ที่มาของคำว่า “โอวี”


เด็กที่เติบโตมาด้วยกันในโรงเรียนประจำ มักมีความสนิทสนมกลมเกลียวกันอย่างเหนียวแน่น

ที่มาของคำว่า “โอวี”

นักเรียนเก่าที่จบจากวชิราวุธวิทยาลัยทุกคนรู้จักคำว่า OV ที่หมายถึงศิษย์เก่าวิราวุธฯ ถึงแม้คนที่จบการศึกษาจากสถาบันอื่นๆ ก็มักเคยได้ยินคำนี้ และพอจะทราบว่า OV นั้นหมายถึงพวกเด็กวชิราวุธฯ แต่มีสักกี่คนที่รู้ว่า จริงๆ แล้ว OV นั้นย่อมาจากคำว่าอะไร

ถ้าอยากรู้จึกความหมายที่แท้จริง พร้อมกับเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องตามไปดูถึงประเทศอังกฤษโน่น

ในขณะที่สถาบันศึกษาทั่วโลกมักเรียกศิษย์เก่าของสถาบันโดยรวมว่า Alumni (อลัม-ไน) ถ้าเป็นเอกพจน์ใช้ว่า Alumnus (อลัม-นัส) สำหรับศิษย์เก่าที่เป็นผู้หญิงที่ถูกต้องใช้ Alumna (อลัม-นา)  และถ้าเป็นพหูพจน์ของศิษย์เก่าหญิงก็ใช้ว่า Alumnae (อลัม-แน) แต่บรรดาโรงเรียนพับลิคสกูลกว่า  2,000 แห่งที่อังกฤษนั้น มีประเพณีที่ใช้เรียกนักเรียนเก่าที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ คือจะเรียกนักเรียนเก่าที่จบจากโรงเรียนพับลิคสกูลว่า Old Boys (แต่เรามักไม่ได้ยินคำว่า Old Girls ซึ่งอาจเป็นเพราะในอดีตการศึกษาเป็นเรื่องสำหรับผู้ชาย  ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีโรงเรียนหญิงที่เก่าแก่และมีชื่อเสียง และในปัจจุบันก็ยังมีโรงเรียนประจำหญิงจำนวนไม่มาก หรืออาจเป็นเพราะผู้หญิงไม่ชอบถูกเรียกว่าเป็น Old Girl ก็ได้! )

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องของ Old Boy ก็คือการที่นักเรียนประจำที่เติบโตมาด้วยกันในโรงเรียนประเภทนี้มักมีความสนิทสนมและรักใคร่ปรองดองกันมากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียนทั่วไป ความสนิทสนมกลมเกลียวกันอย่างเหนียวแน่น เมื่อต่างคนต่างมีงานการทำ ก็มักให้ช่วยเลือเกื้อกูลกัน ทำให้มีคำกล่าวถึงผู้ที่จบจากโรงเรียนเหล่านี้ว่าเป็น Old Boys’ Clubs ทั้งนี้ นักเรียนเก่าของแต่ละสถาบันมักแสดงออกถึงความเป็น Old Boy ด้วยการผูกเนคไทนักเรียนเก่าวันใดวันหนึ่ง ดังเช่นศิษย์เก่าวชิราวุธฯ ที่นัดกันผูกเนคไทของโรงเรียนทุกๆ วันพฤหัสบดี หรือศิษย์เก่าโรงเรียน Malay College ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำชั้นนำที่เก่าแก่ที่สุดของมาเลเซีย ที่นัดผูกไท Malay College Old Boys’ Association - MCOBA ทุกๆ วันพุธ ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เกิดความรู้สึก “หมั่นไส้”จากคนอื่นๆ บ้างไม่มากก็น้อย เช่นกรณีในรัฐสภาของมาเลเซียมีศิษย์เก่ามาเลย์คอลเลจมากมาย และมีทั้งที่อยู่พรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่พอถึงวันพุธ สส.ชาว MCOBA ทั้งหลายต่างก็ผูกไทศิษย์เก่ามาเลย์คอลเลจเข้าสภาฯ ซึ่งเราคงพอจะคิดได้ว่าสมาชิกอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Old boys จะรู้สึกอย่างไร  

ส่วนที่ประเทศอังกฤษซึ่งเป็นต้นตำรับของ Old Boy ก็จะมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยคนจำนวนมากจะรู้ว่าคุณเรียนโรงเรียนพับลิคสกูลที่ไหนจากเนคไทนั่นเอง ทั้งนี้ ในรัฐบาลเงาของพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) ของอังกฤษในปัจจุบันมีรัฐมนตรีที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียน Eton ถึง 13 คน สำหรับในประเทศไทยก็มีปรากฎการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็น Old Boys’ Clubs หรือ Old Boys’ Network เช่นกัน โดยในบางองค์กร สโมสร หรือบริษัทบางแห่งก็จะมีศิษย์เก่าของที่นั่นที่นี่ไปรวมกันอยู่จำนวนมาก

ที่ประเทศอังกฤษมีการใช้ภาษาที่แตกต่างกันระหว่างคนต่างชนชั้น และสำนวนหนึ่งที่ใช้ทักทายกันในหมู่คนชั้นสูงก็มักพูดว่า “Hello Old Boy!” ซึ่งมักออกเสียงโดยใช้ริมฝีปากบนให้น้อยที่สุด “Stiff upper lips” ซึ่งเป็นลักษณะการพูดของคนชั้นขุนนาง หรือ “The Queen’s English” และ Stiff upper lips ยังเป็นวลีที่หมายถึงความอดกลั้น ไม่สะทกสะท้าน และไม่แสดงออกถึงอารมณ์ตระหนกตกใจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาคับขัน ซึ่งจะเป็นลักษณะของคนอังกฤษพวกนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เจมส์ บอนด์ พยัคย์ร้าย 007  ซึ่งการเรียก Old Boy ในที่นี้มาจากการที่คนชั้นสูงของอังกฤษแทบทุกคนจะเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียน Public School ด้วยกันทั้งนั้น สำหรับเจมส์ บอนด์นี้ตามประวัติเคยเรียนที่โรงเรียน Eton

ทีนี้ แต่ละสถาบันก็จะมีชื่อเรียก Old boy ที่เป็นเอกลักษณ์เช่นกัน โดยจะนำชื่อโรงเรียนมาใช้เรียกชาวศิษย์เก่า เช่น ชาว Eton (อี-ตั้น) จะเรียกศิษย์เก่าว่า Old Etonian      (โอล์ด-อี-โท-เนี่ยน) ส่วนที่ Harrow จะเรียกว่า Old Harrowian (โอล์ด-แฮ-โร-เวี่ยน) สำหรับโรงเรียน Rugby เรียกว่า Old Rugbean (โอล์ด-รัก-บี-เอี้ยน) แต่บางโรงเรียนก็จะมีชื่อที่แปลกออกไป เช่น ที่โรงเรียน Oundle (เอาน-เดิล) ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิสรเสนา)  และ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ศิษย์เก่าเรียกว่า Old Oundelian (โอล์ด-เอาน-ดี-เลียน) ส่วนที่แปลกที่สุดเห็นจะเป็นโรงเรียน Shrewsbury โรงเรียนเก่าของอดีตผู้บังคับการอีกท่านหนึ่งคือพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริม ปันยารชุน) ผู้เป็นบิดาของอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งศิษย์เก่าเรียกว่า Old Salopian (โอล์ด-ซา-โล-เปี้ยน) ทั้งนี้ คำว่า Salop เป็นคำโบราณที่ใช้เรียกแคว้น Shropshire ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมือง Shrewsbury

คราวนี้คงพอจะเดาออกแล้วนะครับว่า คำว่า OV นั้น ที่แท้ก็มาจากการนำชื่อโรงเรียน มาแปลงให้เป็นความหมายของชาวศิษย์เก่าวชิราวุธ คือนำรากศัพท์คำว่า Vajiravudh มาใช้รวมกับคำว่าเก่า รวมเป็น Old Vajiravudhian (โอล์ด-วชิราวุธ-เดี้ยน) นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 306731เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2009 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท