ภาษาน่าจำ ภาค พ “..พัน...”


“..พัน...”

                              “..พัน...”

พัน นี้                   อ่านพบง่าย      ที่แบงค์

พันธุ์ ไม้แต่ง          มีธุกับ              การันต์

พันธ์ ใช้อ่าน          เขียนเสียงชื่อ     พรรณ  

ภัณฑ์ ที่ทราบกัน    พิพิธภัณฑ์         เครื่องสังฆภัณฑ์

      ครูพรพรรณ พาเด็กหญิงพันธกานต์ เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์

พบวิธีสังเกตุแบงค์พัน ด้านในมีพันธุ์ไม้นานาพรรณให้ได้ชม


องค์ความรู้ภาษาไทย วันศุกร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2554 เดลินิวส์ออนไลน์
คำว่า “พัน” “พันธ์” และ “พันธุ์” เป็นคำที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้ง ๓ คำจัดเป็นคำพ้องเสียงซึ่งมีรูปเขียนต่างกัน และมีความหมายต่างกันด้วย ดังนี้
   
พัน เมื่อเป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง คำเรียกจํานวน ๑๐ ร้อย เมื่อเป็นคำนาม หมายถึง  ตําแหน่งหัวหน้าทหารสมัยโบราณสูงกว่าหัวปาก, บรรดาศักดิ์ชั้นประทวนตํ่ากว่าหมื่น, ชื่อตําแหน่งหัวหน้านายเวรในกระทรวงมหาดไทยและกลาโหม, ยศทหารชั้นสัญญาบัตรรองจากนายพล  และเมื่อเป็นคำกริยา หมายถึง วนรอบด้วยสิ่งที่เป็นเส้นสายหรือสิ่งที่มีลักษณะเช่นนั้น เช่น พันคอ พันแผล เถาวัลย์พันกิ่งไม้, ม้วน เช่น พันไหมพรม, รัดโดยรอบ เช่น พันแข้ง, เกี่ยวกันไปมา, เกี่ยวกันยุ่งเหยิง, เช่น ด้ายพันกัน
   
พันธ์ เมื่อเป็นคำกริยา หมายถึง ผูก, มัด, ตรึง  เมื่อเป็นคำนาม หมายถึง ข้อผูกมัด, ข้อผูกพัน
   
พันธุ์ เมื่อเป็นคำนาม หมายถึง พวกพ้อง, เชื้อสาย, วงศ์วาน; เทือกเถา, เหล่ากอ; เชื้อ เช่น ข้าวเก็บไว้ทำพันธุ์ พันธุ์ข้าว
   
คำว่า “พันธ์” และ “พันธุ์” เป็นคำที่ประกอบอยู่ในศัพท์บัญญัติสาขาวิชาต่าง ๆ ของราชบัณฑิตยสถานด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
   
ศัพท์วิทยาศาสตร์  เช่น  อนุพันธ์ (derivative) หมายถึง อัตราการเปลี่ยนแปลงของปริมาณหนึ่งกับอีกปริมาณหนึ่ง เช่น ความเร็วเป็นอนุพันธ์ของปริมาณการกระจัดกับเวลาที่ขณะหนึ่ง ศัพท์พฤกษศาสตร์ เช่น  พันธุ์ (variety)  หมายถึง หน่วยอนุกรมวิธานที่ต่ำกว่าชนิด (species) และชนิดย่อย (subspecies) หรือหมายถึง สิ่งมีชีวิตประเภทเดียวกันที่มีลักษณะแตกต่างไปจากลักษณะที่พบทั่วไป   ศัพท์วิทยาศาสตร์  เช่น  พันธุ์ปลูก, พันธุ์เพาะ  (cultigen; cultivar) หมายถึง พันธุ์หรือสายพันธุ์พืชที่มีการผสมและ/หรือคัดพันธุ์ขึ้นใหม่ ศัพท์ประชากรศาสตร์  เช่น  พันธุ์แท้  (homozygous) พันธุ์ผสม  (heterozygous).

อารี พลดี

หมายเลขบันทึก: 306701เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2009 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 08:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

หายไปหลายวัยเลยนะค่ะ

ผมอยากเห็นมีการเขียนภาษาไทยแบบนี้มานานแล้วครับ

นายพั นามสุพรรณ ก็ดีนะครับ

นายพัน นามสุพรรณ ก็ดีนะครับ

รอเข้ามาเยี่ยมชมหลายวันเลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท