การจัดทำทะเบียนประวัติ


ทะเบียนประวัติ

การจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

 หลักการทั่วไป

พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดหลักการเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนประวัติของบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไว้อย่างชัดเจน โดยปรากฏอยู่ในสองมาตราที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมคือมาตรา ๑๙/๒ และมาตรา ๓๘ วรรคสอง ซึ่งสามารถแบ่งการอธิบายได้เป็น ๒ ส่วนตามลักษณะของการเข้าสู่ระบบการทะเบียนราษฎรของบุคคล กล่าวคือ

ส่วนแรก เป็นการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับคนที่เข้าสู่ระบบการทะเบียนราษฎรด้วยการแจ้งการเกิดแต่ไม่อาจผ่านการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติ ทำให้ไม่สามารถแจ้งการเกิดได้ นายทะเบียนก็จะจัดทำทะเบียนประวัติและกำหนดเลขประจำตัว ๑๓ หลักให้  กรณีนี้จะเกิดกับการแจ้งการเกิดของเด็กด้อยโอกาสประเภทต่างๆ เช่นเด็กไร้เดียงสาถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน เด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง รวมถึงการแจ้งการเกิดเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมาก ไม่มีพยานเอกสารและพยานบุคคลที่สามารถยืนยันการเกิดได้

ส่วนที่สอง เป็นการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับคนที่เข้าสู่ระบบการทะเบียนราษฎรด้วยการจดบันทึกรายการบุคคลหรือการเพิ่มชื่อ ซึ่งจะเป็นกลุ่มคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่รัฐมนตรีกำหนดให้จัดทำทะเบียนประวัติไว้เป็นหลักฐานแทนการจัดทำทะเบียนบ้าน กรณีนี้จะเกิดกับคนต่างด้าวที่มีสถานะเป็นผู้ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาสั้นๆ หรือไม่มีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทย เช่น แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา หรือคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่คนไทยจะได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติให้แทนการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร. ๑๔ ซึ่งจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่กล่าวอ้างว่าตนเป็นคนสัญชาติไทยแต่ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ตนเองได้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ตกหล่นจากระบบการทะเบียนราษฎรมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม หากบุคคลที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติสามารถแสวงหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์สถานะที่แท้จริงของตนเองได้ในภายหลัง นายทะเบียนก็สามารถแก้ไขสถานภาพของผู้นั้นให้ตรงกับข้อเท็จจริงได้ 

กฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนประวัติ

(๑) พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑

มาตรา ๑๙/๒  การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามมาตรา ๑๙ และมาตรา ๑๙/๑ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐานตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

มาตรา ๓๘ วรรคสอง  ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา ๓๘ วรรคสาม  รายการและการบันทึกรายการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

(๒) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้งเด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง พ.ศ. ๒๕๕๑

ข้อ ๕  หากนายอำเภอมีความเห็นว่าไม่สามารถยืนยันสถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กได้ ให้แจ้งนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน...

(๓) กฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. ๒๕๕๑

ข้อ ๕  ให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยดังต่อไปนี้ ปฏิบัติเกี่ยวกับการสำรวจตรวจสอบหรือปรับปรุงการทะเบียนราษฎร การจัดทำทะเบียนประวัติ และการแจ้งการย้ายที่อยู่

         (๑) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามข้อ ๒ (๒) ที่นอกจากข้อ ๔ (๒)  (หมายถึงคนต่างด้าวซึ่งได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย กลุ่มที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้ประกาศกำหนดให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนบ้าน ท.ร. ๑๓ รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด)

         (๒) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามข้อ ๒ (๔) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติตามมาตรา ๓๘ วรรคสอง  (หมายถึงคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด)

(๔) ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการจัดทำทะเบียนบ้าน และการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๑

ข้อ ๒  คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดทำทะเบียนประวัติตามมาตรา ๓๘ วรรคสอง ได้แก่

          (๑) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโดยมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของการผ่อนผันไว้อย่างชัดเจนเป็นเวลาน้อยกว่าห้าปี หรือไม่มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้สถานะการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทย

          (๒) คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยกลุ่มอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรนอกจากกลุ่มบุคคลตามข้อ ๑ และ (๑) ของข้อนี้  (บุคคลตามข้อ ๑ หมายถึงคนซึ่งเคยมีสัญชาติไทยและเสียสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย  คนต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางหรือวีซ่า  คนต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นกรณีพิเศษโดยไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทาง หรือมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้สถานะตามกฎหมาย และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในประเทศไทยและไม่ได้สัญชาติไทย)

(๕) ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗

ข้อ ๔ ให้นายทะเบียนจังหวัดและนายทะเบียนกรุงเทพมหานครดำเนินการเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติของคนต่างด้าว (หมายถึงคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและอยู่ในระหว่างรอการส่งกลับออกนอกราชอาณาจักร สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกประกาศอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี) ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่สำนักทะเบียนจังหวัดนั้น หรือสำนักทะเบียนกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี ตามแบบ ท.ร. ๓๘ โดยกำหนดเลขประจำตัวให้ตามข้อ ๖ แยกตามเขตพื้นที่สำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นตามที่คนต่างด้าวมีภูมิลำเนาอยู่ แล้วจัดส่งทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวให้สำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเก็บรักษา

        กรณีคนต่างด้าวรายงานตัวขอจัดทำทะเบียนประวัติ ณ สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าบุคคลดังกล่าวจัดทำทะเบียนประวัติไว้แล้วหรือไม่  ถ้าไม่มีให้จัดทำทะเบียนประวัติตามแบบ ท.ร. ๓๘ โดยกำหนดเลขประจำตัวให้ตามข้อ ๖

ข้อ ๖  เลขประจำตัวของคนต่างด้าว ประกอบด้วยเลข ๑๓ หลัก แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ดังนี้

          ส่วนที่ ๑  ประกอบด้วยเลข ๒ หลัก เป็นเลขศูนย์สองตัว

          ส่วนที่ ๒  ประกอบด้วยเลข ๔ หลัก หมายถึงเลขรหัสสำนักทะเบียน

          ส่วนที่ ๓  ประกอบด้วยเลข ๖ หลัก หมายถึงลำดับที่ของบุคคลในแต่ละสำนักทะเบียน

          ส่วนที่ ๔  ประกอบด้วยเลข ๑ หลัก หมายถึงเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลขประจำตัวแต่ละชุดตัวเลข

(๖)ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘

ข้อ ๔  ให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นจัดให้มีการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ขณะสำรวจอยู่ในเขตของสำนักทะเบียนนั้นๆ ตามแบบ ท.ร. ๓๘ ก และบันทึกข้อมูลไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ของสำนักทะเบียน

ข้อ ๕  การลงรายการในทะเบียนประวัติ (ท.ร. ๓๘ ก) ให้นายทะเบียนจดบันทึกโดยละเอียดตามที่ได้รับแจ้ง รายการใดไม่ทราบให้เขียนข้อความว่า “ไม่ทราบ” แต่อย่างน้อยต้องมีรายการชื่อตัว ชื่อสกุล  (ถ้ามี) ที่อยู่ เลขประจำตัว และวันเดือนปีเกิด

ข้อ ๖ วรรคสอง  เลขประจำตัวของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนประกอบด้วยเลข ๑๓ หลักตามที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดไว้ท้ายระเบียบนี้

   (ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดเลขประจำตัวประชาชนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนประกอบด้วยเลข ๑๓ หลัก แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน (x xxxx xxxxx xx x) ได้แก่

          ส่วนที่ ๑ ประกอบด้วยเลขหนึ่งหลักเป็นเลขศูนย์

          ส่วนที่ ๒ ประกอบด้วยเลขสี่หลัก หมายถึงเลขรหัสสำนักทะเบียนที่สำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

          ส่วนที่ ๓ และส่วนที่ ๔ รวมกันประกอบด้วยเลขเจ็ดหลัก หมายถึงลำดับที่ของบุคคลในแต่ละสำนักทะเบียน โดยสองหลักแรกของส่วนที่ ๓ กำหนดเป็นเลข ๘๙

          ส่วนที่ ๕ ประกอบด้วยเลขหนึ่งหลัก หมายถึงเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลขแต่ละชุดตัวเลข)  

 ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติ

ก. การจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับคนที่เข้าสู่ระบบการทะเบียนราษฎรด้วยการจดบันทึกรายการบุคคลหรือการเพิ่มชื่อ จะแบ่งออกเป็น ๒ กรณี ได้แก่

(๑) การจัดทำทะเบียนประวัติอันเป็นผลมาจากนโยบายด้านความมั่นคงและการรักษาความสงบเรียบร้อยของรัฐบาล ซึ่งมีการดำเนินการเป็นระยะๆ ตามกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมายโดยอาจจะมีมติคณะรัฐมนตรีรองรับการดำเนินการหรืออาจเป็นมติของที่ประชุมหน่วยงานความมั่นคง เช่น กลุ่มชาวเวียดนามอพยพ กลุ่มจีนฮ่ออพยพ กลุ่มไทยลื้อ กลุ่มอดีตโจรจีนคอมมิวนีสต์มลายา กลุ่มผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย กลุ่มผู้อพยพจากจังหวัดเกาะกง กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชา กลุ่มม้งถ้ำกระบอก กลุ่มลาวอพยพ กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง กลุ่มมอแกน กลุ่มแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง กลุ่มบุคคลที่ไม่มีสถานะ เป็นต้น ซึ่งการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะเริ่มจากการสำรวจกลุ่มบุคคลเป้าหมายแต่ละกลุ่มตามแบบสำรวจที่กำหนดขึ้นแล้วจัดทำทะเบียนประวัติ กำหนดให้เลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก และสร้างฐานข้อมูลรายการบุคคลไว้ในระบบฐานข้อมูลประชากร

      กลุ่มบุคคลที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติโดยผลจากการสำรวจที่ปรากฏอยู่ในระบบการทะเบียนราษฎรจำแนกอย่างคร่าวๆ ได้เป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่หนึ่ง ชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้วไม่ว่าจะโดยเหตุผลทางการเมืองการปกครอง  การเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของชนเผ่า  การหนีภัยจากการสู้รบในประเทศที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอน หรือการอพยพกลับประเทศไทยของกลุ่มบุคคลเชื้อสายไทย เช่น บุคคลบนพื้นที่สูงหรือชาวเขาใหม่ อดีตทหารจีนคณะชาติ  จีนฮ่ออิสระ ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า เนปาลอพยพ ผู้พลัดถิ่นเชื้อสายไทย เป็นต้น ซึ่งการสำรวจครั้งสุดท้ายคือการดำเนินการตามโครงการมิยิซาวา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ในการจัดทำทะเบียนประวัติของกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะจัดทำเป็นรายครอบครัว กำหนดเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักเป็นบุคคลประเภท ๖ (เลขหลักแรกเป็นเลข ๖) และจะได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร. ๑๓ แล้วเนื่องจากกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะมีปัญหาเรื่องการส่งกลับประเทศต้นทางซึ่งไม่อาจดำเนินการได้ รัฐบาลจึงมีนโยบายให้สถานะเป็นผู้ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นกรณีพิเศษ แล้วพัฒนาสถานะเป็นคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (มีถิ่นที่อยู่) หรือได้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย แล้วแต่กรณี การจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลกลุ่มนี้จะไม่มีระเบียบสำนักทะเบียนกลางกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้เป็นการเฉพาะ แต่จะดำเนินการตามแนวหนังสือสั่งการเป็นสำคัญ

กลุ่มที่สอง แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ๓ สัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา) เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา ตามนโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายโดยกำหนดให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ๓ สัญชาติที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตทำงานจะต้องรายงานตัวเพื่อรับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติกับนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นก่อนแล้วจึงจะนำหลักฐานทะเบียนราษฎรไปประกอบการขอใบอนุญาตทำงาน  กลุ่มเป้าหมายของการดำเนินการครั้งนี้นอกจากตัวแรงงานแล้วยังให้รวมถึงกลุ่มผู้ติดตามของแรงงานที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วย แต่เนื่องจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวจะมีความแตกต่างกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มที่หนึ่งโดยเฉพาะเรื่องสถานะการอาศัยอยู่ในประเทศไทยจะเป็นไปในลักษณะการอนุญาตให้อยู่ได้ปีต่อปี และต้องเป็นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ด้วย เช่น เมื่อรายงานตัวจัดทำทะเบียนประวัติแล้วต้องไปขออนุญาตทำงานที่กรมการจัดหางานหรือจัดหางานจังหวัด ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่จัดทำทะเบียนประวัติ  ต้องไม่ถูกดำเนินคดีอาญา (ยกเว้นความผิดโดยประมาทและความผิดลหุโทษ) เป็นต้น ถ้าผิดไปจากเงื่อนไขที่กำหนดแล้วสถานะของการได้รับผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยย่อมสิ้นสุดลงตามกฎหมาย  ดังนั้นด้วยเหตุผลของความไม่แน่นอนของสถานะการอาศัยอยู่ในประเทศไทยและนโยบายด้านแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย  การจัดทำทะเบียนประวัติของบุคคลกลุ่มนี้จึงได้กำหนดให้มีระเบียบปฏิบัติเป็นการเฉพาะซึ่งได้แก่ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗  กำหนดแบบพิมพ์ทะเบียนประวัติเป็นแบบ ท.ร. ๓๘ และกำหนดเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักเป็นบุคคลประเภท ๐๐ กล่าวคือเลขสองหลักแรกเป็นเลขศูนย์สองตัว  บุคคลกลุ่มนี้ยังไม่มีนโยบายที่จะให้สถานะตามกฎหมายและมีแนวโน้มจะส่งกลับประเทศต้นทางโดยการพิสูจน์สัญชาติซึ่งได้ดำเนินการแล้วในกลุ่มแรงงานสัญชาติลาวและกัมพูชา จึงไม่รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร. ๑๓

กลุ่มที่สาม บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ โดยยุทธศาสตร์ได้แบ่งกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาออกเป็น ๖ กลุ่ม ได้แก่ (๑) ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแต่ตกสำรวจ (๒) เด็กที่กำลังศึกษาเล่าเรียนในสถานศึกษา (๓) บุคคลไร้รากเหง้า (๔) บุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ (๕) กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีปัญหาไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทาง และ (๖) คนต่างด้าวอื่นๆ นอกจาก (๑) - (๕) โดยกำหนดให้ทำการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติ และให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการกำหนดสถานะที่เหมาะสมให้ถูกต้องตามกฎหมาย  และเนื่องจากบุคคลตามยุทธศาสตร์มีความแตกต่างกันในประเด็นเรื่องสัญชาติ บางกลุ่มมีสถานะเป็นคนต่างด้าว ไม่มีสัญชาติไทย แต่บางกลุ่มยังไม่มีความชัดเจนว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ได้สัญชาติไทย เป็นกลุ่มบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เช่น กลุ่มเด็กด้อยโอกาส บุคคลไร้รากเหง้า เป็นต้น การจัดทำทะเบียนประวัติของบุคคลกลุ่มนี้จึงได้กำหนดให้มีระเบียบปฏิบัติเป็นการเฉพาะซึ่งได้แก่ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘  กำหนดแบบพิมพ์ทะเบียนประวัติเป็นแบบ ท.ร. ๓๘ ก  และกำหนดเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักเป็นบุคคลประเภท ๐ กลุ่ม ๘๙ กล่าวคือเลขหลักแรกเป็นเลข ๐ ส่วนเลขหลักที่หกและหลักที่เจ็ดเป็นเลข ๘ และ ๙  โดยในการปฏิบัติจะกำหนดให้มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการสำรวจบุคคลกลุ่มเป้าหมาย เช่น โรงเรียนและสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนรับผิดชอบการสำรวจเด็กนักเรียนนักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสถานศึกษา  หน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกรมราชทัณฑ์ รับผิดชอบการสำรวจบุคคลไร้รากเหง้าที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร  สำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นรับผิดชอบการสำรวจกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่ตกสำรวจ เป็นต้น การสำรวจจะใช้แบบ ๘๙ เมื่อสำรวจแล้วให้ส่งแบบสำรวจให้สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่รับผิดชอบเขตพื้นที่ดังกล่าวเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติตามแบบ ท.ร. ๓๘ ก  บุคคลกลุ่มนี้ถ้าได้รับการพิสูจน์สถานะที่แท้จริงตามกฎหมายหรือได้รับการกำหนดสถานะให้ตามมติคณะรัฐมนตรี ก็จะได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานภาพในเอกสารทะเบียนราษฎรโดยการกำหนดเลขประจำตัวให้ใหม่และเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ หรือ ท.ร.๑๔ แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นมีสถานะการอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างไร

(๒) การจัดทำทะเบียนประวัติอันเป็นผลมาจากการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน กรณีนายทะเบียนไม่อาจพิจารณาเพิ่มชื่อให้ได้ตามคำร้องเนื่องจากพยานหลักฐานของผู้ร้องไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะวินิจฉัยสถานะบุคคลของผู้ร้องได้ เช่น การขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านของบุคคลที่อ้างว่าเป็นคนไทยโดยไม่มีเอกสารที่ทางราชการออกให้ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ ข้อ ๙๗ ซึ่งนายทะเบียนจะจัดทำทะเบียนประวัติเป็นบุคคลประเภท ๐ ให้ก่อนจนกว่าผู้ร้องจะมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจนเชื่อได้ว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยเป็นการปฏิบัติตามโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ให้สถานะตามกฎหมายแก่คนไทย หรือกรณีคนต่างด้าวขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านแต่นายทะเบียนพิจารณาแล้วปรากฏว่าผู้ร้องไม่ใช่คนต่างด้าวกลุ่มที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนบ้าน ท.ร. ๑๓ หรือกรณีคนต่างด้าวกลุ่มที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดทำทะเบียนประวัติ เช่น คนต่างด้าวที่มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง ยื่นคำร้องขอให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนประวัติให้ซึ่งจะเป็นการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรฉบับใหม่ โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๑๐๕ ซึ่งนายทะเบียนจะต้องจัดทำทะเบียนประวัติให้ตาม ท.ร. ๓๘ ก เช่นเดียวกับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามยุทธศาสตร์ กำหนดเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักเป็นบุคคลประเภท ๐ แต่จะเป็นกลุ่มทั่วไปคือเลข หลักแรกเป็นเลข ๐ และเลขหลักที่หกและหลักที่เจ็ดเริ่มต้นจากเลข ๐๐ 

ข. การจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับคนที่เข้าสู่ระบบการทะเบียนราษฎรด้วยการแจ้งการเกิด จะแบ่งออกเป็น ๒ กรณี ได้แก่

(๑) การแจ้งการเกิดเด็กไร้เดียงสาถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน เด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง และการแจ้งการเกิดเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๙/๒ กำหนดให้ต้องพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กที่แจ้งการเกิด โดยให้นายอำเภอเป็นผู้พิสูจน์เรื่องดังกล่าว และสำหรับผู้ที่ไม่มีพยานเอกสารและพยานบุคคลที่สามารถยืนยันสถานะการเกิดได้ว่าเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทยหรือไม่ หรือผลการพิจารณาเชื่อได้ว่าเป็นผู้ที่เกิดนอกประเทศไทยและไม่ได้สัญชาติไทย นายทะเบียนจะจัดทำทะเบียนประวัติให้ตามแบบ ท.ร. ๓๘ ก เช่นเดียวกับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน กำหนดเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักเป็นบุคคลประเภท ๐ กลุ่มทั่วไปคือเลขหลักแรกเป็นเลข ๐ และเลขหลักที่หกและหลักที่เจ็ดเริ่มต้นจากเลข ๐๐ โดยเป็นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๕๗ (กรณีแจ้งเกิดเกินกำหนด) ข้อ ๕๙ (กรณีแจ้งการเกิดเด็กไร้เดียงสา) และข้อ ๕๙/๑ (กรณีแจ้งการเกิดเด็กเร่ร่อน เด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีฯ)

(๒) การแจ้งการเกิดเด็กที่เป็นบุตรของคนต่างด้าว โดยขณะเกิดบิดามารดาเป็นบุคคลที่มีสถานะดังต่อไปนี้

     (๒.๑) บิดาและมารดาเป็นบุคคลประเภท ๐

     (๒.๒) บิดาและมารดาเป็นบุคคลประเภท ๐๐ ที่สถานะการได้รับผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยสิ้นสุดแล้ว

     (๒.๓) บิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก

     (๒.๔) บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลประเภท ๐ ส่วนบิดาหรือมารดาฝ่ายที่เหลือเป็นบุคคลประเภท ๐๐ ที่สถานการณ์ได้รับผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยสิ้นสุดแล้ว

     (๒.๕) บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลประเภท ๐ ส่วนบิดาหรือมารดาฝ่ายที่เหลือเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองไม่มีเลข ๑๓ หลัก

         เด็กตามเงื่อนไขดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้มาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ นายทะเบียนผู้รับแจ้งจะต้องรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตร ท.ร. ๐๓๑ ได้เลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักเป็นบุคคลประเภท ๐ กลุ่มทั่วไป โดยเมื่อนายทะเบียนออกสูติบัตรให้แล้วจะเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนประวัติ ท.ร. ๓๘ ก บ้านเลขที่เดียวกับบิดาหรือมารดา หรือทะเบียนประวัติกลางของสำนักทะเบียน (กรณีบิดาและมารดาไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรฉบับใหม่ และกฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๓

         ○ ผู้ยื่นเรื่อง ได้แก่ 

            ๑. การจัดทำทะเบียนประวัติกรณีการขอเพิ่มชื่อ ผู้ยื่นคำร้องได้แก่ผู้ที่มีความประสงค์จะขอเพิ่มชื่อหรือขอจัดทำทะเบียนประวัติยื่นคำขอด้วยตนเอง

            ๒. การจัดทำทะเบียนประวัติกรณีการแจ้งการเกิด ผู้แจ้งได้แก่ บิดาหรือมารดาของเด็กที่เกิด หรือเจ้าบ้านของบ้านหลังที่เด็กเกิด หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว (กรณีมาตรา ๑๘)   เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่รับตัวเด็กไร้เดียงสา (กรณีมาตรา ๑๙) และหัวหน้าหน่วยงานสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน เด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมาย (กรณีมาตรา ๑๙/๑)

         ○  สำนักทะเบียนที่ยื่นเรื่อง

             ๑. สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งที่ผู้ขอเพิ่มชื่อหรือขอจัดทำทะเบียนประวัติมีภูมิลำเนาอยู่ปัจจุบัน

             ๒. สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งที่เด็กเกิด หรือแห่งที่หน่วยงานสงเคราะห์เด็กด้อยโอกาสตั้งอยู่ในเขตพื้นที่

กรณีตัวอย่าง

กรณีที่ ๑  เด็กหญิงศิริมา เกิดในประเทศไทยแต่ไม่ได้แจ้งเกิดโดยมีมารดาเป็นชาวไทยใหญ่ ไม่ปรากฏบิดา ต่อมามารดาเสียชีวิต  เด็กหญิงศิริมาจึงได้ไปอาศัยอยู่กับน้าสาว และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้เลขประจำตัว ๑๓ หลักเป็นบุคคลประเภท ๐๐ มีหลักฐาน ท.ร. ๓๘/๑  ต่อมาเมื่อมีการสำรวจบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนกลุ่มเด็กนักเรียน โดยครูผู้สำรวจแจ้งว่าบุคคลที่ได้รับการสำรวจนี้ถ้าเรียนจบชั้นปริญญาตรีจะได้สัญชาติไทย  เด็กหญิงศิริมา ต้องการได้รับการสำรวจเพื่อจะมีโอกาสได้สัญชาติไทย จะดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร

แนวการพิจารณา  จากโจทย์จะเห็นได้ว่าเด็กหญิงศิริมา ไม่ใช่กลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาวและกัมพูชา เนื่องจากมารดาเป็นไทยใหญ่  การจัดทำทะเบียนประวัติเป็นบุคคลประเภท ๐๐ ของเด็กหญิงศิริมา จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง  ดังนั้น ถ้าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถแสดงพยานหลักฐานให้นายทะเบียนเชื่อได้ว่าเด็กหญิงศิริมา ไม่ใช่กลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าตามที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติไว้ นายทะเบียนย่อมสามารถยกเลิกรายการและเพิกถอนทะเบียนประวัติของเด็กหญิงศิริมาได้  สำหรับการจัดทำทะเบียนราษฎรให้กับเด็กหญิงศิริมานั้น มีวิธีการดังนี้

         ๑. เด็กหญิงศิริมา สามารถขอรับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนกลุ่มชนกลุ่มน้อยตกสำรวจ ถ้าเป็นผู้ที่เกิดก่อนการสำรวจชุมชนหรือบุคคลบนพื้นที่สูงตามโครงการมิยาซาวา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒  หรือกลุ่มเด็กนักเรียนที่กำลังศึกษาเล่าเรียนในสถานศึกษา

         ๒. เด็กหญิงศิริมา เกิดในประเทศไทย จึงสามารถแจ้งการเกิดได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าเด็กหญิงศิริมาทราบและสามารถนำสืบสถานที่เกิดได้หรือไม่ว่าตนเกิดในสถานพยาบาลหรือเกิดนอกสถานพยาบาล และที่ใดเพื่อจะได้หาตัวผู้มีอำนาจหน้าที่ที่จะทำการแจ้งการเกิดซึ่งได้แก่เจ้าบ้านของบ้านหลังที่เด็กหญิงศิริมาเกิด เนื่องจากมารดาเสียชีวิต ส่วนบิดาไม่ปรากฏว่าเป็นใคร  ส่วนเด็กหญิงศิริมาจะได้สูติบัตรประเภทใด ได้เลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักกลุ่มใด ย่อมขึ้นอยู่กับสถานะของมารดาว่าเป็นไทยใหญ่ที่เกิดในประเทศไทยหรือเกิดนอกประเทศ มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่ ซึ่งหากปรากฏว่าไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะของมารดาได้ การแจ้งการเกิดของเด็กหญิงศิริมาจะได้สูติบัตร ท.ร. ๐๓๑ ได้เลขประจำตัวเป็นบุคคลประเภท ๐  และได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนประวัติ ท.ร. ๓๘ ก

กรณีที่ ๒  นายสัพตู เป็นผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยเดินทางมาจากจังหวัดมะริด ประเทศพม่า เข้ามาอยู่กับญาติในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ และไม่เคยได้รับการสำรวจจากหน่วยราชการใดเลย  การจัดทำ ทะเบียนราษฎรให้กับนายสัพตู จะมีวิธีการอย่างไรหรือไม่

แนวการพิจารณา กรณีของนายสัพตู เป็นกลุ่มบุคคลตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลที่อยู่ในประเทศไทย  กลุ่ม ๑ คือกลุ่มชนกลุ่มน้อยตกสำรวจ ซึ่งการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับกลุ่มนี้ สำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นเป็นหน่วยรับผิดชอบ นายสัพตู จึงสามารถขอรับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนกลุ่มชนกลุ่มน้อยตกสำรวจได้ โดยจะได้เลขประจำตัว ๑๓ หลักเป็นบุคคลประเภท ๐ กลุ่ม ๘๙ มีชื่อในทะเบียนประวัติ    ท.ร. ๓๘ ก  หรือหากนายสัพตู เลือกที่จะเดินทางไปยื่นคำขอเพิ่มชื่อที่สำนักทะเบียนท้องที่ตามภูมิลำเนาของตนตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ฯ ข้อ ๑๐๕ ก็ได้  

หมายเลขบันทึก: 306700เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2009 12:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท