Review: District 9


บางทีปัญหาที่เกิดกับผู้ลี้ภัย และผู้ด้อยโอกาสทั้งหลายนั้นที่ยังแก้ไม่ได้และเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบันเพราะจริงๆแล้ว พวกเรา (อันอาจหมายถึง รัฐบาล และผู้คนที่เขาเป็นตัวแทน - คนในชาติ) อาจจะไม่ได้มองผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย หรือผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้น (เช่น ชนกลุ่มน้อยที่ลี้ภัยการเมืองเข้ามาในไทย ตามเขตตะเข็บชายแดนไทยพม่า, ชาวบ้านที่ถูกไล่ที่จากการสร้างเขื่อน, คนจน, โสเภณี ฯลฯ) เป็นมนุษย์เหมือนกับเราก็ได้ ...

 

วันก่อนไปดูภาพยนตร์ เรื่อง District 9 ที่ Pathé ใน Rotterdam ภาพยนตร์เรื่องนี้อำนวยการสร้างโดย Peter Jackson ทีกำกับ Lord of the Ring และกำกับโดย Neill Blomkamp เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มียานมนุษย์ต่างดาวมาลงจอดที่เมือง โยฮันเนสเบิร์ก ประเทศอัฟริกาใต้ เมื่อ 20 ปีก่อน และยานนั้นก็ไม่ขยับเขยื้อนไปไหนอีก มนุษย์ได้ตัดสินใจขึ้นไปบนยานและพบว่ามีมนุษย์ต่างดาวอยู่อาศัยกันอย่างแออัดและเป็นโรค จึงตัดสินใจจัดพื้นที่เรียกว่า District 9 ใกล้กับเมืองโยฮันเนสเบิร์ก ให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ต่างดาว แต่เนื่องด้วยการขยายตัวของประชากรมนุษย์ต่างดาวทำให้ District 9 กลายเป็นสลัมในที่สุด ในขณะเดียวกัน ชาวเมืองโยฮันเนสเบิร์กเริ่มทนไม่ได้และได้ก่อการประท้วงและเข้าทำร้ายมนุษย์่ต่างดาว เผาบ้านเรือนของพวกมัน ทาง MNU ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลจึงตัดสินใจทำการย้ายชุมชนมนุษย์ต่างดาวไปยังพื้นที่ที่ไกลออกไป เรียกว่า District 10 แทน  

 

อย่างไรก็ดี การย้ายชุมชนมนุษย์ต่างดาวนี้ มิใช่เพียงวัตถุประสงค์ของการย้ายชุมชนตามความต้องการของชาวเมืองโยฮันเนสเบิร์กเท่านั้น แต่ยังมีวาระซ่อนเร้นเกี่ยวกับอาวุธของมนุษย์ต่างดาวเหล่านี้ด้วย เพราะ MNU ก็เป็นองค์กรค้าอาวุธขนาดใหญ่ของโลกด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากอาวุธของพวกเขาเป็นอาวุธกึ่งชีวภาพ คือ ต้องเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันเท่านั้นถึงจะใช้ได้ ทั้ง MNU รวมถึงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ District 9 ซึ่งเป็นพวกกลุ่มอาชญากรชาวไนจีเรีย จึงพยายามที่จะหาทางใช้อาวุธนั้น

 

เนื่องจากเรื่องนี้ออกจากโรงนานแล้ว จึงน่าจะบอกเรื่องราวของภาพยนตร์ได้มากหน่อยว่า หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่บังเอิญไปสัมผัสกับสารเคมีของมนุษย์ต่างดาว ทำให้ตัวเองกลายร่างเป็นมนุษย์ต่างดาวเสียเอง ซึ่งทำให้เขากลายเป็นสินทรัพย์ที่ประเมินค่าไม่ได้ของ MNU (Multi-National United : องค์กรนานาชาติ ที่สมมติขึ้นในเรื่องเพื่อดูแลมนุษย์ต่างดาว) และ กลุ่มอาชญากร เพราะจะทำให้มนุษย์สามารถใช้อาวุธของมนุษย์ต่างดาวเหล่านี้ได้ ในขณะเดียวกัน มนุษย์ต่างดาวก็ต้องการสารเคมีนั้นเพื่อทำให้สามารถขับยานแม่เพื่อกลับดาวของตนได้ด้วย นี่จึงเป็นเรื่องราวของชาย ผู้ต้องการเปลี่ยนตัวเองกลับเป็นมนุษย์เพื่อกลับไปหาครอบครัวอันเป็นที่รัก และมนุษย์ต่างดาวที่ต้องการกลับบ้าน ... แต่เรื่องจะดำเนินและจบลงอย่างไรเป็นสิ่งที่ผู้ชมควรจะต้องไปชมด้วยตัวเอง

 

โดยรวมๆแล้วผมประทับใจกับภาพยนตร์เรื่องนี้ค่อนข้างมาก มันเป็นภาพยนตร์ที่สื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยได้อย่างชัดเจนมาก โดยใช้มนุษย์ต่างดาวเป็นตัวแทนของคนเหล่านั้น การใช้มนุษย์ต่างดาวทำให้คนดูรู้สึกอย่างชัดเจนว่า “เขาไม่ใช่พวกเรา” เราจะเห็นภาพกิจกรรมของมนุษย์ต่างดาวที่หากเราจำภาพในสลัม หรือกองขยะใหญ่ๆในเมืองใหญ่ๆ (อย่างในภาพยนตร์เรื่อง Slumdog Millionaire)  มนุษย์ต่างดาวนั้นก็คือ เหล่าคนจนจากสลัมในเมืองใหญ่นั่นเอง นอกจากนี้หนังยังฉายให้เห็นความไม่เป็นธรรม และการปฏิบัติต่อมนุษย์ต่างดาวอย่างไม่เป็นธรรมอีกด้วยด้วยความที่มองว่า มนุษย์ต่างดาวนั้นไม่รู้เรื่อง และหลอกได้ง่าย และจงใจที่จะเอาเปรียบเขาแต่ต้นอยู่แล้ว ซึง่ก็คงไม่ต่างอะไรกับในบางกรณีที่รัฐปฏิบัติต่อผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือผู้ลี้ภัยนัก 

 

ในขณะแรกเราอาจจะเห็นมนุษย์ต่างดาวเป็น “สัตว์” ไปโดยปริยาย และอาจจะรู้สึกเฉยๆกับการที่พวกเขาถูกขับไล่ เผาบ้านเรือน หรือถูกทำร้ายได้ แต่ด้วยเรื่องราวและวิธีการนำเสนอของ Peter Jackson กลับทำให้ในขณะหนึ่งตอนกลางๆเรื่อง ผมรู้สึกว่า มนุษย์ต่างดาวเหล่านี้คือมนุษย์นี่เอง มนุษย์ที่ว่านี้ คือ ผู้มีใจสูง ภาพยนตร์ทำให้เราเห็นถึงจิตใจที่ดีงาม มุ่งประโยชน์ส่วนรวม ความรักและผูกพันของครอบครัว จากทั้งมนุษย์และมนุษย์ต่างดาว ในขณะเดียวกัน ก็เห็นความเป็นสัตว์ชั้นต่ำ กระหายเลือด ไร้สติ จากทั้งสองฝ่ายเช่นเดียวกัน  ... สำหรับผู้ชมเอง หากทบทวนดีๆ อาจจะพบว่า ตัวเราถูกเรื่องราวหลอกให้พบว่าจริงๆแล้วเราเองคิดเลวกว่ามนุษย์ต่างดาวเหล่านั้นเสียอีก (ผมก็โดนด้วย!!)

 

อย่างไรก็ดี ผมว่าตัวบทภาพยนตร์ได้ชี้ประเด็นที่สำคัญประการหนึ่ง อย่างสุดโต่งก็คือ “เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา”  ในเรื่องนี้สุดโต่งไปกว่านั้นอีกคือ ต้องไปเป็นมนุษย์ต่างดาวเองเลย จึงจะเข้าใจจิตใจกันและกัน ... มองกันอย่างเป็นมนุษย์ และยินดีช่วยเหลือกันจากใจจริง 

 

 บางทีปัญหาที่เกิดกับผู้ลี้ภัย และผู้ด้อยโอกาสทั้งหลายนั้นที่ยังแก้ไม่ได้และเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบันเพราะจริงๆแล้ว พวกเรา (อันอาจหมายถึง รัฐบาล และผู้คนที่เขาเป็นตัวแทน - คนในชาติ) อาจจะไม่ได้มองผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย หรือผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้น (เช่น ชนกลุ่มน้อยที่ลี้ภัยการเมืองเข้ามาในไทย ตามเขตตะเข็บชายแดนไทยพม่า, ชาวบ้านที่ถูกไล่ที่จากการสร้างเขื่อน, คนจน, โสเภณี ฯลฯ) เป็นมนุษย์เหมือนกับเราก็ได้ ... เราอาจจะรู้สึกว่าเราอยู่คนละโลกกัน และสิ่งที่เค้าเป็นแบบนั้น เป็นเพราะเขาเลือกที่จะเป็นเองก็ได้ ... และถ้าเราไปช่วยก็ “อาจ” จะทำให้เราเสียบางอย่างที่เป็น “ของเรา” ไปก็ได้ หรือไม่ก็ไม่เคยคิดจะสนใจอยู่แล้ว เหมือนเห็นนกต้องบินออกจากรังเพราะต้นไม้ที่มันอาศัยอยู่โดนตัด เห็นสุนัขโดนไล่เตะไล่ตีเพราะไปคุ้ยถังขยะ

 

บางทีลึกๆภาพยนตร์อาจจะต้องการสื่อว่า มนุษย์ควรจะเข้าใจกันและเห็นใจกัน โดยมองข้ามรูปลักษณ์และความแตกต่างภายนอกและภายใน (เช่นความเชื่อ ศรัทธา ศาสนา ฯลฯ) เข้าไปถึงจิตใจของเขามากกว่า... พยายามเข้าใจกัน เรียนร้ ให้อภัยกัน และเชื่อมั่นในความดีของกันและกัน  ... ในขณะเดียวกัน หากเราสามารถสละความต้องการส่วนตัวเพื่อคนอื่น (เสียสละ) ได้ละก็ ความสุขใจย่อมเกิดขึ้นในใจของเขาในบัดดล ในขณะที่หากเรามุ่งแต่เอาทุกอย่างเข้าตัว ... แม้ในยามที่เรามีทุกอย่างพร้อม หรือยังไม่ได้เสียอะไรไป เราอาจจะไม่มีความสุขเลยก็ได้ (แสดงออกมาในช่วงสุดท้ายของเรื่องที่พระเอกที่เป็นมนุษย์ได้เสียสละโอกาสที่ตนจะได้กลับคืนร่างเดิมเพื่อให้มนุษย์ต่างดาวได้กลับบ้านของตน) ...


หมายเลขบันทึก: 307042เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2009 04:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ พี่เอกก็ชอบดูหนัง แต่ไม่ค่อยจัดเวลาตนเองใด้ไปดู...อ่านแล้วได้ข้อคิดอะไรดี ๆ เยอะ...

หนังดีครับ แต่อย่าลืมดู AVATAR นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท