ยายดวง


การดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ต้องอาศัย ความจริงใจ ความเข้าใจ และความอดทน ผลที่ได้รับนั้นทำให้เราภูมิใจมาก

ชื่อเรื่อง ยายดวง

ผู้เล่า คุณบุปผา ขจรโมทย์ สอ.โนนสวาง, คุณปริมาพร ศรีสังข์ พยาบาลวิชาชีพ

แก่นของเรื่อง การดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ต้องอาศัย ความจริงใจ ความเข้าใจ และความอดทน ผลที่ได้รับนั้นทำให้เราภูมิใจมาก

เนื้อเรื่อง “หมอ ๆ  ไปช่วยเมียผมทีหมอ  มันกำลังอาการไม่ดีนะหมอ”  เสียงเรียกให้ช่วยของผู้ชายคนหนึ่ง  วิ่งหน้าตาตื่นมาที่สถานีอนามัยโนนสวาง  ในขณะที่พวกเราทีม CMU  กำลังประชุมเรื่องงานกันในช่วงเช้าวันหนึ่งว่าพวกเราจะออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยคนไหนดี  พวกเรา 4 คนได้ยินเสียงดังมาจากประตูสถานีอนามัย ทุกคนหันหน้าไปที่เสียงร้องนั้นพร้อม ๆ กัน ด้วยความสงสัย

          ผู้ชายคนนั้นวัยกลางคน ผิวสองสี ตัวผอมรูปร่างสันทัดดูท่าทางเป็นคนตรากตรำทำงานหนักกลางแดดมานาน  ทีมงานของพวกเราทุกคนจึงรีบลุกขึ้นจากเก้าอี้ไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น  สอบถามผู้ชายคนนี้ว่าเขาเป็นใคร เขาตอบด้วยอาการหอบเหนื่อย บอกว่าเขาชื่อตารงค์  ตารงค์เล่าให้ฟังว่า เมียของเขาที่ป่วยเป็นโรคจิตมานานประมาณ 5 -6 ปี ไม่ยอมกินยามาหลายเดือน ตอนนี้มีอาการคุ้มคลั่ง  อาละวาดทำลายข้าวของของตนเองและของเพื่อนบ้านแตกกระจายเต็มไปหมด

พวกเราไม่รอช้ารีบไปที่เกิดเหตุทันที่ สภาพที่เห็นมันคือกระท่อมเก่า ๆ มุงด้วยสังกะสีทั้งผนังและหลังคา พื้นที่กว้างแค่ 3*3 เมตร  ไม่มีหน้าต่างมีแต่ประตูทางเข้าแคบ ๆ ด้านหน้าประตูเป็นนอกชาน ทำเป็นครัวโดยใช้พื้นที่ไม่มาก  พื้นบ้านยกสูงจากพื้นดินประมาณ 50  เซนติเมตร มีบันไดขึ้น 2 ขั้นเท่านั้น สภาพบ้านรกรุงรังและในบ้านภายในห้องมีลักษณะมืด  อับชื้น พวกเราได้พบกับผู้หญิงวัยกลางคนกำลังนั่งตารางในห้องมืด  ผมฟูยุ่งเหยิง  หน้าตาบึ้งตึง  ชาวบ้านบอกว่าเธอชื่อ “ดวง” เป็นเมียของตารงค์  พวกเราจึงเรียกป้าดวง  ขณะที่ทีมงานของเราเรียกชื่อป้าดวง  แววตาของป้าดวงนั้นแข็งกร้าว ดุดันมากพร้อมที่จะทำร้ายผู้อื่นได้ทุกเมื่อสภาพร่างกายเนื้อตัวสกปรกมอมแมม คล้ายกับว่าป้าดวงไม่อาบน้ำมานาน มีกลิ่นตัวแรงอีกด้วย  ตารงค์บอกว่าป้าดวงไม่ยอมกินยาที่หมอให้มาขาดยาไปหลายเดือนแล้ว จึงมีอาการคลุ้มคลั่ง เป็นบางครั้งรวมถึงครั้งนี้ด้วยพวกเราทุกคนเห็นท่าทีป้าดวงแล้วอาการคงจะไม่สงบง่าย ๆ เราจึงร่วมกันกับผู้นำชุมชนช่วยกันตามรถ  EMS พาป้าดวงไปโรงพยาบาลก่อน  ป้าดวงขึ้นรถอย่างทุลักทุเลมาก  แต่พวกเราก็พาป้าดวงไปถึงโรงพยาบาลจนได้ เมื่อไปถึง โรงพยาบาลแพทย์ได้ฉีดยาให้ป้าดวง  อาการของป้าดวงก็สงบลงจากนั้นแพทย์จึงให้ยากลับมาทานที่บ้านต่อ  วันนั้นพวกเราทุกคนกลับบ้านอย่างเหน็ดเหนื่อย  แต่ทุกคนรู้ดีว่าพวกเรามีงานหนักที่ต้องรับมือกันอีกแล้วล่ะ 

       ทีมงานของเรายังเป็นห่วงและยังไม่วางใจนัก  และกำลังคิดว่ามันน่าจะมีอะไรให้ต้องค้นหาอีกมากสำหรับผู้ป่วยรายนี้พวกเราจึงตัดสินใจกลับไปเยี่ยมป้าดวงที่บ้านอีกครั้ง พบว่าป้าดวงไม่ยอมกินยาที่แพทย์สั่งให้กินยาอีกแล้ว  เราจึงหันมาปรึกษากันใหม่กับการดูแลป้าดวงว่าจะทำยังไงกันดี เราจึงได้ปรึกษากับแพทย์ CMU ของเรา ตกลงกันว่าจะลองใช้วิธีการฉีดยาเพื่อควบคุมอาการแทนการทานยา ช่วงแรก ๆ ที่พวกเราฉีดยาให้ป้าดวงมันอาจลำบากบ้างเนื่องจากป้าดวงยังไม่คุ้นเคยกับสัมผัสของเราแต่พอพวกเราแวะไปเยี่ยมไปฉีดยาให้ป้าดวงบ่อย ๆ ทำให้ป้าดวงเริ่มคุ้นเคยและรู้จักพวกเราและที่น่าดีใจมาก ๆ คือ อาการของป้าดวงเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ จากที่นั่งนิ่งไม่พูดคุยกับใครเลยหรือมีอาการคุ้มคลั่งอาระวาด หลายครั้งอาการเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นอีกแล้วป้าดวงถาม-ตอบ รู้เรื่องมากขึ้น

จนวันหนึ่งป้าดวงได้บอกกับพวกเราว่าป้าไม่อยากฉีดยาแล้วขอกินยาแทนได้ไหม  พอพวกเราได้ยินป้าดวงพูดเช่นนั้นทำให้พวกเราทุกคนแอบยิ้มดีใจที่ป้าดวงยอมทานยาแล้วจากนั้นมาป้าดวงก็ทานยาตลอดโดยมีตารงค์คอยดูแล  และลูกสาวลูกชายของเขาคอยเป็นคนให้กำลังใจเป็นคนอยู่ใกล้ ๆ พวกเราทราบมาว่าลูกสาวของป้าดวงกับตารงค์เรียนอยู่ชั้น ม. 6 แล้วตารงค์และป้าดวงต่างเฝ้ามองดูวันที่ลูกสาวเรียนจบและ มีอนาคตที่ดีลูกสาวของป้าดวงและตารงค์เป็นเด็กเรียนดีเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ได้ดีมากวันคืนผ่านไปด้วยการที่ครอบครัวเป็นกำลังใจ  เพื่อนบ้านเห็นอกเห็นใจและมีพวกเราทีม CMU ไปแวะเยี่ยมเยียนป้าดวงบ่อย ๆ ทำให้ป้าดวงอาการดีขึ้น ดีขึ้นและดีขึ้นเรื่อย ๆ

ตารงค์บอกว่าจากที่ป้าดวงทำงานบ้านไม่ได้มา 5 ปี ซึมและคลุ้มคลั่งตลอด แต่วันนี้กลับทำกับข้าวตื่นตัวเช้างานบ้าน  ซักผ้าให้สามี  และลูกได้  ไม่เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน อาบน้ำแต่งตัวดีขึ้น  ตารงค์และลูก ๆ ก็มีความสุขมีรอยยิ้มมากขึ้น ทีมงานของเราทุกคนอดดีใจและปราบปลื้มใจจนน้ำตาคลอเบ้าไม่ได้ ถึงเราจะเหนื่อยเพียงใดแต่เมื่อเราเห็นคน ๆ หนึ่งได้มีชีวิตใหม่ ได้เห็นครอบครัวที่มีแต่ทุกข์   กลับมีความสุขเข้าใจกันมากขึ้น  เพียงเท่านั้นก็สร้างกำลังใจให้ทีมงานของเราทำงานต่อไปอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเลย  ในวันนั้นพวกเรากลับบ้านไปด้วยความปราบปลื้ม มีใบหน้าเปื้อนยิ้มกันทุกนเลยค่ะ

       เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านี้นะค่ะ  พวกเรายังมีภาระกินต่อนั้นก็คือ ปรึกษากับผู้นำชุมชนและครอบครัวของป้าดวง  ถึงการช่วยเหลือให้ป้าดวงมีรายได้ประจำโดยการประสานงานกับ อบต.  และโรงพยาบาลเพื่อทำบัตรประจำตัวผู้พิการ และให้ได้เบี้ยยังชีพ (ผู้พิการ) เพื่อแบ่งเบาภาระทางครอบครัวในระหว่างที่ป้าดวงป่วยอยู่นี้และสามารถเป็นรายได้จุนเจือครอบครัวได้บ้าง   ช่วยให้ครอบครัวของป้าดวงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยมา โดยมีพวกเราทีม CMU ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันแวะเวียนไปถามข่าวคราว และให้กำลังใจป้าดวงและครอบครัวอยู่บ่อย ๆ เหมือนเป็นเครือญาติกันล่ะค่ะ

       ชีวิตของป้าดวงและครอบครัวดีขึ้น มีความสุขมากขึ้นไม่ได้เป็นเพราะพวกเราทีม CMU เท่านั้นแต่มันสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของครอบครัวป้าดวงและผู้นำชุมชนทุกคนที่ได้มีจิตอาสาสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ร่วมกันดังนั้นโลกมืดมิดของหนึ่งชีวิตที่เดียวดาย  จะไม่ได้มืดมิดอีกต่อไปเขาจะไม่ได้อยู่แบบโดเดี่ยวอีก  แต่ยังคงมีแสงนำทางให้เขาเดินไปและใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าได้อีก  พวกเราทีม  CMU จึงตั้งปณิธานว่าเราจะเป็นแสงนำทางและเป็นกำลังใจให้คนท้อแท้  สั้นหวังได้ลุกขึ้นยืน  ยิ้ม มีความสุขอยู่ในสังคมต่อไปให้ได้ ตราบที่เราหมดกำลังที่จะทำค่ะ

ผู้บันทึก คุณปริมาพร ศรีสังข์          วันที่ 17 ตุลาคม 2552

ประเด็นที่น่าสนใจ       

ผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ถูกละเลยทอดทิ้งมากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ด้วยเหตุหลายประการ เช่น

  1. เป็นโรคเวรโรคกรรม ที่เกิดจากพฤติกรรมในอดีต หรือเวรกรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อเป็นแล้วก็ควรทำใจยอมรับ
  2. รักษามาหลายที่แล้วก็ไม่เห็นดีขึ้นเลย เนื่องจากครอบครัวมักไม่เข้าใจว่าโรคจิตเวชส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรังที่อาจรักษาไม่หายขาด แต่หากได้รับยาสม่ำเสมอก็จำทำให้อาการดีขึ้น สามารถดูแลตนเอง และช่วยเหลือครอบครัวได้
  3. ให้มันอยู่อย่างนี้ดีแล้ว มักเป็นผลตามมาระยะท้าย เมื่อญาติหมดหวังหรือเหนื่อยหน่ายกับการรักษา ก็จะปล่อยคนไข้ให้แย่ลงเรื่อยๆ  หากทีมสุขภาพพบกับญาติและผู้ป่วยระยะนี้มักไม่ได้รับความร่วมมือในการรักษา

 

แนวทางดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน

  1. เริ่มที่ครอบครัว การดูแลผู้ป่วยจิตเวชไม่สามารถมองเฉพาะตัวผู้ป่วยด้วย เพราะญาติมักต้องรับภาระหนัก ทั้งด้านการดูแล เศรษฐกิจ ความกดดันทางจิตใจ และจากสังคม ก่อนเริ่มรักษาผู้ป่วยจึงต้องเข้าใจถึงประสบการณ์ที่ญาติได้รับในอดีต และภาระในปัจจุบันก่อน แล้วจึงทำความเข้าใจเรื่องการรักษา และความพร้อมในการดูแลในอนาคตกับครอบครัว
  2. ขอเพียงใครเข้าใจสักคน ผู้ป่วยจิตเวชนั้นแม้เขาจะการรับรู้ที่ผิดปกติ แต่เขาก็ยังเป็นมนุษย์ที่ต้องการเพื่อน ต้องการความรัก ความใส่ใจ การที่ทีมสุขภาพสื่อสารอย่างนุ่มนวล ให้เกียรติ และสม่ำเสมอ จะสร้างความไว้วางใจ เป็นกุญแจสำคัญนำสู่ความเต็มใจเข้ารับการรักษา
  3. ยาคือหัวใจของการรักษา ในปัจจุบันโรคทางจิตเวชหลายโรคสามารถรักษาได้ดีโดยใช้ยา แม้ว่าจะต้องกินยาเป็นเวลานาน การคุยกับญาติให้เข้าใจแนวทางการรักษา และความสำคัญของการดูแลให้ผู้ป่วยรับยาอย่างต่อเนื่อง และการติดตามให้กำลังใจผู้ป่วยกินยาจึงเป็นเรื่องสำคัญ
  4. อาการสำคัญน้อยกว่าคน เมื่อเริ่มกินยาจิตเวช ผู้ป่วยหลายคนจะเกิดผลข้างเคียงจากยา โดยที่อาการ เช่น หูแว่ว ภาพหลอน หลงผิด ยังไม่หายไป ทีมสุขภาพต้องชั่งใจระหว่างการเพิ่มขนาดยาเพื่อลดอาการหรือ ลดขนาดยาเพื่อลดผลข้างเคียง จากประสบการณ์การรักษาความร่วมมือของผู้ป่วยคือสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้นจึงควรเพิ่มยาให้ช้าที่สุด โดยคง Function ของผู้ป่วยให้เหมือนเดิมมากที่สุด
  5. เขาคือส่วนหนึ่งของครอบครัว การรักษาผู้ป่วยจิตเวชคือการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังโรคหนึ่ง ทีมสุขภาพจึงควรทำให้ผู้ป่วยมีบทบาทช่วยแบ่งเบาภาระในครอบครัวได้บ้างจะช่วยให้ญาติมีกำลังใจในการดูแลผู้ป่วย และผู้ป่วยก็ได้กลับสู่สังคมที่ยอมรับอีกครั้ง ซึ่งเป็นความสำเร็จที่สำคัญกว่าการกินยาเพียงอย่างเดียว
  6. ติดตามและดูแล ผู้ป่วยจิตเวชเป็นผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนและอ่อนไหวต่อ กาย จิต ครอบครัว สังคม ดังนั้นการติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมแก้ปัญหากับผู้ป่วยและญาติตั้งแต่ต้นจะทำให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

ผู้สรุปประเด็น นพ.สิริชัย นามทรรศนีย์

 

 

คำสำคัญ (Tags): #home health care#kuchinarai#psychosis
หมายเลขบันทึก: 306768เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2009 20:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 08:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็น เรื่องเยี่ยม และงดงาม มากจริงๆ ครับ

สุดยอด ทั้งคุณกิจ คุณลิขิต และคุณอำนวย ตลอดถึงคุณเอื้อ......ขั้นเทพจริงๆครับ

มีพี่ที่อยู่สถานีอนามัย ดูแลผู้ป่วยจิตเวชอายุประมาณ 50 กว่า อยู่บ้านกับแม่เพียง 2 คน เวลาให้ยาไป ผู้ป่วยจะกินทีเดียวหลายเม็ด กินวันละหลายครั้ง จนยาที่ให้ไปสำหรับ 1 อาทิตย์ หมดภายใน 3 วัน พี่เขาก็ไปรู้จะแก้ปัญหาอย่างไง แต่ยังโชคดีที่ว่า บ้านผู้ป่วยใกล้กับสถานีอนามัย ผู้ป่วยขี่จักรยานได้ จึงให้ผู้ป่วยมากินยาที่อนามัยทุกวัน เวลามาสถานีอนามัย พี่เขาก็จ้างกวาดสนามหญ้า รดน้ำต้นไม้ งานอื่นเล็กๆน้อยๆ

มีเรื่องเล่าว่าสถานีอนามัยจะจัดอบรมเกี่ยวกับผู้พิการ แต่ไม่ได้เชิญมาทั้งหมด แต่บอกให้แกมาวันพรุ่งนี้ แกก็ขี่จักรยานไปทั่วหมู่บ้าน บอกกับญาติคนพิการว่า พรุ่งนี้หมอให้ไปอนามัย ปรากฎว่ามีคนเชื่อมาอนามัยกันเยอะมาก ต้องอธิบายคนที่มาให้เข้าใจ แต่คนมาก็ไม่ได้โกรธหรือโมโหแกหรอกนะ เพียงแต่บ่น "เชื่อใครไม่เชื่อ เชื่อตาเบิ้ม"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท