เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

เทศกาลทอดกฐิน


        ในทุกปีเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนพระภิกษุสงฆ์มีสิ่งที่พึงต้องปฏิบัติตามกิจของสงฆ์โดยพร้อมเพรียงกันนั่นคือการที่ต้องประจำอยู่เป็นที่ งดไปค้างแรมที่อื่นเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อทำความเพียรบำเพ็ญสมณธรรมให้เต็มที่ซึ่งเราเรียกกันว่า “จำพรรษา” หลังจากออกพรรษาแล้ว โดยนับตั้งแต่วันที่เราตักบาตรเทโวจนถึงวันลอยกระทง  ก็จะเป็นเทศกาล “ทอดกฐิน” อันเป็นการบำเพ็ญบุญที่ชาวพุทธทุกคนถือว่าเป็นมหากุศลและยังถือว่าเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของแต่ละวัดอีกด้วย

        เพราะเหตุว่าการทอดกฐินนี้   เป็นการทำบุญที่พิเศษกว่าการทำบุญอย่างอื่นเนื่องจากถูกจำกัดด้วยเวลา เรียกว่า “กาลทาน” คือ ต้องถวายใน  ช่วง 1 เดือน หลังจากวันออกพรรษา นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งในแต่ละวัดสามารถทอดกฐินได้เพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น อีกทั้งพระภิกษุผู้มีสิทธิ์รับผ้ากฐินได้ต้องจำพรรษาอยู่ที่ วัดนั้นครบ 3 เดือน โดยไม่ขาดพรรษา และต้องมีจำนวนตั้งแต่ 5 รูป ขึ้นไป จึงจะกระทำพิธีได้  การถวายผ้ากฐินนี้ก็มิได้จำเพาะเจาะจงแต่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง จึงนับว่าเป็น “สังฆทาน” ซึ่งทางฝ่ายพระสงฆ์เองเมื่อรับ ผ้ากฐินแล้วก็ต้องทำพิธี “กรานกฐิน” ให้เสร็จภายในวันเดียวกัน  ด้วยเหตุนี้การทอดกฐินจึงเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของชาวพุทธอีกเทศกาลหนึ่ง

ความหมายของกฐิน 

         กฐิน เป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่มีเพียงปีละครั้ง จึงจัดเป็นกาลทาน แปลว่า "ถวายตามกาลสมัย" คำว่า "กฐิน" มีความหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายความหมายดังนี้

         1.กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้ กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่าสะดึงก็ได้ เนื่องจากในครั้งพุทธกาลการทำจีวรให้มีรูปลักษณะตามที่กำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่าจีวรเป็นส่วนรวม ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียก ผ้านุ่ง ว่า สบง ผ้าห่ม ว่า จีวร และ ผ้าห่มซ้อน ว่า สังฆาฏิ
         2.กฐินที่เป็นชื่อของผ้า หมายถึงผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้

         3.กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือการทำบุญ คือการถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ 3 เดือน เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า ทอดกฐิน คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำว่าถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็น กาลทาน คือการถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่เป็นกฐิน จึงมีโอกาสทำได้ยากมาก

         4.กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม คือกิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลายก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่น ขยายเวลาทำจีวรได้อีก 4 เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน 10 วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้วอนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4

 

ตำนานการทอดกฐิน

         เมื่อครั้งพุทธกาล มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎกกฐินขันธกะว่า ครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐา ประมาณ 30 รูป ซึ่งถือธุดงค์วัตรอย่างยิ่งยวด มีความประสงค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งขณะนั้นประทับอยู่กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล จึงพากันเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองนั้นพอถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงสาวัตถีประมาณ 6 โยชน์ก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี เดินทางต่อไปมิได้ต้องจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกตุตามพระวินัยบัญญัติ ขณะที่จำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกตุ เกิดความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง ดังนั้นพอออกพรรษาปวารณาแล้วจึงรีบเดินทาง แต่ระยะนั้นมีฝนตกมากหนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำ เป็นโคลนเป็นตม ต้องบุกน้ำลุยป่ามาจนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าตามความประสงค์ที่ตั้งใจไว้

       พระพุทธเจ้าจึงมีปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านั้นเรื่องการจำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกตุและการเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลถึงความตั้งใจ ความร้อนรนกระวนกระวายและการเดินทางที่ลำบากให้ทรงทราบทุกประการ  พระพุทธเจ้าทรงทราบและเห็นความลำบากของภิกษุจึงทรงยกเป็นเหตุและมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้วกรานกฐินได้ และเมื่อกรานกฐินแล้วจะได้รับอานิสงส์ตามที่กำหนดในพระวินัยถึง 5 ประการ ด้วยกัน

ประเพณีการทอดกฐินของประชาชน

          การทอดกฐินเป็นเทศกาลที่ประชาชนให้ความสนใจและมีความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอันมาก  ซึ่งอาจจะแบ่งรูปแบบการทอดกฐินของชาวบ้านตามลักษณะวิธีการทอดออกได้  4  รูปแบบด้วยกันคือ

         1.กฐินหรือมหากฐิน  เป็นกฐินที่ชาวบ้านนำไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งซึ่งตนมีความศรัทธาเลื่อมใสเป็นการเฉพาะ  กล่าวคือ ท่านผู้ใดมีศรัทธาจะทอดกฐิน ณ วัดใด ก็ให้ทำใบปวารณาจองกฐินติดใบบอกไว้ ณ เขตวัดนั้นๆ เมื่อถึงเวลากำหนดก็นำผ้ากฐิน บางครั้งเรียกว่า ผ้าที่เป็นองค์กฐิน ซึ่งจะเป็นผืนเดียวก็ได้ หลายผืนก็ได้ เป็นผ้าขาวซึ่งยังมิได้ตัด ก็ตัดออกเป็นชิ้นๆ พอที่จะประกอบเข้าเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ทำเสร็จแล้วยังมิได้ย้อมหรือย้อมแล้วก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งจัดเป็นองค์กฐิน นำไปทอด ณ วัดที่ได้จองไว้นั้น

          2.จุลกฐินหรือกฐินแล่นเป็นกฐินที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนหมู่มาก ต้องเร่งรีบทำให้เสร็จ เลยเรียกว่า กฐินแล่น ( ความหมายคือเร่งรีบ ต้องแล่น (วิ่ง) จึงจะเสร็จทันเวลา ) เจ้าภาพผู้ที่จะคิดทำจุลกฐินเพื่อทอดถวาย ณ วัดใดวัดหนึ่งจะต้องมีบารมี มีพวกพ้องคอยช่วยเหลือ เพราะในอดีตต้องเริ่มจากการนำฝ้ายที่แก่ใช้ได้แล้วแต่ยังอยู่ในฝัก มีปริมาณมากพอที่จะทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง มาทอเป็นผืนผ้าตามขนาดที่ต้องการนำไปทอดเป็นผ้ากฐิน

          3.กฐินสามัคคีเป็นกฐินที่มีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน จะบริจาคมากน้อยอย่างไรไม่กำหนด เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินการก็มักจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่มีหนังสือบอกบุญไปยังผู้อื่น เมื่อได้ปัจจัยมาก็นำมาจัดหาผ้าอันเป็นองค์กฐินรวมทั้งบริวารต่างๆ เมื่อมีปัจจัยเหลือก็นำถวายวัดเพื่อช่วยเป็นค่าใช้จ่ายในการบูรณปฏิสังขรณ์ กุฏิ โบสถ์ เจดีย์ เป็นต้น กฐินสามัคคีนี้มักจะนำไปทอดยังวัดที่กำลังมีการก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ เพื่อเป็นการ

         สมทบทุนให้สิ่งอันพึงประสงค์ของวัดให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  กฐินสามัคคีนี้ปัจจุบันเป็นที่นิยมเป็นอันมากเพราะนอกจากจะเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลแล้วยังเป็นการช่วยทำนุบำรุงวัด  ตลอดจนเป็นการสร้างความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่ชาวบ้าน 

           4.กฐินตกค้าง  กฐินตก หรือ กฐินโจร  เป็นกฐินที่ทำกันในวัดที่ตกค้างคือวัดที่ไม่มีใครไปทอดกฐิน ซึ่งอาจจะมีอยู่ในวัดที่ห่างไกลความเจริญ  กล่าวกันว่ากฐินประเภทนี้จะได้บุญมากที่สุด  ที่เรียกว่ากฐินตกค้างหรือกฐินตก  บางแห่งเรียกกฐินโจรเพราะการทอดกฐินชนิดนี้เจ้าภาพจะไปทอดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวไม่บอกให้วัดรู้ล่วงหน้า  คือเมื่อใกล้จะหมดเวลาทอดกฐินบางวัดยังไม่ได้รับกฐินเจ้าภาพมีศรัทธาก็ไปทอดเลย  ซึ่งจะทอดวัดเดียวหรือหลายวัดก็ได้

 

          การที่จะทราบว่าวัดใดมีการทอดกฐินให้ดูที่ธงรูปจรเข้ที่ปักไว้หน้าวัด  ที่ใช้สัญลักษณ์รูปจรเข้ก็มีตำนานกล่าวไว้ 2 คติด้วยกันคือ

           ก.ในโบราณสมัย การจะเดินทางของคนไทยนิยมอาศัยดาวช่วยประกอบการเดินทาง เช่นเดียวกับการยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐิน มีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขึ้น ก็เคลื่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี  ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้น ก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงามทั้งที่องค์กฐิน ทั้งที่บริเวณวัดต่อมาภายหลังจึงเพิ่มรูปจรเข้เข้าไปด้วยตามที่เวลาเดินทางอาศัยดาวจรเข้  จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว

           ข.อีกคติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดและมีผู้สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้           

            การทอดกฐินเป็นการทำบุญที่มีลักษณะพิเศษคือทำได้เพียงปีละครั้งเท่านั้นและต้องอยู่ภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือนตามพุทธบัญญัติจึงเป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่เพราะได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้มีผ้านุ่งห่มใหม่  อีกทั้งยังเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา  และที่สำคัญความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่ชาวบ้านที่มาร่วมงานทอดกฐิน  สิ่งเหล่านี้เป็นค่านิยมที่ชาวพุทธได้ประพฤติปฏิบัติกันเป็นเวลานานแล้ว  จึงไม่แปลกใจเลยที่จังหวัดกำแพงเพชร  งานกฐินสามัคคีจึงเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่เสมอ

หมายเลขบันทึก: 306865เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2009 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

ขอมาเรียนรู้ด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท