือแตกต่างกันก็ได้

ส่วนโครงการนั้นหมายถึงกลุ่มของกิจกรรม ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน เนื่องจากแต่ละกิจกรรมมีวัตถุประสงค์ของตัวเอง ดังนั้นเมื่อทำให้บรรลุสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมต่างๆ ทั้งหมดแล้วย่อมส่งผลโดยตรงให้วัตถุประสงค์ของโครงการนั้นบรรลุสำเร็จด้วย โดยปกติโตรงการจะมีลักษณะพิเศษและทำครั้งเดียวเสร็จ และเมื่อทำเสร็จแล้วก็เลิกโครงการนั้นไป เพราะเป็นไปตามวัตถุประสงค์แล้ว เช่น โครงการสร้างเขื่อน โครงการป้องกันอุทกภัย เป็นต้น

ด้วยเหตุที่แผน แผนงาน และโครงการต่างก็เป็นแผนหรือการกำหนดวิถีการทำงานไว้ล่วงหน้าว่าจะทำอะไร อย่างไร โดยแผนมีลักษณะขอบเขตและเนื้อหาใหญ่และกว้างขวางกว่าแผนงาน และแผนงานก็ใหญ่กว่าโครงการ เช่นเดียวกันกับองค์การและขอบข่ายของงานกว้างย่อมจะแบ่งเป็นหน่วยงานย่อยระดับจากบนลงล่าง เช่น กระทรวง ทบวง กรม กอง แผนก และงานเป็นต้น ในทำนองเดียวกันแผนก็แบ่งเป็นแผนงานและโครงการ

ดังนั้น แผนขององค์การขนาดใหญ่จึงจำเป็นต้องแบ่งเป็นสัดเป็นส่วนย่อยหลายระดับและหลายสาขางาน ดังจะเห็นได้จากโครงสร้างของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ประกอบด้วยด้าน (sectors) ต่างๆ 12 ด้าน คือ

  1. การเกษตร
  2. การอุตสาหกรรมและเหมืองแร่
  3. การคมนาคม ขนส่ง และสื่อสาร
  4. การพาณิชย์และท่องเที่ยว
  5. การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม
  6. การศึกษา
  7. การสาธารณสุข
  8. การบริการสังคม
  9. การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
  10. การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน
  11. การบริหารงานทั่วไปของรัฐ
  12. การชำระหนี้เงินกู้

ในแต่ละด้านดังกล่าวมานี้ยังแบ่งออกเป็นสาขา (subsectors) ซึ่งมี 44 สาขาด้วยกันแต่ละสาขา

แบ่งออกเป็นแผนงาน (programs) ซึ่งมี 131 แผนงาน แต่ละแผนงานแบ่งเป็นแผนงานรอง (subprograms) มีจำนวนมากซึ่งไม่สามารถระบุได้ และในแต่ละแผนงานรองยังแบ่งออกเป็นงานหรือโครงการ (works or projects) ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นไปอีก

การแบ่งแผนออกเป็นส่วนย่อยระดับต่างๆ ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นการแบ่งหมวดหมู่ตามลักษณะของงานหรือวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ที่วางแผนหรือปฏิบัติตามแผนที่เกี่ยวข้องร่วมมือประสานงานกันในทุกระดับ ส่วนการปฏิบัติหรือกระทำการให้เป็นผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์นั้นจะอยู่ที่งานหรือโครงการซึ่งเป็นหน่วยกระทำการเหมือนกับงานและแผนกตามโครงสร้างของระบบราชการ

หมายเลขบันทึก: 307317เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2009 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2016 22:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท